ถิ่นเดิมของคนเชื้อชาติไทย
เชื้อชาติไทยเป็นเชื้อชาติที่สำคัญยิ่งใหญ่มาแต่โบราณและมีความเจริญรุ่งเรืองมานานรุ่นเดียวกับชาติอื่น ๆ เช่น
ชาติบาบิโลน นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ ผู้ทำการค้นคว้าทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน และจีน ได้ศึกษาจากประวัติศาสตร์
และวรรณคดีของจีน ลงความเห็นว่า หมู่ชนชาติเชื้อไทยนั้นได้ตั้งถิ่นฐานเป็นอาณาจักรถาวรในดินแดนทางภาคใต้ของจีน
ปัจจุบันมานานก่อนคนเชื้อชาติจีนจะเข้ามาในดินแดนที่เป็นอาณาเขตของจีนในปัจจุบันนี้
แหล่งกำเนิดของชนเชื้อชาติไทย
แหล่งกำเนิดของชนเชื้อชาติไทย มีข้อสันนิษฐานเชื่อกันมาว่า
( 1) แหล่งกำเนิดของคนเชื้อชาติไทยเดิมนั้นอยู่แถบภูเขาอัลไตแล้วอพยพมาอยู่ในดินแดนของจีนในปัจจุบันก่อนคน
เชื้อชาติจีน
กล่าวกันว่าชนชาติโบราณที่อยู่ตามเทือกเขาอัลไตทางด้านนี้มีพวกโลโละ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า มอญ เขมร ซึ่งเป็นพวก
พเนจรเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ และบ้างก็ตั้งหลักแหล่งทำการเกษตรบ้างแล้ว ซึ่งชนชาติเหล่านี้มีชนชาติไทยอยู่ด้วย ถิ่นที่ว่าเป็นแหล่ง
กำเนิดเดิมของไทยคือตอนเหนือของแม่น้ำเออทิส ระหว่างแม่น้ำเอนนิสไซและแม่น้ำอิลี
เรื่องชนชาติไทยอพยพกันลงมาจากภูเขาอัลไตนั้นมีผู้คัดค้านมากมาย ชนชาติไทยในถิ่นเดิมนั้นยังไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด
ทราบกันว่าแต่ก่อนนี้มีอาณาจักรของคนไทย เราเรียกตนเองว่า “อ้ายลาว” (แปลว่าคนใหญ่ คำว่า “อ้าย” แปลว่าใหญ่ ส่วน “ลาว”
แปลว่าคน) ต่อมาจึงใช้คำว่าไท สันนิษฐานว่าใช้คำว่า “ไท” นี้มานานแต่หลังอ้ายลาว นอกจากอ้ายลาวแล้วเรายังมีชื่อเรียกกันหลาย
อย่าง เช่น มุง ลุง ปา
ตามหลักฐานกล่าวว่าถิ่นฐานของไทยอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำยั่งจื้อ หรือแยงซี
ไท หรืออ้ายลาวอยู่ในระหว่างแม่น้ำสองสายนี้ ปรากฏในจดหมายเหตุจีนเรียกชื่อไทยครั้งแรกว่า “ต้ามุง” หรือ “มุงใหญ่”
คือ ชาติ “อ้ายลาว” ไทยเรียกตนเองว่าอ้ายลาว แปลว่า “คนใหญ่” จีนเขียนจดหมายเหตุไว้ว่า ชนชาติอ้ายลาวเป็นเจ้าของถิ่นมา
ก่อนจีน ซึ่งเป็นระยะสองพันปีก่อนคริสต์กาล จีนได้มาพบไทย มุง ลุง ปา ปัง ปละลาว บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำยั่งจื้อ ครอบครองเสฉวน
ตะวันตกไปจนเกือบจดทะเล
3,881 ปีหลังจากจดหมายเหตุฉบับนี้ คือ ในปี ค.ศ.1901 หมอดอดจ์เดินทางไปในในดินแดนนี้ยังได้พบคนไทยที่เรียน
ตนเองว่า ลุง และ ปา แต่จีนเรียกว่า “ลุงเชน” แปลว่าประชาชนชาวลุง และพวก “ปา” เรียกว่า “ปายี่” แปลว่า “คนป่าเถื่อน”
พวกไทยมุงที่เรียกตนเองว่าอ้ายลาวนั้นเป็นพวกเก่าแก่โบราณกว่า พวกบาบิโลน อัสสิเรีย และอียิปต์
ในหนังสือแสดงพงศาวดารสยาม พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ชนชาติไทย
เป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่งในเอเชียฝ่ายตะวันออกมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล แม้ในทุกวันนี้นอกจากนามสยามประเทศนี้ ยังมีชนชาติไทย
ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นอีกเป็นอันมาก ที่อยู่ในดินแดนประเทศจีนก็หลายมณฑล ทั้งในแดนตังเกี๋ย แดนพม่า ตลอดจน
มณฑลอัสสัมในประเทศอินเดีย แต่คนทั้งหลายหากเรียกชื่อต่าง ๆ กันไปตามถิ่นที่อยู่ เช่น เรียกชาวสยาม ลาว เฉียง ฉาน เงี้ยว ลื้อ
เขิน และอาหม ที่เรียกตามเค้านามเดิมก็มีบ้าง เช่น ผู้ไท ที่แท้พวกที่ได้นามต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นชนชาติไทย พูดภาษาไทย
และถือตัวว่าเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น ตามเรื่องพงศาวดารเดิมที่ปรากฏมาว่า เดิมนั้นชนชาติไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในดินแดนทุกวันนี้
ตกเป็นอาณาเขตของจีนฝ่ายใต้ ที่เรียกว่ามณฑลฮุนหนำ มณฑลกุยจิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางใส ทั้งสี่มณฑลนี้มีบ้านเมืองและ
เจ้านายของตนปกครองแยกย้ายกันอยู่ในหลายอาณาเขต จีนเรียกชนชาติไทยพวกนี้ว่า “ฮวน”
ในปัจจุบัน ยังมีคนไทยอยู่ในอาณาเขตตอนใต้ของจีนอีกมาก ในมณฑลไกวเจาและมณฑลกวางสีและในตะวันออกของ
ยูนนานแม้รัฐบาลจีนในปัจจุบันได้ประกาศว่า คนจีนแคะ ที่แท้เป็นคนไทย ยอมให้แยกตัวเป็นรัฐอยู่ภายใต้สาธารณรัฐประชาชนจีน
(2) แหล่งกำเนิดของไทยอยู่ทางตอนใต้ของแหลมอินโดจีน
ตามหลักฐานทางศิลปวัฒนธรรมว่าต้นกำเนิดของชนชาติไทยในปัจจุบันวิวัฒนาการมาจากมนุษย์แรกเริ่มที่เดินตัวตรง
อายุถอยหลังไปประมาณ 500,000 ปี ร่วมสมัยกับมนุษย์ปักกิ่งและมนุษย์ชวา กระจัดกระจายอยู่ทางตอนใต้ของแหลมอินโดจีน
ปรากฏหลักฐานแน่ชัดมาจนปัจจุบันว่าชนชาติไทยเป็นเจ้าของถิ่นเดิมในแหลมทอง มีการอพยพไปจากถิ่นเดิมบ้าง บางกลุ่มก็
อพยพวนเวียนอยู่ ในแหลมทองนี้เพื่อตั้งถิ่นฐานใหม่สืบเชื้อสายต่อไปเป็นเวลานานกว่า 500,000 ปี
ชนชาติละว้า เป็นชนชาติที่วิวัฒนาการมาจากไทยสยามเจ้าของถิ่นเดิมในแหลมทอง เป็นชนชาติที่อพยพเคลื่อนย้ายอยู่
ในส่วนที่เป็นอาณาจักรไทยในปัจจุบันมาตลอดช่วง 3,000 ถึง 4,000 ปีมาแล้ว แต่เมื่อมาได้สังคมกับพวกอินเดีย ชาวอินเดียจึงตั้ง
