ในเดือนนี้มีวันสำคัญอีกหนึ่งวันที่สมควรการกล่าวถึง นั่นคือ "วันวิทยาศาสตร์ไทย" ตรงกับ วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี วันนี้จะนำเสนอเรื่องราวของพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยค่ะ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพเมื่อ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๔๗ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด ฉศกจุลศักราช ๑๑๖๖ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ณ พระราชวังเดิม พระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพระชนมายุย่างเข้า ๙ พรรษา (พ.ศ. ๒๓๕๖) สมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดให้มีพระราชพิธีลงสรงเป็นครั้งแรก ในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ดำรงพระ ราชเกียรติยศรับพระราชทานพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์พงศ์อิศวร กษัตริย์วรขัตติยราชกุมาร" ปรากฏตามอเนกนิกรชนสมมติ เรียกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าพระองค์ใหญ่"
ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ (พระชนมายุได้ ๔๗ พรรษา ทรงผนวชมาได้ ๒๗ พรรษา) พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้เข้ากราบถวายบังคมทูลอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ สืบพระราช สันติวงศ์ รัชกาลที่ ๔ โดยมีพระราชปรมาภิไธยโดยย่อว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรามหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่าง พระมหากษัตริย์กับ อาณาประชาราษฎร ให้เข้ากับกาลสมัยในรูปใหม่ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พระองค์ ทรงอยู่ในสมณเพศนานถึง ๒๗ พรรษา ได้เสด็จธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นโอกาสให้ทรงได้รับรู้สภาพความเป็นอยู่ โดยแท้จริงของ ราษฎรส่วนใหญ่ด้วยพระองค์เอง นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง และเป็นการเตรียมพระองค์เพื่อปกครองบ้านเมืองในอนาคต เป็นอย่างดี ประกอบกับลัทธิจักรวรรดินิยม ที่แผ่ขยายมายังประเทศใกล้เคียงในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และในทวีปเอเซีย ทำให้พระองค์ทรง ตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศสยาม จะต้องยอมรับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก และเร่งปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย โดยทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจในหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กันด้วยพระบรมราโชบายที่มีทรรศนะไกล และด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ คือ
๑. ด้านการต่างประเทศ
๒. ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงและการป้องกันพระราชอาณาจักร
๓. ด้านการปฏิรูปการปกครอง
๔. ด้านการทำนุบำรุงอาชีพของราษฎรและการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และการคลัง
๕. ด้านบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร
๖. ด้านบำรุงศึกษาศาสตร์
๗. ด้านพระราชพิธี ประเพณี ธรรมเนียม
๘. ด้านพระศาสนา
๙. ด้านการก่อสร้าง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า การศึกษาสมัยใหม่ เป็นสิ่งจำเป็นในการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย เป็นที่ยอมรับของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ทรงสนับสนุนงานริเริ่มจัดการศึกษาสมัยใหม่ โดยคณะมิชชั่นนารี อย่างดียิ่ง ทรง เป็น "องค์วิชาการ" ทรงใฝ่พระทัยศึกษาด้วยพระองค์เอง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญาศาสนาต่างๆ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์
สุริยุปราคาเต็มดวง 18 สิงหาคม 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคามืดหมดดวงทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงพยากรณ์ล่วงหน้าถึง 2 ปี และปรากฏการณ์เกิดขึ้นตรงตามที่ทรงคำนวณไว้ทุกประการ
ณ วันอังคารที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑ เป็นวันสำคัญที่พระองค์ท่าน, ตลอดจนบรรดาผู้โดยเสด็จ และผู้มาเข้าเฝ้าทั้งไทยและเทศต่างเฝ้ารอ คำพยากรณ์จากการคำนาณทางดาราศาสตร์, ก็ปรากฎว่า เมื่อเวลา ๑๐.๑๖ น. ท้องฟ้าเหนือชายทะเล บ้านหว้ากอ ซึ่งแต่เดิมปกคลุมด้วยเมฆฝนก็พลันกระจ่างมองเห็นดวงอาทิตย์ไรๆ, พอรู้ว่าสุริยุปราคาได้เริ่มขึ้นแล้ว, จนกระทั่งเวลา ๑๑.๓๖ น. กับอีก ๒๐ วินาที ก็จับเต็มดวง, ซึ่งกินเวลาจับเต็มดวง ทั้งสิ้น ๖ นาที กับ ๔๕ วินาที. เล่ากันมาว่า "เวลานั้นมืดเหมือนเวลากลางคืน เวลาพลบค่ำ คนที่นั่งไกล้ๆก็แลดูไม่รู้จักหน้ากัน" ท่ามกลางความมืดจากสุริยุปราคานั้น, พระบารมีขององค์พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยก็เจิดจรัสแจ่มฟ้า พระองค์ทรงสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบล หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างแม่นยำ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว ซึ่งเป็นการพิสูจน์ผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งแรกของชาติไทย จนเป็นที่เลื่องลือในวงการดาราศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของประเทศชาติ
ตำบลหว้ากอ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชดำเนินทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคา ปี พ.ศ. 2411 พระตำหนัก 3 ชั้นที่ประทับสร้างด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก มุงจาก และใบตาลแห้ง รั้วทำด้วยกิ่งไม้
เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้เทิดทูนพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" องค์ปฐมดำริสร้างไทยก้าวทันโลก และกำหนดให้วันที่ ๑๘ สิงหาคม ของทุกปี เป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเร่งรัดส่งเสริมและสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อยกย่องสดุดีพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และเพื่อกระตุ้นสำนึกและเสริมสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในทุกระดับได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีผลต่อการพัฒนาฐานะของประเทศให้ดีขึ้น
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๗ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมขยายออกไปอย่างกว้างขวางและพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ความร่วมมือดังกล่าวก่อให้เกิดพลังสำคัญในการกระตุ้นให้ประชาชนและเยาวชนไทยมีความตื่นตัว และเห็นความสำคัญของบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้คณะรัฐมนตรีได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการจัดงานข้างต้น ดังนั้น เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๘ คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการจัดงาน "สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ" เป็นประจำทุกปี ระหว่าง วันที่ ๑๘-๒๔ สิงหาคม และอนุมัติให้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการจัดงานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นต้นมา
ข้อมูลจากwww.zheza.com