Advertisement
|
|
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี แหล่งความรู้ที่รวบรวมจากความสนใจส่วนตัวของจ่าทวีและต้องการเผยแพร่แก่สาธารณะ |
|
|
|
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น |
|
|
|
|
ที่นี่อาจไม่อลังการเท่า "สมิทโซเนียน" ไม่มีวี่แววที่จะเป็นแหล่งความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใดๆ มากไปกว่าแหล่งรวบรวม "ของเก่าๆ" แต่ถ้าพินิจดูให้ดีเราจะเห็นภูมิปัญญาที่แฝงไปด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ของ ปู่ย่า-ตายายที่ซ่อนอยู่ในของใช้และวิธีความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านของคนไทยใน อดีตที่ "พิพิธภัณฑ์จ่าทวี"
หลายคนเคยไปเยี่ยมเยียน หลายคนเคยได้ยินชื่อ "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี" แหล่งรวบรวมนิทรรศการ และความรู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนไทยในอดีตซึ่ง ตั้งอยู่ใน จ.พิษณุโลก แต่อีกหลายคนก็ยังไม่รู้จักพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เลย และนับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ที่ได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พร้อมๆ กับเหล่าว่าที่และนักฟิสิกส์ทฤษฎีของสถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ที่พิพิธภัณฑ์มีส่วนจัดแสดงหลายส่วน ทั้งห้องแสดงภาพซึ่งแสดงภาพในอดีตของชาวพิษณุโลก อาคารแสดงจัดแสดงนิทรรศการซึ่งรวบรวมของใช้และจัดแสดงวิธีความเป็นอยู่ของชาวภาคเหนือตอนล่าง และอาคารนิทรรศการชาวโซ่ง ทั้งนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้เข้าไปนิทรรศการภายในอาคารจัดแสดง ซึ่งยกเรือนย่อมๆ และเครื่องใช้ที่ดูแสนธรรมดาแต่ฝังภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติมาจัดแสดง ซึ่งเมื่อฉาบด้วยกาลเวลาอีกต่อแล้ว สิ่งเหล่านี้ยิ่งเรืองคุณค่ามากขึ้นทุกวัน
"เครื่องมือจับสัตว์" เป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน ที่รู้จักสังเกตพฤติกรรมสัตว์มาเป็นประโยชน์ในการออกแบบเครื่องมือ
"กล่องตาแมว" เป็นเครื่องมือสำหรับจับหนูนาเพื่อนำมาประกอบอาหาร รูปร่างของกล่องที่ดูเรียบๆ แต่กลับมีกลไกอันแสนชาญฉลาดในการดักจับหนู ลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้ามีรู 2 ช่องสำหรับดักหนูขนาดไม่เล็กและไม่โตเกินไป มองแล้วคล้ายดวงตาคู่หนึ่ง
ภายในกล่องยังแบ่งออกเป็น 4 ช่อง ซึ่ง 2 ช่องด้านหน้ามีกลไกไม้กระดก ส่วน 2 ช่องด้านหลังสำหรับขังหนูที่ติดกับ เมื่อหนูวิ่งเข้าไปในกล่องเพื่อเข้าไปกินอาหารที่ล่อไว้ น้ำหนักของหนูจะทำให้ไม้กระดกเอียง และฝาไม้กลมๆ จะกลิ้งไปปิดช่องที่หนูตัวนั้นเพิ่งวิ่งเข้าไป ซึ่งพฤติกรรมของหนูจะไม่วิ่งถอยหลังแต่วิ่งไปข้างหน้าแล้วติดอยู่ภายในกล่อง และกลไกนี้จะทำงานสลับซ้าย-ขวา ตามจำนวนหนูที่วิ่งเข้าไปติดกับ ทำให้สามารถจับหนูได้หลายๆ ตัวด้วยกล่องใบเดียว
พฤติกรรมของลิงที่ไม่แบมือจนกว่าจะได้กินอาหารในมือ นำไปสู่อุปกรณ์จับลิงที่ทำขึ้นจากมะพร้าวลูกเดียว ที่ตัดให้มีช่องพอสำหรับให้ลิงสอดมือเข้าไปได้ จากนั้นนายพรานจะนำไปล่อลิงโดยใส่อาหารไว้ข้างใน ซึ่งนิยมใช้ไข่ต้ม เมื่อเจ้าจ๋อเอามือล้วงเข้าไปก็จะกำมือไว้แน่นตามสัญชาตญาณ จึงติดกับนายพราน
อุปกรณ์ดักจับเม่นเป็นอีกเครื่องมือที่แสดงถึง การช่างสังเกตต่อพฤติกรรมสัตว์ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้มีไว้เพื่อดักจับเม่นไปเป็นอาหาร หากแต่บรรษบุรุษของเราใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับล่อให้เม่นเข้าไปติดกับเพื่อถอน ขนเม่นไปใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นปิ่นปักผม เครื่องประดับและนำไปฝนเป็นยารักษาโรค และเนื่องจากเม่นเนื้อเหนียวจึงไม่นิยมนำไปกิน ลักษณะเครื่องมือจะเป็นไม้ไผ่สานเมื่อเม่นเข้าไปติดกับจะพองขนตามสัญชาตญาณ
