Advertisement
บทที่ 1
บทนำ
ความเป็นมาและสภาพปัญหา
สังคมไทยในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่ามีความเจริญเติบโตและพัฒนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ มนุษย์พยายามสร้างความเจริญทางด้านวัตถุ
ที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ตนเอง มีการใช้ระบบแข่งขันสูงเพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมระบบทุนนิยมได้อย่างดี แต่กระนั้นเองความเจริญที่มวลมนุษย์ต้องการและไขว่คว้าอยู่นี้กลับเป็นสิ่งที่บั่นทอนคุณค่าความดีงามทางจิตใจให้ลดน้อยลง จะเห็นได้ว่าการนำเสนอข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ สะท้อนภาพนักเรียนตีกัน มั่วสุมติดยาเสพติด ค้าบริการทางเพศ ตั้งแก็งค์ก่อกวนความสงบให้แก่สังคม ฆ่าตัวตาย ก่ออาชญากรรม ทวีความรุนแรงและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากรายงานภาวะสังคมไตรมาส 1 ปี 2550 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่ามีเด็กและเยาวชนกระทำผิดเพิ่มขึ้นจาก 11,045 คดี ในไตรมาสแรกปี 2549 เป็น 11,755 คดี ในไตรมาสแรกปี 2550 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ผลการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนปี 2548 – 2549 ของสถาบันรามจิตติ พบว่ามีวัยรุ่นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 4 ล้านคน หรือร้อยละ 38.33 ของประชากร ซึ่งเยาวชนที่เข้าอยู่ในสถานพินิจ
มีถึงร้อยละ 34.8 ที่กระทำผิดขณะมึนเมา ( เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ : 2550 ) ผลการรายงานเหล่านี้สะท้อนความอ่อนแอทางด้านคุณธรรมจริยธรรมของสังคมได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากปล่อยปัญหานี้ไว้ย่อมส่งผลต่อการวิถีชีวิตของบุคคลทั่วไปในสังคม และในการแก้ปัญหาการอ่อนด้อยทางคุณธรรมจริยธรรมของสังคมไทยในขณะนี้เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สถาบันการศึกษา วัด หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
และในส่วนของระบบการศึกษาไทยในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญและมีภารกิจหลักในการสร้างบุคคลในชาติให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความดีงามไม่ได้เพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมและเป็นแกนนำ
ในการแก้ปัญหาคุณธรรมจริยธรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทย จะเห็นได้จากบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาบุคคลในแง่ของการสร้างความงดงาม( http://www.rakdee.net/jadobrom.html )
ซึ่งปรากฏดังการให้ความหมายของการศึกษาเอาไว้ในมาตรา 4 วรรคแรกว่า
“ การศึกษา หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคลากร และสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ”
ในการสร้างความเจริญงอกงามของบุคคล และสังคมตามเจตนารมณ์ ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ คือ การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม นั่นเอง ซึ่งเห็นได้จากการกล่าวถึงการจัดการศึกษา ในลักษณะของกระบวนการเรียนการสอน ในการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม เอาไว้อย่างเป็นระบบเริ่มจากความมุ่งหมายและหลักการ แนวทางการจัดการศึกษา การจัดกระบวนการเรียนรู้ สาระสำคัญของหลักสูตร และการประเมินผล โดยได้บัญญัติประเด็นดังกล่าวเอาไว้ในแต่ละมาตราไว้ ดังต่อไปนี้
1. ความมุ่งหมายและหลักการได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 6
2. แนวการจัดการศึกษาได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 23 วรรคแรก
3. การจัดกระบวนการเรียนรู้ ได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 24( 4 )
4. สาระสำคัญของหลักสูตร ได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 28 วรรคสอง
5. การประเมินผล ได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 25
พร้อมทั้งระบุคุณธรรม จริยธรรม อันเป็นสาระที่ควรทราบตามที่ปรากฏในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ได้แก่
