คอลัมน์ มุมบริการ
"คำนำหน้านาม" คือ คำที่ใส่เพิ่มไปหน้าชื่อของบุคคลเพื่อบ่งบอกถึงสถานภาพ ยศ ตำแหน่ง หรือบรรดาศักดิ์ เช่น เด็กชาย เด็กหญิง นาย นาง นางสาว เป็นต้น ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดคำนำหน้านามต่างๆ ไว้ดังนี้
กรณีบุคคลที่มีอายุไม่ครบ 15 ปี บริบูรณ์ ถ้าเป็นเพศชายให้ใช้ "เด็กชาย" ถ้าเป็นเพศหญิงให้ใช้ "เด็กหญิง"
กรณีเมื่อชายหรือหญิงที่ไม่มีบรรดาศักดิ์มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ สำหรับชาย ให้ใช้ "นาย" สำหรับหญิงให้ใช้ "นางสาว" กรณีที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส และเมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 กำหนดให้ฝ่ายหญิงเลือกได้ตามสมัครใจว่าประสงค์จะใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" และกรณีที่การสมรสสิ้นสุดลง ฝ่ายหญิงสามารถใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" ได้ตามความสมัครใจเช่นเดียวกัน
กรณีหญิงมีบรรดาศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง) แม้เมื่อมีสามีแล้วก็ยังคงใช้บรรดาศักดิ์นำหน้านามของตนได้
กรณีผู้ประกอบอาชีพรับราชการทหาร ตำรวจ อาสารักษาดินแดน สามารถใช้ชั้นยศดังกล่าวเป็นคำนำหน้านามก็ได้ แต่ในการปฏิบัติราชการหรือทำงานในส่วนราชการพลเรือน องค์การหรือรัฐวิสาหกิจ ฝ่ายพลเรือน ผู้มียศทหารจะใช้ยศประกอบชื่อเท่าที่จำเป็นหรือจะไม่ใช้ยศประกอบชื่อก็ได้
กรณีการใช้คำนำหน้านามของพระภิกษุ สามเณร พระภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ให้ระบุสมณศักดิ์ใหม่ที่ได้รับแล้ววงเล็บชื่อตัว ชื่อสกุลต่อท้าย สำหรับพระภิกษุที่ไม่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ให้ใช้คำว่า "พระ" นำหน้าแล้วตามด้วยชื่อตัว ชื่อสกุลต่อท้าย
กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ มีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับเป็นคำนำหน้านามได้ เป็นการลงชื่อหนังสือ เอกสาร งานสารบรรณ หรือการเรียกขานใดๆ เสมือนยศหรือคำนำหน้านามอย่างอื่น เช่น ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ เป็นต้น ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงการแก้ไขคำนำหน้านามในทะเบียนบ้าน เพราะเป็นเพียงคำที่แสดงให้ทราบถึงการประกอบอาชีพและระดับการดำรงตำแหน่งหน้าที่ของบุคคล เช่นเดียวกับคำว่า นายแพทย์ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ จึงไม่อาจใช้เป็นคำนำหน้านามในทะเบียนบ้านได้
ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11473 หน้า 22