ข้อคิดธรรม ในเรื่องของชีวิต
ทุกครั้งทุกครา ที่เกิดเรื่องใดก็ตามที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล ผมมักได้ข้อคิดทางธรรมะดีดีเสมอ และกล่าวคำสาธุดังๆในใจทุกครั้ง เพราะจิตน้อมเห็นตามธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้นชัดเจนขึ้น
ช่วงนี้ มีแง่คิดเรื่องธรรมะชัดเจนขึ้นหลายเรื่องครับ
เรื่อง DC go home ก็สอนเรื่องอนิจจัง การพลัดพรากของชีวิต ซึ่งย้อนให้เห็นเรื่องของการสั่งสมความเห็นผิดเรื่องของการสะสมของรัก การยึดถือ เป็นอุปาทานขันธ์ นำไปสู่ทุกข์อุปาทาน
ทำให้นึกถึง วรรณกรรมพุทธศาสนา เรื่องกามนิต-วาเสฏฐี ที่พุทธองค์ทรงตรัสสอนธรรมะแก่กามนิต ในบ้านช่างปั้นหม้อในเรื่องของความรัก
เพราะทรงฟังกามนิตเล่าเรื่องในอดีตที่มีความรักผูกพันต่อวาเสฏฐี โดยที่กามนิตไม่รู้ว่าบุคคลที่ตนสนทนาอยู่นั้นคือพระพุทธเจ้าที่ตนแสวงหาและอยากฟังพระธรรมคำสอน
พระพุทธองค์ทรงสนทนากับกามนิตหนุ่มที่ไม่ใช่ชื่อขจิต (เพราะคาดเดาจากคำบรรยายในหนังสือว่าคงเป็นหนุ่มรูปงาม จมูกโด่ง ผิวขาว เชื้อสายอารยัน) ว่าโดยสรุปจากเรื่องที่ฟังกามนิตเล่ามา ก็จะเห็นได้ว่า
เมื่อใดมีรัก เมื่อนั้นมีทุกข์
ซึ่งกามนิตหนุ่มก็ค้านอย่างเต็มที่ เพราะในความเห็นของเขา เมื่อชีวิตมีรัก ก็หมายถึงมีความสุขเกิดขึ้นในชีวิตทั้งนี้เป็นการมองชีวิตที่ยังไม่รอบ เพราะมองแค่ความสุขที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นที่เกิดความรักขึ้นเท่านั้น
ถึงแม้พระพุทธองค์จะทรงตรัสสอนให้เห็นถึงความจริงของชีวิตต่อไปอีกว่า เมื่อคนเรามีความรักหรือมีสิ่งที่รัก ในบั้นปลายก็จะเกิดทุกข์ขึ้น คือ
ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการพลัดพรากจากสิ่งรัก
โดยทรงตรัสต่อว่า ธรรมดาในชีวิตมนุษย์ย่อมประสบกับความทุกข์สองประการ คือหนึ่งการประสบกับสิ่งไม่รัก และการพลัดพรากจากสิ่งรัก ย่อมเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ซึ่งในชีวิตของเรานั้นไม่สามารถปฏิเสธความจริงนี้ได้เลย หรือไม่อาจหาญที่จะกล่าวได้ว่าเราสามารถหลีกพ้นจากทุกข์สองประการในชีวิตนี้ได้
ในชีวิตของเรา จะเลือกพบหรือปรารถนาให้ในชีวิตมีแต่สิ่งที่ดีดีหรือประสบกับสิ่งที่รักและที่ชอบเสมอตลอดไปไม่ได้ ในทำนองเดียวกันก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการพลัดพรากจากสิ่งที่รักได้ตลอดกาล เพราะไม่ช้าวันใดวันหนึ่ง สิ่งที่เรารักนั้นจำต้องพรากจากเราไปแน่นอน
ไม่เราพลัดไปจากเขาหรือเขาพรากจากเราไป
สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรา คือความทุกข์เสมอ
กามนิตหนุ่มได้ฟังก็คอตก เพราะเห็นจริงตามนั้น แต่อาศัยมานะทิฏฐิอันดื้อรั้น แทนที่จะกล่าวสาธุรับธรรมกลับไพล่เฉไฉกล่าวทำนองว่า
สิ่งที่ท่านกล่าวออกมานั้น ก็จริงอยู่ดูมีเหตุผล แต่เป็นคำที่ท่านกล่าวเองหรือว่าได้ยินมาจากพระพุทธองค์เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสว่าเป็นคำที่พระองค์พูดเอง(ในฐานะนักบวชในสายตาของกามนิต) กามนิตจึงถอนหายใจแสดงความโล่งอกและกล่าวเสริมว่า ตนอยากไปกราบทูลถามธรรมข้อนี้ต่อพระองค์ หากเป็นคำที่ได้ยินออกจากพระโอษฐ์พระพุทธองค์เองจึงจะเชื่อถือตาม
พระพุทธองค์ทรงได้ยินดังนั้น จึงแสดงอาการดุษฎี คือนิ่งเฉยเงียบไม่ต่อล้อต่อเถียงให้ยาวความ
