พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 หมวก 4 แนวการจัดการศึกษา ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด มาตรา 24 และมาตรา 30 กล่าวว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้กำหนดให้สถานศึกษาต้องสนับสนุน ให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ ใช้สื่อ ใช้การวิจัย เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมพัฒนาการเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานศึกษาสามารถนำผลการวิจัยมาใช้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสถานศึกษา
งานวิจัยที่มีคุณภาพจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ตั้งแต่การกำหนดนโยบายการศึกษาระดับชาติไปจนถึงระดับการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา เป็นความจริงที่ว่าการจัดทำ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้อาศัยงานวิจัยที่เชื่อถือได้จำนวนมาก เป็นแหล่งข้อมูลและอ้างอิง นับได้ว่าในระดับนโยบาย มีการใช้งานวิจัยให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง สำหรับงานการนิเทศการศึกษาจึงควรที่จะได้พิจารณานำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงให้มากขึ้น ดังนั้น จึงควรศึกษาค้นคว้าถึงกระบวนการนำผลการวิจัยที่เชื่อถือได้ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษาให้ปรากฏชัดเจนต่อไป
กลวิธีวิเคราะห์งานวิจัย/เลือกงานวิจัยที่มีคุณภาพ
งานวิจัยหลากหลายที่มีอยู่ในโลก มีทั้งงานวิจัยที่มีประโยชน์ น่าเชื่อถือ และงานวิจัยที่มีข้ออ่อนของวิธี วิทยา (Methodology) ในการวิจัย ดังนั้น กลวิธีวิเคราะห์งานวิจัยเพื่อเลือกใช้ผลวิจัยที่เชื่อถือได้ จึงมีหลักการคือ
1. โจทย์/คำถาม/ปัญหาการวิจัย (Research Question) ชัด ตามวงจรชีวิต (Life Cycle) ของปรากฏการณ์นั้นๆ
2. วัตถุประสงค์สอดคล้องกับปัญหาการวิจัย
3. แนวคิดทฤษฎีที่ใช้ ทำให้สามารถกำหนดขอบเขตของปัญหาวิจัยได้ชัดขึ้น ช่วยให้เกิดแนวคิดในการกำหนดวิธีวิจัย
สร้างเครื่องมือ สุ่มตัวอย่าง วิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลวิจัยชัดขึ้น
4. วิธีดำเนินการและเครื่องมือที่ใช้ ช่วยให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ถูกต้อง น่าเชื่อถือ
5. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ ช่วยให้การวิจัยบรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย
6. การตีความและข้อเสนอแนะตรงตามผลที่ได้จากการวิจัย
แนวทางการนำผลการวิจัยไปใช้
ผลการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นในรูปของข้อความรู้ใหม่ สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรม การยืนยันทฤษฎีข้อความจริง แนวทาง การพัฒนาปรับปรุงงานหรือการตอบปัญหาข้อสงสัย จะเป็นข้อมูลหรือความคิดที่ทรงคุณค่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่เราต้องการพัฒนา และเป็นเครื่องมือที่ใช้แสวงหายุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา ถ้าเป็นงานวิจัยในชั้นเรียน ผลการวิจัย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ต่อผู้เรียนดังนั้นการนำผลการวิจัยไปใช้เพื่อพัฒนากลุ่มเป้าให้บรรลุตามวัตถุประสงค์จึงเป็นสิ่งที่ผู้นิเทศจะต้องตระหนักถึงความสำคัญ และดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติโดยเร็ว
สำหรับแนวทางการนำผลการวิจัยไปใช้ในที่นี้ขอมุ่งเน้นไปที่การวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันทั้ง
ผู้บริหารการศึกษา ผู้สอนและผู้นิเทศ ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนซึ่งมีหลากหลายแนวทาง เช่น
1. การนำผลการวิจัยไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งสามารถใช้ได้ในลักษณะดังนี้
1.1 ใช้แก้ปัญหาการเรียนการสอนโดยตรง เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ครูผู้สอนนำไปใช้ในการปรับกิจกรรม
การเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือใช้ผลการประเมินเป็นข้อมูลย้อนกลับในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนได้
1.2 ใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
2. การนำผลการวิจัยไปใช้เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการเรียนการสอนโดย
2.1 นำไปใช้แก้ปัญหาหรือนำไปใช้ประโยชน์เชิงวิชาการที่เป็นความรู้ใหม่ นำไปอ้างอิงหรือนำไปสอนนักเรียน
เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ
2.2 นำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อไปเพื่อให้ได้ความรู้ที่ลึกซึ้งเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น
3. การนำผลการวิจัยไปใช้เป็นผลงานทางวิชาการ
ผลการวิจัยนอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านการปรับปรุงและพัฒนางานหรือการจัดการเรียนการสอนแล้ว ยังเป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาวิชาชีพอีกด้วย โดยผู้วิจัยสามารถนำผลการวิจัยไปใช้เป็นผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ หรือปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นได้
กระบวนการนำผลวิจัยไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
การนำผลวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการปฏิรูปการศึกษาทั้งการบริหารการศึกษา การจัดการเรียนการสอนและ
การนิเทศการศึกษา จึงควรดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1. กำหนดวิสัยทัศน์ / ภาพอนาคต (Vision) ประกาศนโยบายชัด ให้ใช้การวิจัย/ผลวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของ
กระบวนการทำงานตาม พ.ร.บ. การศึกษา พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
2. พัฒนาวิธีคิด วิธีทำงานเชิงระบบ ทำให้ทุกคนได้รับความรู้ ความเข้าใจและเห็นประโยชน์
3. สร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการวิจัยและใช้ผลวิจัยในการทำงานโดยมีการประชุมร่วมคิด ร่วมปฏิบัติและประเมิน
เป็นระยะๆ
4. ให้การสนับสนุนทรัพยากร เงิน วัสดุ ข้อมูล จัดห้องสมุด ศูนย์วิชาการ ไปศึกษาดูงาน ให้เสนอและเผยแพร่ผลงาน
ให้กำลังใจ
5. การประเมินเพื่อสร้างสรรค์พัฒนา
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงผู้รองรับการกระจายอำนาจ. นครปฐม :
สำนักงานบุคลากรการศึกษา, 2550
จิรพันธ์ ไตรทิพจรัส. วารสารวิชาการกรมวิชาการ. กระทรวงศึกษาธิการ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1
เดือนมกราคม 2543 โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ กรุงเทพฯ
หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา. ชุดฝึกอบรมเรื่องการวิจัยในชั้นเรียน หน่วยที่ 10 : การนำผลการวิจัย
ในชั้นเรียนไปใช้. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2543