จุดเริ่มก่อนหยั่งราก
ก่อนหน้านี้ครูสมทรงและคุณครูอีกหลายโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองสิงหนคร จ.สงขลา ต่างก็จัดทำโครงการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยภายในโรงเรียนของตนเอง โดยมีเทศบาลเมืองสิงหนครให้การสนับสนุนบางส่วน จนกระทั่งเมื่อปี 2547 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของบรรดา‘ครูขยะ’ และเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดปัญหาขยะในชุมชนได้ จึงเข้ามาให้การสนับสนุนงบประมาณหลักในการดำเนินโครงการ
ที่ผ่านมา โรงเรียนต่างๆ ในเขตเทศบาลสิงหนครเขาก็ทำโครงการจัดการขยะ ในโรงเรียนของตัวเองโดยส่วนใหญ่ จะตั้งเป็นธนาคารขยะเพื่อรับซื้อขยะจากนักเรียน โดย นักเรียนจะเอาขยะชนิดต่างๆมาแลกเป็นเงินหรืออุปกรณ์การเรียน เช่น ดินสอ ยางลบ หลังจากทำไปได้สักพักทางเทศบาลและทางบริษัทเชฟรอนก็เข้ามาให้การสนับสนุน และเกิดการรวมตัวกันของ 11 โรงเรียนที่อยู่ในเขตเทศบาลสิงหนครและอีก 1 โรงเรียนในอำเภอเมือง ซึ่งเชฟรอนให้เงินอุดหนุนอยู่แล้ว เกิดเป็น 12 โรงเรียนพันธมิตร ร่วมมือกันในจัดการขยะแบบครบวงจร
เมื่อขยะกลายเป็นสิ่งมีค่า
สำหรับวิธีการรับซื้อขยะนั้นทางธนาคารจะมีการกำหนดราคาขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เช่น พลาสติก ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ โลหะในอัตราที่ใกล้เคียง กับร้านรับซื้อของเก่าทั่วไปโดยนักเรียนที่นำขยะมาขายจะรับเป็นเงินสดกลับไป หรือรับเป็นอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ก็ได้ ซึ่งขยะส่วนหนึ่งจะนำไปขายต่อให้แก่ร้านรับซื้อของเก่า และอีกส่วนหนึ่งนำใช้ในการเรียนการสอนวิชาหัตถกรรม เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จากเศษวัสดุเหลือใช้ นอกจากนั้น ยังมีการรับซื้อขยะเปียก เช่น ใบไม้ เศษผักและผลไม้ เพื่อนำมาทำปุ๋ยชีวภาพและน้ำชีวภาพ เพื่อใช้ในแปลงปลูกผักของโรงเรียนและนำไปจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
ขยะส่วนใหญ่ของโรงเรียนเรา จะเป็นพวกใบไม้ เช้าๆนักเรียนก็จะมีถุงพลาสติกคนละใบเก็บใบไม้ได้ก็เอามาส่งที่ธนาคารขยะ เจ้าหน้าที่(นักเรียนที่ร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการ)ก็จะชั่งแล้วจดบันทึกไว้ โดยกำหนดราคาอยู่ที่ 5 กิโลกรัม 2 บาท สิ้นเดือนก็มารับเงินไป ทางโรงเรียนก็เอาขยะสดพวกนี้ไปทำปุ๋ยใช้ในแปลงผักของโรงเรียน เหลือก็แบ่งให้พ่อแม่ผู้ปกครองเอาไปใช้ เท่าที่คุยกับเพื่อนๆครูโรงเรียนอื่นๆทราบว่าเด็กๆ เขาตื่นตัวกันมาก เดี๋ยวนี้แต่ละโรงเรียนไม่มีขยะให้เห็นเลยเพราะทุกอย่างเก็บขายได้หมด
ขยายแนวคิดสู่ชุมชน
จากการร่วมแรงร่วมใจของบรรดาคุณครูและเด็กๆในโรงเรียนทำให้โครงการธนาคารขยะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จากโรงเรียนที่เกลื่อนกลาดไปด้วยเศษขยะกลายเป็นโรงเรียนที่สะอาดสะอ้านน่ามอง ส่งผลให้ชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญของการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม ชาวบ้านจากหลายชุมชนเริ่มเข้ามาขอคำปรึกษาจากโรงเรียนต่างๆเรื่องการจัดตั้งธนาคารขยะระดับชุมชนขณะที่กลุ่มแม่บ้านต่างหันมาผลิตสินค้าจากเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ผ้าพลาสติกกันเปื้อนที่ได้จากซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม ดอกไม้ประดิษฐ์จากหลอดกาแฟ หรือโต๊ะ-เก้าอี้ที่ทำจากยางรถยนต์
"เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเขารู้ว่าขยะทุกชิ้นมีค่า ไม่มีใครทิ้งขยะเรี่ยราด พอทุกบ้านเห็นประโยชน์ของการจัดการขยะสิ่งแวดล้อมในชุมชนก็ดีขึ้น"