ชื่อการศึกษา : การพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านริมลาว
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 1
ชื่อผู้ศึกษา : นางนิตยา สามหมื่นคำ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ปีที่ศึกษา : 2551
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การอ่านเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนาสติปัญญาของคนในสังคม การอ่านทำให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญา ความรู้ความสามารถ พฤติกรรม และค่านิยมต่างๆ รวมทั้งช่วยในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต พัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต การอ่านจึงมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์อย่างยิ่ง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2549 : 1)
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กล่าวถึงการจัดการศึกษา กับกระบวนการอ่าน กระบวนการเรียนรู้และการอ่านในมาตรา 24 (3) และ (5) ในมาตรา 4 กล่าวไว้ว่า การศึกษา หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้ เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้ตลอดชีวิต และในมาตรา 24(3) และ (5) ได้ระบุไว้ว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนรักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมสื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2546 : 2-12 ) การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตจะเกิดขึ้นได้ นักเรียนต้องมีนิสัยรักการอ่านจะทำให้นักเรียนและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามแนวการจัดการศึกษาในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 ที่ยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพโดยจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้แก้ปัญหา การเรียนรู้ จากประสบการณ์จริง สถานศึกษาควรจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกื้อกูลส่งเสริมการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการอ่านในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการเรียน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2549 : 10) จึงเป็นที่มาของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ที่มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ จึงได้กำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในด้านการอ่านคือ มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเขียน และรักการค้นคว้า (กระทรวงศึกษาธิการ. 2545ก : 4) โดยกำหนดคุณภาพของผู้เรียนเมื่อจบหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐานในระดับช่วงชั้นที่ 1 (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3) ไว้ว่า สามารถอ่านได้คล่องและอ่าน ได้เร็ว เข้าใจความหมายและหน้าที่ของคำ กลุ่มคำ ประโยค และเข้าใจข้อความที่อ่าน นำความรู้ที่ได้จากการอ่านมาคิด คาดคะเนเรื่องราวหรือเหตุการณ์ และกำหนดแนวทางการปฏิบัติได้ เลือกอ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์ทั้งความรู้และความบันเทิง (กระทรวงศึกษาธิการ. 2545ข : 2)
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถึงสถิติการอ่านหนังสือของคนไทยพบว่า คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือลดลง จากร้อยละ 69.1 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 66.3 ในปี 2551 และจากจำนวนคนที่ไม่อ่านหนังสืออีกร้อยละ 33.7 นั้น ใช้เวลาเพื่อดูโทรทัศน์ถึงร้อยละ 54.3รองลงมาคือ ไม่มีเวลาอ่าน ไม่สนใจหรือไม่ชอบอ่านหนังสือ และอ่านหนังสือไม่ออก ตามลำดับ ซึ่งจากสถิติโดยภาพรวมพบว่า คนไทยอ่านหนังสือลดลงเกือบทุกวัย ส่วนใหญ่จะใช้เวลาดูโทรทัศน์มากขึ้น ทำให้จินตนาการน้อยลง อย่างไรก็ตามคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือน้อยลง จากเฉลี่ย 51 นาทีต่อวันในปี 2548 เหลือ 39 นาทีต่อวัน ในปี 2551 โดยมีกลุ่มเยาวชนอ่านหนังสือมากที่สุด 46 นาทีต่อวัน (สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ http://thainews.prd.go.th/PrintNews.php? m_newsid= 255204010010&tb=N255204. 2551)
จากความสำคัญของการอ่าน สภาพและปัญหาดังกล่าว ผู้ศึกษาจึงได้พัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในการอ่าน มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีความกระตือรือร้นใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาไทย สามารถเรียนรู้กับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และเพื่อพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนอีกทางหนึ่ง
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1. เพื่อพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านริมลาว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 1
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการใช้หนังสือหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ได้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 2 โรงเรียนบ้านริมลาว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 1 ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านริมลาว มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ใฝ่เรียนใฝ่รู้ และมีทักษะการอ่านสูงขึ้น
3. หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย ส่งเสริมให้นักเรียน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และใช้การอ่าน เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้
4. หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย เป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ
สมมุติฐานของการศึกษา
1. หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80
2. คะแนนทดสอบหลังเรียนหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดฉันรักภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 สูงกว่าคะแนนทดสอบก่อนเรียน อย่างน้อย ร้อยละ 30
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจต่อการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย ในระดับมาก
ขอบเขตของการศึกษา
1. ขอบเขตประชากร
ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านริมลาว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 1 ปีการศึกษา 2551
2. ขอบเขตด้านเนื้อหา
การศึกษาครั้งนี้ มุ่งพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านริมลาว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 1 ตามมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ดังนี้
มาตรฐาน ท 4.1.1 สามารถสะกดคำโดยใช้น้ำเสียงและรูปของพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ ประสมเป็นคำอ่านและเขียนคำได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของภาษา
มาตรฐาน ท 4.1.2 เข้าใจความหมายและหน้าที่ของคำ กลุ่มคำ ประโยค การเรียงลำดับคำและเรียบเรียงประโยคตามลำดับความคิดที่ชัดเจน
โดยนำคำและชุดคำจากหนังสือสาระการเรียนรู้พื้นฐาน ชุดภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มาจัดทำเป็นบทร้อยกรองประกอบภาพจำนวน 14 เล่ม ดังนี้
เล่มที่ 1 เรื่อง ลูกตาลรักเรียน
เล่มที่ 2 เรื่อง ฉันรักภาษาไทย
เล่มที่ 3 เรื่อง ฟ้าใสดาวสวย
เล่มที่ 4 เรื่อง บ้านของคุณตา
เล่มที่ 5 เรื่อง แม่น้ำกกที่รัก
เล่มที่ 6 เรื่อง เที่ยวป่าพาเพลิน
เล่มที่ 7 เรื่อง สวนกล้วยคุณตา
เล่มที่ 8 เรื่อง คนเก่งของแม่
เล่มที่ 9 เรื่อง ดาวจ๋าอยู่ไหน
เล่มที่ 10 เรื่อง เที่ยวท่องแหล่งเรียนรู้
เล่มที่ 11 เรื่อง ทุ่งรวงทองของคุณพ่อ
เล่มที่ 12 เรื่อง เพื่อนแท้
เล่มที่ 13 เรื่อง รู้จักออม
เล่มที่ 14 เรื่อง ธรรมชาติน่ารัก
ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา
1. ตัวแปรต้น ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย
2. ตัวแปรตาม ได้แก่
2.1 ประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย ตามเกณฑ์ 80/80
2.2 ความแตกต่างของคะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน จากการใช้ หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย
2.3 ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย
นิยามศัพท์เฉพาะ
หนังสือชุดส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย หมายถึง หนังสือนิทานประกอบภาพ ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น จำนวน 14 เล่ม เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านให้กับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยมีลักษณะเป็นบทร้อยกรอง มีภาพประกอบสีสันสวยงาม เนื้อหาเหมาะสมกับนักเรียนช่วงชั้น ที่ 1
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ผลสัมฤทธิ์จากการอ่านหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้จากการตอบแบบทดสอบก่อนเรียนและแบบทดสอบหลังเรียน ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น
ประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย หมายถึง อัตราส่วนระหว่างค่าร้อยละของค่าเฉลี่ยจากการปฏิบัติกิจกรรมระหว่างเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย กับค่าร้อยละของคะแนนที่ได้จากการทำแบบทดสอบหลังเรียน โดยใช้ประสิทธิภาพ 80/80 เป็นเกณฑ์ตัดสิน
80 ตัวแรก หมายถึง ประสิทธิภาพของกระบวนการโดยพิจารณาจากร้อยละของคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนจากการเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย
80 ตัวหลัง หมายถึง ประสิทธิภาพของผลผลิตโดยพิจารณาจากร้อยละของคะแนนเฉลี่ยจากแบบทดสอบหลังเรียน ของนักเรียนหลังเรียนทุกแผนโดยมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80 ขึ้นไป
ความพึงพอใจของนักเรียน หมายถึง ทัศนคติ ความรู้สึก หรือ ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านริมลาว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 1 ที่มีต่อหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย
เครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
การศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาใช้เครื่องมือ ประกอบด้วย
1. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่
1.1 หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 2 จำนวน 14 เล่ม
1.2 คู่มือการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย
2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย
2.1 แบบประเมินคุณภาพหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า แบ่งเป็น 5 ระดับ
2.2 แบบทดสอบก่อนและหลังการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย จำนวน 20 ข้อ และแบบทดสอบระหว่างเรียน จำนวน 14 ชุด ชุดละ 10 ข้อ มีลักษณะเป็นแบบเลือกตอบ 3 ตัวเลือก
2.3 แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)
การจัดทำกับข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้ศึกษาดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลตามขั้นตอน ดังนี้
1. การพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านริมลาว จังหวัดเชียงราย ผู้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 โดยใช้สูตร E1/E2 นำเสนอในรูปตารางประกอบคำบรรยาย
2. การเปรียบเทียบผลต่างระหว่างคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการใช้หนังสือชุดส่งเสริมการอ่านกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละของคะแนนที่เพิ่มขึ้น นำเสนอในรูปตารางประกอบคำบรรยาย
3. การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านริมลาว จังหวัดเชียงราย ที่มีต่อหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน นำเสนอในรูปตารางประกอบคำบรรยาย
สรุปผลการศึกษา
การพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านริมลาว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 1
ผลการประเมินประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่านปรากฏดังนี้
1. ผลการประเมินประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย ปรากฏดังนี้
1.1 ผลการทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง
หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากการทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง มีประสิทธิภาพ E1 /E2 เท่ากับ 83.63/81.11
1.2 ผลการทดลองแบบกลุ่ม
หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากการทดลองแบบกลุ่ม มีประสิทธิภาพ E1 /E2 เท่ากับ 82.85/82.58
1.3 การนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย
หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากการนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย มีประสิทธิภาพ E1 /E2 เท่ากับ 85.74/85.42
2. ผลการวิเคราะห์คุณภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
2.1 ความแตกต่างระหว่างคะแนนก่อนและหลังการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย
ความแตกต่างระหว่างคะแนนก่อนและหลังการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย พบว่า คะแนนของนักเรียนหลังการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย สูงกว่าก่อนการใช้ โดยมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6.67 คิดเป็นร้อยละ 33.33 โดยก่อนการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทยค่าคะแนนเฉลี่ยเป็น 10.42 หลังการใช้คะแนนเฉลี่ยเป็น 17.08 และเมื่อพิจารณาคะแนนของนักเรียนเป็นรายบุคคล พบว่า นักเรียนมีคะแนนสูงขึ้นทุกคน โดยมีคะแนนการประเมินเพิ่มขึ้นสูงสุดเท่ากับ 10 คะแนน และต่ำสุดเท่ากับ 4 คะแนน
2.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทย
ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุด ฉันรักภาษาไทยโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = 2.95) เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากทุกรายการ