คนโบราณบ้านเราสามารถใช้ส่วนต่างๆของผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นเปลือก ผล เมล็ด ราก หรือใบมาปรุงเป็นยา ที่สำคัญในปัจจุบันมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า สารเคมีที่อยู่ในส่วนต่างๆของผลไม้มีสรรพคุณทางยารักษาโรคได้จริง
มะเฟือง (Star apple) นอกเหนือจากความสวยงามแปลกตาในเรื่องรูปทรงแล้ว ในด้านคุณค่าทางโภชนาการ มะเฟืองสุกยังอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ ฟอสฟอรัส และแคลเซียม ช่วยรักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน เป็นยาระบายแก้ท้องผูก ช่วยขับเสมหะได้
ในด้านสมุนไพร เราสามารถใช้ส่วนต่างๆของมะเฟืองมารักษาโรคได้ดังต่อไปนี้
- ผล คั้นเอาแต่น้ำดื่ม จะช่วยบรรเทาอาการอาการเจ็บคอ ไข้หวัด บรรเทาอาการนิ่วในปัสสาวะขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะช่วยลดอาการร้อนใน ช่วยขจัดรังแค นอกจากนั้นน้ำคั้นจากผลมะเฟือง ยังใช้ลบรอยเปื้อนบนมือ เสื้อผ้า และของใช้ต่างๆได้ดีอีกด้วย
- ใบ นำมาต้มผสมกับน้ำ กินแก้ไข้ ขับปัสสาวะ ขับระดู หรือหากนำมาบดให้ละเอียดพอกบนผิวหนัง จะช่วยลดอาการอักเสบ ช้ำบวม แก้ผื่นคัน กลากเกลื้อน และอีสุกอีใส
ราก มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ต้มกับน้ำ ช่วยดับพิษร้อน แก้อาการปวดศรีษะ ปวดตามข้อต่างๆในร่างกาย ปวดแสบในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องร่วง ส่วนดอกมะเฟืองนิยมนำมาต้มน้ำดื่ม เพื่อช่วยในการขับพิษและขับพยาธิ
ข้อควรระวัง ผลมะเฟืองมีกรดออกซาติกอยู่ค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงไม่ควรกินในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้เป็นฝ้าได้ อีกทั้งไม่ควรกินในขณะมีประจำเดือนเพราะจะทำให้รู้สึกปวดท้อง สตรีมีครรภ์ไม่ควรกินมาก เพราะจะทำให้แท้งได้
ส้มโอ (Pomelo) ในส้มโอมีสารเพคติน (Pectin) สูง จึงมีคุณสมบัติช่วยลดคลอเลสเตอรอลในเลือด อีกทั้งยังมีสารโมโนเทอร์ปีนที่ช่วยในการกวดจับสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้นส้มโอยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งคือช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วย
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วย่างไฟให้อุ่น ใช้พอกบริเวณที่ปวดบวมหรือปวดศีรษะได้
- เปลือกผลของส้มโอมีน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด ใช้เป็นยาขับลม ขับเสมหะ แก้ท้องอืด แน่นหน้าอก ไอ สมารถใช้เปลือกผล ตำพอกฝี และใช้จุดไฟไล่ยุงได้ หรือหากนำเปลือกผลส้มโอมาผสมกับน้ำผึ้งแล้วนำไปนึ่งรับประทานทุกเช้าเย็น ก็จะช่วยบรรเทาอาการของโรคหอบหืดได้
- เมล็ดของส้มโอ มีสรรพคุณช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร ลดอาการปวดบวมของผิวหนัง และยังช่วยลดปริมาณของเสมหะที่มีในลำคอได้อีกด้วย
- ผล ช่วยเจริญอาหาร หากรับประทานเนื้อของผลส้มโอภายหลังอาหาร จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
มะยม (Star gooseberry) เป็นผลไม้พื้นบ้านที่ให้รสเปรี้ยวอมฝาด ในผลมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ และวิตามินซีสูง จึงมีฤทธ์ในการช่วยสมานแผลและใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการหลอดลมอักเสบ ในยอดอ่อนมีฟอสฟอรัส ช่วยในการขับเหงื่อ และกระตุ้นการเจริญอาหาร รากของมะยมมีสารแทนนินอยู่ค่อนข้างสูง ใช้แก้ไข้ แก้อาการหอบหืดและปวดศีรษะ
- รากมะยม ใช้รากมะยมประมาณ1กิโลกรัมต้มกับน้ำ 10 ลิตรให้เดือดทิ้งไว้ให้อุ่น นำมาอาบ หรือใช้รากมะยมฝนกับน้ำซาวข้าวทาวันละ 2-3 ครั้งอาการคันจะดีขึ้น
- แก่นมะยม นำแก่นมะยมมาฝานให้ได้ขนาดชิ้นเท่าฝ่ามือ 3 ชิ้น ต้มกับน้ำ 1 แก้ว นาน 5 นาที ดื่มให้หมด 1 แก้ว กินติดต่อกัน 1อาทิตย์จะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้
- ใบ นำใบแก่พร้อมก้าน1กำมือ ไปต้มพร้อมน้ำตาลกรวดให้เดือดนาน 5-10 นาทีแล้วดื่ม จะช่วยลดอาการปวดศีรษะเนื่องจากความดันโลหิตสูงได้
ข้อควรระวัง รากของมะยมมีพิษ ใช้เป็นยาเบื่อสัตว์ใหญ่ โดยใช้ผสมกับอาหาร ถ้ากินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการเมาและอาเจียนได้
มังคุด (Mangosteen) เป็นผลไม้ที่เนื้อในของผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน กลมกล่อม ในเปลือกมังคุดยังมีสารเทนนิน (Tannins) และสารมีสารแมงโกติน (Mangostin) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง อยู่มากถึง 7-14 เปอร์เซนตร์ ในแง่สมุนไพร เปลือกมังคุดจึงมีสรรพคุณในการใช้รักษาโรคผิวหนัง และนิยมนำไปสกัดทำเป็นสบู่ ครีมพอกหน้า และยารักษาสิวฝ้าได้อีกด้วย
- เปลือกมังคุดแห้ง ใช้เปลือกมังคุดแห้งของผลแก่ฝนกับน้ำปูนใส ให้ได้ตัวยาข้นๆทาบริเวณที่เป็นแผลพุพอง เป็นหนอง หรือบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนวันละ 2-3 ครั้งอาการจะดีขึ้น หรือใช้เปลือกมังคุดแห้ง 1-2 ผลต้มกับน้ำ1 ลิตร ล้างแผลวันละ 3-4 ครั้ง ก็ได้เช่นเดียกัน หรือนำเปลือกมังคุดที่ตากแดดจนแห้ง ไปฝนกับน้ำให้ได้ความเข้มข้น ทาบริเวณที่เป็นวันละ 3-4 ครั้ง จะช่วยให้แผลน้ำกัดเท้าแห้งเร็วขึ้น
- เปลือกมังคุด นำไปต้ม ใช้เป็นยากลั้วคอ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและต้านเชื้อราในปาก เวลาเป็นแผลในปาก
- เปลือกแห้งของผลแก่ ใช้เปลือกมังคุดแห้ง1ลูก ต้มกับน้ำให้เดือด 5 -10 นาที รับประทานครั้งละ1 ช้อนโต๊ะ ทุกๆ 4 ชั่วโมง แก้ท้องเสีย ท้องร่วงเรื้อรัง บิดถ่ายเป็นมูกเลือด
หรือใช้เปลือกมังคุดแห้งครึ่งผล ย่างไฟ ให้เกรียม บดเป็นผง ละลายในน้ำครึ่งแก้ว รับประทานทุก 2 ชั่วโมง อาการจะทุเลา
