สมพงษ์ จิตระดับ
นักวิชาการจากจุฬาฯ พบ 10 ปัจจัย ที่ช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พร้อมกับให้ความสำคัญกับโรงเรียน ในการสร้างเด็กให้เป็นคนดี
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง "สุขภาวะของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย" โดยสำรวจเชิงคุณภาพ 50 ครอบครัวที่มีรายได้น้อย โดยมีเงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือน ในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พบปัจจัย 10 ประการที่ทำให้ครอบครัวยากจนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้และอยู่อย่างมีความสุข คือ 1. ไม่ยอมรับความคิดเดิมๆที่สังคมยัดเยียดให้ เช่น ความคิดที่ว่าเป็นคนจนการศึกษาต่ำ อาชีพไม่แน่นอน เจ็บ ป่วยบ่อย หรือ "โง่ จน เจ็บ" 2. มีคำสอนของพ่อแม่เป็นแนวทาง เช่น อดทน ขยัน ตั้งใจเรียน และเป็นคนดี 3. ขยันทำมาหากิน 4. มีการบริหารจัดการด้านเวลาดี โดยใช้เวลาอยู่กับลูกอย่างคุ้มค่า และอบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนดีมีคุณธรรม 5. มีการสื่อสารเชิงบวก เช่น ทำความเข้าใจกับลูกเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ร่วมกันวางแผนใช้จ่ายเงินในครอบครัว มีการปลอบใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน
อาจารย์คณะครุศาสตร์กล่าวต่อว่า 6. มีกลวิธีในการสร้างความคิดดีและตอกย้ำการคิดดีทำดีให้กับลูก เช่น การให้ลูกช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน 7. ปลูกฝังให้ลูกๆเป็นคนดี ไม่โกหกตั้งแต่เล็ก หรือไม่เกินประถมศึกษา ไม่รอจนถึงมัธยม ซึ่งจะปลูกฝังได้ยากกว่า 8. พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เช่น เป็นคนดีมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น 9. ครอบครัวยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงโดยปฏิบัติจริง เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นหวย มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างละเอียดจนถึงเศษสตางค์ ปลูกผัก เลี้ยงปลา เพื่อลดรายจ่ายด้านอาหาร และ 10. เก็บเงินไว้เพื่อการศึกษาของบุตรหลานให้ได้เรียนสูงที่สุด ซึ่งพบว่าเมื่อลูกเรียนจบระดับสูงก็จะดึงพ่อแม่ให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ด้วย
"โรงเรียนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างเด็กให้เป็นคนดี เช่น ยกย่องเด็กที่ทำความดี เรียนดี หรือการที่ครูตบบ่าให้กำลังใจเมื่อเด็กทำสิ่งที่ถูกต้อง จะทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะทำความดี ขยัน ตั้งใจเรียน และไม่หลุดจากระบบการศึกษา" รศ.ดร. สมพงษ์กล่าวและว่า จากการสำรวจพบว่า ครอบครัวยากจน 10% ที่ยึดหลักการดังกล่าว สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับครอบครัวอื่นๆ หากทำได้ก็จะหลุดพ้นจากความโง่ จน เจ็บ ได้.