ความหมายของคำว่า คุณธรรม จริยธรรม หมายถึง ประมวลการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามทั้งกาย วาจา และจิตใจ โดยถือประพฤติปฏิบัติเป็นนิสัยทั้งต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม
ทั้งนี้ผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม ย่อมเป็นที่พึงประสงค์ของบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ บุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรมดีงามต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้ที่มีความพอดี ไม่ขาด ไม่เกินความพอดี คือ ปฏิบัติตนอยู่ในทางสายกลาง ไม่ขาด ไม่เกิน ไม่มาก ไม่น้อย
2. เป็นผู้กระทำด้วยเจตนาดี ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทำไปเพื่อสิ่งที่ดีงาม ไม่ใช่ทำด้วยการถูกบังคับ หรือด้วยผลประโยชน์ใด ๆ
3. เป็นผู้ที่มีเหตุผล พอใจที่ได้ปฏิบัติต่อผู้อื่น และเห็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นสำคัญ
4. เป็นผู้ที่มุ่งสันติสุขหรือความสงบ ไม่ใช่มุ่งความสมบูรณ์พูนสุขเป็นที่ตั้ง
5. เป็นผู้ที่มีความพอ รู้จักสละสิทธิทางธรรมชาติ เพื่อเห็นแก่ส่วนรวม และปฏิบัติตามข้อผูกพันและหน้าที่ด้วยความพอเหมาะพอควร
6. เป็นผู้ที่มีนิสัยอันดีงามในการทำหน้าที่ รับผิดชอบต่อหน้าที่ และทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
7. เป็นผู้สามารถควบคุมแรงกระตุ้นและความยากต่าง ๆ เอาไว้ได้ด้วยเหตุผล
8. เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามกฎ หรือมาตรการทางจริยธรรม ได้เหมาะสมกับกาลเทศะอยู่เสมอ
นอกจากนี้พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ยังได้กล่าวถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน โดยจำแนกได้เป็น 4 ด้าน คือ
1. ทางด้านร่างกาย
- ให้มีสุขภาพสมบูรณ์เติบโตสมวัย
- เข้าใจสาธารณสุขพื้นฐาน รู้จักป้องกันโรค
- ปลอดจากสิ่งเสพติด
2. ทางด้านจิตใจ
- มีความสุข สงบ รู้จักพักผ่อน และสันทนาการในทางที่เหมาะสม
- มีคุณธรรม จริยธรรม มีวินัย ภาคภูมิใจในตนเอง
- มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยเข้าใจคนอื่น
- มีสุนทรี สำนึกในความเป็นไทย
- มีจิตใจที่จะสู้สิ่งยาก เห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในงานสุจริต
3. ทางด้านความรู้
- รู้จักคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา
- ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต
- สามารถปรับปรุงวิถีชีวิตและการทำงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
- รู้ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ เพื่อการสื่อสาร
- รู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีพื้นฐาน
- มีความสามารถในการจัดการ
- รู้จักตนเอง ประเทศของตน ประเทศเพื่อนบ้าน รู้เท่าทันโลก
- รู้และมีความสามารถที่จะทำให้ตนและผู้อื่นมีความสุข
- รู้จักในพุทธปรัชญาในศาสนาที่ตนนับถือ
- ไม่ยึดติดกับรูปแบบหรือคำตอบใดคำตอบเดียว
4. ทางด้านทักษะการประกอบอาชีพ
- มีทักษะเพียงพอที่จะประกอบอาชีพเฉพาะทาง
- มีนิสัยในการทำงานที่ดี
- สามารถพัฒนาสัมมาชีพจนสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
- สามารถพัฒนาอาชีพในท้องถิ่น
ซึ่งในการกำหนดให้นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังกล่าวข้างต้นได้นั้น จำเป็นต้องมีแนวทางการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ก็ได้ให้แนวทางได้ 5 แนวทาง คือ
1. ให้เรียนวิชาทางสังคมศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ ช่วยให้เกิดการพัฒนาจิตใจ
2. การเน้นย้ำให้ครู อาจารย์ และเพื่อนช่วยกระตุ้นความตระหนักต่อสังคม ทั้งในและนอกวิชาเรียน
3. ครู อาจารย์ เป็นแบบอย่างที่ดี
4. เพื่อนเป็นตัวอย่างที่ดี
5. การจัดโครงการหรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อพัฒนาจิตใจโดยตรง
6. การสอดแทรกการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม เข้าไปในเนื้อหา และกระบวนการเรียนการสอนทุกวิชา
นอกจากนี้แล้วสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี (อ้างอิงจาก กิตติอาภา กรณ์ใหม่ : http://www.noviolenceinschools.net ) ได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดมาตรฐานด้านผู้เรียนมาตรฐานที่ 1 ว่าผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์โดยมีตัวบ่งชี้ผลสำเร็จ ดังนี้
