เพลงไทยสากลได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีไทยทั้งทางด้านเนื้อหาและความคิดบางประการในสี่ลักษณะด้วยกันคือ
๑.คัดเนื้อหามาจากวรรณคดีไทยโดยตรง
ประเภทนี้ผู้แต่งเพลงจะคัดลอกเนื้อหาตอนใดตอนหนึ่งจากวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาใส่ทำนองเพลงเข้าไป โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำใดๆ หรือแก้ไขเพียงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น
เพลง "ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ" คัดเนื้อหามาจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่อง "เวนิสวาณิช" ตอน "ลอเรนโซ บรรยายให้ เช็สซิกา ฟังเกี่ยวกับเรื่องคนไม่มีดนตรีในหัวใจ" ดังนี้
ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
ฤๅอุบายมุ่งร้ายฉมังนัก มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้ เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ
เพลงนี้ ประพันธ์ทำนองโดย สง่า อารัมภีร บันทึกเสียงครั้งแรกโดย สุเทพ วงศ์กำแหง
๒.คัดเนื้อหามาจากวรรณคดีไทยแล้วแต่งขยายเพิ่มเติม เพลงประเภทนี้ผู้แต่งเพลงจะคัดเนื้อหาจากวรรณคดีมาเกริ่นในตอนต้นของเพลง หรือตอนท้ายเพลง และแต่งขยายเพิ่มเติมเช่น เพลง "ยอดพธูเมืองแปร" คัดเนื้อหามาจากโคลงบทหนึ่งใน "นิราศนรินทร์" มาไว้ตอนต้นเพลง
โฉมควรจักฝากฟ้า ฤๅดินดีฤๅ
เกรงเทพไทธรณิน ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน บนเล่า นาแม่
ลมจะชายชักช้ำ ชอกเนื้อ เรียมสงวน
แม่ยอดพธูเมืองแปร ช่างสวยแท้งามเด่น
งามเหมือนหนึ่งจันทร์เพ็ญ สมเป็นยอดนารี
พี่อยากยลโฉมเจ้า หลงรักเฝ้านิยม
แต่ต้องตรมไม่สมฤดี หรือบุญพี่จะมีไม่ถึง
เจ้าหลับเอนกายสยายเกศา ยั่วอุราให้ข้าตะลึง อกแม่งอนเต่งตึง งามประหนึ่งอุบล
แม้ยามห่างน้องหมองหม่น จะฝากหน้ามนพี่ขัดสนจนใจ โฉมเอย แม่งามเลิศลักขณา หรือจะลองฝากฟ้า ข้ากลัวจะเหลิงไป
จะลอยโพยม พระพรหมท่านจะคลั่งไคล้ ใครเล่าจะแล พี่ฝากกับใครใจหวง ไม่เหมือนดังดวงใจ แม่ รักแท้คงเมตตา เออหรือลอง ฝากกับท้องคงคา พี่คิดยิ่งพาหมองไหม้ ไม่อยากให้ใครกล้ำกราย พี่่ห่วงดวงใจ หลงใหลงมงาย รักไม่คลาย เพียงหนึ่งน้องนางเดียว
เพลงนี้ประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย ไสล ไกรเลิศ บันทึกเสียงครั้งแรกโดย สุเทพ วงศ์กำแหง
๓.ดัดแปลงเนื้อหาบางตอนในวรรณคดีไทย
เพลงประเภทนี้ ผู้ประพันธ์เพลงจะนำเนื้อหาบางส่วนจากวรรณคดีมาตัดตอนหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเสียใหม่ ซึ่งจะเปรียบเทียบให้เห็นดังนี้ บทประพันธ์ของ สุนทรภู่ เรื่อง "พระอภัยมณี" ตอน "พระอภัยมณีให้คำมั่นสัญญาแก่นางละเวง"
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้หล้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
เพลง "คำมั่นสัญญา" ประพันธ์ทำนองโดย สุรพล แสงเอก บันทึกเสียงครั้งแรกโดย ปรีชา บุญยเกียรติ
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้อยู่ในใต้หล้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผกาโกสุมปทุมทอง
แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์ จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
๔.แต่งเนื้อหาขึ้นใหม่โดยอาศัยเค้าโครงจากวรรณคดีไทย
เพลงประเภทนี้ ผู้แต่งเพลงจะแต่งโดยจินตนาการจากเนื้อเรื่องและตัวละครในวรรณคดีไทย เช่นเพลง อิเหนารำพัน (ชรินทร์) กากีเหมือนดอกไม้ (ชรินทร์) พิมพิลาไล (สุเทพ) พระลอรำพัน (นริศ) ภาพฝันวรรณคดี (สุเทพ) เป็นต้น
|