ชื่อให้ว่า “ไทยสยาม” ตามผิวกายที่คล้ำ ไม่ดำเหมือนพวกนิกรอยด์ ไม่ขาวเหมือนพวกคอเคซอย และไม่เหลืองเหมือนพวก
มองโกลอยด์
ชนชาติไทยนี้จัดอยู่ในพวกเซียมมอยด์ เป็นพวกมนุษย์ตัวตรงซึ่งเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่าพวกออสตราลอยด์
(3) คนไทยมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน
ชนชาติอ้ายลาวนั้นเป็นชนชาติไทยในแหลมทอง หรือเป็นพวกเซียมมอยด์ผิวคล้ำ อพยพกลุ่มใหญ่เพื่อหาที่ดินที่อุดม
สมบูรณ์ไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบทั้งภาค ระหว่าง 5,000 ถึง 4,000 ปีล่วงมาแล้ว พวกเซียมมอยด์ทางตะวันตกเฉียง
เหนือและภาคกลาง ก็อพยพตามขึ้นไปบ้างเหมือนกันแต่ไม่มากเหมือนพวกแรก ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาเขตของจีนตอนใต้
ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตอนหลัง (ตอนสามก๊ก) ชนชาติไทยในจีนเสื่อมลง มีฐานะเป็นเพียงรัฐหนึ่งในหกรัฐของจีน จึงอพยพ
กลับลงมาทางใต้อีกครั้งหนึ่ง และอยู่กับพวกเดียวกันในแหลมทอง
การอพยพของไทยในจีน
นักโบราณคดีศึกษาได้ความว่า ประเทศจีนฝ่ายใต้ ปัจจุบันคือมณฑลกุยจิ๋ว ฮุนหนำ กวางตุ้ง และกวางใส แต่เดิมเป็น
อาณาเขตของไทยตั้งบ้านเมืองอยู่โดยเป็นอิสระแก่กัน แต่เมื่อมีผู้คนคับคั่งมากขึ้นจึงมีการอพยพลงมาทิศตะวันตกเฉียงใต้และ
ทิศใต้ ในปีพ.ศ.205 อำนาจไทยในมณฑลเสฉวนหมดสิ้นไปเนื่องจากจีนแทรกซึมขยายตัวจนสามารถขับคนไทยออกไปจาก
มณฑลเสฉวนได้
มีการกล่าวถึงไทยอีกครั้งในประวัติศาสตร์จีน กล่าวถึงเรื่องจีนรบกับพวกฮวน แท้จริงคือพวกไทยนั่นเอง คนจีนเรียก
คนไทยว่า “ฮวนนั้ง” แปลว่า “คนป่า” คนไทยไม่ยอมรับคำนี้ จากพงศาวดารไทยใหญ่ว่าเมื่อ พ.ศ.590 ไทยทนการเบียดเบียนของ
คนจีนไม่ได้ จึงยกกองทัพล่องแพไปตีจีนโดยใช้ลำน้ำฮั่นและลำน้ำแยงซี แต่พ่ายแพ้จีน ดังนั้นในปี พ.ศ.612 จึงยอมเป็นเมืองขึ้นของจีน เป็นเหตุ
ให้คนไทยเกิดการอพยพใหญ่ลงมาตามทางที่พวกคนไทยได้เคยอพยพกันลงมาแล้วทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้
พวกที่ลงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินทางลุ่มแม่น้ำคงหรือแม่น้ำสาละวินในปัจจุบัน และตั้งบ้านเมือง
เป็นอิสระได้เมื่อราว พ.ศ.800 ตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองพง ส่วนไทยอีกสายหนึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานทางลุ่มแม่น้ำโขง แล้วก็ตั้งประเทศ
เป็นอิสระในเขตที่เรียกว่าสิบสองจุไทย มาจากคำว่า “สิบสองเจ้าไทย” แต่แรกก็ตั้งเป็นเมืองเล็กเมืองน้อยเป็นอิสระแก่กันก่อน ต่อมา
เจ้าไทยองค์หนึ่งชื่อพ่อขุน “บรม” รวบรวมเมืองไทยเป็นอาณาจักรเดียวที่เมืองแถง แล้วขยายอาณาเขตไปทางทิศตะวันออกใน
แว่นแคว้นหัวพันห้าพันหกและแขวงเมืองตังเกี๋ย ขยายมาทางใต้จนลงมาตั้งที่เมืองหลวงพระบางประชิดอาณาเขตของขอมในสมัยนั้น
แล้วจนราว พ.ศ.1400 พระเจ้าพรหมซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์หนึ่งได้รบพุ่งแย่งแผ่นดินจากอำนาจของขอมมาจนถึงเมือง
เชลียงได้อาณาเขตทางภาคพายัพไว้ในมือและสร้างเมืองฝางขึ้นเป็นเมืองของไทยทางด้านฝั่งใต้ของแม่น้ำโขงเป็นเมืองแรก
ส่วนพวกคนไทยที่เหลือในถิ่นไทยเดิม ต่างก็ตั้งประเทศแยกกันเป็นอิสระแก่กันถึง 6 แคว้น จนกระทั่งในปี 1172 ได้รวม
กันทั้งหกแคว้นเป็นอาณาจักรมีพระเจ้าสินุโล (ไทยว่าเป็นขุนหลวง) เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และสืบราชวงศ์ต่อมา 4 แผ่นดินจนถึงพระเจ้า
โก๊ะล่อฝง ครองราชสมบัติในปี 1291 แผ่นดินมีความเข้มแข็งในการศึกมาก แล้วไปตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองหนองแส (ตาลีฟู ซึ่งยังอยู่ที่
มณฑลฮุนหนำจนทุกวันนี้) จีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า “น่านเจียว” ไทยเรียกว่า “น่านเจ้า” แปลว่า เจ้าเมืองฝ่ายใต้
ราชวงศ์พระเจ้าสินุโลครองราชอาณาจักรน่านเจ้ามานานถึง 255 ปี รวม 13 รัชกาล ราชวงศ์ต่อมาเป็นเชื้อสายไทยปนจีน
ครองต่อมาอีก 350 ปี ขนบธรรมเนียมประเพณีแปรเปลี่ยนเป็นจีนมากขึ้น จนกระทั่งเสียอาณาจักรแก่พวกมองโกลคือ พระเจ้าแผ่นดิน
จีนราชวงศ์หงวน
อาณาจักรน่านเจ้า
ใน พ.ศ.888 ปรากฏในพงศาวดารไทยใหญ่ว่า ไทยอพยพลงมาสู่แหลมอินโดจีน เป็นการอพยพใหญ่อีกครั้ง แต่มิได้ลง
มาหมด ยังมีชาวไทยตกค้างอยู่ที่ดินแดนเดิมในทางใต้ของจีนเมื่อประมาณ พ.ศ.1000 และยังมีอยู่ทั่วไปในมณฑลยูนนาน กวางสี
และกวางตุ้ง มีอยู่กลุ่มเดียว ที่ตั้งอาณาจักรขึ้น กินเนื้อที่ยูนนานทั้งหมดและเลยแผ่ไปถึงมณฑลกวางสีและกวางเจา อาณาจักร
ไทยนี่เรียกว่า น่านเจ้า
อาณาจักรน่านเจ้ามีราชธานีอยู่ที่เมืองตาลีฟูหรือหนองแส พระเจ้าสินุโลเป็นปฐมกษัตริย์ แต่งทูตไปเจริญราชไมตรีกับ
ราชวงศ์ถัง ใน พ.ศ.1194 ในสมัยน่านเจ้านี้มีการใช้อักษรไทยในการเจริญราชไมตรีกับจีน
ในสมัยน่านเจ้าไทยได้นับถือศาสนาพุทธ มีความเกี่ยวข้องกับกษัตริย์แคว้นมคธ ต่อมาตามหลักฐานทางโบราณคดีเชื่อกันว่า
น่านเจ้านั้นไม่ใช่ของไทย หากเป็นของพวกโลโล่หรือพวกยี๋หรือไป๋ที่จีนสนับสนุนให้เป็นอาณาจักรทางด้านใต้ ไทยเป็นแต่เพียงชน
กลุ่มน้อยที่อยู่ในอาณาจักรน่านเจ้าเท่านั้นและชาวโลโล่นี่เองที่เป็นผู้รุกรานและเบียดเบียนดินแดนของไทย ทำให้ไทยเป็นจำนวน
มากอพยพจากอาณาจักรน่านเจ้าลงมาอยู่ทางตอนใต้ของประเทศนั้น
อาณาจักรน่านเจ้าได้เปลี่ยนชื่อในตอนหลังว่าอาณาจักรตาลี และเสียอิสรภาพแก่กษัตริย์มองโกล คือกุบไลข่าน ในปี พ.ศ.
1797 พลเมืองชาวโลโล่รวมทั้งคนไทยส่วนน้อยก็อพยพออกจากน่านเจ้าหรือตาลีเป็นจำนวนมาก
การตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
ก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดินแดนประเทศไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงอ่าวไทยเป็นของขอมมี
อุปราชขอมปกครองอยู่ แบ่งเป็น 2 อาณาเขต ตั้งแต่ปากน้ำโพขึ้นไปเรียกว่า อาณาเขตสยาม มีเมืองสุโขทัยเป็นที่ตั้งศูนย์กลาง
ส่วนใต้ลงมาจากอาณาเขตสยาม เรียกว่าอาณาเขตละโว้
ในช่วงปี พ.ศ.1781 – 1838 พระเจ้าแผ่นดินขอมคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ไม่สามารถจะควบคุมชาวไทยไว้ได้ บรรดาเจ้า
เมืองไทยต่าง ๆ ก็เลยรวมตัวกันแข็งอำนาจต่อขอม ปรากฏว่าพ่อขุนบางกลางท่าวหรือบางแห่งว่าเป็นพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมือง
บางยางร่วมกับพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราช แข็งเมือง แม่ทัพขอมปราบปรามไม่ได้ก็เลยทิ้งอาณาเขตสยามไป ไทยจึงตีเมืองต่าง ๆ
ของขอมได้รวมทั้งสุโขทัยแล้วตั้งเป็นประเทศอิสระ มีเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อราว พ.ศ.1781 – 1800 แล้ว
ยกพ่อขุนบางกลางท่าวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัย
กรุงสุโขทัยมีกษัตริย์ครองราชย์สืบต่อกันมา 9 พระองค์ ดังนี้
1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นครองราชย์เมื่อสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ปี พ.ศ.1781
2. พ่อขุนบานเมือง ครองราชย์ต่อจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปี พ.ศ.1822
3. พ่อขุนรามคำแหง พระนามเดิมว่า ร่วง เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และนางเสือง ขึ้นครองราชย์
ต่อจากพ่อขุนบานเมือง ปี พ.ศ.1822
4. พระเจ้าเลอไทย ครองราชย์เมื่อ พ.ศ.1843
5. พระยางั่วนำถม เริ่มรัชกาลเมื่อใดไม่แน่นอนแต่สิ้นรัชกาลราว พ.ศ.1890
6. พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) ครองราชย์เมื่อ พ.ศ.1890 สิ้นรัชกาลราว พ.ศ.1917
7. พระมหาธรรมราชาที่ 2 พระเจ้าไสยลือไท ขึ้นครองราชย์ปี 1917 สวรรคตเมื่อ พ.ศ.1942 กรุงสุโขทัยเป็นประเทศราช
ของกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลนี้เมื่อปี พ.ศ.1921
8. พระมหาธรรมราชาที่ 3 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1942 – 1962 ได้ย้ายราชธานีจากกรุงสุโขทัยไปตั้งราชธานีที่เมือง
พิษณุโลก
9. พระมหาธรรมราชาที่ 4 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1962 – 1981 เป็นราชวงศ์สุโขทัยองค์สุดท้าย
อาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย
เมื่อสมัยตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้นยังไม่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีเมืองใหญ่อยู่แค่เมืองสุโขทัยและเมืองเชลียง นอกจากนั้น
จะมีเมืองเล็กเมืองน้อยริมฝั่งแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เท่านั้น ทางด้านเหนือถึงแค่เมืองแพร่ ทางด้านใต้ถึงแค่เมืองพระบาง ซึ่งเป็น
เมืองนครสวรรค์ในปัจจุบัน พลเมืองก็ไม่มากนัก
ในสมัยพระเจ้ารามคำแหง ได้แผ่อาณาเขตไปทางเหนือ จดเขตลานนาไทยที่เมืองลำปาง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
คลุมถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลั่ว (อำเภอปัวในจังหวัดน่านปัจจุบัน) และเมืองหลวงพระบางทางทิศตะวันออกถึงเมืองเวียงจันทน์
และเวียงคำ ทางทิศใต้จดปลายแหลมมลายู ทิศตะวันตกถึงฝั่งมหาสมุทรอินเดียรวมเมืองฉอด เมืองหงสาวดี เมืองทวายและ
เมืองตะนาวศรี
พ่อขุนรามคำได้รับพระราชสมัญญาว่าเป็นมหาราช
ในบรรดากษัตริย์ที่ครองกรุงสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงทรงประกอบพระราชกรณียกิจยิ่งใหญ่เป็นอเนกประการ เช่น ทำให้
ชาติไทยมีอำนาจอันยิ่งใหญ่ในแคว้นสุวรรณภูมิและได้ทรงประดิษฐ์อักษรประจำชาติขึ้น จึงได้รับการเทิดทูนจากประชาชนชาวไทย
ว่าเป็น “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช”
การตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
กรุงสุโขทัย ในแผ่นดินพระเจ้าลิไท เสื่อมอำนาจลง พระเจ้าอู่ทองจึงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีเมืองอื่นอีก 16 เมือง
เป็นเมืองขึ้น มีอาณาจักรด้านใต้จดแหลมมลายู ตะวันออกจดดินแดนขอม ตะวันตกจดตะนาวศรีและทวาย เหนือจดนครสวรรค์
สาเหตุการย้ายเมืองมาสร้างราชธานีที่กรุงศรีอยุธยาปัจจุบัน
1. ลำน้ำจระเข้สามพัน ตื้นเขิน ทำให้เมืองอู่ทองกันดารน้ำ และเกิดอหิวาตกโรค
2. บริเวณที่สร้างกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นเมืองอโยธยาเก่า เป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ ไม่ห่างจากปากทะเลมากนัก
3. ลำน้ำสำคัญหลายสายมารวมกันที่เมืองอโยธยา เป็นเมืองสำคัญเสมือนเป็นปากประตูสู่เมืองเหนือตั้งแต่เมืองสุโขทัยถึง
เมืองเชียงใหม่
การตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