ภายในอาคารนิทรรศการยังจัดแสดง "ครัวไฟ" ตัวอย่างครัวสมัยก่อนซึ่งใช้ประโยชน์จากเตาฟืนที่เรียกว่า "เตาสามเส้า" เป็นเตาที่มีเส้า 3 ก้อน ปั้นขึ้นจากดินเหนียวคล้ายเขาควาย วางบนกระบะดินที่ช่วยให้วางเตาบนครัวที่สร้างจากไม้ไผ่ได้ ภายในครัวที่ไม่มีตู้เย็นหรือตู้กำกับข้าวอย่างในวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ใช้ "กะลากันมด" เป็นเครื่องมือมากินอาหาร โดยจะเจาะรูกะลามะพร้าวใส่ขอแขวนแล้วชันไม่ให้มีรูรั่ว จากนั้นเติมน้ำในกะลา แล้วนำอาหารไปแขวนกับตะขอที่มีกะลากันมด
"เรือนอยู่ไฟหลังคลอด" เป็นเรือนที่ปลูกขึ้นจากไม้ไผ่ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการรื้อถอนสำหรับนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ต่อไป เรือนอยู่ไฟจะมีกองไฟอยู่กลางเรือน เมื่อผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรได้รับความร้อนจากกองไฟจากทำให้มดลูกเข้าอู่ เร็วขึ้น ภายในเรือนมีกระปุกเกลือให้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรโยนใส่กองไฟ เมื่อเกลือร้อนถึงระดับหนึ่งจะแตกกระเด็นมาถูกตัวแม่ที่อาจเพลียจนหลับไป ทำให้ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดตื่นตัวอยู่เสมอ
ขณะเดียวกันเด็กที่เพิ่งคลอดตามความเชื่อโบราณ ถือว่ายังจิตวิญญาณยังไม่เกิดบนโลกจนกว่าจะ "ตกฟาก" นั่นคือการนำศีรษะของเด็กไปกระทบกับฟากของเรือน ซึ่งอธิบายตามหลักการคือวิธีทำให้เด็กสำรอกน้ำคร่ำออกมา เช่นเดียวกับการตบก้นเด็กแรกเกิดในปัจจุบัน ส่วนรกของเด็กจะฝังไว้ใต้เรือน โดยมีไม้หนามวางกั้นไว้ โบราณว่าเพื่อปกป้องกระสือมากิน แต่อธิบายตามหลักการได้ว่ากลิ่นคาวของรกเด็กจะดึงให้หมา-แมวไปคุ้ยกิน จึงต้องวางไม้หนามกันไว้
ยังมีของใช้ทรงคุณค่าอีกมากในพิพิธภัณฑ์ของจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ อดีตข้าราชการทหารและช่างปั้นพระพุทธรูปซึ่งเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ พื้นบ้านมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี ด้วยความชอบส่วนตัว และเผื่อแผ่ให้คนอื่นๆ ได้ร่วมรับรู้ถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ที่รู้จักประดิษฐ์เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ เป็นวิถีชีวิตที่เลือนหายไปจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นส่วนเล็กๆ ในสังคมที่ย้ำเตือนว่าวิถีชีวิตของบรรพบุรุษนั้นไม่ได้อยู่อย่างงมงายและจมอยู่กับความเชื่อเท่านั้น แต่ยังมีความรู้ มีหลักการที่อธิบายได้ทุกความเป็นไป เพียงแต่ลูกหลานอย่างเราๆ จะมองเห็นและรู้คุณค่าหรือไม่
|
|
|
|
|
|
|
|
วันที่ 17 ส.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,340 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,156 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,204 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,393 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,259 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,299 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 12,559 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,026 ครั้ง |
เปิดอ่าน 1,142 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,390 ครั้ง |
เปิดอ่าน 21,465 ครั้ง |
|
|