ความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงชายที่ปรากฏให้เห็นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา การเมือง หรือวัฒนธรรม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงระบบปิตาธิปไตยที่นับวันจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสังคมที่อยู่ภายใต้ระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ไม่มีใครตั้งคำถามกับมันอย่างจริงๆจังๆ ซึ่งส่งผลให้สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างแนบเนียนจนถึงปัจจุบัน
นางกากี กับ ชายผู้น่าเกรงขาม
“ผู้หญิงเจ้าชู้คือ ผู้หญิงร่าน” “ผู้ชายที่ไม่เจ้าชู้ ก็เปรียบเสมือนงูไม่มีพิษ” จากคำกล่าวข้างต้นนี้ท่านเห็นด้วยหรือไม่? จริงหรือที่ผู้หญิงเจ้าชู้เป็นผู้หญิงร่าน สำส่อนกับผู้ชายไปทั่ว แล้วจริงหรือที่ผู้ชายเจ้าชู้ มีแฟนทีละหลายคนนั้นสมกับเป็นลูกผู้ชาย(ช่างน่าเกรงขามจริงๆ)
หลายคนคงจะรู้จักกับคำเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะมันถูกใช้อธิบายถึงความเป็นผู้หญิงและความเป็นผู้ชาย นอกจากนั้นคำกล่าวทั้งสองยังทำให้เกิดความรู้สึกแบบขั้วตรงข้ามระหว่างเพศชายและเพศหญิงอย่างเห็นได้ชัด
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับอำนาจและความเหลื่อมล้ำทางเพศที่แฝงมากับคำนิยามดังกล่าว ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีแล้วคำเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนอำนาจที่มากดทับเพศทั้งสองเอาไว้ โดยเฉพาะเพศหญิง แต่คนทั่วไปมักจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาแล้วก็เชื่อตามคำกล่าวนั้นว่ามันเป็นเรื่องจริง โดยที่มิได้ทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของเนื้อหาให้ดี
หากเราฟังคำกล่าวข้างต้นเพียงผิวเผินก็คงไม่รู้สึกถึงความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำทางเพศเท่าใดนัก แต่ถ้าพิจารณาถึงเนื้อหาของทั้งสองคำกล่าวนี้แล้ว เราก็จะเห็นได้ว่าคำนิยามแรกถูกใช้เพื่อ ด่าผู้หญิงโดยเฉพาะ ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด รักเผื่อเลือก ในขณะที่คำนิยามอย่างหลังกลับ สนับสนุนผู้ชายให้เจ้าชู้ได้อย่างเต็มที่ โดยอ้างเหตุผลว่าหากผู้ชายไม่เจ้าชู้ก็จะไม่น่ากลัว ไม่น่าเกรงขาม ไม่สมเป็นลูกผู้ชาย!!!
ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำนิยามอย่างหลังได้สร้างความชอบธรรมในเรื่องการมีคู่ครองได้หลายคนให้กับเพศชาย และให้ความรู้สึกในแง่บวกมากกว่า ในขณะที่คำนิยามแรกนั้นให้ความรู้สึกในแง่ลบ และมีอคติต่อเพศหญิง
ดังนั้นการที่ผู้ชายจะมีแฟนหลายคนจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะนั่นหมายถึงศักดิ์ศรีและความเป็นลูกผู้ชาย ในทางกลับกันถ้าผู้หญิงเจ้าชู้ก็จะถูกประณามว่า เป็น นางวันทอง กากี โมฬี ผู้หญิงร่าน ฯลฯ สารพัดคำด่าที่ผู้หญิงต้องโดน ทั้งจากผู้ชายและจากผู้หญิงด้วยกันเอง
จากคำกล่าวข้างต้น เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเรา และคงพอจะทำให้เห็นถึงความแตกต่างทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอำนาจในการมีคู่ครองที่ผู้หญิงมักถูกจำกัดด้วยประเพณีและวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณ อีกทั้งการที่ผู้หญิงยอมรับอำนาจของผู้ชายโดยไม่มีข้อโต้แย้งนั้น ก็ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเพศระหว่างหญิงชายสามารถดำเนินอยู่ในสังคมได้อย่างแนบเนียนและยาวนาน
แล้วคุณล่ะคะ ..... คิดเหมือนหรือต่างจากคุณเสลดพังพอน จะคิดอย่างไรก็ไม่ว่ากัน ลองมาฟังเรื่องราวจากวรรณคดีกันค่ะ
|