ประเทศไทยได้เอกราชกลับคืนมาภายหลังที่ประเทศไทยเสียเอกราชแก่พม่าเพียง 7 เดือน และกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลาย
เสียหายยับเยิน ทั้งนี้เพราะพระปรีชาสามารถกล้าหาญของพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทรงตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาดรวดเร็วในการ
เผชิญภัยทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ปราบข้าศึกศัตรูเป็นผลสำเร็จ และกรุงธนบุรีได้เป็นราชธานีในปี พ.ศ.2310 นั้นเอง
เหตุที่เลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
1.เพราะกรุงศรีอยุธยาเสียหายมากยากที่จะบูรณะให้เป็นราชธานีในเร็ววัน
2. เพราะกรุงธนบุรีอยู่ใกล้ปากอ่าวมากกว่ากรุงศรีอยุธยา สะดวกต่อการค้าขาย และมีทางหนีทีไล่เมื่อข้าศึกมาประชิด
พระนคร
พระราชประวัติของพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงเป็นบุคคลธรรมดาสามัญมาก่อน เกิดเมื่อ พ.ศ.2277
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บิดาเป็นจีนนามว่า นายไหฮอง มารดาเป็นไทย นามว่า นางนกเอี้ยง เจ้าพระยาจักรีสมุหนายก
ได้ขอมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมให้ชื่อว่า สิน เจ้าพระยาจักรีได้นำขึ้นถวายตัวแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ รับราชการเป็นมหาดเล็ก
ต่อมาเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากแล้วเป็นเจ้าเมืองตาก เป็นที่พระยาตากเมื่อพระยาตากเจ้าเมืองเดิมถึงแก่กรรมเจ้าตากได้ทรง
รู้จักคุ้นเคยกับนายสุดจินดา (บุญมา) มาตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อเจ้าตากรบสู้กับพม่าได้เมืองจันทบุรีแล้ว นายสุดจินดา
หนีพม่าจากกรุงศรีอยุธยาไปร่วมด้วย จึงได้เป็นที่พระมหามนตรี ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ทรงปราบปรามบรรดาก๊ก
ต่างๆที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ราบคาบลง พระมหามนตรี (บุญมา) จึงนำหลวงยกกระบัตรประจำเมืองราชบุรี (ด้วง) พี่ชายขึ้นถวายตัวรับราชการ
โปรดให้เป็นที่พระยาอภัยรณฤทธิ์ ต่อมาเป็นพระยายมราช สมุหนายก แล้วเป็นเจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ในที่สุด ทั้งสองพี่น้องได้ช่วยสมเด็จพระเจ้าตากสินทำสงครามตลอดสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินหรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ทรงอยู่ในราชสมบัติ 15 ปี
สภาพความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การปกครอง กรุงสุโขทัย
การปกครอง
เป็นระบบการปกครองแบบพ่อกับลูก คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทั่วราชอาณาจักรอย่างสิทธิ์ขาด เรียกว่า
แบบปิตาธิปไตย
ศาสนา
พระมหากษัตริย์และประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด พระพุทธศาสนามีส่วนช่วยในการปกครอง
อย่างมาก
พ่อขุนรามคำแหง ทรงอาราธนาพระสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์มาจากนครศรีธรรมราชเพื่อตั้งสังฆมณฑลในกรุงสุโขทัย ทำให้
พระพุทธศาสนาลัทธิหินยานแบบลังกาเข้ามาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก ทำให้ลัทธิมหายานเดิมค่อยเสื่อมสูญไป
จากแผ่นดินไทย
พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกที่บวชเป็นพระภิกษุทำให้เป็นธรรมเนียมมาจนทุกวันนี้ ทรงแบ่งพระสงฆ์
ออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายอรัญวาสีคือฝ่ายที่เรียนทางสมถวิปัสสนา และฝ่ายคามวาสี ซึ่งศึกษาทางพระพุทธวจนะ และวัดกลายเป็นโรงเรียน
สำหรับผู้ชายที่บวชเป็นพระภิกษุและเด็กชายที่บวชเป็นสามเณรจนทุกวันนี้
ด้านสังคม และเศรษฐกิจ
ชาวเมือง มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม และค้าขาย ได้รับการสนับสนุนให้ค้าขายทั้งภายในและต่างประเทศ การค้าภายในได้จัด
ตลาดนัดให้ประชาชนมาซื้อขายตามวันและเวลาข้างขึ้นข้างแรมส่วนการค้าต่างประเทศทางราชการใช้เรือสำเภาไปค้าขายแลกเปลี่ยน
กับต่างประเทศ ในสมัยกรุงสุโขทัยมีการทำเงินตราใช้กันแล้ว เรียกว่า เงินพดด้วง
หนังสือและวรรณคดีไทย
พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เองเมื่อ พ.ศ.1826 แทนหนังสือขอม เพื่อให้มีเอกภาพเหมาะสมสำหรับเป็น
ประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์
ด้านวรรณคดี
1.มีจารึกด้วยตัวอักษรไทยหลักแรกอันถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดวรรณคดีไทย ซึ่งเป็นภาษาไทยบริสุทธิ์ เมื่อ พ.ศ.1835
ที่รู้จักกันในนามหลักศิลาจารึก หลักที่ 1
2.ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถา
3. สุภาษิตพระร่วงหรือบัญญัติพระร่วง ยังมีข้อความที่ทันสมัยปัจจุบัน
4. ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยได้ทำไมตรีกับพระเจ้าสิริธรรม ซึ่งครองเมืองสิริธรรมนครหรือ
นครศรีธรรมราช และต่อมายอมเป็นประเทศราชต่อกรุงสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง
2. พ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นพระสหายสนิทกับพระยาเม็งราย แห่งอาณาจักรลานนาไทย และพระยางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา
และได้ร่วมกันเลือกชัยภูมิสร้างนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครอง และศูนย์วัฒนธรรมของอาณาจักรลานนาตลอดมา
3. พ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นไมตรีกับจีน เมื่อ พ.ศ.1825 พระเจ้าหงวนสีจงฮ่องเต้ แต่งทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับ
ไทย และพ่อขุนรามคำแหงส่งคณะทูตไปจีนกว่า 5 คณะเมื่อ พ.ศ.1835 – 1842
4. มีไมตรีกับมอญ พระเจ้าฟ้ารั่ว นามเดิมว่ามะกะโท เป็นเชื้อสายไทยใหญ่ ได้เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรมอญ ได้ราชธิดา
พ่อขุนรามคำแหงไปเป็นพระมเหสี มอญจึงเป็นประเทศราชต่อกรุงสุโขทัย
หลังจากรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงแล้วกรุงสุโขทัยซึ่งเคยรุ่งโรจน์ในก็อ่อนแอลง ประเทศมอญหลังพระเจ้าฟ้ารั่วก็แข็งเมืองขึ้น
และทางกรุงสุโขทัยก็ไม่สามารถปราบได้ ทางพระยาอู่ทองก็ถือโอกาสขยายอาณาเขตสุพรรณภูมิหรืออู่ทองไปจนถึงอโยธยาและเมือง
ใกล้เคียง ประกาศตนเป็นอิสระจากกรุงสุโขทัย และใน พ.ศ.1893 ก็ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และกลับไปตีทวายและ
ตะนาวศรีกลับมาเป็นของไทยได้
การปกครอง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช
การศาสนา
ทุกพระองค์ทำนุบำรุงพุทธศาสนา มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระมณฑปและวัดต่าง ๆ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
บรมโกศได้ทรงโปรดให้พระสงฆ์ไทย มีพระอุบาลีวงศ์เป็นหัวหน้าคณะไปปรับปรุงพระพุทธศาสนา ที่กรุงลังกา เป็นต้นเหตุให้
มีลัทธิสยามวงศ์และอุบาลีวงศ์ในประเทศลังกา
ศิลปะและวรรณคดี
ศิลปะในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการสร้างพระพุทธรูปทองคำและพระราชวังงดงามมาก
วรรณคดี ราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นที่ชุมนุมกวีทั้งหลาย มีหนังสือโคลงพาลีสอนน้อง พระราชสวัสดี
ทศราชสอนพระราช เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นแบบเรียนวิชา
ภาษาไทยสืบต่อมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมุทรโฆษคำฉันท์ และอนิรุทธิคำฉันท์ ศรีปราชญ์เป็นผู้แต่ง เรียกในสมัยนี้ว่า
“สุวรรณสมัยของวรรณคดีไทย” องค์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศก์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีเด่น ได้ทรงประพันธ์กาพย์ห่อโคลงเห่เรือ
และกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ปุณโณวาทคำฉันท์แต่งโดยพระมหานาค ศิริวิบุลกิติ กลอนกลบท แต่งโดยพระศรีปรีชา
(เซ่ง) โองการแช่งน้ำ แต่งในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มหาชาติคำหลวงและลิลิตพระลอ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
สภาพสังคมในสมัยกรุงศรีอยุธยา
มีเจ้านาย ข้าราชการ ราษฎรสามัญชน และทาส ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพต่างกันเป็นคนละชนชั้น
อาชีพ
อาชีพหลักของราษฎร์คือ งานเกษตรกรรม ได้แก่ การทำไร่ทำนาทำสวน งานสถาปัตยกรรม ได้แก่การก่อสร้างบ้านเรือน
พระราชวัง วัดวาอาราม งานศิลปกรรม ได้แก่ การสร้างพระพุทธรูป อุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องถ้วยชาม ทำอาวุธ เช่น หอกดาบ มีด
หัตถกรรม ได้แก่ การจักสาน
กระบวนความยุติธรรม
ได้ทรงตรากฎหมายขึ้นหลายฉบับ โดยอาศัยคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่ได้รับมาจากมอญ มีกฎหมายที่ประกาศใช้ในสมัย
สมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง คือ กฎหมายลักษณะพยาน พ.ศ.1894 กฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.1895 กฎหมายลักษณะรับฟ้อง
พ.ศ.1899 กฎหมายลักษณะลักพา พ.ศ.1899 กฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์ พ.ศ.1901 กฎหมายลักษณะโจร พ.ศ.1903 และ 1901
กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ว่าด้วยที่ดิน พ.ศ.1903 กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ.1904 และ 1905
การปฏิรูปการปกครองของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
1. ทรงแยกทหารและพลเรือนออกจากกัน เสนาบดีฝ่ายทหารเป็นสมุหพระกลาโหม เสนาบดีฝ่ายพลเรือนเป็นสมุหนายก
2. การทหาร ชายฉกรรจ์ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ไปจนถึง 60 ปี มีหน้าที่รับราชการทหาร โดยกำหนดอายุระหว่าง 18 – 20
เป็นไพร่สม อายุระหว่าง 20 – 60 เป็นไพร่หลวง ไพร่สมมีหน้าที่ต้องฝึกหัดราชการทหาร ส่วนไพร่หลวงแบ่งเป็น 2 พวก พวกหนึ่ง
ผลัดเวรเข้ารับราชการทหาร อีกพวกหนึ่งที่อยู่ไกล เป็นไพร่ส่วย ทำหน้าที่หาสิ่งของที่ต้องใช้ในราชการมาแทนการเข้ารับราชการ
การเก็บภาษีอากร เริ่มในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ
1. อากรขนอน มีการตั้งด่านทางน้ำและทางบก จัดเก็บสินค้าเป็นค่าภาคหลวง อัตรา 10 ชักเอา 1 ทุกวันนี้เราเรียกว่าภาษี
ภายใน หรือภาษีผ่านด่าน เก็บแต่ในจังหวัดที่เป็นราชธานี
2. อากรตลาดหรือจังกอบ มีกำนันตลาดมาเก็บภาษีจากร้านและผู้ที่มาขายของตามตลาดเหมือนกับภาษีร้านค้าหรือภาษี
การค้าในปัจจุบัน แต่เก็บเฉพาะผู้ที่มาค้าขายในราชธานี
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาวต่างประเทศ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
