สู่ปลานิลแดงทนเค็มสายพันธุ์ผสม
จากลูกปลาน้ำจืดตัวดำ ๆ บ้านเกิดอยู่ที่แอฟริกา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อว่า “ปลานิล” และพระราชทานให้กรมประมง นำไปเพาะขยายพันธุ์ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ราษฎรและปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งยังมีการปรับปรุงพันธุ์ และส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง จนกระทั่งคนส่วนใหญ่นึกว่าปลานิลเป็นปลาของไทยไปแล้ว
ปลานิลถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกโดย สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 50 ตัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ในระยะแรก พระองค์ทรงเลี้ยงไว้ในบ่อบริเวณพระตำหนักสวนจิตรลดา พบว่า สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ปลาชนิดนี้ ให้กรมประมง เพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์ และ พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”
ปัจจุบันปลานิลถือได้ว่าเป็นปลาที่มีผู้เพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว ทั้งยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จนสามารถนำรายได้ เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นปลาเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากปลานิล ซึ่งที่เรารู้จักว่าเป็นปลาสีดำ ๆ แล้ว กรมประมงยังได้พัฒนาปลานิลสีแดงขึ้นมาจนประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์เป็นปลานิลแดงทนเค็มสายพันธุ์ปทุมธานี
ดร.นวลมณี พงศ์ธนา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำปทุมธานี ผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ เล่าให้ฟังว่า ปลานิลแดง พันธุ์ดังกล่าวปรับปรุงพันธุ์มาจากปลานิลแดง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลานิลแดงสายพันธุ์ไทย ปลานิลแดงสายพันธุ์ไต้หวัน ปลานิลแดงสายพันธุ์สเตอริง และปลานิลแดงสายพันธุ์มาเลเซีย โดยนำมาผสมข้ามจนได้ลูกพันธุ์ผสม 16 กลุ่ม
จากนั้นนำพันธุ์ผสมดังกล่าวไปคัดพันธุ์เพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตโดยประเมินจากค่าการผสมพันธุ์ของน้ำหนักปลาอายุ 180 วัน ในน้ำความเค็มระดับ 25-30 ส่วนในพัน จำนวน 2 ชั่วอายุ ระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2551 ปลานิลแดงพันธุ์ดังกล่าวมีลักษณะประจำพันธุ์ ได้แก่ ลำตัวกว้าง สันหนา สีชมพูออกไปทางส้ม มีการเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง มีปริมาณเนื้อแล่สูง และสามารถเลี้ยงได้ทั้งในน้ำจืดและในน้ำเค็มระดับ 25-30 ส่วนในพัน
จึงเหมาะสมต่อการเลี้ยงในกระชังทั้งในแหล่งน้ำจืดและในเขตน้ำกร่อยและบ่อกุ้ง ซึ่งผลผลิตสามารถใช้ทดแทนปลากะพงแดงได้เนื่องจากเนื้อมีรสชาติดี ไม่มีกลิ่นสาบโคลน จึงน่าจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ขณะนี้ ทางกรมประมงได้กระจายพันธุ์ปลานิลแดงทนเค็มสายพันธุ์ปทุมธานีไปสู่ภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงแล้ว
จึงนับเป็นอีกโครงการในความสำเร็จของกรมประมงที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้
ที่มา เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี ที่ 30 กรกฎาคม 2552