ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

ตำนาน บ้านบางระจัน


สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เปิดอ่าน : 189,794 ครั้ง
Advertisement

ตำนาน บ้านบางระจัน

Advertisement

พ.ศ ๒๓๐๘ เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรือ พระเจ้าบรมโกศ เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. ๒๓๐๑ทรงมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ หรือพระนามที่เรามักเรียกว่า กรมขุนพรพินิต แต่เมื่อครองราชสมบัติได้ ๑๐ วันก็ทรงถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ซึ่งเป็นพระเชษฐาธิราชของกรมขุนพรพินิต ทรง พระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ หรือที่เรียกกันว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศมิได้ทรงพระปรีชาสามารถในงานการปกครองบ้านเมือง พระอุปนิสัยส่วนพระองค์ก็ไม่ทรงเข้มแข็งเด็ดขาด ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินจะพึงมีทำให้บรรดาข้าราชบริวาร และเหล่าเจ้านายทั้งหลายเกิดความระส่ำระส่าย ต่างคิดเอาใจออกห่าง ทั้งแบ่งพรรคแบ่งพวกไม่เกิดความสามัคคีในหมู่ราชการ ไม่เต็มใจปฏิบัติงานราชการ ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญามังลอง และมังระราชบุตร ยกกองทัพมาตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรีซื่งเป็นของไทยในสมัยนั้น( ปัจจุบันเมืองทั้ง ๓ เป็นเมืองของสหภาพพม่าอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของไทยใกล้จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศโปรดให้กองทัพไทย ออกไปป้องกันถึง ๓ กองทัพ แต่ก็แตกพ่ายกลับพระนครทั้งสิ้น ทางฝ่ายพม่าเมื่อเห็นไทยแตกพ่ายก็ได้ใจเร่งยกทัพล่วงเข้ามาในเขตไทย จนกระทั่งมาตั้งทัพหลวงที่เมืองสุพรรณบุรี ครั้งนั้นบรรดาข้าราชการและราษฎรต่างพากันไปกราบทูลวิงวอน เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตให้ทรงลาผนวชออกมาช่วยป้องกันรักษาพระนคร เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตทรงลาผนวชออกมารักษาพระนครให้แข็งขันกว่าเดิม ทรงส่งกองทัพออกไปตั้งรับข้าศึก ถึงกระนั้นก็ตามกองทัพไทยก็แตกพ่ายทุกทัพ ด้วยข้าราชการมิได้ปฎิบัติราชการสงครามอย่างแท้จริง พม่าสามารถยกเข้าถึงชานกรุงศรีอยุธยา ใชัปืนใหญ่ระดมยิง พระราชวัง เผอิญพระเจ้าอลองพญามังลอถูกรางปืนแตกต้องพระองค์ประชวร กองทัพพม่าจึงจำต้องยกกลับไป ซึ่งต่อมาพระเจ้าอลองพญามังลอก็ถึงแก่สวรรคต มังลอราชบุตรขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี พ.ศ. ๒๓๐๗ พระเจ้ามังละเห็นว่าครั้งที่แล้วต้องยกทัพกลับเพราะพระเชษฐาประชวร จึงยังตีกรุงศรีอยุธยาไม่แตก จำต้องยกทัพไปอีกครั้ง ปี พ.ศ. ๒๓๐๘ พระเจ้ามังระมีบัญชาให้มังมหานรธาเป็นแม่ทัพใหญ่นำไพร่พล๑๕,๐๐๐ คนยกทัพเข้ามาทางใต้ ส่วนทางเหนือให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพใหญ่นำไพร่พลประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน เคลื่อนกองทัพออกจากเมืองเชียงใหม่ กองทัพของมังมหานรธายกมาทางใต้เข้าตีเมืองทวายเมื่อตีได้แล้ว ก็เลยไปตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีของไทยด้วย พม่าได้ใจยกล่วงต่อไปทางเมืองกระ พม่าเผาเมืองชุมพร ตีเมืองปะทิวเมืองกุย ตลอดจนถึงปราณ แตกทั้ง ๓ เมือง มังมหานรธาส่งทัพหน้าเข้ามาทางกาญจนบุรีในเดือน ๗ ปีนั้นปะทะกับกับทัพพระยาพิเรนทรเทพ ที่ตั้งรอทัพพม่าอยู่ แต่ทัพไทยแตกพ่าย พม่ายกทัพเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบ้านลูกแก ฆ่าฟันลูกค้าที่มาจอดเรืออยู่แถบนั้นล้มตายเป็นอันมาก จากนั้นได้เข้ามาตั้งค่าย ณ ตอกระออมและดงรังหนองขาว ให้ไพร่พลต่อเรือรบเรือไล่อยู่ ณ ที่นั้น แล้วจัดทัพแยกไปตีเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี ด้านเนเมียวสีหบดียกทัพจากทางเหนือเคลื่อนลงใต้ตีหัวเมืองต่างๆลงมา ทางกรมการเมืองเหนือมีใบบอกลงมาว่า ทางเหนือเนเมียวสีหบดีส่งทัพหน้าลงมาตั้งที่กำแพงเพชร ทำการต่อเรือรบ เรือลำเลียงพลตลอดจนสะสมเสบียงอาหาร สมเด็จ พระเจ้าเอกทัศโปรดให้เจ้าพระยาพิษณุโลก ยกทัพไปตีข้าศึกในเดือน ๗ ทัพหน้าของพม่าก็ยกมาจากกำแพงเพชรมาตั้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์ เดือน ๑๑ เนเมียวสีหบดียกจากเชียงใหม่มาทางด่านสวรรคโลก ตีเมืองต่างๆ เรื่อยมาจนถึงสุโขทัย ได้เมืองสุโขทัยแล้วตั้งทัพมั่นอยู่ในเมือง เจ้าพระยาพิษณุโลกยกทัพไปช่วย แต่เกิดเหตุจลาจลที่เมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงจำต้องยกทัพกลับไปจัดการบ้านเมือง เนเมียวสีหบดีรบกับไทยที่เมืองสุโขทัยจนถึงเดือนยี่ จึงได้ยกไปสมทบกับทัพหน้าที่กำแพงเพชร ในระยะแรกที่ฝ่ายไทยได้ทราบข่าวการรุกรานของพม่าและต่างเห็นว่าพม่าต้องยกมาตีไทยแน่นอน จึงได้ตระเตรียมทัพไว้เพื่อรับมือ แต่การวางแผนรับมือทัพพม่ากลับเป็นไปโดยผิดพลาดอย่างมหันต์ ตำราพิชัยสงครามโบราณ มักจะกล่าวไว้ในบทที่ว่าถึงความตื้นลึกหนาบางว่า " ให้ศัตรูเป็นฝ่ายเปิดเผย ส่วนเราไม่สำแดงร่องรอยให้ประจักษ์ กระนี้ฝ่ายเรารวม แต่ศัตรูแยก เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูแยกเป็นสิบ เท่ากับเราเอาสิบเข้าตีหนึ่ง เมื่อกำลังฝ่ายเรามากแต่ศัตรูน้อย การที่เอากำลังมาจู่โจมกำลังน้อย สิ่งที่เราจะจู่โจมกับข้าศึกก็ง่ายดาย " การตั้งรับของกองทัพไทยที่วางแผนไว้รับมือทัพพม่านั้น กลับทำในทางตรงกันข้ามกับหลักในพิชัยสงคราม โดยไทยเราให้แยกกองทัพออกไปรักษาพระนครโดยรอบทิศตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้กำลังในแต่ละกองลดน้อยลงมีรายละเอียดพอจะสรุปได้ ตามนี้คือ ขั้นแรก ให้เกณฑ์ทหารออกไปรักษาด่าน แบ่งกองทัพเรือออกเป็น ๙ กอง ๆละ ๒๐ ลำ ในแต่ละกองมีกำลังไพร่พลทหารประจำกองละ ๑,๔๐๐ คน พร้อมด้วยเครื่องศาสตราวุธ ให้นำเรือรบไป ๑ ลำ มีปืนใหญ่ ๑ กระบอก ปืนขนาดเล็ก ๑ กระบอก แล้วแบ่งไปประจำที่ต่าง ๆ ดังนี้ ๑ ให้พระราชสงกรานต์ ไปตั้งรับทัพพม่าทางปากน้ำเจ้าพระยา ๒ ให้ศรีภูเบศร์ ไปตั้งรับพม่าทางเมืองพรหมบุรี ๓ ให้หม่อมทิพยุพันไปตั้งรับพม่าทางเมืองพรหมบุรี ๔ ให้หม่อมเทไพ ไปตั้งรับพม่าทางเมืองอินทร์บุรี ๕ ให้หม่อมมหาดเล็กวังหน้า ไปตั้งรับพม่าทางแม่น้ำเมืองสิงห์บุรี ๖ ให้หลวงศรียุทธ ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำหิงสา ๗ ให้ศรีวรข่าน ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำประสบ ๘ ให้พระยาจุหล่า (แขก) ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำพระประแดง (พระมะดัง) ๙ ให้หลวงหรทัยคุมออกไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำลำทอง ขั้นที่สอง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงมีรับสั่งให้จัดกองทัพไปตั้งรับกองทัพพม่า แต่ละทัพห่างไกลกันออกไปเป็นจุดต่างๆ กันดังนี้ กองทัพที่ ๑ ให้พระยาพิพัฒน์โกษา เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพ ๑๓ กอง แต่ละกองมีกำลัง ๑,๐๐๐ คน มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ เชือก ช้างเชือกหนื่งมีปืนใหญ่ขนาดเล็ก ๒ กระบอก มีควาญหัว ๑ คน กลาง ๑ คน ท้ายช้าง ๑ คน มีพลทหารถือทวนตามช้างอีกข้างละ ๑๐๐ คน ให้ไปตั้งรับพม่าที่เมืองมะริด เมืองตะนาวศรี กองทัพที่ ๒ ให้พระยาเพชรบุรี เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพ ๑๑ กองแต่ละ กองจัดกำลังเหมือนกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับพม่าทางเมืองสวรรคโลก กองทัพที่ ๓ ให้ศิริธรรมราชา เป็นปลัดทัพ ให้พระยาพิพัฒน์โกษาเป็นแม่ทัพคุมกองทัพ ๗ กองอีกทางหนึ่ง เพราะอยู่ในเขตใกล้เคียงกัน ให้ไปตั้งที่ตำบลท่ากระดานเขตแดนเมืองกาญจนบุรี กองทัพที่ ๔ ให้เจ้าพระยากลาโหม คุมกองทัพ ๑๕ กอง การจัดกำลังกองทัพจัดแบบเดียวกับกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับทัพพม่าทางเมืองราชบุรี กองทัพที่ ๕ ให้พระยาธิเบศร์ เป็นแม่ทัพ คุมกองทัพ ๑๔ กอง การจัดกำลังกองทัพเหมือนกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับพม่าทางเมืองราชบุรี การที่ทางกรุงศรีอยุธยาได้จัดเตรียมการป้องกัน พระนครและเตรียมสู้รบพม่าโดยจัดแบ่งออกเป็นกองย่อยๆ มากมายและแยกไปตามจุดต่างๆ โดยกองทัพพม่ายกมาจริงๆ เพียงสองทางเท่านั้น ดังนั้นกองทัพไทยที่ไปอยู่อีกหลายจุดที่กองทัพพม่ามิได้เคลื่อนทัพผ่าน จึงไม่ได้สู้รบกับพม่าเป็นการสูญเสียกำลังไปโดยปราศจากประโยชน์ ส่วนทางด้านที่กองทัพพม่าเคลื่อนผ่านมา ปะทะกับกองทัพไทยแต่ฝ่ายเรามีน้อยกว่าเพราะได้กระจายกำลังไปตามจุดต่างๆ คือเปรียบดังเอา ๑ เข้าสู้กับ ๑๐ ซึ่งแทนที่จะเอากำลัง ๑๐ ส่วนเข้าทำลายกำลัง ๑ ส่วน ฝ่ายกองทัพไทยน้อยกว่าย่อมยากแก่การที่จะเอาชนะ เหตุนี้น่าจะเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องเสียกรุงเป็นครั้งที่ ๒ แล้วผลการรบเป็นไปตามที่ได้คาดไว้ ทัพไทยพ่ายศึกในแทบทุกทางที่ปะทะกับกองทัพพม่า ทำให้กองทัพพม่ารุกคืบหน้าเข้ามาทุกที และแล้วกรุงศรีอยุธยาก็ตกอยู่ในวงล้อมกองทัพพม่า ในขณะที่กองทัพพม่ากำลังตั้งค่ายขยายวงล้อมกรุงศรีอยุธยา ในด้านเหนือมีทัพของเนเมียวสีหบดียกเข้ามาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ ตำบลวัดป่าฝ้าย ปากน้ำพระประสบ ทัพของมังมหานรธาที่ยกมาทางใต้มาตั้งค่ายใหญ่ที่ ตำบลสีกุก พระเจ้ามังระส่งทัพหนุนเข้ามาอีก คือ สุรินทรจอข่อง มณีจอข่อง มหาจอข่อง อากาปันยี ถือพลพันเศษยกมาทางเมาะตะมะ เดินทัพเข้ามาทางอุทัยธานีมาตั้งค่ายอยู่แชวงเมืองวิเศษชัยชาญ ในเดือนยี่ พ.ศ. ๒๓๐๘ พระยาเจ่งตละเสี้ยง ตละเกล็บ คุมพลรามัญจากเมาะตะมะประมาณสองพันเศษเข้ามาทางกาญจนบุรีมาถึงค่ายตอกระออม แล้วยกทัพเรือหนุนเข้ามาตั้งค่ายอยู่ ณ ขนอนวัดโปรดสัตว์ จากสภาพการณ์จะเห็นได้ว่าทัพพม่าเข้าประชิดชานพระนครกำลังโอบล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้เกือบจะรอบอยู่แล้ว ในช่วงนี้เองที่เกิดวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันการต่อสู้ระหว่างกองทัพพม่ากับชาวบ้านธรรมดาโดยลำพัง ซึ่งเป็นชาวบางระจันรวมตัวกับชาวเมืองใกล้เคียงอันได้แก่ ชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรค์บุรี เ ป็นวีรกรรมของพลเมืองธรรมดาที่ลุกขึ้นต่อสู้ การรุกรานอันกดขี่ของพม่า พวกเขาเหล่านั้นต่อสู้กับความอยุติธรรม ความโหดเหี้ยมของผู้รุกราน ซึ่งทั้งปล้นชิงทรัพย์สินหญิงสาวถูกข่มขืนและนำไปเป็นนางบำเรอ ปล้นบ้านเผาเมือง ทำลายไร่นาเก็บเอาผลผลิตไปหมดสิ้น ใครขัดขวางจะถูกฆ่า จับผู้คนกวาดต้อนไปเป็นเชลยเพื่อใช้แรงงานเป็นทาส ความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า แผ่นดินแทบลุกเป็นไฟ อิสรภาพกำลังถูกคุกคามจากน้ำมือผู้รุกราน ผู้ที่จะทำให้ไทย ที่"ไท" ชึ่ง หมายความว่า ผู้ยิ่งใหญ่ ต้องแปดเปื้อนอีกครั้ง ราชการบ้านเมืองก็อ่อนแอจะหาผู้ใดมาปกป้องก็หาได้ไม่ จนเหลือกำลังสุดที่จะทนต่อไปได้อีก เหตุการณ์อันเป็นวีรกรรมที่ประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึกถึงความกล้าหาญ ความสามัคคี การยอมสละชีพเพื่อต่อต้านข้าศึก ไม่ก้มหัวให้ศํตรูที่ได้กระทำโดยชาวบ้านธรรมดาอันปราศจากกองทัพใดๆ เข้าช่วยเหลือ วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันเริ่มขึ้นเมื่อ เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าที่เคลื่อน ทัพมาจากทางเหนือได้ส่งทหารกองหนึ่งออกลาดตระเวน กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินทางเมืองวิเศษชัยชาญ เท่านั้นยังไม่พอ หากพบว่าบ้านใดมีลูกสาวก็เรียกเอาตัวด้วยหากไม่ให้ก็ฉุดคร่าเอามา หากต่อสู้ก็ฆ่าทิ้งเสีย ทำให้คนไทยโกรธแค้นพม่ามากยิ่งขึ้นทนต่อการกระทำของทหารพม่าอีกไม่ได้ จึงแอบคบคิดกันต่อสู้พม่า