1. โปรตุเกส ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ปรากฏว่าในแผ่นดินนี้มีชาวโปรตุเกสเข้ามาทำมาค้าขาย ทรงให้สร้าง
บ้านเรือนอยู่แถวบ้านดินเหนือคลองตะเคียน และโปรดพระราชทานอนุญาตให้สร้างวัดคริสต์ศาสนา
2. ฮอลันดา ปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร พวกฮอลันดาเข้ามากรุงศรีอยุธยา พอต้นรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถก็เข้ามา
ค้าขายในกรุงศรีอยุธยาอยู่จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ.2310
3. อังกฤษ เข้ามาทำการค้าขายสมัยเดียวกับฮอลันดา จนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จีงเลิกติดต่อกับอังกฤษไป
ระยะหนึ่ง
4. ญี่ปุ่น เข้าใจกันว่าญี่ปุ่นเข้ามาทำการค้าขายกับเมืองไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
5. ฝรั่งเศส บาทหลวงเป็นสื่อกลางชักนำให้กรุงศรีอยุธยามีไมตรีกับฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดปราน
บาทหลวงฝรั่งเศส ให้ออกแบบก่อสร้างพระราชวังที่ลพบุรี ยังมีการแลกเปลี่ยนทูตกันระหว่างสองประเทศ กรุงศรีอยุธยาแต่งทูต
ไปเจริญทางพระราชไมตรีฝรั่งเศสถึง 4 ครั้งฝรั่งเศสส่งทูตมา 2 ครั้ง
6. เปอร์เซีย (ปัจจุบันคืออิหร่าน) ได้เข้ามาติดต่อกับเมืองไทยมาเป็นเวลาช้านาน ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จ
พระนารายณ์มหาราชเลื่อมใสในศาสนาอิสลามแต่ไร้ผล
7. เดนมาร์กได้เข้ามาทำการค้าติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2159
8. ลังกามีความสัมพันธ์กันด้านพระพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
9. จีน มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
รัฐบาลสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ตั้งกรมท่าซ้ายและกรมท่าขวาไว้ดูแลชาวต่างประเทศ และการค้ากับต่างประเทศ รัฐบาลเป็นผู้ทำ
ในรัชสมัยกรุงธนบุรีนั้นสั้นมาก เพียงระยะเวลาสิบห้าปี และตลอดระยะเวลาสิบห้าปีนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องทรง
หมกมุ่นอยู่กับการทำสงครามกับพม่า และการปราบปรามภายในให้ราบคาบ จึงไม่มีเวลาที่จะปรับปรุงการปกครองแต่อย่างใด
ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งใดที่เด่นในรัชกาลนี้ นอกจากเกียรติประวัติการกู้อิสระภาพของพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งทำให้บ้านเมืองไทยเป็นอิสระ
สงบเรียบร้อยมาจนถึงปัจจุบัน
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ประเทศที่มีความสัมพันธ์ด้วยอย่างดีคือจีน ชาวจีนได้สนับสนุนและช่วยพระเจ้ากรุงธนบุรีในการกู้ชาติ โดยนำสำเภาจีนออกไป
ปราบปรามข้าศึกศัตรูหลายครั้ง
ความจำเป็นที่ต้องรักและหวงแหนชาติ
เหตุที่ชาติเป็นแผ่นดินที่อยู่สำหรับคนไทยทุกคน และเป็นมรดกสืบมาจากบรรพบุรุษให้คนร่วมชาติได้อยู่ร่วมกันอย่างอิสระ
เสรี มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีตกทอดกันมา การรักษาชาติให้ตกทอดมานี้บรรพบุรุษของไทยได้ต่อสู้มาด้วยความเสียสละ
เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อยังความเป็นอิสรภาพตลอดมา หากประเทศไทยยังเป็นของชาวไทย อิสรภาพไม่ถูกทำลาย ชาติไทยก็ยังไม่สูญ
ถ้าหากชาติถูกทำลายไปเราทุกคนก็เหมือนบุคคลที่ตายแล้ว ดังนั้นเราทุกคนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักชาติ และหวงแหนชาติ
ยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง
เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และการกู้อิสรภาพ
ทุกครั้งที่กรุงศรีอยุธยามีเหตุการณ์ภายในไม่เรียบร้อย และทางพม่ามีกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการศึก พม่าก็มักจะเข้ามา
รุกรานกรุงศรีอยุธยา และเมื่อได้ชัยชนะก็กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยและขนเอาทรัพย์สมบัติกลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏ
ในปี พ.ศ.2091 ซึ่งในระยะนั้นสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิพึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติได้เพียงหกเดือน พม่าสมทบกับกองทัพไทยใหญ่
และมอญก็เข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยา เกิดเหตุการณ์ชนช้างระหว่างพระเจ้าแปรและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ช้างสมเด็จพระ
มหาจักรพรรดิเสียทีช้างพระเจ้าแปร สมเด็จพระศรีสุริโยทัยจึงขับช้างทรงเข้าขวาง โดนข้าศึกฟันถึงแก่ความตายบนคอช้าง การรบ
ครั้งนี้พม่าไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงยกทัพกลับ ต่อมาบุเรงนองขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดี ยกทัพมาล้อมพระนคร กรุงศรีอยุธยา
จึงพ่ายแพ้แก่พม่า ข้าราชการตลอดจนผู้คนพลเมืองก็ถูกกวาดต้อนไปหงสาวดีเป็นจำนวนมากและทรัพย์สมบัติก็ถูกริบไปเป็นจำนวน
มากมายนับไม่ถ้วน
กล่าวกันว่า กรุงศรีอยุธยาไม่มีวันแตก หากไม่มีไส้ศึก แต่กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่าในปี พ.ศ.2112สมเด็จพระนเรศวร
ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อ พ.ศ.2127 รวมกรุงศรีอยุธยาตกอยู่ภายใต้อำนาจพม่า 15 ปี