ตอนรุ่งเช้ากามนิตเร่งรีบออกเดินทางแต่เช้าด้วยดวงจิตที่ร้อนรน กระหายที่อยากจะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า โดยไม่เฉลียวใจเลยว่าตนมีโอกาสอันประเสริฐที่ได้สนทนาธรรมกับพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิดตลอดคืน แต่อนิจจาชีวิตตนถึงวาระสุดท้ายถูกวัวบ้าที่วิ่งสวนมาขวิดตาย ในขณะสุดท้ายได้กล่าวร้องขอพระอานนท์และพระสารีบุตรพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ก็ทนพิษบาดแผลไม่ได้สิ้นใจตายก่อน
เนื้อหาในบทนี้จึงมีชื่อว่า “เด็กดื้อ” ได้แก่ตัวกามนิตนั่นเอง
คงพอที่จะน้อมนำมาเป็นอุทธาหรณ์ของชีวิตเราได้ว่า ธรรมะไม่ว่าจะหลุดออกมาจากปากผู้ใด หากได้ยินได้ฟังแล้ว เป็นธรรมแท้หรือความจริงแท้ ก็ให้น้อมใจรับฟังไว้ อย่าได้ประมาทว่าจะต้องได้ยินจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเลย
หรือเรื่องใดใดก็ตาม หากเกิดในชีวิตเราแล้ว ไม่ว่าจะดีหรือเลว ก็สามารถน้อมเอามาเป็นหลักธรรมสอนตนได้เสมอ
ทุกครั้งทุกครา ที่เกิดเรื่องใดก็ตามที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล ผมมักได้ข้อคิดทางธรรมะดีดีเสมอ และกล่าวคำสาธุดังๆในใจทุกครั้ง เพราะจิตน้อมเห็นตามธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้นชัดเจนขึ้น
เชิญชวนทุกท่านลองสำรวจดูว่า ท่านมีของอันเป็นที่รักอยู่กี่อย่าง ทั้งที่เป็นสิ่งของวัตถุ บุคคลหรือสัตว์เลี้ยงใดใดก็ตาม
ลองนั่งนับนิ้วดู แล้วจะประจักษ์ว่าท่านสะสมทุกข์ไว้เท่าจำนวนนิ้วที่นับได้นั่นแหละ
เตรียมตัวเตรียมใจรับความทุกข์ที่พึงจะเกิดขึ้นไว้ให้ดีเถิด
เนื้อเรื่องโดยย่อ
ในเรื่องกามนิต กล่าวถึงบุรุษผู้หนึ่งผู้ซึ่งมีนามว่า กามนิต ผู้ที่หวังจะได้เข้าพบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อที่จะได้ขจัดความทุกข์ต่าง ๆ ที่ตนได้เผชิญมา และได้พบกับความสุขอันเป็นนิรันดร์ ในระหว่างการเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น กามนิตได้เข้าขอพักที่บ้านของช่างปั้นหม้อท่านหนึ่งเป็นการชั่วคราว และในวันเดียวกันนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้เสด็จมาขอพักอาศัยที่บ้านหลังนั้นด้วยพอดี กามนิตจึงได้มีโอกาสเล่าเรื่องของตนเองและสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้าโดยที่ไม่รู้เลยว่าพระสงฆ์ที่สนทนาอยู่นั้นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
เรื่องราวดำเนินส่วนแรกเป็นภาคพื้นดิน และต่อในส่วนหลังเป็นภาคสวรรค์ ที่กามนิต ได้เสียชีวิตระหว่างเดินทางเพื่อจะได้พบ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไปเกิดเป็นเทวดาและพบกับ วาสิฏฐี ทั้งสองได้เล่าเรื่องราวชีวิตหลังความรักในโลกมนุษย์ ประสบการณ์แห่งการไขว่คว้าหากันจนได้มาพบเจอพุทธศาสนา ตลอดจนการเห็น การเกิดดับของสรรพสิ่งที่แม้แต่สวรรค์ พรหมก็หลีกหนีไม่เป็น ความเปลี่ยงแปลง มีแต่บรมสุขแห่งพระนิพพาน คือทางออกแห่งการเดินทางอันยาวนานนี้ วาสิฏฐีได้เข้าถึงความจริงนี้ก่อน และทำให้กามนิตได้รู้ว่าบุคคล ที่ตนพบในบ้านช่างปั้นหม้อ ได้ให้สัจธรรมแห่งความจริงไว้พิจารณา คือใคร การไม่ต้องเวียนว่ายอีกต่อไปเป็นเช่นไรในที่สุด ในเรื่องกามนิตนี้ มีกามนิต และวาสิฏฐีเป็นตัวเอก และนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังมีองคุลิมาล พระอานนท์ และพระสารีบุตร ปรากฏในเรื่องอีกด้วย เป็นการเชื่อมโยมหลักธรรมในพุทธศาสนากับความจริงแห่งความรักได้อย่างลึกซึ้งและกินใจ
พิชัย กรรณกุลสุนทร
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม