Advertisement
ปัจจุบันสระว่ายน้ำดูจะได้รับความสนใจจากเจ้าของบ้านหลายๆท่านมากขึ้น เพราะนอกจากเราจะใช้เป็นที่ออกกำลังกายกายดับร้อนให้กับสมาชิกในบ้านแล้ว สระว่ายน้ำยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศให้บ้านและสวนดูสวยงามโดดเด่นมากขึ้น ประกอบกับทุกวันนี้ค่าก่อสร้างสระว่ายน้ำมีราคาถูกลงและสามารถดูแลรักษาง่ายกว่าในสมัยก่อนมาก คอลัมน์ "สถาปัตยกรรม" ฉบับนี้จึงขอเสนอเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสระว่ายน้ำ และวิธีเพิ่มบรรยากาศให้สระว่ายน้ำในบ้านมาฝากครับ
เช็คก่อนสร้าง
สิ่งแรกที่ต้องทำสำหรับผู้ที่อยากจะได้สระว่ายน้ำในบ้านก็คือ หันไปสำรวจดูบริเวณรอบๆบ้านของเราว่ามีพื้นที่กว้างพอที่จะทำสระว่ายน้ำได้หรือไม่ ปัจจุบันบ้านขนาด 50 ตารางวา ก็สามารถทำสระว่ายน้ำในบ้านได้แล้ว แม้สระว่ายน้ำไม่จำเป็นจะต้องมีขนาดใหญ่มาก แต่ก็ไม่ควรจะมีขนาดเล็กมากจนเกินไป เพราะสระว่ายน้ำที่เราอยากได้อาจกลายเป็นแค่บ่อแช่น้ำหรือแอ่งเก็บน้ำ อย่างไรก็ตามสระควรมีความยาวมากพอสำหรับการว่ายออกกำลังกาย และไม่แคบจนมือของเราต้องเสี่ยงกับการฟาดขอบสระเวลาว่ายน้ำ
สำหรับบ้านสร้างใหม่นั้นอาจมีข้อได้เปรียบกว่าบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว ตรงที่สามารถเลือกทำสระว่ายน้ำให้อยู่ติดกับตัวบ้านได้เลย แต่เราก็ควรจะปรึกษาสถาปนิกตั้งแต่ช่วงแรกของการออกแบบบ้าน เพื่อจะได้เตรียมโครงสร้างรองรับสระว่ายน้ำไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ และจะได้วางแผนเลือกรูปแบบสระให้มีความกลมกลืนเป็นส่วนเดียวกับสไตล์ของบ้านด้วย
Trips
- สระที่อยู่ติดกับบ้านอาจช่วยเพิ่มบรรยากาศภายในบ้าน และสามารถใช้งานได้สะดวกมากกว่าสระที่สร้างห่างจากตัวบ้าน แต่ต้องระวังเรื่องน้ำกระเด็นเข้ามาทำความเสียหายให้พื้นภายในบ้านด้วย พื้นห้องที่อยู่ติดกับสระว่ายน้ำจึงควรเลือกวัสดุปิดผิวที่ทนน้ำได้ดีและกันลื่นด้วย
- สระว่ายน้ำที่อยู่ติดตัวบ้านจะต้องใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยมากกว่าสระที่สร้างห่างจากตัวบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็กควรจะออกแบบราวกั้นกันตกด้วย
- สำหรับสระที่ไม่ได้ติดสปริงบอร์ด ความลึกของสระว่ายน้ำขึ้นอยู่กับส่วนสูงของเจ้าของบ้าน และลักษณะการใช้งานเป็นหลัก โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยจะสูงประมาณ 1.2 -1.3 เมตร ซึ่งระดับของผิวน้ำจะสูงระดับเดียวกับหน้าอกของผู้ใช้
- ขนาดสระว่ายน้ำควรมีสัดส่วนเหมาะสมกับปริมาณผู้ใช้งานหรือสมาชิกในบ้านด้วย
- สำหรับท่านที่อยากได้สระว่ายน้ำ แต่มีปัญหาเรื่องมีพื้นที่ในบ้านน้อย อาจเลือกทำสระขนาดเล็กแล้วติดเครื่องเจ็ตสำหรับว่ายทวนน้ำอยู่กับที่แทนก็ได้
- เราอาจติดตั้งระบบผ้าใบซึ่งสามารเลื่อนปิดผิวสระว่ายน้ำ (อาจเลื่อนด้วยตัวเองหรือใช้เครื่องกลก็ได้) เพื่อป้องกันเศษฝุ่นและใบไม้หล่นปลิวลงไปในสระ อีกทั้งยังช่วยป้องกันอันตรายให้สมาชิกในบ้านได้ในระดับหนึ่งด้วย
โครงสร้างสระว่ายน้ำ
เราสามารถแบ่งตามวิธีก่อสร้างได้เป็น 2 ประเภท คือ
สระว่ายน้ำคอนกรีต ใช้โครงสร้างพื้นและผนังสระเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ข้อดีของโครงสร้างชนิดนี้ คือ มีความแข็งแรงทนทาน และสามารถออกแบบรูปทรงได้หลายหลาย
สระว่ายน้ำสำเร็จรูป เป็นสระว่ายน้ำที่ผลิตจากวัสดุประเภทพอลิเมอร์สำเร็จมาจากโรงงาน แล้วนำมาติดตั้งบนโครงสร้างรองรับสระซึ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กในพื้นที่ที่เราเตรียมไว้
สระว่ายน้ำสำเร็จรูปอีกชนิดหนึ่งคือ สระที่ทำจากโครงสร้างเหล็กหรือพลาสติกหล่อคุณภาพดี แล้วปูผ้าไวนิลที่ผลิตขึ้นมาสำหรับสระว่ายน้ำโดยเฉพาะ โดยใช้แรงดันน้ำเป็นตัวบังคับให้ผ้าไวนิลติดแนบกับโครงสร้างพื้นและผนังที่เตรียมไว้ สำหรับสระว่ายน้ำสำเร็จรูปนั้นอาจมีข้อจำกัดเรื่องรูปทรงที่ไม่หลากหลายนัก เพราะผลิตตามแบบมาตรฐานของโรงงาน แต่จะมีราคาถูกและสร้างได้รวดเร็วกว่าสระว่ายน้ำโครงสร้างคอนกรีต อีกทั้งสระสำเร็จรูปที่ผลิตจากไวนิลจะต้องมีการเปลี่ยนผ้าไวนิลทุกๆ 10 ปี
Trips
- โดยเฉลี่ยแล้วราคาค่าก่อสร้างสระว่ายน้ำสำเร็จรูปจะมีราคาถูกกว่าสระว่ายน้ำคอนกรีตประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพหน้างาน และความยากง่ายในการเข้าถึงพื้นที่ก่อสร้างสระว่ายน้ำด้วย สำหรับสระว่ายน้ำคอนกรีตที่มีความลึกประมาณ 1.2 เมตร ปูผิวกระเบื้องโมเสก ราคาค่าก่อสร้างจะประมาณ 20,000 -25,000 บาทต่อตารางเมตร
ระบบสระว่ายน้ำ
ปัจจุบันระบบสระว่ายน้ำที่นิยมใช้กันมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
ระบบ Skimmer และ ระบบ Over Flow (ระบบน้ำล้น)
ทั้ง 2 ระบบนี้มีการทำงานต่างกันตรงที่ระบบ Over Flow (ระบบน้ำล้น) จะนำน้ำไปบำบัด โดยการให้น้ำในสระล้นออกมายังรางน้ำล้นข้างสระ แล้วนำน้ำที่ล้นออกมาไปพักไว้ที่ถังพักน้ำ (Surge Tank) ก่อนจะปั๊มน้ำไปผ่านเครื่องกรองน้ำในห้องเครื่อง ทำให้ผิวสระว่ายน้ำที่ใช้ระบบนี้ดูตึงสวย เพราะอยู่ระดับเดียวกับพื้นรอบสระ แต่ก็จะสามารถมองเห็นรางน้ำล้นที่ดูคล้ายกับท่อระบายน้ำรอบสระด้วย
ในขณะที่ระบบ Skimmer นั้นจะนำน้ำไปบำบัด โดยผ่านช่องด้านข้างของผนังสระ ทำให้ผิวน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นรอบสระประมาณ 4-10 เซนติเมตร ระบบนี้ไม่ต้องมีถังพักน้ำ (Surge Tank) ทำให้เราประหยัดน้ำ และราคาค่าก่อสร้างของระบบ Skimmer ก็ถูกกว่าระบบ Over Flow นอกจากนี้ในปัจจุบันระบบ Skimmer ยังได้รับการพัฒนาให้สะดวกในการใช้งานมากขึ้น โดยมีรูปแบบเป็นเครื่องกรองสำเร็จรูป ไม่ต้องเดินท่อ เพียงแค่มีสระและติดเครื่องไว้ที่ขอบสระ ก็ทำงานได้เลย ซึ่งระบบนี้จะเหมาะกับสระที่มีขนาดเล็กหรือประมาณไม่เกิน 12 x 6 เมตร ราคาเครื่องอยู่ที่ประมาณ 2 แสนกว่าบาท ซึ่งหากสระมีขนาดเล็กมากก็อาจเพิ่มออปชั่นระบบว่ายทวนกระแสเข้าไปด้วยก็ได้ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับระบบนี้เพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งแสนบาท
Trips
- ห้องเครื่องสำหรับเก็บปั๊มและเครื่องกรองน้ำควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 2 x 3 เมตร สูง 2.50 เมตร และห่างจากสระว่ายน้ำไม่เกิน 15 เมตร
ระบบบำบัดน้ำ
ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำในสระที่นิยมใช้มีอยู่ 3 ระบบ คือ
ระบบคลอรีน