ปี พ.ศ.2133 สมเด็จพระมหาธรรมราชาสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาสืบมาเมื่อพระชนม์พรรษา
ครบ 35 พรรษา ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราช การสืบราชสมบัติของราชวงศ์พระมหาธรรมราชาต่อไป
การเสียกรุงศรีอยุธยาและการกู้ชาติครั้งที่สอง
การสืบราชสมบัติของสามราชวงศ์นี้มิได้เป็นไปอย่างราบเรียบ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสิ้นพระชนม์แล้วสมเด็จ
พระเอกาทศรถก็สืบราชสมบัติต่อมา ส่วนพระเจ้าปราสาททองและพระเพทราชาได้ขึ้นครองราชย์โดยอาศัยการชิงราชสมบัติราชวงศ์
บ้านพลูหลวง แย่งชิงราชสมบัติกันไปมา และที่ได้ขึ้นครองราชสมบัติก็มิได้ทำนุบำรุงบ้านเมือง ปล่อยให้ทรุดโทรม การผลัดเปลี่ยน
แผ่นดินนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งมามักจะเป็นการชิงราชสมบัติ ข้าราชการดี ๆ ก็เสียชีวิตเสียเป็นอันมาก บรรดาเจ้านาย
และข้าราชการก็เลยแตกสามัคคีกัน แบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ประจบสอพลอเพื่อความเป็นใหญ่และความปลอดภัยของตนเอง ประจวบ
กับเป็นระยะเวลาที่พม่ามีพระเจ้าแผ่นดินที่เข้มแข็ง
กรุงศรีอยุธยาจึงล่มลงเป็นครั้งที่สอง และครั้งนี้รุนแรงกว่าเมื่อครั้งที่หนึ่ง พระนครศรีอยุธยายับเยินจนไม่สามารถจะบูรณะให้
เป็นนครหลวงได้อีกต่อไป ในปี พ.ศ.2310 แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ไม่มีพระมหากษัตริย์ บรรดาหัวเมืองที่ยังไม่ได้เสียแก่พม่าก็ตั้งตัวเป็นอิสระ เมืองน้อยก็ยอม
อ่อนน้อมขึ้นต่อเมืองใหญ่ และต่างก็พยายามกู้ชาติ มีถึง 5 พวกด้วยกัน โดยเฉพาะพวกพระยาตาก (สิน) ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมือง
จันทบุรี เรียกกันว่าเจ้าตาก มีความสามารถในการรบ เมื่อพม่าล้อมกรุงถูกเกณฑ์มาป้องกันกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงจวนจะแตก
พระเจ้าตากเห็นว่า พม่าล้อมเข้ามาจวนจะถึงคูพระนคร และผู้บัญชาการรักษาพระนครอ่อนแอคงจะเสียกรุงแก่พม่า จึงรวมพรรคพวก
ได้ 500 คน ตีฝ่าพม่าหนีไปทางทิศตะวันออก รบกับพม่าเรื่อยรายทางตลอดมา และได้ชัยชนะพม่า ชาวเมืองที่หลบซ่อนพม่าออกมา
ทรงเห็นพระเจ้าตากมีชัยชนะพม่า ก็พากันเข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกด้วยเป็นจำนวนมาก และตั้งรับพม่าอยู่ที่เมืองระยอง เมื่อเสีย
กรุงแล้วกลับตีเมืองจันทบุรีได้ แล้วรบกับสำเภาจีน ได้สำเภาจีนเป็นพรรคพวกตั้งตัวได้ จึงกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า
สงครามยุทธหัตถี
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นครองราชย์ได้เพียงสามเดือน พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มารบ
กับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากทางกรุงหงสาวดีไม่สามารถจะปราบกรุงศรีอยุธยาได้ บรรดาประเทศราชทั้งหลายก็พากันกระด้างกระเดื่อง
พระมหาอุปราชายกทัพมาถึงเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวรยกทัพหลวงออกไปตีทัพพม่าแตกยับเยิน ด้วยเหตุนี้
พระเจ้าหงสาวดีจึงทรงให้พระมหาอุปราชายกทัพหลวงมาอีกในปี พ.ศ.2135 และสั่งให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกพลมาสมทบอีกด้วย
ทัพทั้งสองเผชิญกันที่ริมหนองสาหร่ายแขวงเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงท้าพระมหาอุปราชากระทำยุทธหัตถี
อ้างว่าเพื่อจะไม่ต้องเปลืองชีวิตไพร่พลทั้งสองฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะ พระมหาอุปราชาถูกพระแสงของ้าวของสมเด็จ
พระนเรศวรขาดคอช้าง พวกข้าศึกสาละวนอยู่ด้วยนายทัพสิ้นพระชนม์ชีพ จึงพ่ายแพ้แก่ไทย การกระทำยุทธหัตถีครั้งนั้น ได้นำชื่อเสียง
มาสู่กรุงศรีอยุธยามาก
วีรกรรมของคนไทยที่ต่อสู้กับชาวต่างชาติ
พระยาพิชัยดาบหัก
เมื่อปี พ.ศ.2315 พม่ายกกองทัพไปตีเมืองหลวงพระบาง แล้วก็เลยมาตีไทยที่เมืองลับแล แล้วเลยมาตีเมืองพิชัยซึ่งเป็น
เมืองเล็กไม่มีกำลังมากนัก กองทัพเมืองพิษณุโลกไปช่วยเมืองพิชัย พม่าจึงพ่ายแพ้กลับไป
ปี พ.ศ.2316 พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัยอีก แต่ไทยคาดว่าพม่าคงจะกลับมาตีเมืองพิชัยแน่ ทางพระยาพิชัยจึงเตรียมตัว
รออยู่แล้ว ครั้นรู้ว่าพม่ายกกองทัพมาก็ชวนกันออกไปสกัดอยู่กลางทาง การรบครั้งนี้มีการประจันบานกันเป็นตะลุมบอน พระยาพิชัย
ถือดาบสองมือเข้าฟาดฟันพม่าจนดาบหัก เลื่องลือชื่อเสียงกันว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” ตั้งแต่นั้นมา ในการรบครั้งนั้นพม่าก็ต้อง
แตกทัพกลับไป
ชาวบ้านบางระจัน
พ.ศ.2300 กองทัพเนเมียวสีหบดี ยกมาถึงเขตพระนครกรุงศรีอยุธยาแต่ยังมิได้เข้าตีกรุงศรีอยุธยาทีเดียว เป็นกองโจร
เที่ยวปล้นสดมภ์จับเชลยชาวบ้าน มีทหารพม่ากองหนึ่งเที่ยวปล้นทรัพย์จับผู้คนทางเมืองวิเศษไชยชาญ รู้ว่าใครมีลูกสาวก็บังคับ
เอาลูกสาวด้วย ราษฎรจึงพากันโกรธคิดแก้แค้นพม่า มีพวกยอมเข้ากับพม่าและพวกที่ยังหลบซ่อนรวมกัน มีหัวหน้า 6 คน ชื่อ
นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายดอก และนายทองแก้ว ลวงพม่าไปค้นหาสาวแล้วฆ่าพม่า จึงหนีไปอยู่บ้านบางระจัน
มีชาวเมืองวิเศษไชยชาญ และเมืองสรรค์หนีพม่ามาสมทบ