1.วินัย มีความรับผิดชอบ ปฏิบัติตนตามระเบียบและหลักธรรมเพื่อพัฒนาของแต่ละศาสนา
2.ซื่อสัตย์สุจริต
3.มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวม
4.ประหยัด ใช้สิ่งของและทรัพย์สินทั้งของตนเองและส่วนรวมตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและคุ้มค่า
พร้อมทั้งการปลูกฝังคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ ในการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งคุณธรรมต่างๆ ที่ควรปลูกฝังมีดังนี้
1. ขยัน
ขยัน คือ ความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อดทน ความขยัน ต้องปฏิบัติควบคู่กับการใช้สติปัญญา แก้ปัญหาจนเกิดผลสำเร็จ ผู้ที่ความขยัน คือ ผู้ที่ตั้งใจทำอย่างจริงจังต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควรเป็นคนสู้งาน มีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง
2. ประหยัด
ประหยัด คือ การรู้จักเก็บออม ถนอมใช้ทรัพย์สิน สิ่งของแต่พอควรพอประมาณ ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ผู้ที่มีความประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รู้จักฐานะการเงินของตน คิดก่อนใช้คิดก่อนซื้อ เก็บออม ถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า รู้จักทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเองอยู่เสมอ
3. ความซื่อสัตย์
ซื่อสัตย์ คือ ประพฤติตรงไม่เอนเอียงไม่มีเล่ห์เหลี่ยมมีความจริงใจ ปลอดจากความรู้สึกลำเอียงหรืออคติ ผู้ที่มีความซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อหน้าที่ ต่อวิชาชีพ ตรงต่อเวลา ไม่ใช้เล่ห์กล คดโกงทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเองและปฏิบัติอย่างเต็มที่ถูกต้อง
4.มีวินัย
มีวินัย คือ การยึดมั่นในระเบียบแบบแผน ข้อบังคับและข้อปฏิบัติ ซึ่งมีทั้งวินัยในตนเอง
และวินัยต่อสังคม ผู้ที่มีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถานศึกษา สถาบัน/องค์กร/สังคมและประเทศ โดยที่ตนเองยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจ
5. สุภาพ
สุภาพ คือ เรียบร้อย อ่อนโยน ละมุนละม่อม มีกิริยามารยาทที่ดีงาม มีสัมมาคารวะ
ผู้ที่มีความสุภาพ คือ ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะ ไม่ก้าวร้าว รุนแรงวางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจาและท่าทาง แต่ในเวลาเดียวกันยังคงมีความมั่นใจในตนเอง เป็นผู้ที่มีมารยาท วางตนเหมาะสมตามวัฒนธรรมไทย
6. สะอาด
สะอาด คือ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจ และสภาพแวดล้อม ความผ่องใสเป็นที่เจริญตาทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น ผู้ที่ความสะอาด คือ ผู้รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัยสิ่งแวดล้อมถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตใจมิให้ขุ่นมัว จึงมีความแจ่มใสอยู่เสมอ
7. สามัคคี
สามัคคี คือ ความพร้อมเพียงกัน ความกลมเกลียวกัน ความปรองดองกัน ร่วมใจกันปฏิบัติงานให้บรรลุ ผลตามที่ต้องการเกิดงานการอย่างสร้างสรรค์ปราศจากการทะเลาะวิวาท ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นการยอมรับความมีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความหลากหลายในเรื่องเชื้อชาติ ความกลมเกลียวกันในลักษณะเช่นนี้ เรียกอีกอย่างว่า ความสมานฉันท์
ผู้ที่มีความสามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตนทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วงแก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมความคิด ความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ
8. มีน้ำใจ
มีน้ำใจ คือ ความจริงใจที่ไม่เห็นแก่เพียงตัวเองหรือเรื่องของตัวเอง แต่เห็นอกเห็นใจเห็นคุณค่าในเพื่อน มนุษย์ มีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ ให้ความสนใจในความต้องการ ความจำเป็น ความทุกข์สุขของผู้อื่น และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ผู้ที่มีน้ำใจ คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่นเข้าใจ เห็นใจ ผู้ที่มีความเดือดร้อน อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกาย สติปัญญา ลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน
แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าระบบการศึกษาของไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าจะมีการรับนโยบายจากรัฐบาลมาปฏิบัติกันเป็น
ส่วนใหญ่แล้วก็ตาม ทั้งนี้เนื่องมาจากค่านิยมในด้านการเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ ระบบการแข่งขัน ระบบการคัดเลือกแบบแพ้คัดออก ยังคงฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกของคนไทย ผู้ปกครองมีส่วนสนับสนุนให้บุตรหลานของตนมุ่งหน้าแข่งขันทางด้านการศึกษา มุ่งเน้นให้เป็นคนเก่ง ดังนั้นสถานศึกษาหลายแห่งจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยจึงประสบปัญหานักเรียนเกินจำนวนมาตรฐานเพราะผู้ปกครองเชื่อมั่นในสถานศึกษาเหล่านั้นว่ามีความเป็นเลิศทางวิชาการ นอกจากนี้ยังพบว่าสถาบันกวดวิชาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมาก ซึ่งสิ่งนี้เป็นเครื่องสะท้อนค่านิยมทางการศึกษาที่เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการมากกว่าคุณธรรมจริยธรรม การส่งบุตรหลานเข้าเรียนเพิ่มเติมกับสถาบันกวดวิชาเป็นสิ่งหนึ่งที่ลดทอนเวลาในการปลูกฝังความดีงามในจิตใจให้แก่บุตรหลาน นอกจากนี้ยังพบว่าศรัทธาของผู้ปกครองที่มีต่อครูนั้นเปลี่ยนแปลงจากอดีต การให้เกียรติ
ยกย่องครูและให้สิทธิครูในการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานลดน้อยลงตามความคิดแบบใหม่ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและทฤษฎีการเรียนรู้ทางจิตวิทยา ทำให้ครูจำนวนไม่น้อยหันหน้ามามุ่งเน้นการสอนเพื่อพัฒนาความรู้มากกว่าคุณธรรมจริยธรรม ฉะนั้นปัญหาทางด้านคุณธรรมจริยธรรมที่เกิดขึ้นกับเยาวชนไทยจึงนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับตามรายงานที่ปรากฏข้างต้น
โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่สังกัดเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันมีผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 4 คน มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 2,848คน บุคลากรจำนวน 147 คน มีอาคารเรียน.......หลังและอาคารประกอบ........หลัง จัดแบ่งโครงสร้างการบริหารโรงเรียนออกเป็น 4 ฝ่าย คือฝ่ายบุคลากร ธุรการการเงิน ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายบริการและอาคารสถานที่ ฝ่ายปกครองและกิจการนักเรียน ให้บริการด้านการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการและจัดการศึกษา ดังนี้
“ โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐเป็นสถานศึกษาของท้องถิ่นที่เป็นเลิศทางวิชาการ มีระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนานักเรียนและบุคลากรได้เต็มศักยภาพ เป็นผู้มีคุณธรรม สืบทอดภูมิปัญญาไทย รักประชาธิปไตย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและก้าวทัน
เทคโนโลยี ” ซึ่งจากวิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้ทำให้โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐมีเป้าหมายของการบริหารจัดการและการจัดการศึกษาด้านผู้เรียน ดังนี้
1. นักเรียนร้อยละ 80 ปฏิบัติตนตามระเบียบของโรงเรียนได้
2. นักเรียนร้อยละ 80 ประพฤติตนเป็นผู้มีคุณธรรม
3. นักเรียนทุกคนปลอดจากสิ่งเสพติด
4. นักเรียนร้อยละ 80 มีจิตสำนึกของความเป็นไทย และ บำเพ็ญประโยชน์ต่อ
สังคม
5. นักเรียนร้อยละ 80 อยู่ร่วมผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
6. นักเรียนร้อยละ 80 มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสาธารณสมบัติ
7. นักเรียนร้อยละ 75 มีสุขภาพแข็งแรงตามเกณฑ์
8. นักเรียนร้อยละ 75 มีทักษะทางด้านดนตรี กีฬา และศิลปะ อย่างน้อยคนละ
1 ประเภท
9. นักเรียนระดับชั้นอนุบาลศึกษามีทักษะการเรียนรู้คอมพิวเตอร์
10. นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาร้อยละ75 สามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารได้
อย่างน้อย 1 โปรแกรม
11. นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 80 สามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการ
สื่อสารได้อย่างน้อย 2 โปรแกรม จากอินเตอร์เน็ต
12. นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 มีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า
2.00
13. นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.00
14. นักเรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
แก้ปัญหาได้อย่างมีความสุข
จากเป้าหมายด้านผู้เรียนข้างต้นจะเห็นได้ว่า เป้าหมายข้อที่ 1-8 เป็นภารกิจหลักและหน้าที่ของฝ่ายปกครองและกิจการนักเรียน ที่จะสนับสนุนและดำเนินงานของโรงเรียนให้บรรลุเป้าหมาย
ทั้งนี้ฝ่ายปกครองได้กำหนดนโยบาย ไว้สำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติภาระหน้าที่ ดังนี้
1. ส่งเสริมให้นักเรียนพึ่งตนเอง มีความขยันหมั่นเพียร อดทนอดกลั้น มีความจริงใจต่อตนเองและผู้อื่น
2. ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นคนตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมายมี
ความซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา
3. ส่งเสริมให้นักเรียนมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
4. ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้มีความกตัญญู รู้คุณ เคารพเชื่อฟัง บิดา มารดา ครู อาจารย์และผู้มีพระคุณ
5. ส่งเสริมให้นักเรียนมีความเมตตา กรุณา เสียสละมีมารยาท มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตย
6. ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้มีความมัธยัสถ์ ประหยัด อดออม และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด และอบายมุขทุกชนิด
7. ส่งเสริมให้นักเรียนนิยมไทย อนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามภูมิปัญญาท้องถิ่น รักษาความสะอาดด้านการแต่งกาย โรงเรียนที่อยู่อาศัยและสังคม
แต่จากการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ของฝ่ายปกครองและกิจการนักเรียน 3-4 ปีที่ผ่าน
มานั้นยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร เนื่องจากโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐขาดรองผู้อำนวยการสถานศึกษาฝ่ายปกครองและกิจการนักเรียน ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการด้านนโยบายและมอบหมายภารกิจที่สำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายของโรงเรียน ดังนั้นเมื่อผู้วิจัยได้รับแต่งตั้งและมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาฝ่ายปกครองและกิจการนักเรียนจึงได้คิดปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภายในฝ่ายเสียใหม่ โดยเริ่มจากการสำรวจความพึงพอใจของคณะครู นักเรียน ตลอดจนบุคลากรในโรงเรียนด้านผลการปฏิบัติงานตามที่กำหนดไว้ 7 ข้อตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผลจากการสำรวจพบว่า ผลการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมให้นักเรียนพึ่งตนเอง มีความขยันหมั่นเพียร อดทนอดกลั้น มีความจริงใจต่อตนเองและผู้อื่น
การส่งเสริมให้นักเรียนเป็นคนตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย
มีความซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา และการส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้มีความมัธยัสถ์ ประหยัด อดออม และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด และอบายมุขทุกชนิด อยู่ในระดับค่อนข้างน้อย และเมื่อได้ทำการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมของผู้เรียนด้วยตนเองก็พบว่าพฤติกรรมการแสดงออกของผู้เรียนสอดคล้องกับผลการสำรวจ กล่าวคือ ผู้เรียนยังขาดความเป็นระเบียบวินัยในตนเอง เช่น เข้าแถว เดินแถวไม่เป็นระเบียบ ไม่เข้าแถวเพื่อรอรับบริการ