เป็นระบบฆ่าเชื้อโรคที่มีราคาถูก และนิยมใช้กันมากที่สุด อยู่ในรูปของเหลว เม็ด และผงคลอรีน วิธีใช้คือค่อยๆละลายลงในสระว่ายน้ำ แต่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ เมื่อค่า pH ในน้ำอยู่ระหว่าง 7.2 - 7.8 หากค่า pH สูงหรือน้ำในสระมีค่าความเป็นด่างมากก็จะต้องเติมกรดลงไปก่อน และถ้าน้ำในสระมีค่า pH ต่ำหรือมีค่าความเป็นกรดสูง ก็จะต้องเติมสารที่เป็นด่างจำพวก Buffer หรือ Soda ash เพื่อปรับค่า pH ในน้ำก่อน ซึ่งสารคลอรีนนั้นอาจมีผลทำให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนังได้ ดังนั้นการละลายคลอรีนจึงควรทำในช่วงเย็นหลังจากที่ใช้สระเสร็จแล้ว และจะต้องเปิดเครื่องกรองทิ้งไว้อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงด้วย สำหรับสระว่ายน้ำขนาด 4 x 8 เมตร ค่าดูแลรักษาด้วยคลอรีนประมาณ 3,000 - 4,000 บาทต่อเดือน (ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งานสระว่ายน้ำ และสภาพอากาศ)
ระบบน้ำเกลือ
เป็นระบบที่ฆ่าเชื้อโรคด้วยเกลือ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุภาพ ทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวหนังอีกด้วย แต่มีราคาค่าติดตั้งค่อนข้างสูง และมีความเป็นด่างทำให้น้ำในสระมีรสกร่อยเล็กน้อย สระว่ายน้ำขนาด 4 x 8 เมตร ราคาค่าติดตั้งระบบบำบัดน้ำเกลือประมาณ 40,000 - 50,000 บาท และเสียค่าดูแลรักษาหลังจากนั้นประมาณ 400 - 600 บาทต่อเดือน
ระบบโอโซน
เป็นระบบที่ฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ด้วยการผลิตก๊าซโอโซนจากเครื่องอัดอากาศมาบำบัดน้ำในสระโดยตรง เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะไม่มีสารตกค้างในน้ำ แต่ระบบนี้จะมีระยะเวลาในการฆ่าเชื้อโรคสั้นกว่าระบบอื่น และมีราคาค่าติดตั้งสูง สระว่ายน้ำขนาด 4 x 8 เมตร ราคาค่าติดตั้งระบบบำบัดแบบโอโซนประมาณ 150,000 - 200,000 บาท
ข้อมูลค่าติดตั้งและบำรุงรักษาสระว่ายน้ำจาก
บริษัทออกแบบสระว่ายาน้ำ PAT
รูปทรงของสระว่ายน้ำ
รูปทรงของสระว่ายน้ำแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ รูปทรงเรขาคณิต และรูปทรงอิสระ การเลือกรูปทรงสระว่ายน้ำนั้นไม่มีข้อกำหนดหรือกฎหมายบังคับ ขึ้นอยู่ความชอบส่วนบุคคล คอนเซ็ปต์ของผู้ออกแบบ และ ความต้องการของเจ้าของบ้านเป็นสำคัญ รูปทรงของสระว่ายน้ำที่ดีควรจะดูกลมกลืนและช่วยเสริมสไตล์บ้านให้ดูโดดเด่นมากขึ้น เช่น สระว่ายน้ำรูปทรงเรียบๆที่ให้ความรู้สึกเรียบง่าย สงบ เท่ ก็จะเหมาะกับบ้านสไตล์มินิมัลหรือบ้านสไตล์โมเดิร์น ส่วนสระรูปทรงอิสระก็จะเหมาะกับบ้านที่ต้องการความรู้สึกผ่อนคลายหรือไม่เป็นทางการมากนัก อย่างเช่น บ้านสไตล์ทรอปิคัล บ้านสไตล์เรโทรยุค 1950-1960 แต่อย่างไรก็ดีเราไม่ควรออกแบบให้รูปทรงสระมีซอกมุมมากหรือพิสดารจนเกินไป เพราะอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการปูกระเบื้องพื้นและผนังของสระว่ายน้ำ และการทำความสะอาดได้ครับ
การเลือกตำแหน่งของสระว่ายน้ำ
