หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
รวมคำสอนธรรมปฏิบัติ เล่ม 2
ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จงอย่าคิดว่าเราจะทำวันเดียวสำเร็จ ค่อย ๆ ทำไป สิ่งไหนบกพร่องก็พยายามระงับสิ่งนั้น และตั้งใจว่าเราจะไม่ยอมทำสิ่งนั้น ต่อไปวันหลังมันอาจจะลืมอาจจะเผลอ ๆ คิดมาได้ ก็คิดว่า ต่อนี้ไปเราจะไม่ทำอย่างนั้น ให้ถือเป็นอธิษฐานบารมีให้ทรงตัว และมีสัจจบารมีและก็จงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์แบบ เวลาจะพูด เวลาจะทำหรือเวลาจะคิด ก็คิดใคร่ครวญเสียก่อนว่าอันนี้มันดีหรือไม่ดี
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นโลกธรรม ถ้าเราติด เราก็มีความทุกข์ ลาภที่เรามีมา ได้แล้วมันก็หมดเสื่อมไปได้ ถ้าเรายินดีในการได้ลาภ ไม่ช้ากำลังใจก็ต้องเสียใจสลดใจเมื่อลาภหมดไป คำสรรเสริญก็เช่นเดียวกัน คำสรรเสริญไม่ใช่ของดี ถ้าเราติดในคำสรรเสริญ เราก็จะมีแต่ความทุกข์ เพราะว่าไม่มีใครเขามานั่งตั้งตา นั่งสรรเสริญเราตลอดวัน คนที่เขาสรรเสริญเราได้ เขาก็ติเราได้ ฉะนั้น จงจำไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า นินทา ปสังสา เป็นธรรมดาของชาวโลก ชาวโลกทั้งหมดเกิดมาต้องพบนินทาและสรรเสริญ นี่ท่านมาติดลาภ ติดสรรเสริญ ก็ถือเป็นอุปกิเลสอย่างหนัก
เราต้องตั้งใจมีความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระสงฆ์คือพระปกติ ไม่ใช่พระเดินขบวน พวกนั้นไม่ใช่พระ เป็นเปรต เป็นสัตว์นรกมาเกิด นิสัยของสัตว์นรก เกิดมาใช้ไม่ได้ ทำให้ศาสนาบรรลัย นักบวชประเภทนี้ ถ้าเราไปไหว้ เราก็เป็นเปรตด้วย เพราะจริยาเขาเสีย เมื่อเรายอมรับความเสียของเขา เราก็เสียด้วย การเคารพพระสงฆ์ควรจะนึกเอาพระอริยเจ้าเป็นสำคัญ เรายกมือไหว้นักบวช เราถือว่าเราไหว้พระอริยสงฆ์ ถ้าท่านผู้นั้นไม่บริสุทธิ์ ก็เชิญเสด็จลงนรกไปเอง เพราะยอมให้ชาวบ้านเขาไหว้ นั่นเป็นเรื่องของท่านไม่ใช่เรื่องของเรา
ถ้าจิตของเราทรงอยู่ในพรหมวิหาร 4 ศีลจะบริสุทธิ์ ไม่ต้องระมัดระวังศีล ความเป็นผู้มีเเหตุมีผล มีความเคารพในองค์สมเด็จพระทศพลก็มีพร้อมบริบูรณ์ เพราะคนที่ทรงศีลบริสุทธิ์ก็แสดงว่ามีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ รู้จักอายความชั่ว เกรงกลัวความชั่ว
ขอบรรดาท่านพุทธบริษัท จงพยายามใคร่ครวญถึงความตายเป็นสำคัญ เรื่องความตายก็ดี การควบคุมอารมณ์จิตให้ปราศจากความฟุ้งซ่านก็ดี ควรจะทำให้เป็นปกติ ถ้าวันใดเราเผลอจากการควบคุมอารมณ์จิต ไม่ระงับความฟุ้งซ่านก็ดี วันใดถ้าเราเผลอไป ลืมนึกถึงความตายก็ดี ก็จงประณามตนเองว่าเรานี้เลวเต็มทีแล้ว
ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทกับชีวิต เพราะว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ขอทุกท่านจงคิดไว้เสมอว่า อย่างไรก็ดีเราต้องตายแน่ สำหรับเวลาการตายของเราไม่มีแน่นอน เพราะความตายไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ท่านทั้งหลายจงประกอบแต่ความดีเข้าไว้ ถ้าใครสร้างความชั่ว ตายแล้วจะไปสู่อบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เกิดมาเป็นคนก็จะมีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความลำบาก แต่ถ้าคนใดสร้างความดี คิดถึงความตาย ไม่ประมาทในชีวิต คิดไว้เสมอว่า เราจะต้องตายแน่ จงอย่าคิดว่าวันพรุ่งนี้หรือเดือนหน้า ปีหน้า เดือนโน้น เราจึงจะตาย คิดไว้เสมอว่าวันนี้เราอาจจะตายแล้วก็สร้างความดีเข้าไว้ ความดีจะส่งผลให้ท่านมีความสุขทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ
จงจำไว้ว่าอารมณ์ใดที่ประกอบไปด้วยความรัก ประกอบไปด้วยความโลภ ประกอบไปด้วยความโกรธ ประกอบไปด้วยความหลง พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นอารมณ์ของติรัจฉาน คือ มันขวางจากความดี ฉะนั้น อาการของเดรัจฉานทั้งหมด อันพึงจะผิดทางจิตก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางกายก็ดี จงอย่ามี จงระมัดระวังกำลังใจเป็นสำคัญ อย่าเอาอารมณ์ของเดรัจฉานเข้ามาใช้ในจิต และก็จงอย่างไปเพ่งเล็งบุคคลอื่น จงอย่าสนใจกับอารมณ์ของคนอื่น จงอย่าสนใจกับจริยาของบุคคลอื่น ให้พยายามปรับปรุงใจตนเองเป็นสำคัญ และให้ทรงพรหมวิหาร 4 มีอิทธิบาท 4 ฟังแล้วก็ต้องจำ จำแล้วก็ต้องประพฤติปฏิบัติ ถ้าทำไม่ได้ จงรู้ตัวว่าเลวเกินไป คนเลวเขาไม่เรียกว่าคน เขาเรียกว่าสัตว์ในอบายภูมิ
เรามีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เราจะต้องตายแน่ จะตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายด้วยอาการปกติ หรือด้วยอุบัติเหตุก็ตาม ก็ขึ้นชื่อว่าจะต้องตาย เราไม่ประมาทในชีวิต ก่อนที่เราจะตาย จะกอบโกยความดีใส่กำลังใจไว้ให้มันครบ พระพุทธเจ้าทรงสอนแบบไหน ปฏิบัติให้จบให้ครบทุกประการ ให้บริบูรณ์ทั้งหมดในฐานะที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคต
ถ้าทุกคนปรับปรุงใจตนดีแล้ว มันก็ไม่มีเรื่องยุ่งกับคนอื่น ๆ ไม่สร้างคนอื่นให้มีความเร่าร้อนในการที่จะเพ่งโทษคนอื่น ต้องรู้ตัวว่าเราเลวเกินไป นี่จงรู้สึกตัวไว้เสมอ รู้สึกตัวว่าเรามันเลว เลวมากจนกระทั่งขังไว้ในใจไม่ได้ มันจึงอุตส่าห์ไหลออกมาทางวาจา ไหลมาทางกาย นี่แสดงว่าความเลวมันล้นออกมาจากจิต ในข้อนี้ต้องคิดไว้เป็นประจำ อย่าทะนงตนว่าเป็นคนดี ถ้าดีแล้ว ปากไม่เสีย กายไม่เสีย ถ้าปากเสีย กายเสีย ความเลวมันล้น มีความดีไม่ได้
สำหรับคนที่เขามาสร้างความชั่วให้สะเทือนใจเรา นั่นเขาเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ไม่มีทางที่จะคืนตัวได้ เราจงคิดว่า คนประเภทนี้เขาไม่ใช่คน เขาคือสัตว์นรกในอบายภูมินั่นเอง เราคิดว่า ถ้าเราไปต่อล้อต่อเถียงจะกระทำตอบ เราก็จะเลวตามเขา เวลานี้จิตใจของเขาจมลงไปแล้วในนรก ถ้าเราทำตามแบบเขาบ้าง เราก็จะจมนรกเหมือนกัน มันไม่มีประโยชน์ จิตเราก็ระงับความโกรธด้วยอำนาจขันติหรืออุเบกขา เฉย เขาเลวปล่อยให้เขาเลวไปแต่ผู้เดียว เราไม่ยอมเลวด้วย
