แม้จะย่างเข้าหน้าฝน แต่อากาศกลับยิ่งร้อนกว่าหน้าร้อนเสียอีก ทั้งแสบทั้งคันแถมปวดหัวจนแทบจะระเบิดแล้ว เฮ้อ..ได้ดื่มน้ำมะตูมเย็นๆ ค่อยชื่นใจหน่อย เห็นด้วยไหมคะว่าหน้าฝนนี่ร้อนกว่าหน้าร้อนเสียอีก
ในยุคที่โลกร้อนและวันหนึ่งมีหลายฤดู การดูแลสุขภาพยิ่งต้องใส่ใจให้มาก ประกอบกับมีโรคภัยไข้เจ็บใหม่ระบาดขึ้นมาค่อนข้างบ่อย ดังนั้น การดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันจะเป็นการป้องกันที่ดีมาก โดยการกินอาหารที่เน้นสัดส่วนของผักพื้นบ้าน และเครื่องดื่มน้ำสมุนไพรน้ำผลไม้ให้มากกว่าเดิม จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ พอดื่มน้ำมะตูมเข้าไปแล้วก็ชื่นใจ หายร้อนแล้ว ของดีๆ อย่างนี้ต้องบอกต่อ
มะตูม เป็นทั้งผลไม้และยาสมุนไพรที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวันมาเนิ่นนาน กระทั่งถ้ามีใครถามขึ้นมาว่ามะตูมมีถิ่นกำเนิดมาจากไหน ก็คงใบ้รับประทานตอบไม่ได้แน่ เมื่อสืบค้นในฐานข้อมูลจึงพบว่ามะตูมเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เป็นตัวแทนของพระอิศวร ตามความเชื่อในเรื่องการปลูกต้นไม้ตามทิศกล่าวว่า ปลูกมะตูมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน จะช่วยป้องกันเสนียดจัญไร และเป็นมงคลนามให้ผู้อยู่อาศัยมีชื่อเสียงเรียงนามดังตูมตามลือเลื่อง แต่แปลกใจนิดหนึ่ง ทำไมไม่คิดว่าการปลูกมะตูมอาจทำให้ผู้อยู่อาศัยเกิดอาการตื่นตระหนก เห็นอะไรได้ยินอะไรก็เป็นตื่นตูมก่อนตรวจสอบให้ดีก่อน เหมือนกระตายตื่นตูมนะ
ด้วยลักษณะของใบมะตูมที่มีแฉก 3 แฉก คล้ายตรีศูล อาวุธขององค์พระอิศวร ก็ยิ่งสอดคล้องกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่กล่าวว่าต้นมะตูมเป็นไม้ ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีการบูชาพระอิศวรจะมีการถวายใบมะตูมพร้อมท่องมนต์ หรือใช้ใบมะตูมแช่ในน้ำมนต์หรือวางไว้ใต้ตำรา มีความหมายว่าเบิกบาน ตูมแตกหน่อขึ้นมา
เมื่อศาสนาพราหมณ์เผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทย เราก็ได้รับอิทธิพลในการนำใบมะตูมมาใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ ด้วย เช่น ในพิธีแรกนาขวัญ พิธีแต่งงาน รวมถึงเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มที่จะไปรับราชการในต่างประเทศ และเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลลา พระมหากษัตริย์จะพระราชทานใบมะตูมทัดหู เป็นต้น
ประโยชน์ ด้านอาหารและยามีมากมาย แต่คนไทยรู้น้อยใช้ประโยชน์น้อย คนส่วนมากก็รู้จักแต่น้ำมะตูมกลิ่นหอมชื่นใจ ดื่มร้อนหรือเย็นก็รสชาติอร่อย คลายร้อนได้ดีนัก คนที่ชอบทานอาหารเผ็ดจัดจ้านอย่างอาหารภาคใต้ ทานน้ำพริกหรือลาบก้อยเป็นประจำ นิยมใช้ยอดอ่อนและผลอ่อนเป็น ผักแกล้ม มีรสฝาดปร่า ขื่น มัน แก้ปวดศีรษะ ตาลาย ลดความดันโลหิตสูง ผลสุกนิยมทานเนื้อในเป็นผลไม้รสชาติอร่อย หรือฝานเป็นแผ่นบางๆ ตากแห้ง ใช้ต้มทำน้ำมะตูมหรือทำชา เป็นที่นิยมมาก
สรรพคุณทางยาจากส่วนต่างๆ
ใบ รส ปร่า ขื่น มัน แก้หลอดลมอักเสบ แก้หวัด แก้ตาเจ็บ แก้เยื่อตาอักเสบ แก้เลือดเป็นพิษ แก้ไข้ แก้หืด แก้เสมหะเหนียว แก้บวม แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เสมหะ แก้มูกเลือด แก้กระหายน้ำ