สระว่ายน้ำนั้นนอกจากจะใช้เพื่อการออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศให้บ้าน ดังนั้นตำแหน่งของสระว่ายน้ำจึงควรอยู่ในที่ที่สามารถมองเห็นได้จากห้องที่เราใช้งานเป็นประจำ เช่น ห้องพักผ่อน ห้องนั่งเล่น หรือห้องอ่านหนังสือ และไม่ควรหันด้านสั้นของสระไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก เพราะแสงจากดวงอาทิตย์อาจส่องรบกวนขณะที่เรากำลังว่ายน้ำได้ อีกทั้งสระว่ายน้ำที่อยู่ใกล้กับบ้านมากๆ ควรออกแบบให้อยู่ในด้านทิศเหนือหรือตะวันออกของตัวบ้าน เพื่อให้ร่มเงาของตัวอาคารช่วยป้องกันไม่ให้แสงแดดสะท้อนผิวน้ำเข้าไปรบกวนภายในบ้านได้
การปูผิวสระว่ายน้ำ
กระเบื้องที่นิยมใช้ปิดผิวสระว่ายน้ำมากที่สุดในปัจจุบันก็คือ กระเบื้องโมเสกสีต่างๆ เพราะเป็นกระเบื้องที่มีขนาดเล็ก ละเอียด และสามารถเลือกไล่โทนสีของกระเบื้องได้หลากหลาย แต่กระเบื้องชนิดนี้ก็มีข้อเสียตรงที่มีรอยยาแนวมาก ซึ่งรอยต่อเหล่านี้อาจเป็นจุดสะสมคราบสกปรกได้ง่ายด้วยเช่นกัน
นอกจากกระเบื้องชนิดต่างๆแล้ว การทำผิวสระว่ายน้ำเป็นผิวคอนกรีตขัดมันผสมสีก็ดูจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมทำกันมาก โดยเฉพาะสระว่ายน้ำในโรงแรม และรีสอร์ตที่สร้างใหม่หลายๆแห่ง เพราะพื้นลักษณะนี้จะทำสระว่ายน้ำดูมีความต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกันทั้งสระ อีกทั้งเราสามารถเลือกสีสันได้ตามความต้องการ ข้อเสียของพื้นคอนกรีตขัดมันผสมสีก็คือ น้ำมีโอกาสการรั่วซึมได้มากกว่าพื้นสระที่ปูกระเบื้อง
Trips
- สีกระเบื้องที่ช่วยให้สระว่ายน้ำดูเป็นธรรมชาติได้แก่ สีฟ้า สีเทอร์คอยส์ หรือสีเขียวแบบสีน้ำทะเล ส่วนกระเบื้องสีเข้มอย่าง สีดำ สีน้ำเงินเข้ม จะทำให้เรารู้สึกว่าสระว่ายน้ำดูลึกและมีมิติมากกว่า อีกทั้งยังเป็นสีที่สามารถทำให้ผิวน้ำในสระสะท้อนเงาของตัวบ้านได้ชัดเจนด้วย
การสร้างร่มเงาให้สระว่ายน้ำ
การสร้างร่มเงาให้สระว่ายน้ำ เพื่อให้เราสามารถว่ายน้ำเล่นได้อย่างเย็นใจ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแสงยูวีจากแสงแดดเป็นอีกข้อหนึ่งที่เราควรจะคำนึงถึงในการออกแบบสระว่ายน้ำด้วย สำหรับการสร้างร่มเงาให้สระว่ายน้ำนั้นเราสามารถทำได้หลายวิธีครับ เช่น การออกแบบให้ตัวบ้านช่วยบังแดดให้สระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีและประหยัดมากที่สุด การปลูกต้นไม้สร้างร่มเงา ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะช่วยบังแดดให้สระแล้ว ยังช่วยเพิ่มบรรยากาศความเป็นธรรมชาติให้กับสระว่ายน้ำด้วย แต่ต้นไม้ที่เลือกมาปลูกนั้นไม่ควรใช้ต้นไม้ชนิดผลัดใบหรือออกผล เพราะอาจทำให้พื้นรอบๆและน้ำในสระสกปรกได้ง่าย อีกทั้งควรจะเป็นต้นไม้ที่มีระบบรากไม่ชอนไชและแผ่วงกว้างด้วย เพื่อไม่ให้รากไปทำลายโครงสร้างของสระว่ายน้ำเสียหายทำหลังคาให้สระว่ายน้ำ อาจเป็นโครงหลังคาที่สามารถกันแดดกันฝนแบบถาวรเลย หรืออาจทำแค่สลิงผ้าใบบังแดดที่สามารถเลื่อนเก็บได้ ทั้งนี้โครงสร้างหลังคาควรจะส่งเสริมและดูกลมกลืนกับสไตล์ของบ้านด้วย
เพิ่มบรรยากาศให้สระว่ายน้ำ
การเพิ่มบรรยากาศให้สระว่ายน้ำของเราดูน่าใช้มากขึ้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การนำงานประติมากรรม กระถางดอกไม้ และศาลามาประดับไว้รอบๆสระ โดยอาจจะออกแบบให้ของตกแต่งเหล่านี้เป็นส่วนเดียวกับโครงสร้างสระว่ายน้ำไปเลยก็ได้ เช่น ออกแบบศาลาให้ยื่นเข้ามาในสระ หรือทำชั้นวางประติมากรรมไว้ที่ขอบสระ สำหรับสระที่มีขนาดใหญ่มากๆก็อาจทำจากุซซี่ไว้นวดตัวที่มุมหนึ่งของสระว่ายน้ำก็ได้
