18 สิงหาคม วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และการเกิดสุริยุปราคา
ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ถือเป็นวันสำคัญยิ่งในวงการศึกษา วงการดาราศาสตร์ และวงการวิทยาศาสตร์ของไทย เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค และสถลมารค เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ ต.หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อันเป็นปรากฏการณ์ที่พระองค์ ทรงคำนวณทำนายไว้ก่อนล่วงหน้าถึง 2 ปี คือทรงคำนวณไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2409
ประวัติ
รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติเนื่องจากวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคและทางสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตรงเกาะจานขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึง จ.ชุมพร จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ มีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์
ผลการคำนวณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแม่นยำมาก เซอร์แฮรี ออด บันทึกเหตุการณ์ไว้ซึ่งต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลเป็นภาษาไทยในงานหว้ากอรำลึก ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2518 ว่า "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกถ้วนที่สุด ถูกถ้วนยิ่งกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้"
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ มีแนวคิดว่าน่าจะถือเอาวันที่ 18 สิงหาคมเป็นวันวิทยาศาสตร์ไทย ต่อมาวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ อันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาตินานัปการ ทั้งในด้านการทหาร การปรับปรุงประเทศ และผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2511 หลายหน่วยงาน เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน กรมแผนที่ทหาร กรมอุตุนิยมวิทยา กรมไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดงานขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบปีของเหตุการณ์
กิจกรรม
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
- ร่วมพิธีวางมาลาและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- จัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- จัดกิจกรรมส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ
ขอบคุณที่มาข้อมูล www.thaigoodview.com/node/7773 -