มะขาม (Tamarind) ในเนื้อมะขามมีสารแอนทราควินิน (Antraquinone) ซึ่งช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ นอกจากนั้น ยังมีกรดอินทรี (organic acid) อยู่หลายชนิด เช่น กรดทาร์ทาร์ริก (Tartaric acid) และกรดซิตริค (Citric acid) ทำให้มีฤทธ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เพิ่มกากใยอาหาร และช่วยหล่อลื่นให้ขับถ่ายสะดวก
-
- เปลือกของเมล็ด นำเมล็ดมะขามสุกไปคั่วไฟให้สุก กะเทาะเอาแต่เปลือกไปบดไฟให้ละเอียดแล้วคลุกกับน้ำมันละหุ่งหรือน้ำมันมะพร้าว พอกแผลที่โดนไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวกวันละ 2-3 ครั้ง
- เมล็ดมะขาม นำเมล็ดมะขามไปคั่วให้สุก กะเทาะเปลือกทิ้ง นำไปแช่น้ำจนนิ่ม ตำพอกแผล รักษาฝีและแผลเรื้อรัง
- เมล็ดมะขาม เอาเมล็ดไปผ่ากลางตามแนวขวาง นำส่วนที่ถูกผ่าไปฝนกับน้ำมะนาว ใช้ปิดรอยแมลงกัด เมล็ดมะขามจะช่วยดูดพิษแมลงสัตว์กัดต่อยออกมาได้
- เนื้อมะขาม นึ่งเนื้อมะขามให้สุก คั้นกับน้ำข้นๆ เติมเกลือลงไปเล็กน้อย ใช้จิบบ่อยๆ แก้ไอ ขับเสมหะ
ทับทิม (Pomecranate) ส่วนต่างๆของทับทิมสามารถนำมาใช้รักษาโรคได้แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผล ซึ่งมีรสหวานอมเปรี้ยว ออกฤทธิ์เป็นยาบำรุงกำลัง แก้เจ็บคอ แก้โลหิตจาง ห้ามเลือด รักษาแผล แก้อาการปวดกระเพาะอาหาร ขับพยาธิในลำไส้ แก้ท้องร่วง เป็นต้น นอกจากนั้น ในเปลือกผลแก่ของทับทิมยังมีกรด Gullotannic ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค แก้อาการท้องเดินได้ ซึ่งกองวิจัยทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้วิเคราะห์ไว้แล้วว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน ทั้งยังสามารถใช้รักษาโรคบิดที่เกิดจากแบคทีเรียและอะมีบาได้ผลดีอีกด้วย
-
- น้ำทับทิม นำทับทิม 1 ลูกไปคั้น ดื่มน้ำตอนเช้าครั้งละ1 แก้วจะช่วยลดอาการคลื่นไส้ (สูตรนี้เหมาะกับคนที่ตั้งครรภ์) ในกรณีของคนที่ดื่มแก้ท้องอืดและบำรุงสายตาให้ผสมน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ดื่มหลังอาหารจะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมได้ดีขึ้น
- เปลือกทับทิม นำเปลือกทับทิมตากแห้งไปฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ทาทุกครั้งที่มีอาการน้ำกัดเท้า
เปลือกผล ใช้เปลือกผลแก่ที่แห้ง ขนาด 1/4 ของผลทับทิม ต้มกับน้ำปูนใส ดื่มครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะทุกๆ 4 ชั่วโมง อาการท้องเสียและบิดจะดีขึ้น
- เปลือกผล นำเปลือกผลแก่ที่สด ครึ่งลูก ต้มกับน้ำ 1 แก้ว อมกลั้วคอทุกเช้าและก่อนนอน แก้อาการเจ็บคอ ปวดฟัน
มะขามป้อม (Emblic) นอกเหนือจากจะมีวิตามินซีสูงกว่าน้ำส้มถึง 20 เท่าในปริมาณที่เท่ากันแล้ว มะขามป้อมยังมีฤทธิ์เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาลดไข้ ยาฟอกเลือด ยาระบาย บำรุงหัวใจ ใช้ขับปัสสาวะ และแก้ริดสีดวง ได้อีกด้วย
นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 202