ในเดือน ๓ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๐๘ พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ และชาวบ้านใกล้เคียง พากันคบคิดอุบายเพื่อล่อลวงพม่า ทั้งรวบรวมผู้คนไว้เพื่อทำการ ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันอยู่นี้มีหัวหน้าที่สำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง ชาวบ้านสีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์ นายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว บ้านโพทะเล แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ชาวไทยเหล่านี้ต่างพากันหลอกลวงพม่าว่าจะนำไปหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการพม่าหลงเชื่อตามไป ก็ถูกนายโชติซึ่งคุมสมัครพรรคพวกซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ ๒๐ คน และชาวบ้านที่ร่วมก่อการก็พาพรรคพวกครอบครัวอพยพหันมาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งมีกิตติศัพท์ว่ามีคุณความรู้ดีเชี่ยวชาญทางวิทยาคมมาก ต่อมานายแท่นและผู้มีชื่ออื่นๆ ชักชวนชาวบ้านได้อีกประมาณ ๔๐๐ คนเศษพากันมาอยู่ที่บ้านบางระจัน หลังจากนั้นก็ตั้งค่ายขึ้นที่บ้านบางระจัน ๒ ค่าย คือ ค่ายใหญ่และค่ายน้อย ทั้งนี้เพื่อป้องกันทหารพม่าที่จะยกติดตามมาพระอาจารย์ธรรมโชติได้ลงตะกรุดประเจียดมงคล แจกจ่ายชาวค่าย สำหรับป้องกันตัวและเป็นกำลังใจ นอกจากนี้มีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามาร่วมด้วยอีก ๕ คน คือขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว และนายทองแสงใหญ่ รวมหัวหน้าที่สำคัญของค่ายบางระจันครั้งนั้นรวม ๑๑ คน ท่านเหล่านี้รวมทั้งชาวบ้านอื่นๆ ได้สู้รบกับพม่าถึง ๘ ครั้ง แม้จะเสียเปรียบด้านอาวุธและกำลังไพร่พลแต่ด้วยความรักชาติ ความสามัคคี ความกล้าหาญ ตลอดจนความเสียสละ จึงทำให้ได้รับชัยชนะถึง ๗ ครั้งอันเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ๋ของชาวบ้านบางระจัน จนได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ดังนี้