ราก รสฝาดปร่าซ่า ขื่นเล็กน้อย รักษาน้ำดี แก้หืด หอบ ไอ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ลมอัดแน่นใน ขับปัสสาวะ แก่น แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด หนาม แก้พิษฝีต่างๆ แก้ไข้ ลดความร้อน แก้ไข้พิษ แก้ไข้กาฬ
ดอก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต ผลอ่อน รสฝาด ร้อน ปร่า ขื่น หั่นผึ่งให้แห้งบดให้เป็นผง หรือต้มรับประทานแก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้โรคกระเพาะอาหาร เจริญอาหาร ขับผายลม บำรุงกำลัง
ผลแก่ แก้เสมหะและลม บำรุงธาตุไฟ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลมผาย และช่วยเจริญอาหาร เนื้อในผลสุก รสหวานเย็น ต้มดื่มหรือเอาเนื้อรับประทาน แก้ลมเสียดแทงในท้อง แก้มูกเลือด บำรุงธาตุไฟ ช่วยย่อยอาหาร แก้พิษฝี แก้ไข้ แก้ลม หืด หอบ ไอ
ข้อมูลของอินเดียระบุไว้ว่า สารสกัดจากใบมะตูมช่วยทำให้เนื้อตับและไตที่ผิดปกติเนื่องจากภาวะของเบาหวาน สามารถกลับคืนสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ และช่วยในการฟื้นฟูของตับอ่อนที่ถูกทำลาย ซึ่งสอดคล้องกับสรรพคุณที่ทางยาไทยใช้มะตูมเป็นยาสมุนไพรบำรุงไฟธาตุ บำรุงน้ำดี
ดื่มน้ำมะตูมเป็นประจำจัดเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง เจริญอาหาร หรือเอาผลสัก 2 ผลทุบให้แตก ผสมกับกำลังเจ็ดช้างสาร ดองด้วยเหล้าขาว 40 ดีกรี ดื่มวันละ 3 เวลาก่อนอาหารเช้า เย็น และก่อนนอน เป็นยาอายุวัฒนะและบำรุงกำลังขนานเอก
มะตูม มีหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่เคยเป็นที่ถกเถียงกันมาแล้วว่ามีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นไม้ชนิดอื่นกันแน่ ในตำรายาไทยมักกล่าวถึงเสมอคือ มะตูมนิ่ม ซึ่งปัจจุบันได้พบแล้วว่ามะตูมนิ่มมีอยู่จริง แต่เป็นพันธุ์ที่ค่อนค้างหายาก ลักษณะทั่วไปเหมือนมะตูมเปลือกแข็งนี่แหละ แต่มะตูมนิ่มจะมีเปลือกนิ่มกว่า แม้เอาไปตากแดดจนแห้งแล้ว ลองจับดูยังพบว่านิ่มเหมือนเดิม มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง ขับลม และเจริญอาหาร
ที่มะตูมนิ่มถูกกล่าวขานมากเพราะเป็นหนึ่งในตัวยาตำรับยาอายุวัฒนะที่ชื่อว่า “ลูกแปลกแม่” ซึ่งประกอบด้วยตัวยา 3 ชนิด คือ มะตูมนิ่ม กล้วยน้ำไท และพริกไทย มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับยาตำรับนี้ไว้ว่า ชายหนุ่มผู้เป็นลูกได้นำเอาสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดมาบดคลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกัน ทำเป็นแผ่นนำไปตากแห้ง แล้วนำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนใส่โถเก็บไว้ จากนั้นก็ได้ออกเดินทางไปท่องเที่ยวตามเมืองต่างๆ นานหลายปี
ผู้เป็นแม่ก็คิดถึงลูกยิ่งนักแต่ลูกก็ไม่มาสักที พลันเหลือบไปเห็นโถยาลูกก็เอามาลองกินดู พบว่าผิวพรรณสดใสขึ้น ร่างกายแข็งแรง แม้แต่น้ำล้างหน้าแปรงฟันที่บ้วนทิ้งก็ทำให้หญ้างาม วัวที่มากินหญ้านั้นยังแข็งแรงดีด้วย ผู้บุตรเดินทางกลับบ้านกลับจำแม่ไม่ได้ เพราะตนเองแก่เฒ่าไปมากแต่แม่กลับสาวสดใสขึ้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาจวบปัจจุบัน ที่น่าสนใจมีการทำวิจัยหาสารสำคัญในยาตำรับนี้แล้ว และมียาตำรับลูกแปลกแม่จำหน่ายแล้วเช่นกัน
ใครสนใจลองไปหาส่วนผสมทั้ง 3 ชนิด กินเป็นยาอายุวัฒนะเสริมภูมิคุ้มกันสู้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ก็เข้าทีดีนะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์