บ้านบางระจันนี้เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์อยู่เขตต่อสามเมืองคือเมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสุพรรณบุรีและเมืองสิงห์ ยากที่พม่า
จะติดตามเข้าไป โดยตั้งกองต่อสู้พม่า มีหัวหน้าเพิ่มอีก 5 คน คือ ขุนสรรค์ กำนันพันเรือง นายทองเหม็น นายจันทร์หนวดเขี้ยว
นายทองแสงใหญ่ ตั้งค่ายโอบรอบบ้านบางระจันไว้ และมีกองทัพกองหนึ่งมีนายกองชื่อนายแท่น
เมื่อพม่ารู้ว่าไทยซ่องสุมผู้คนจะสู้พม่าก็ยกพลมาปราบ สู้กองทหารนายแท่นมิได้ พอรู้ว่าพม่าข้ามคลองมาก็รุมกันเข้าตี
กิตติศัพท์ไทยชนะพม่าไปถึงบรรดาคนไทยก็หนีพม่ามาสมทบด้วย มีแต่อาวุธสั้น ไม่มีปืน ได้อาจารย์ธรรมโชติทำผ้าประเจียด ตะกรุด
แจกจ่ายกันเป็นกำลังใจ กองทัพพม่ายกกำลังนับพันมาปราบ พ่ายแพ้กลับไปถึง 8 ครั้ง จึงยกทัพใหญ่มาพร้อมปืนใหญ่และทหารม้า
ก็ยังพ่ายแพ้แก่ไทยอีก จึงไม่พยายามรบกับไทยในที่แจ้ง มาตั้งค่ายรออยู่ นายทองเหม็นรำคาญที่ไทยไม่สามารถตีค่ายพม่าแตกได้
เนื่องจากไม่มีปืนใหญ่เข้าตีทีไรก็ต้องล้มตายลงไปทุกที ดื่มสุราเมาขึ้นมาก็เลยขี่กระบือบุกค่ายพม่า ถลำเข้าไปกลางพวกข้าศึก
ถูกทุบตีตาย พวกไพร่พลก็เลยแตกหนีกลับมา เป็นอันว่าเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านบางระจันแพ้พม่า
ทางค่ายบางระจันขอปืนใหญ่จากทางกรุงศรีอยุธยาไปช่วยแต่ไม่ได้รับเนื่องจากทางกรุงศรีอยุธยากลัวว่าจะถูกข้าศึกแย่งชิง
เอาไป จึงทนสู้จนกระทั่งคนร่อยหรอล้มตายลงไปเป็นเวลานานถึง 5 เดือน สิ้นกำลังที่จะต่อสู้ได้ ชาวบ้านบางระจันล้มตายเป็นอันมาก
ที่เหลือตายหนีพม่าไปก็มี ถูกจับเอาไปเป็นเชลยก็มีบ้าง ตัวอาจารย์ธรรมโชติสาบสูญไปไม่มีใครทราบ
ความภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม
ความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” วัฒนธรรมคือระบบการดำเนินชีวิตของสังคม มีลักษณะเป็นแนวทางหรือแบบแผนอันมี
ระเบียบ หรือวิธีการจากการเรียนรู้ การคิด หรือการถ่ายทอดกันมาในสังคมหนึ่ง หรืออาจจะเลียนแบบหรือจดจำกันมาแล้วนำมา
ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตในสังคมของตนทำให้มีลักษณะเด่นชัดเป็นพิเศษแตกต่างไปจากของเดิม กลายเป็น
ประเพณีประจำสังคมหรือของชาติสืบไป
ประเพณี เป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นเครื่องหมายแสดงลักษณะเฉพาะประจำชาติ ทุกชาติจะต้องมีประเพณีประจำชาติ
ของตนความแตกต่างของแต่ละชาตินอกจากภาษา กิริยาท่าทาง ก็คือระเบียบประเพณี ซึ่งแต่ก่อนใช้คำว่าจารีตประเพณี เป็นสมบัต
ิที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นไว้ให้คนรุ่นหลังเป็นมรดกตกทอดมาหลายชั่วอายุคน
ประเพณีเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสังคม สิ่งที่คนส่วนมากเห็นดีเห็นงามเอาอย่าง
ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานจนเป็นรูปแบบเดียวกันจนเกิดเป็นประเพณีขึ้น ดังนั้นประเพณีจึงเป็นจุดรวมจิตใจของคนในสังคมหรือ
ในชาติ ดังนั้นประเพณีใดที่เห็นว่ามีความดีความงามควรจะอนุรักษ์ไว้สืบไป รัฐบาลจึงพยายามสนับสนุน เสริมสร้างขึ้นให้เป็น
เอกลักษณ์ของชาติ
ที่มาของวัฒนธรรมหรือประเพณี
1. สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากภูมิศาสตร์ของประเทศไทยมีแม่น้ำลำคลองมาก คนไทยได้อาศัยน้ำในลำคลองในวิถี
ทางดำเนินชีวิต ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมเกี่ยวกับลำน้ำจนกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา เช่น การลอยกระทง พิธีการแข่งเรือ เป็นต้น
2. เนื่องจากคนไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม จึงมีประเพณีหรือวัฒนธรรมไทยหลายประการ เช่น ประเพณีขอฝน เนื่องจาก
การทำนาทำไร่ของเราอาศัยน้ำฝนเมื่อฝนแล้งไม่เป็นไปตามฤดูกาลก็มีประเพณีขอฝนขึ้น และเนื่องจากการทำไร่ทำนาของไทย
แต่ก่อนใช้วิธีการช่วยแรงกัน เป็นการชุมนุมชาวบ้านมาช่วยกัน จึงมีการเล่นอันแสดงถึงความสามัคคีเป็นการคลี่คลายความ
เหน็ดเหนื่อยไปในตัว เช่น การเต้นกำรำเคียว
3. ศาสนา เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ดังนั้นประเพณีสำคัญ ๆ จึงมาจากศาสนาพุทธ เช่น การทอดกฐิน
และสังคมไทยมีความผูกพันมากับศาสนาพราหมณ์มานาน ในพิธีต่าง ๆ จึงมีศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรม เช่น พิธีรดน้ำ
พิธีแต่งงาน เป็นต้น
ความสำคัญของการสงวนรักษาประเพณีไทย
1. ประเพณีเป็นวัฒนธรรมประจำชาติแสดงถึงความเจริญมาช้านานตั้งแต่อดีตของสังคมไทย
2. ประเพณีมีส่วนสนับสนุนให้ชาติบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองในทัศนที่ดีและถูกต้อง
3. ประเพณีเป็นเครื่องแสดงว่าชาติไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมีอารยธรรมทัดเทียมกับประเทศอารยะอื่น ๆ
4. ประเพณีไทยเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย มีลักษณะเป็นของตนเองย่อมน่าภูมิใจอย่างยิ่ง
5. ประเพณีเป็นเครื่องแสดงให้คนในชาติมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเป็นไทยเหมือนกัน ก่อให้เกิด
ความสนิทสนมกันและเสริมความมั่นคงของชาติขึ้น
6. ประเพณีเป็นเครื่องแสดงวิถีชีวิตของคนไทย
ที่มา http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/so02/so20_2.html