ประวัติศาสตร์การรบทั้ง 8 ครั้ง
การรบครั้งที่ ๑ ทหารพม่าที่เมืองวิเศษชัยชาญยกพลมาประมาณ ๑๐๐ เศษ มาตามจับพันเรืองเมื่อถึงบ้านบางระจัน ก็หยุดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำ (บางระจัน) นายแท่นจัดคนให้รักษาค่ายแล้วนำคน ๒๐๐ ข้ามแม่น้ำไปรบกับพม่า ทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวยิงปืนได้เพียงนัดเดียวชาวไทยซึ่งมีอาวุธสั้นทั้งนั้นก็กรูเข้าไล่ฟันแทงพม่าถึงขั้นตะลุมบอน พลทหารพม่าล้มตายหมดเหลือแต่ตัวนายสองคนขึ้นม้าหนีไปได้ ไปแจ้งความให้นายทัพพม่าที่ค่ายแขวงเมืองวิเศษชัยชาญทราบ และส่งข่าวให้แม่ทัพใหญ่คือเนเมียวสีหบดี ซึ่งตั้งค่ายใหญ่อยู่ ณ ปากน้ำพระประสบทราบด้วย

การรบครั้งที่ ๒ เนเมียวสีหบดีจึงแต่งให้งาจุนหวุ่น คุมพล ๕๐๐ มาตีค่ายบางระจัน นายแท่นก็ยกพลออกรบ ตีทัพพม่าแตกพ่ายล้มตายเป็นอันมาก แม่ทัพพม่าได้เกณฑ์ทหารเพิ่มเป็น ๗๐๐ คน ให้เยกินหวุ่นคุมพลยกมาตีค่ายบางระจัน ทัพพม่าก็ถูกตีแตกพ่ายอีกเป็นครั้งที่ ๒

การรบครั้งที่ ๓ เมื่อกองทัพพม่าต้องแตกพ่ายหลายครั้ง เนเมียวสีหบดีเห็นว่าจะประมาทกำลังของชาวบ้านบางระจันต่อไปอีกไม่ได้ จึงเกณฑ์พลเพิ่มเป็น ๙๐๐ คน ให้ติงจาโบ เป็นผู้คุมทัพครั้งนี้ชาวบ้านบางระจันมีชัยชนะพม่าอีกเช่นครั้งก่อนๆ