การดูแลรักษาสระว่ายน้ำ
ก่อนสร้างสระว่ายน้ำเราควรชั่งใจตัวเองให้ดีก่อน เพราะสระว่ายน้ำจะต้องมีเรื่องของการบำรุงรักษาที่ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องหมั่นเก็บเศษใบไม้ที่อยู่ในสระและรางน้ำล้นขอบสระ การดูดตะกอนใต้สระว่ายน้ำทุกๆวัน รวมถึงการตรวจเช็คค่า pH ในน้ำ และการทำงานของเครื่องกรองให้อยู่ในสภาพดีเสมอๆ เพื่อให้น้ำในสระว่ายน้ำของเราดูใสสะอาดน่าใช้ แต่หากใครที่ต้องการจะลดภาระยุ่งยากในการดูแลรักษาสระ ก่อนตัดสินใจสร้างสระว่ายน้ำก็ควรเลือกบริษัทที่มีบริการหลังการขายที่ดีด้วยครับ
Trips
- ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสระว่านน้ำ ประกอบด้วย ค่าสารเคมีทำความสะอาดสระ ค่าไฟฟ้า และค่าแรง หรือถ้าหากเราต้องการจ้างบริษัททำความสระอาด สระว่ายน้ำขนาด 4 x 8 เมตร โดยเฉลี่ยแล้วจะมีค่าใช้อยู่ที่ราคาประมาณ 2,500 -3,500 บาท(หรือมากกว่านั้น)ต่อเดือน
เรื่อง : ศราวุธ จินตชาติ
ภาพ : แฟ้มภาพบ้านและสวน
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
More
เปรียบเทียบสระว่ายน้ำสร้างเองกับสระว่ายน้ำสำเร็จรูป
สระว่ายน้ำแบบสำเร็จรูปจะมีบริษัทรับสร้างสระว่ายน้ำครบวงจรเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ทำโครงสร้างสระ ติดวัสดุกรุพื้นและผนังสระ และติดตั้งระบบเครื่องกรองไร้ท่อ (skimmer) ซึ่งจะกรองหมุนเวียนน้ำในตัว ไม่ต้องมีห้องเครื่องสระและถังพักน้ำ ทำให้ประหยัดพื้นที่และค่าใช้จ่ายในการทำส่วนนี้
ส่วนสระว่ายน้ำที่สร้างเองนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสระระบบน้ำล้น (overflow) ซึ่งน้ำในสระจะล้นจากขอบสระไปสู่ถังพักน้ำ และไหลเข้าไปสู่ระบบเครื่องกรองกับปั๊มน้ำต่างหาก จึงต้องมีห้องเครื่องสระสำหรับงานระบบเหล่านี้ ส่วนงานโครงสร้างสระก็ต้องหาผู้รับเหมาก่อสร้างต่างหาก
การพิจารณาข้อดีข้อเสียนั้นขอจำแนกเป็นข้อๆให้ลองพิจารณาเปรียบเทียบดูนะครับ
สระว่ายน้ำสำเร็จรูป
1. ทำงานได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว เพราะมีบริษัทมาดำเนินการตั้งแต่โครงสร้างจนถึงติดตั้งงานระบบให้แล้วเสร็จ
2. ลดปัญหาการรั่วซึม เพราะวัสดุที่ใช้ปูพื้นและผนังสระเป็นพลาสติกจำพวกพีวีซี
3. มีลักษณะเหมือนน้ำขังอยู่ในสระ และวัสดุกรุพื้นผิวสระก็เป็นพีวีซี ทั้งยังมองเห็นตัวเครื่องกรองไร้ท่อ จึงอาจมีข้อด้อยในเรื่องความสวยงาม
4. ไม่ต้องทำห้องเครื่องสระและถังพักน้ำ จึงประหยัดเนื้อที่และค่าใช้จ่ายได้
สระว่ายน้ำที่ก่อสร้างเอง
1. ต้องเตรียมทำโครงสร้างสระต่างหาก ซึ่งก็แล้วแต่ฝีมือของผู้รับเหมา จึงอาจมีความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพของงาน
2. มีค่าใช้จ่ายในการเตรียมงานทำห้องเครื่องสระและถังพักน้ำ
3. สามารถออกแบบรูปแบบได้หลากหลาย รวมถึงสามารถเลือกใช้วัสดุตกแต่งได้ตามต้องการ ทำให้มีความสวยงาม
4. ต้องเลือกระบบเครื่องกรอง ปั๊มน้ำ ฯลฯ เอง โดยการติดต่อกับบริษัทผู้จำหน่าย
ส่วนเรื่องราคา โดยทั่วไปสระว่ายน้ำที่ก่อสร้างเองชนิดระบบน้ำล้นอาจแพงกว่า 15-20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้แล้วแต่กรณีครับ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอีกหลายอย่าง เช่น สระรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก มีพื้นที่น้อย แบบสร้างเองอาจใช้งบน้อยกว่าก็ได้ เพราะประหยัดราคาของกระเบื้องปูที่ไม่ต้องเหลือเศษ รวมถึงรุ่นของอุปกรณ์ที่เลือกใช้ เพราะมีมากมายหลายรุ่นหลายราคาทั้งถูกและแพง ตามแต่จะพิจารณาเลือกใช้
|
|
|
|
สระว่าย ปัจจุบันเราไม่สามารถมีบ้าน รีสอร์ท หรือที่พักอาศัยใกล้น้ำ มนุษย์จึงเริ่มนำน้ำมาใช้เป็นองค์ประกอบกับงานสถาปัตยกรรมทั้งอาคารพักอาศัย หรืออาคารสาธารณะในรูปแบบสระน้ำ (Reflecting Pool) สระว่ายน้ำ น้ำตก น้ำพุ ฯลฯ เพื่อสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับแหล่งธรรมชาติ ซึ่งสระว่ายน้ำ เป็นส่วนนันทนาการที่มีองค์ประกอบหลัก ใช้สำหรับว่ายออกกำลังกาย สร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ทำให้ผ่อนคลายแก่ผู้ใช้งาน และการว่ายน้ำก็เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย สระว่ายน้ำเปรียบเสมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นงานภายในบ้านหรือในรีสอร์ทที่ช่วยเพิ่มมุมมองอันสวยงานและมีคุณค่า ซึ่งผู้เป็นเจ้าของสามารถกำหนดขนาดและรูปทรงได้ตามความต้องการ
รูปทรงของสระว่ายน้ำ
เนื่องจากสระว่ายน้ำเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้าน รีสอร์ท หรือที่พักอาศัย ดังนั้นรูปทรงของสระว่ายน้ำที่ดีจึงควรดูกลมกลืนไปกับบ้านหรือรีสอร์ท มีความสวยงาม และส่งเสริมภาพลักษณ์ของบ้านหรือรีสอร์ทให้เกิดความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเราสามารถแบ่งรูปทรงของสระว่ายน้ำ ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. สระว่ายน้ำรูปทรงเรขาคณิต
ได้แก่ สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม และวงกลม หากเป็นสระว่ายน้ำมาตรฐาน มักเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น 4x8 เมตร หรือ 5x10 เมตร และมีความลึกประมาณ 1.2 เมตร ซึ่งเหมาะสมกับบ้านทั่วไปที่มีพื้นที่จำกัด หรือ ผู้ที่ต้องการระยะว่ายน้ำที่เหมาะกับการออกกำลังกาย เนื่องจากผังบ้านทั่วไปมักเป็นรูปสี่เหลี่ยม การใช้รูปทรงเรขาคณิตจะดูลงตัวกับผังอาคารมากกว่า
2. สระว่ายน้ำรูปทรงอิสระ (Free Form)
เหมาะกับบ้านหรือรีสอร์ทที่มีบริเวณกว้าง สามารถออกแบบสระว่ายน้ำให้รับกับรูปแบบของสวนเพื่อสร้างบรรยากาศที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติ เสมือนว่ายน้ำอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ
3. สระว่ายน้ำผสมผสานทั้งสองรูปแบบ
เป็นรูปแบบที่ใช้การจัดองค์ประกอบศิลป์เป็นการออกแบบโดยนำรูปทรงเรขาคณิตผสมกับรูปทรงอิสระเพื่อให้เกิดความน่าสนใจซึ่งจะต้องออกแบบให้เกิดความลงตัวขององค์ประกอบภายนอกที่สวยงาม