ไม่ตรงเวลามาโรงเรียนสาย มีความอดทนน้อย ใช้เวลาว่างไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนของโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ ยังคงต้องมีการปรับปรุงพฤติกรรมและพัฒนาด้านคุณธรรมและจริยธรรม ฉะนั้นผู้วิจัยจึงได้ศึกษาค้นคว้าเอกสารตำราที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้เรียนด้านคุณธรรมและจริยธรรมจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ จนกระทั่งเกิดแนวคิดว่าการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดผลเชิงประจักษ์นั้น ต้องให้ผู้เรียนได้ฝึกกระทำด้วยตนเองจนเป็นนิสัยและเห็นความสำคัญของการเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรมด้วยตนเอง ผู้วิจัยจึงได้ปรึกษากับคณะผู้บริหารโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐทุกคนและขอกำหนดแนวทางการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่ผู้เรียนด้วยการบรรจุกิจกรรมเข้าไปในระบบการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมในรายวิชาแนะแนว ซึ่งได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจากทุกท่านเป็นอย่างดี ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการจัดทำแผนการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระบบการเรียนการสอนในรายวิชาแนะแนวขึ้น ซึ่งเน้นกิจกรรมที่ยึดหลักกระบวนการสร้างลักษณะนิสัย และกระบวนการสร้างเจตคติแบบมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ และได้นำมาทดลองกับผู้เรียนทั้ง 3 ระดับ ตั้งระดับช่วงชั้นที่ 1 ถึงช่วงชั้นที่ 3 โดยคาดหวังว่ากิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระบบการเรียนการสอนในรายวิชาแนะแนวที่สร้างขึ้นนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา
วัตถุประสงค์งานวิจัย
1. เพื่อหาประสิทธิภาพของกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระบบการเรียนการสอนในรายวิชาแนะแนวของโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ
2. เพื่อเปรียบเทียบผลการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมด้านความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ และระเบียบวินัยของผู้เรียนโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ ก่อนและหลังการทดลองจัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระบบการเรียนการสอนในรายวิชาแนะแนว
สมมติฐานงานวิจัย
1.กิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระบบการเรียนการสอนในรายวิชาแนะแนวมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
2. หลังการทดลองจัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระบบการเรียนการสอนในรายวิชาแนะแนว ผู้เรียนมีพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมด้านความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ และระเบียบวินัยสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ขอบเขตของการวิจัย
1. ขอบเขตด้านประชากร
1.1.ประชากร
ประชากรได้แก่ นักเรียนโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ สังกัดเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จำนวน 2, 816 คน
1.2. กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย
ด้วยวิธีการจับฉลาก ได้แก่
1.2.1 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 2 ห้องเรียน 70 คน
1.2.2 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 2 ห้องเรียน 70 คน
1.2.3 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 2 ห้องเรียน 70 คน
1.2.4 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 2 ห้องเรียน 70 คน
1.2.5 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 2 ห้องเรียน 70 คน
1.2.6 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 2 ห้องเรียน 70 คน
1.2.7 นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 2 ห้องเรียน 90 คน
1.2.8 นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 2 ห้องเรียน 84 คน
1.2.9 นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 2 ห้องเรียน 76 คน
รวมทั้งสิ้น 680 คน
2. ขอบเขตด้านเนื้อหา
เนื้อหาที่ใช้ในการดำเนินการวิจัยประกอบด้วย คุณธรรมจริยธรรมด้านความขยันหมั่นเพียร ระเบียบวินัย ความประหยัดพอเพียง และความซื่อสัตย์สุจริต
3. ขอบเขตด้านระยะเวลา
ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ จำนวน 40 สัปดาห์ ตลอดปีการศึกษา 2550
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผลการวิจัยทำให้ได้ข้อมูลในการวางแผนพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนตรงตามมาตรฐานการศึกษา
2. ผลการวิจัยทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมด้านความขยันหมั่นเพียร ระเบียบวินัย ความประหยัดพอเพียง และความซื่อสัตย์สุจริต
3. ผลการวิจัยทำให้ได้ข้อมูลเชิงประสิทธิภาพของกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระบบการเรียนการสอน
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. กิจกรรมการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในระบบการเรียนการสอน หมายถึง กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการสร้างลักษณะนิสัย และกระบวนการสร้างเจตคติแบบมีส่วนร่วมในรายวิชาแนะแนว เพื่อให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะทางจิตใจและแสดงออกถึงความเป็นบุคคลผู้มีคุณธรรมจริยธรรม
2. คุณธรรมจริยธรรม หมายถึง การแสดงออกของบุคคลที่สังคมยกย่องว่าเป็นความดี
ความงาม ได้แก่ ความขยันหมั่นเพียร ระเบียบวินัย ความประหยัดพอเพียง และความซื่อสัตย์สุจริต
3. ความขยันหมั่นเพียร หมายถึง คุณลักษณะทางจิตใจและแสดงออกถึงการมีความอดทนในการเรียนในการทำงาน และทำความดี มีความมุ่งมั่นที่จะคิดและทำสิ่งใดจนประสบความสำเร็จ
4. ระเบียบวินัย หมายถึง คุณลักษณะทางจิตใจและแสดงออกถึงความมีระเบียบวินัย ด้วยพฤติกรรมดังนี้ การปฏิบัติตนตามระเบียบวินัยของการจัดแถว การเข้าแถว การเรียงแถวทำกิจกรรมต่าง ๆ ระเบียบวินัยของการเข้าร่วมกิจกรรมในที่ประชุมชน ระเบียบวินัยด้านการปฏิบัติดูแลตนเองเกี่ยวกับการแต่งกาย ความสะอาด การเก็บรักษาดูแลทรัพย์สินของตนเองและโรงเรียน
5. ประหยัดพอเพียง หมายถึง คุณลักษณะทางจิตใจที่เห็นความสำคัญและคุณค่าของการดำรงชีวิตด้วยความประหยัดและพอเพียงด้วยการแสดงพฤติกรรมดังนี้ รู้จักการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ควบคุมการใช้จ่ายสามารถสะสมเงินออมได้ ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์ มีจิตสำนึกในการดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง เสียสละ เพื่อส่วนรวม และปฏิบัติตนด้วยความพอเพียงเพื่อความสุขและความเป็นระเบียบของสังคมส่วนรวม
6. ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง คุณลักษณะทางจิตใจที่เห็นความสำคัญและคุณค่าของการดำรงชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริตด้วยการแสดงพฤติกรรมดังนี้ ไม่พูดโกหก ไม่พูดใส่ร้ายป้ายสี หรือยุแหย่ผู้อื่น ไม่พูดหยาบคาย ไม่รังแกหรือแกล้งเพื่อน ไม่รังแกหรือฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่นำของผู้อื่นที่เก็บได้มาเป็นของตน เข้าห้องเรียนตรงเวลา ไม่ลืมทำการบ้าน ไม่ทะเลาะวิวาทหรือโกรธผู้อื่น
วันที่ 31 ก.ค. 2552
หนาวแล้ว ออกแคมป์กันเถอะ! ⛺ เตาแก๊สปิคนิค พกพาสะดวก ออก Outdoor ได้สบายๆ รุ่น KJ-101 แถมฟรี!!กล่องเก็บเตา ในราคา ฿244https://s.shopee.co.th/7fJQKGPCjr?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 7,163 ครั้ง เปิดอ่าน 7,161 ครั้ง เปิดอ่าน 7,151 ครั้ง เปิดอ่าน 7,436 ครั้ง เปิดอ่าน 7,170 ครั้ง เปิดอ่าน 7,175 ครั้ง เปิดอ่าน 7,156 ครั้ง เปิดอ่าน 7,157 ครั้ง เปิดอ่าน 7,411 ครั้ง เปิดอ่าน 7,158 ครั้ง เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง เปิดอ่าน 7,163 ครั้ง เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,166 ครั้ง เปิดอ่าน 7,166 ครั้ง เปิดอ่าน 7,329 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,176 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,161 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,156 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,178 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,160 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,262 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,155 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 7,637 ครั้ง |
เปิดอ่าน 19,407 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,827 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,995 ครั้ง |
เปิดอ่าน 19,535 ครั้ง |
|
|