การรบครั้งที่ ๔ การที่พม่าแพ้ไทยหลายครั้งเช่นนี้ ทำให้พม่าขยาดฝีมือคนไทย จึงหยุดพักรบประมาณ ๒-๓ วัน แล้วเกณฑ์ทัพใหญ่เพื่อมาตีค่ายบางระจัน มีกำลังพลประมาณ๑,๐๐๐ คน ทหารม้า ๖๐ สุรินจอข่องเป็นนายทัพ พม่ายกทัพมาตั้งที่บ้านห้วยไผ่ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง) ฝ่ายค่ายบางระจันได้จัดเตรียมกันเป็นกระบวนทัพสู้พม่าคือ นายแท่นเป็นนายทัพคุมพล ๒๐๐ พันเรืองเป็นปีกซ้ายคุมพล ๒๐๐ ชาวไทยเหล่านี้มีปืนคาบศิลาบ้าง ปืนของพม่าและกระสุนดินดำของพม่า ซึ่งเก็บได้จากการรบครั้งก่อนๆ บ้าง นอกจากนั้นก็เป็นอาวุธตามแต่จะหาได้ ทัพไทยทั้งสามยกไปตั้งที่คลองสะตือสี่ต้น อยู่คนละฟากคลองกับพม่า ต่างฝ่ายต่างยิงตอบโต้กันฝ่ายไทยชำนาญภูมิประเทศกว่า ได้ขนไม้และหญ้ามาถมคลอง แล้วพากันรุกข้ามรบไล่พม่าถึงขั้นใช้อาวุธสั้น พม่าล้มตายเป็นอันมาก ตัวสุรินทรจอข้องนายทัพพม่า ขี่ม้ากั้นร่มระย้าเร่งให้ตีกองรบอยู่กลางพล ถูกพลทหารไทยวิ่งเข้าไปฟันตาย ณ ที่นั้น ส่วนนายแท่นแม่ทัพไทยก็ถูกปืนที่เข่าบาดเจ็บสาหัสต้องหามออกมาจากที่รบ ทัพไทยกับพม่ารบกันตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ต่างฝ่ายต่างอิดโรย จึงถอยทัพจากกันอยู่คนละฟากคลอง พวกชาวบ้านบางระจันในค่ายก็นำอาหารออกมาเลี้ยงดูพวกทหาร ขณะพม่าต้องหุงหาอาหารและมัวจัดการศพแม่ทัพไม่ทันระวังตัว กองสอดแนมของไทยมาแจ้งข่าว พวกทหารไทยกินอาหารเสร็จแล้วก็ยกข้ามคลองเข้าโจมตีพม่าพร้อมกันทันที ทหารพม่าแตกพ่ายไม่เป็นกระบวน ที่ถูกอาวุธล้มตายประมาณสามส่วน และเสียเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นอันมาก ไทยไล่ติดตามจนใกล้ค่ำจึงยกกลับมายังค่าย กิตติศัพท์ความเก่งกล้าของชาวบ้านบางระจันแพร่หลายออกไปมีชาวบ้านอื่นๆ อพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายบางระจันเพื่อขึ้นอีกเป็นลำดับ

การรบครั้งที่ ๕ พม่าเว้นระยะไม่ยกมาตีค่ายบางระจันอยู่ประมาณ ๑๐-๑๑ วัน ด้วยเกรงฝีมือชาวไทย หลังจากนั้นจึงแต่งทัพยกมาอีกครั้งหนึ่ง มีแยจออากาเป็นนายทัพ คุมทหารซึ่งเกณฑ์แบ่งมาจากทุกค่ายเป็นคนประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ พร้อมด้วยม้าและอาวุธต่างๆแต่กองทัพพม่านี้ก็ปราชัยชาวบ้านบางระจันแตกพ่ายไป

การรบครั้งที่ ๖ นายทัพพม่าครั้งที่ ๖ นี้คือ จิกแก ปลัดเมืองทวาย คุมพล ๑๐๐ เศษ ฝ่ายไทยมีชัยชนะอีกเช่นเคย

การรบครั้งที่ ๗ เนเมียวสีหบดีได้แต่งกองทัพให้ยกมาตีค่ายบางระจันอีก ให้อากาปันคยีเป็นแม่ทัพคุมพล ๑,๐๐๐ เศษ อากาปันคยียกกองทัพไปตั้ง ณ บ้านขุนโลก ทางค่ายบางระจันดำเนินกลศึกคือ จัดให้ขุนสรรค์ซึ่งมีฝีมือแม่นปืน คุมพลทหารปืนคอยป้องกันกองทัพม้าของพม่า นายจันหนวดเชี้ยวเป็นแม่ทัพใหญ่คุมพล ๑,๐๐๐ เศษออกตีทัพพม่าและล้อมค่ายไว้ ทหารไทยใช้การรบแบบจู่โจม พม่ายังไม่ทันตั้งค่ายเสร็จก็ถูกโอบตีทางหลังค่าย ทหารพม่าถูกฆ่าตายเกือบหมดเหลือรอดตายเป็นส่วนน้อย แม่ทัพก็ตายในที่รบครั้งนี้ทำให้พม่าหยุดพักรบนานถึงครึ่งเดือน