ในการเลือกรูปทรงของสระว่ายน้ำไม่มีข้อกำหนดตายตัวขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล ลักษณะการใช้งาน และขนาดพื้นที่ที่จะก่อสร้างเป็นสำคัญ ซึ่งการสร้างสระว่ายน้ำเป็นงานก่อสร้างเฉพาะทางที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เจ้าของจึงควรพิจารณาเลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์เพื่อให้ได้สระว่ายน้ำที่มีคุณภาพ แข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศต่าง ๆ มีระบบที่ดี เหมาะสมกับสระที่จะสร้างนั้น ๆ ด้วย
อ่างอาบน้ำ (Spa & Jacuzzi)
สำหรับบ้านขนาดเล็กที่ไม่สามารถสร้างสระว่ายน้ำได้ การติดตั้งอ่างอาบน้ำกลางแจ้งก็พอจะทดแทนกันได้ แต่เนื่องจากปริมาตรอันจำกัดของอ่างอาบน้ำจึงเหมาะสำหรับการแช่ตัวเพื่อผ่อนคลาย ปัจจุบันได้มีการนำศาสตร์ที่เกี่ยวกับสายน้ำเข้ามาใช้ในการบำบัดสุขภาพกายและจิตมากขึ้น สามารถเลือกวิธีการบำบัดให้เหมาะสมกับความต้องการ เช่น วารีบำบัด เป็นการนวดด้วยสายน้ำโดยใช้แรงดันและการไหลเวียนของน้ำเพื่อให้ระบบย่อยอาหารและระบบหมุนเวียนต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ซึ่งมีอยู่ในระบบน้ำวน หรือเรียกกันในชื่อของ “จากุซซี่” (Jacuzzi) ที่มีระบบหัวฉีดน้ำวนที่ใช้แรงดันน้ำในการบำบัดร่างกาย
ระบบสระว่ายน้ำมี 3 ระบบ
1. ระบบหมุนเวียนน้ำ
1.1 ระบบสกิมเมอร์ (Skimmer System)
น้ำในสระจะถูกนำไปบำบัดโดยผ่านช่องทางด้านข้างผนังสระ ทำให้ระดับน้ำอยู่ที่ระดับต่ำกว่าพื้นรอบสระ 5-10 เซนติเมตร โดยไม่มีถังพักน้ำ จึงประหยัดน้ำ มีราคาถูกกว่าระบบน้ำล้น แต่มีข้อจำกัดคือ เหมาะสมกับสระที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 6x12 เมตร
1.2 ระบบน้ำล้น (Overflow System)
น้ำในสระจะถูกนำไปบำบัดโดยการทำให้ล้นออกมายังรางน้ำล้นข้างสระ แล้วไหลไปยังถังพัก (Surge Tank) ก่อนจะถูกสูบโดยปั๊ม (Pump) ผ่านไปยังเครื่องกรองน้ำ (Filter) ในห้องเครื่อง ระบบน้ำล้นเหมาะกับผู้ที่ต้องการสระว่ายน้ำแบบไม่มีขอบสระ ผิวน้ำดูตึงสวย เพราะ อยู่ในระดับเดียวกับพื้นรอบสระ และมีรางน้ำล้นอยู่รอบสระ ซึ่งสามารถออกแบบเพื่อหลบรางน้ำล้นได้โดยทำขอบให้ต่ำกว่าระดับสระมาก ๆ ลักษณะดังกล่าวจะเหมาะกับสระว่ายน้ำที่อยู่บนหน้าผาหรือบนเนิน เพราะให้ความรู้สึกเหมือนน้ำตก
2. ระบบบำบัด
2.1 ระบบคลอรีน (Chlorine)
เป็นระบบฆ่าเชื้อโรคที่นิยมใช้กันมาก เพราะมีราคาถูกและมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำพอสมควร คลอรีนที่จำหน่ายในท้องตลาดมักอยู่ในรูปของเหลว เม็ด และ ผง แค่ละลายลงในสระว่ายน้ำก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้แล้ว แต่ค่า pH ของน้ำในสระว่ายน้ำที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 7.2-7.8 หากมีค่าสูงแสดงว่าน้ำมีความเป็นด่าง ควรเติมกรดเพื่อปรับสภาพน้ำ และหากน้ำในสระมีค่า pH ต่ำ คือ ความเป็นกรดสูง ก็ต้องเติมสารที่เป็นด่างจำพวก Buffer หรือ Soda Ash เพื่อปรับสภาพน้ำให้เป็นกลาง คลอรีนเป็นสารที่ทำให้เกิดความระคายเคืองกับผิวหนังได้ ดังนั้นการละลายคลอรีนจึงควรทำในช่วงเย็น หลังจากใช้สระเสร็จแล้ว และควรเปิดปั๊มให้ระบบทำงานไว้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
2.2 ระบบเกลือ (Salt Water)
