คำว่า "อุทลุม"เป็นคำใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า ผิดประเวณี ผิดธรรมะ
ยังหมายถึงนอกแบบนอกทาง เช่น “คดีอุทลุม” คือ คดีที่ลูกหลานฟ้องบุพการีของตนต่อศาล เรียกลูกหลานที่ฟ้องบุพการีของตนต่อศาลว่า “คนอุทลุม”
สมัยก่อนมีกฎหมายลักษณะรับฟ้อง บทที่ 21 บัญญัติว่า “อนึ่ง ในฟ้องนั้นเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อันหาความแก่พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ดี ให้ยกฟ้องเสีย”
และข้อที่ 25 ยังบัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นคนอุทลุมมิได้รู้คุณบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยายมัน ท่านให้มีโทษทวนมันด้วยลวดหนังโดยฉกัน อย่าให้มันคนร้ายผู้นั้นดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป แล้วอย่าให้บังคับบัญชาว่ากล่าวคดีของมันนั้นเลย”
คดีอุทลุมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้”
กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย โดยถือว่าเป็นคดีอุทลุม การฟ้องคดีที่ต้องห้ามมิให้ผู้สืบสันดานฟ้องบุพการีนี้ต้องห้ามทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
การตัดสิทธิไม่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดฟ้องบุพการีของตนเช่นนี้ ทำให้ศาลแปลความโดยเคร่งครัดว่า บุคคลดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาร ที่จะฟ้องบิดา ดังนั้นบุพการี จึงหมายความว่า “ผู้ที่ทำการอุปการะมาก่อน ได้แก่ บิดามารดา เป็นต้น ซึ่งรวมถึงปู่ ย่า ดา ยาย และทวด จะต้องมีความสัมพันธ์ในฐานะนิตินัยที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2548)
ในการฟ้องบุพการีนั้น ถ้ามิได้ฟ้องให้รับผิดชอบเป็นการส่วนตัวแล้ว บุคคลจะฟ้องบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ได้
อย่างไรก็ดีการฟ้องบุพการีในฐานะอื่น มิใช้ในฐานะส่วนตัวที่จะพึงถือได้ว่าเป็นการพิพาทกันระหว่างบุพการี และผู้สืบสันดาน ไม่ถือว่าเป็นคดีอุทลุม เช่น บุตรเป็นโจทก์ฟ้องมารดาในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นจำเลยได้
หากบุตรหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขออัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้ ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายแผ่นดิน จะใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีให้ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคม และผลประโยชน์ได้เสียของทายาท และไม่จำเป็นต้องให้บุตรผู้เยาว์ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนด้วย
นอกจากนี้ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ยัง ได้บัญญัติให้ บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ว่า
มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่ บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์
บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพ และหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้
และในทำนองเดียวกัน กฎหมายยังกำหนดให้บุตรมีหน้าที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เช่นกัน
มาตรา 1563 บุตรจะต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา อันเป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญู และกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณ
ตามประเพณีและคำสอนของพระพุทธศาสนา ถือว่าบิดามารดา เป็นพรหมของบุตร และเป็นพระในบ้าน ผู้ใดด่า ทำร้าย และฆ่าบิดามารดา เป็นบาปหนัก และถือว่า เป็นลูกเนรคุณ
ส่วนกฎหมายอาญาก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดทำร้ายร่างกายบุพการี (ม. 296,298) ต้องระวางโทษหนักขึ้นกว่าทำร้ายร่างกายบุคคลธรรมดาทั่วไป และผู้ใดฆ่าบุพการีต้องระวางโทษประหารชีวิต (ม. 289) อันแสดงถึงความสำคัญ และเป็นผู้มีอุปการคุณของบุพการีดังกล่าวที่มีต่อบุตร หลาน เหลน ดังกล่าว