การรบครั้งที่ ๘ การที่พม่าส่งกองทัพมาปราบค่ายบางระจันถึง ๗ ครั้ง แต่ต้องแตกพ่ายยับเยินทุกครั้งนั้น ทำให้แม่ทัพใหญ่ของพม่าวิตกมาก เนื่องจากชาวบ้านบางระจันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นทุกที และทหารพม่าก็พากันเกรงกลัวฝีมือไทย ไม่มีใครอาสาเป็นนายทัพ ขณะนั้นมีชาวรามัญผู้หนึ่งเคยอยู่เมืองไทยมานาน รู้จักนิสัยคนไทยและภูมิประเทศดี ได้เข้าฝากตัวทำราชการอยู่กับพม่าจนได้รัยตำแหน่งสุกี้ หรือพระนายกอง สุกี้เข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบางระจัน เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคุมพล ๒,๐๐๐ พร้อมทั้งม้าและสรรพาวุธทั้งปวง สุกี้ดำเนินการศึกอย่างชาญฉลาด เมื่อเวลาเดินทัพไม่ตั้งทัพกลางแปลงอย่างทัพอื่น ให้ตั้งค่ายรายไปตามทาง ๓ ค่าย และรื้อค่ายหลังผ่อนไปสร้างข้างหน้าเป็นลำดับ (เป็นที่น่าสังเกตุว่าการเคลื่อนทัพโดยตั้ง ๓ ค่ายของสุกี้นี้ เป็นวิธีเดียวกับการเดินทัพของกองทัพเล่าปี่ ที่มีขงเบ้งเป็นแม่ทัพในสงครามสามก็ก ใช้ตั้งรับทัพที่เชี่ยวชาญการรบในท้องที่นั้นๆ น่าจะแสดงให้เห็นว่าสุกี้ ชาวรามัญผู้นี้ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในพิชัยสงครามหรือ อย่างน้อยต้องศึกษาประวัติศาสตร์สงครามมาอย่างลึกซึ้ง ) ใช้เวลาถึงครึ่งเดือนจึงใกล้ค่ายบางระจัน สุกี้ใข้วิธีตั้งมั่นรบอยู่ในค่าย ด้วยรู้ว่าคนไทยเชี่ยวชาญการรบกลางแปลง พวกหัวหน้าค่ายบางระจันนำกำลังเข้าตีค่ายพม่าหลายครั้งไม่สำเร็จกลับทำให้ไทยเสียไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งนายทองเหม็นดื่มสุราแล้วขี่กระบือนำพลส่วนหนึ่งเข้าตีค่ายพม่า สุกี้นำพลออกรบนอกค่าย นายทองเหม็นถลำเข้าอยู่ท่ามกลางข้าศึกแต่ผู้เดียว แม้ว่าจะมีฝีมือสามารถฆ่าฟันทหารพม่ารามัญล้มตายหลายคน แต่ในที่สุดก็ถูกทหารพม่ารุมล้อมจนสิ้นกำลังและถูกทุบตีตายในที่รบ (เล่าขานกันมาว่านายทองเหม็นเป็นผู้รู้ในวิชาคงกระพันชาตรี และมีของขลังป้องกันภยันตราย ฟันแทงไม่เข้า หากจะทำร้ายคนมีวิชาเช่นนี้จะต้องตีด้วยของแข็ง) ทัพชาวบ้านบางระจันเมื่อเสียนายทัพก็แตกพ่าย ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในการรบกับพม่า ทัพพม่ายกติดตามมาจนถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบางระจัน แล้วตั้งค่ายมั่นอยู่ ทัพบางระจันพยายามตีค่ายพม่าอีกหลายครั้งไม่สำเร็จก็ท้อถอย สุกี้จึงให้ทหารขุดอุโมงค์เข้าใกล้ค่ายน้อยบางระจัน ปลูกหอรบขึ้นสูงนำปืนใหญ่ขึ้นยิงเข้าไปในค่ายถูกผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ค่ายน้อยบางระจันก็แตกพ่ายลงนอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านบางระจันเสียกำลังใจลงอีกคือ นายแท่นหัวหน้าค่ายที่ถูกปืนที่เข่าบาดเจ็บครั้งที่สุรินทรจอข่องเป็นแม่ทัพยกมาเมื่อการรบครั้งที่ ๔ นั้นได้ถึงแก่กรรมลง ในเดือน ๖ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ หัวหน้าชาวบ้านบางระจันคนอื่น ได้พยายามจะนำทัพไทยออกรบกับพม่าอีกหลายครั้ง วันหนึ่งทัพพม่าสามารถตีโอบหลังกระหนาบทัพไทยได้ ขุนสรรค์และนายจันหนวดเขี้ยวได้ทำการรบจนกระทั่งตัวตายในที่รบ ยังเหลือแต่พันเรืองและนายทองแสงใหญ่เป็นหัวหน้าสำคัญ ชาวค่ายบางระจันเห็นว่าตนเสียเปรียบ ผู้คนล้มตายลงไปมาก เหลือกำลังที่จะต่อสู้กับพม่าแล้ว จึงมีใบบอกเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาขอปืนใหญ่ ๒ กระบอก พร้อมด้วยกระสุนดินดำเพื่อจะนำมายิงค่ายพม่า ทางพระนครปรึกษากันแล้วเห็นพร้อมกันว่าไม่ควรให้เนื่องจากกลัวว่าพม่าจะแย่งชิงกลางทางบ้าง หรือหากพม่าตีค่ายบางระจันแตก พม่าก็จะได้ปืนใหญ่นั้นมาเป็นกำลังรบพระนคร พระยารัตนาธิเบศร์ไม่เห็นด้วยในข้อปรึกษา จึงออกไป ณ ค่ายบางระจัน เรี่ยไรเครื่องภาชนะทองเหลืองทองขาวจากพวกชาวบ้านหล่อปืนใหญ่ขึ้นมาสองกระบอก แต่ปืนทั้งสองนั้นร้าวใช้ไม่ได้ พระยารัตนาธิเบศร์เห็นว่าการศึกจะไม่เป็นผลสำเร็จจึงกลับพระนคร เมื่อขาดที่พึ่งชาวบ้านบางระจันก็เสียกำลังใจมากขึ้น ฝีมือการสู้รบกับพม่าก็พลอยอ่อนลง บางพวกก็พาครอบครัวหลบหนีออกจากค่าย ผู้คนในค่ายก็เบาบางลง ในที่สุดพม่าก็สามารถตีค่ายใหญ่บางระจันได้ ในวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนแปด ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ รวมเวลาที่ไทยรบกับพม่าตั้งแต่เดือน ๔ ปลายปีระกา พ.ศ. ๒๓๐๘ ถึงเดือนแปด ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ เป็นเวลาทั้งสิ้น ๕ เดือน พม่าได้กวาดต้อนชาวไทยในค่ายบรรดาที่รอดตายทั้งหลายกลับไปยังค่ายพม่า ส่วนพระอาจารย์ธรรมโชติซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยให้กำลังใจให้ชาวบ้านบางระจันสู้รบกับพม่าอย่างห้าวหาญนั้น ไม่ปรากฏว่าท่านมรณภาพอยู่ในค่าย ถูกกวาดต้อน หรือหลบหนีไปได้