ปัจจุบันมีการค้นพบวิธีการใหม่ เพื่อควบคุมความสะอาดของน้ำด้วยระบบเกลือ ซึ่งมีความปลอดภัยกว่าการใช้คลอรีนแบบเดิม โดยอาศัยเครื่องฟอกน้ำบรรจุเกลือ ที่มีสมรรถนะสูงเรียกว่า Salt-Chlorinator สามารถรักษาน้ำในสระให้สะอาดเหมือนน้ำในทะเล (แต่ความเค็มน้อยกว่าน้ำทะเลประมาณ 10 เท่า) เนื่องจากเกลือที่ใช้เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติจึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวหนังอีกด้วย แต่ราคาติดตั้งเริ่มแรกจะสูงและมีความเป็นด่าง จึงทำให้น้ำในสระมีรสกร่อยเล็กน้อย
2.3 ระบบโอโซน
เป็นระบบที่นำก๊าซโอโซนซึ่งผลิตจากเครื่องอัดอากาศมาบำบัดน้ำในสระ เป็นระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงและไม่มีสารตกค้างในน้ำ ระบบโอโซนจะมีระยะเวลาในการฆ่าเชื้อโรคสั้นกว่าระบบอื่นและมีราคาติดตั้งสูงมาก
3 ระบบแสงสว่างในสระว่ายน้ำ
การให้แสงสว่างในสระว่ายน้ำขึ้นอยู่กับรูปแบบของบรรยากาศที่ต้องการให้เกิดขึ้น ตามมาตรฐานแล้วจะต้องไม่ทำให้สระมืดเกินไป เพื่อความสะดวกแก่ผู้ต้องการใช้สระว่ายน้ำในเวลากลางคืน โดยปกติหลอดไฟในสระว่ายน้ำเป็นหลอดไฟที่มีกำลัง 50-300 วัตต์ 12 โวลต์ มีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 1,000 ชั่วโมง ติดตั้งบริเวณผนังสระโคมมีแผ่นกระจกโค้งครอบ เพื่อช่วยกระจายแสงพร้อมพลาสติกครอบกันน้ำรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีหลอด LED ซึ่งเป็นหลอดไฟอีกประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ เปลี่ยนสีได้หลากหลาย ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับสระว่ายน้ำในเวลากลางคืนได้
อุปกรณ์สระว่ายน้ำ (Swimming Pool Equipment)
ปั๊ม (Pump) เพื่อดูดน้ำจากสระว่ายน้ำสูบส่งต่อไปยังถังกรอง (Filter Tank) ซึ่งขนาดของปั๊มที่ใช้จะขึ้นอยู่กับปริมาตรน้ำในสระว่ายน้ำและระบบกรองที่ติดตั้ง ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงตามการออกแบบของสระว่ายน้ำแต่ละลูก
เครื่องกรอง (Filter) มีหน้าที่กรองสิ่งสกปรก ฝุ่นละออง ตะกอน จากน้ำในสระว่ายน้ำซึ่งมีหลายชนิด อาทิเช่น
เครื่องกรองทราย (Sand Filter) ซึ่งจะมี Option เช่น Hight-Rate หรือมี Multi Port Valve เพื่อสะดวกในการล้างทำความสะอาดของเครื่องกรองเอง
เครื่องกรองผ้า (D.E. Filter) จะใช้ผงกรอง เพื่อเคลือบฉาบแผ่นกรองที่มีผ้าหุ้มเอาไว้ กรองประเภทนี้จะมีคุณภาพการกรองที่มีประสิทธิภาพดีมาก ดีกว่ากรองทุกประเภท แต่ขั้นตอนการทำความสะอาดแผ่นกรองจะยุ่งยากกว่า เพราะต้องถอดล้างและใส่ผงกรองใหม่ทุกครั้งที่ล้าง
เครื่องกรองกระดาษ (Cartridge Filter) กรองประเภทนี้จะมีลักษณะไส้กรองเหมือนกรองอากาศรถยนต์ ส่วนใหญ่จะใช้กับบ่อสปาหรือสระว่ายน้ำขนาดเล็ก การทำความสะอาดจะต้องถอดล้างเป็นประจำ
|
|
|
|
|
หวังว่าคงพอเป็นประโยชน์ได้บ้างนะครับ
ศุภวัฒน์ อริญชยวัฒน์
สถาปนิกประจำกองบรรณาธิการ
วันที่ 26 ส.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,226 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,151 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,156 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 15,668 ครั้ง |
เปิดอ่าน 22,168 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,261 ครั้ง |
เปิดอ่าน 4,902 ครั้ง |
เปิดอ่าน 3,997 ครั้ง |
|
|