วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันแม่ของคนไทย วันที่แม่และลูกจะได้รำลึกถึงความผูกพันที่ลึกซึ้ง สายใยรักที่มีต่อกันมาตั้งแต่รู้จักกันในบทบาทแม่และลูก ในวันนี้คุณแม่อาจใช้โอกาสในวันสำคัญเพื่อเติมเต็มความรักความห่วงใยที่มีต่อลูก โดยการให้พร แนะนำสั่งสอน ย้ำเตือนบทบาทของลูกในแบบที่แม่ต้องการ หรือรอรับดอกมะลิที่ลูกจะมอบให้ด้วยความรักและเคารพในพระคุณของแม่
ปัจจุบันการสื่อสารมีความก้าวหน้ามากขึ้นทำให้โลกเล็กลง วัฒนธรรมมีการผสมผสานมากขึ้น สังคมไทยได้รับอิทธิพลจากสังคมตะวันตกมากขึ้น ซึ่งมีทั้งการผสมผสานแล้วได้ส่วนผสมที่ลงตัวและที่ไม่ลงตัว ครอบครัวไทยที่ได้รับผลจากการผสมผสานนั้นมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในครอบครัว รวมถึงวิถีหรือแนวทางในการเลี้ยงดูบุตร ครอบครัวไทยกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) มากขึ้น มีแม่เลี้ยงเดี่ยว (Single Mom) มากขึ้นจากการหย่าร้าง บทบาทของแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกโดยขาดการแนะนำ หรือจากภาระงานที่มากขึ้น เวลาที่ให้กับลูกน้อยลง ส่งผลให้เด็กในสังคมไทยเกิดปัญหามากขึ้น การเป็นแม่ยุคใหม่นี้ คงไม่ง่ายนักสำหรับคุณแม่มือใหม่ เนื่องในโอกาสวันแม่จึงขอแนะแนวทางการเป็นแม่ยุคใหม่ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมครอบครัวไทยที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้คุณแม่มือใหม่มีแนวทางการเลี้ยงเด็กในยุค 2009 ที่อาจจะช่วยให้คุณแม่มือใหม่เป็น “แม่ยุคใหม่ ที่ลูกคุณต้องการ”
ในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งคงต้องให้การดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจควบคู่กัน ซึ่งหมายถึง การตอบสนองปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการ และการให้ความรักที่เหมาะสม คงมีคุณแม่หลายคนตั้งคำถามว่า ความรักที่เหมาะสมหมายถึงอย่างไร เพราะแม่หลายคนบอกว่า “แม่คิดว่าแม่ให้ความรักแบบนี้กับลูกและให้อย่างเต็มที่ แต่เพราะอะไรลูกถึงไม่รักแม่เลย” นั่นแสดงถึงความรักที่แม่ให้ในแบบที่แม่คิดว่าลูกต้องการ ไม่ใช่ความรักที่ลูกอย่างได้ ทีนี้มาดูกันว่าแนวทางการให้ความรักจากแม่แบบไหนที่ลูกต้องการในแต่ละช่วงวัย
วัยทารก ในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญเพราะเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการทางจิตสังคมของเด็กซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกที่จะส่งผลในอนาคต ในช่วงวัยทารกการดูแลทางกายที่เหมาะสม หมายถึง แม่ตอบสนองกับเด็กเวลาที่เด็กหิว ขับถ่าย ไม่สบายตัว แต่ในขณะเดียวกันการตอบสนองทางกายจะเกิดควบคู่กับการตอบสนองทางจิตใจด้วย หมายถึง เวลาที่แม่ได้เข้าไปให้นมลูกเวลาที่ลูกหิว ดูแลความสะอาดเวลาที่ลูกขับถ่าย และเช็ดตัวเวลาลูกไม่สบาย แม่สามารถให้การดูแลทางจิตใจหรือให้ความรับกับลูกได้โดยการที่แม่เข้ามาพูดคุยกับลูก (Object - Presenting) การโอบกอดสัมผัสลูก (Holding) และการจัดการกับปัญหาให้ลูก (Handling) ทั้ง 3 วิธีการนี้ต้องทำไปพร้อมกัน ช่วยให้ความพึงพอใจกับลูกและลดความวิตกกังวลให้ลูก
วัยเด็ก ในวัยนี้เป็นช่วงวัยของการเปิดโลกกว้าง แม่สามารถจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาทั้งทางร่างกายและสมองของลูกโดยการส่งเสริมการทานอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ จัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยให้ลูก แม่ที่เด็กต้องการจะต้องรู้วิธีการฝึกระเบียบวินัยให้กับลูกแบบที่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกถูกบังคับ เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่จะต่อต้านเพื่อเรียนรู้ปฏิกิริยาจากแม่ แม่ต้องทำให้เรื่องของการฝึกระเบียบวินัยเป็นเรื่องที่สนุก ทำให้เหมือนกับการเล่มเกม ถ้าลูกทำได้ดี ต้องมีรางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่แม่ให้กับลูก
วัยรุ่น วัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ คุณแม่บางคนอาจจะทำความเข้าใจลูกวัยรุ่นได้ยากขึ้น เพราะลูกวัยนี้ต้องมีการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง ลูกใช้เวลาส่วนใหญ่กับเพื่อนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์แบบต่างๆ คุณแม่ที่ลูกๆ วัยรุ่นต้องการจะเป็นแม่ที่สามารถทำตัวเป็นเพื่อนกับลูกได้ ไปกับกลุ่มเพื่อนๆ ได้ ไปเที่ยวพร้อมกัน ไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน และในบางครั้งคงต้องแนะนำการคบเพื่อนต่างเพศเพราะลูกเริ่มมีคนมาจีบ แม่ต้องสนับสนุนในเรื่องการเรียนที่ลูกตัดสินใจเลือกเอง วัยนี้เป็นวัยที่ควรจะมีเป้าหมายในการเรียนของตนเองที่ชัดเจน แม่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา ไม่วางแผนให้ลูกเดินตามสิ่งที่แม่วางไว้ ชีวิตในอนาคตควรจะเป็นสิ่งที่ลูกเลือกเอง ไม่ใช่สิ่งที่แม่เลือกให้
วัยผู้ใหญ่ วัยนี้เป็นวัยที่ลูกบางคนเริ่มมี 2 บทบาท ทั้งบทบาทที่เป็นลูก และบทบาทที่เป็นแม่ แม่ที่ลูกวัยนี้ต้องการคือ แม่ที่คอยให้คำปรึกษาในการดำเนินชีวิต ครอบครัว อีกทั้งการแนะนำบทบาทของสามีหรือภรรยาที่ดี รวมถึงบทบาทของพ่อแม่ที่ดีของลูก ประสบการณ์ที่แม่มีและได้สอนลูกจะถูกถ่ายทอดไปสู่รุ่นต่อๆ ไป
โดยสรุปแล้ว แม่ที่ลูกทุกวัยต้องการ คือ แม่ที่เข้าใจลูกและมีกลยุทธ์ในการดูแลลูกแต่ละช่วงวัยให้เหมาะสม การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกในทุกช่วงวัยเป็นการช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง (Intimacy) ส่งผลให้ลูกประสบผลสำเร็จในการดำเนินชีวิต เพราะลูกมีการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นใจ รับมือกับปัญหาและแก้ปัญหาได้ดี สามารถสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสม เพียงเท่านี้แม่ที่เห็นลูกมีความสุข ก็จะมีความสุขมากกว่าลูกเป็นร้อยเท่าพันเท่า
ข้อมูลจาก :: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