รายชื่อวีรชนที่ปรากฏในประวัติศาสตร์
พระอาจารย์ธรรมโชติ เดิมอยู่วัดเขานางบวช แล้วมาอยู่วัดโพธ์เก้าต้น มีความรู้ ทางวิชาอาคม เป็นที่พึ่งทางใจแก่ชาวค่ายบางระจัน

นายแท่น เป็นชาวบ้านสีบัวทอง ถืออาวุธสั้น ถูกปืนของพม่าที่เข่าใน การรบครั้งที่ ๔ เสียชีวิตเมื่อการรบครั้งสุดท้าย

นายอิน เป็นชาวบ้านสีบัวทอง

นายเมือง เป็นชาวบ้านสีบัวทอง

นายโชติ เป็นชาวบ้านสีบัวทอง ถืออาวุธสั้น

นายดอก เป็นชาวบ้านกลับ

นายทองแก้ว เป็นชาวบ้านโพทะเล

นายจัน หนวดเขี้ยว เก่งทางใช้ดาบ เสียชีวิตในการรบครั้งที่ ๘

นายทอง แสงใหญ่ ---

นายทองเหม็น ขี่กระบือเข้าสู้รบกับพม่า ตกในวงล้อมถูกพม่าตีตายใน การรบครั้งที่ ๘

ขุนสรรค์ มีฝีมือเข้มแข็งมักถือปืนเป็นนิจ แม่นปืน

พันเรือง

--- เหตุการณ์ในระยะเวลา ๕ เดือนที่ชาวบ้านบางระจันและชาวบ้านใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเป็น ชาวเมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เมืองวิเศษชัยชาญได้รวมตัวกันร่วมแรงร่วมใจเข้าต่อต้านกองทัพพม่าที่มีกำลังมากกว่าในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นจำนวนไพร่พล อาวุธยุทธโธปกรณ์ ชาวบางระจันใช้ประโยชน์จากชัยภูมิที่มีความชำนาญในท้องที่กว่า ใช้การรบแบบกองโจร ซุ่มโจมตีกองทัพพม่า ฆ่าฟันทหารพม่าตายรวมแล้วหลายพันคน เข้ารบพุ่งโรมรันโดยมิเกรงว่าจะเสียชีวิต ทำให้พม่าครั่นคร้ามในฝีมือรบของชาวไทย โดยแท้ชาวบ้านบางระจันแตกพ่ายทัพพม่าในการรบครั้งสุดท้าย หาใช่ด้วยสติปัญญาชาวพม่าไม่ ชาวเราแพ้ชาวรามัญที่อยู่ในไทยมานานและไปฝากตัวรับราชการในกองทัพพม่า จนได้ตำแหน่งสุกี้ วางแผนคุมกองทัพพม่ายกมาตีค่ายบางระจันในครั้งที่ ๘ ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่ ชาวสิงห์บุรี และชาวไทยทุกคนต้องภาคภูมิใจ ในความกล้าหาญ และความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อปกป้องมาตุภูมิ จากการข่มเหงของชาวชาติอื่น แม้ชาวบ้านบางระจันจะพ่ายแพ้ในที่สุด แต่ชื่อเสียงและเกียรติคุณยังคงอยู่แม้เวลาล่วงเลยมา ๒๐๐ กว่าปีแล้ว เรื่องราวของวีระกรรมชาวค่ายบางระจันยังคงอยู่เปรียบดังผู้เป็นอมตะ แม้ตัวจะตายไปชื่อยังคงอยู่ แม้จะไม่มีชื่อวีรชนทั้งหมดแต่วีระกรรมยังคงอยู่ ปรากฏอยู่ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ แม้แต่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ยังทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือไทยรบพม่า ตอนวีรชนชาวบ้านบางระจัน เป็นเรื่องเล่าจากปากผู้คนจากรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จากพ่อสู่ลูก เป็นนิทานก่อนนอนของปู่เล่าสู่ลูกหลาน ให้เด็กๆได้จินตนาการถึงภาพความกล้าหาญ ภาพชาวค่ายบางระจันรุกรบกับกองทัพพม่า เป็นอุทาหรณ์แก่อนุชนรุ่นหลังให้ตระหนักถึงความกล้าหาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามัคคี เป็นเรื่องที่พิสูจน์คำกล่าวที่ว่า "สามัคคีคือพลัง" ได้อย่างแน่แท้ปราศจากข้อสงสัย หากชาวค่ายบางระจันไม่สามัคคีกันไม่มีทางใดเลยที่จะต้านกองทัพพม่าได้นานถึง ๕ เดือน ถ้าไม่สามัคคีกันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะชนะกองทัพพม่าถึง ๗ ครั้งติดต่อกัน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกองทัพใดเข้าช่วยเหลือในการรบที่ค่ายบางระจัน ชัยชนะที่ผ่านมาย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ให้เราได้ใคร่ครวญว่าได้ทำให้หมู่คณะของเรามีความสามัคคีกันบ้างไหม ในปัจจุบันมีการสร้างอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยกรมศิลปากรสร้างอนุสาวรีย์ไว้ตรงกันข้ามวัดโพธิ์เก้าต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาในวโรกาสเปิดอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงมีพระราชดำรัสไว้จึงขออัญเชิญพระราชดำรัสมาลงไว้ ณ ที่นี้ " วีรกรรมในครั้งนั้นเป็นของผู้ที่รักแผ่นดินไทย เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยทั้งมวล ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีกำลังใจและเตือนสติให้มีความสามัคคีและรักษาจิตใจให้เข้มแข็ง เพื่อรักษาประเทศไทยให้ตนเองและเพื่อความมั่นคงของแผ่นดิน....." ที่ฐานของอนุสาวรีย์มีคำจารึกไว้ว่า "สิงห์บุรีนี่นี้ นามใด สิงห์แห่งต้นตระกูลไทย แน่แท้ ต้นตระกูล ณ กาลไหน วานบอก หน่อยเพื่อน ครั้งพม่ามาล้อมแล้ ทั่วท้องบางระจัน " หลังจากพม่าตีค่ายบางระจันแตกแล้วก็เคลื่อนทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา และสามารถตีกรุงศรีอยุธยาแตกอีกเป็นครั้งที่ ๒ ในพ.ศ. ๒๓๑๐ ไทยได้เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศเสด็จหนีไปหลบซ่อนตัวและอดอาหารอยู่ประมาณ ๑๐ วันพม่าจับตัวได้ นำไปไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น และเสด็จสวรรคตที่นั่น พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ประมาณ ๘ เดือน

 

ข้อมูลจาก http://province.moph.go.th/singburi/moph/basicdata/txt01.htm 

ตัวนี้เอาอยู่! สำหรับคุณครูที่ทั้ง "ร้อง เล่น เต้น สอน เปิดเพลง" รุ่นนี้เอาอยู่ ลองดู Sherman TS-101 Trolley Speaker Amplifier ลำโพงบลูทูธล้อลาก ขนาด 6.5 นิ้ว กำลังขับ 60W

฿1,790

https://s.shopee.co.th/3VUQ2Kf9NU?share_channel_code=6


ตำนาน บ้านบางระจัน ตำนานบ้านบางระจัน

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

ลี กวน ยู บุรุษผู้ยิ่งใหญ่

ลี กวน ยู บุรุษผู้ยิ่งใหญ่


เปิดอ่าน 14,713 ครั้ง
ตำนานพระโกศ

ตำนานพระโกศ


เปิดอ่าน 21,781 ครั้ง
อารยธรรมกรีกโบราณ

อารยธรรมกรีกโบราณ


เปิดอ่าน 45,381 ครั้ง
พระลักษมี

พระลักษมี


เปิดอ่าน 19,235 ครั้ง
เถียงนาน้อย

เถียงนาน้อย


เปิดอ่าน 37,409 ครั้ง
ความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำ

ความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำ


เปิดอ่าน 49,522 ครั้ง
เทศกาล ไหว้พระจันทร์

เทศกาล ไหว้พระจันทร์


เปิดอ่าน 18,585 ครั้ง
การเป็นพลเมืองที่ดี

การเป็นพลเมืองที่ดี


เปิดอ่าน 4,106 ครั้ง
วันวิสาขบูชา คือวันอะไร

วันวิสาขบูชา คือวันอะไร


เปิดอ่าน 9,333 ครั้ง
พี่น้องร่วมสาบาน

พี่น้องร่วมสาบาน


เปิดอ่าน 18,681 ครั้ง
พุทธคุณ 9

พุทธคุณ 9


เปิดอ่าน 19,484 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

ทำไมต้องใส่ชุดดำไปงานศพ

ทำไมต้องใส่ชุดดำไปงานศพ

เปิดอ่าน 64,845 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
วัดป่าที่แม่ฮ่องสอนดังทั่วโลก ต่างชาติแห่เรียนสมาธิปีละกว่า 2 พันคน
วัดป่าที่แม่ฮ่องสอนดังทั่วโลก ต่างชาติแห่เรียนสมาธิปีละกว่า 2 พันคน
เปิดอ่าน 15,419 ☕ คลิกอ่านเลย

วันวิสาขบูชา คือวันอะไร
วันวิสาขบูชา คือวันอะไร
เปิดอ่าน 9,333 ☕ คลิกอ่านเลย

อริยสัจ 4
อริยสัจ 4
เปิดอ่าน 20,478 ☕ คลิกอ่านเลย

เกร็ดประวัติวัดโพธิ์
เกร็ดประวัติวัดโพธิ์
เปิดอ่าน 24,390 ☕ คลิกอ่านเลย

เครื่องเรือน อาวุธ และเครื่องนุ่งห่มกับตัวไม้ประกอบเรือนของชาวสยาม
เครื่องเรือน อาวุธ และเครื่องนุ่งห่มกับตัวไม้ประกอบเรือนของชาวสยาม
เปิดอ่าน 16,779 ☕ คลิกอ่านเลย

การเป็นพลเมืองที่ดี
การเป็นพลเมืองที่ดี
เปิดอ่าน 4,106 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

รายละเอียดเกณฑ์วิทยฐานะ(ใหม่) ใช้บังคับ 1 ต.ค.51
รายละเอียดเกณฑ์วิทยฐานะ(ใหม่) ใช้บังคับ 1 ต.ค.51
เปิดอ่าน 53,459 ครั้ง

5 เกมส์ฝึกพูดภาษาอังกฤษ (Speaking Skills) ในห้องเรียน
5 เกมส์ฝึกพูดภาษาอังกฤษ (Speaking Skills) ในห้องเรียน
เปิดอ่าน 65,259 ครั้ง

คีเลชั่น (Chelation) คืออะไร
คีเลชั่น (Chelation) คืออะไร
เปิดอ่าน 15,892 ครั้ง

ทึ่ง! เจ้าหมูซูเปอร์ฮีโร่ช่วยชีวิตลูกแพะตกน้ำ
ทึ่ง! เจ้าหมูซูเปอร์ฮีโร่ช่วยชีวิตลูกแพะตกน้ำ
เปิดอ่าน 10,410 ครั้ง

สวนแนวตั้งสุดฮิปสไตล์คนรักสับปะรดสี
สวนแนวตั้งสุดฮิปสไตล์คนรักสับปะรดสี
เปิดอ่าน 25,022 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