อารมณ์ของคนชั่ว คืออารมณ์ที่ชอบทำลายศีลด้วยตัวเอง หรือว่ายุชาวบ้านให้เขาทำลายศีล เมื่อเห็นบุคคลอื่นทำลายศีลแล้วดีใจว่าเขาไม่รักษาศีล ทำลายศีลเสียได้ก็ดี อารมณ์ชั่วอย่างนี้อย่าให้มี เราจะต้องควบคุมว่า เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตัวเอง ศีลของใครมีเท่าไรรู้ไว้ด้วย เราจะไม่คิดยุยงให้คนอื่นคิดทำลายศีล เราจะไม่ดีใจในเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว
ดีหรือชั่วมันอยู่ที่การควบคุมกำลงใจ ถ้าใจของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียอย่างเดียว ใครจะว่าดีหรือชั่วไม่มีความสำคัญ เขาจะประณามว่าเลวมันก็เลวไม่ได้ มันก็ต้องดีอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตของเราชั่ว เขาจะสรรเสริญว่าดีมันก็ดีไม่ได้เหมือนกัน นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงให้รักษากำลังใจเป็นสำคัญว่า ควบคุมกำลังใจให้ดีไว้แล้วมันดีเอง ไม่ต้องไปฟังคำชาวบ้านเขา การที่เราดีเพราะรอให้ชาวบ้านสรรเสริญ นั่นมันเป็นอารมณ์ของความชั่ว ก่อนที่จะคำนึงถึงวิปัสสนาญาณ ก็จงทำใจให้มีความสุขด้วยอำนาจของสมาธิจิตก่อน เมื่อจิตมีสมาธิดีแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้ปรากฎ เมื่อพิจารณาไปแล้ว ถ้าหากยังเห็นไม่พอเพราะจิตมันจะซ่าน ก็ดับความรู้สึกในการพิจารณาเสีย กลับมาภาวนาและทรงจิตให้หยุดในอารมณ์เดิมก่อน ให้จิตสบายเป็นสมาธิ ทำสลับกันไป สลับกันมา
พวกเราทุกคน จงอย่าให้องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องผิดหวัง คำว่าผิดหวังก็หมายความว่ากลายเป็นคนเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันพระพุทธเจ้าผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพระ พระทุกองค์จงอย่าเมาใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และก็จงอย่าเมาในใบลานหรืออย่าเมาในตำรา จงใช้กำลังใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแบบฉบับ แล้วก็ปรับกำลังใจของเราให้เท่าหรือคล้ายคลึงกำลังใจของพระองค์ที่มีพระพุทธประสงค์มาสอนเรา
พระโสดาบันมีปัญญาเพียงเล็กน้อย รู้แค่ตายเท่านั้น ยังไม่สามารถจะจำแนกแยกร่างกายว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราได้ พระโสดาบันยังมีความรู้สึกว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา ทรัพย์สินทั้งหลายยังเป็นเราเป็นของเรา แต่ทว่ามีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายที่เป็นเรานี้ทั้งหมด เมื่อตายแล้ว เราก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้ามาครอบครอง หรือถ้าว่าเรายังไม่ตาย สักวันหนึ่งข้างหน้ามันก็ต้องสลายตัวไป
พระโสดาบัน ไม่สงสัยในคำสั่งและคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสั่งก็ได้แก่ศีล คำสอนก็ได้แก่จริยาอันหนึ่งที่เราเรียกกันว่าธรรมะ เป็นความประพฤติดีประพฤติชอบ ศีล พระพุทธเจ้าสั่งให้ละตามสิกขาบทที่กำหนดไว้ให้ ธรรมะ คำสอน ทรงแนะนำว่าจงทำอย่างนี้จะมีความสุข ทั้งคำสั่งก็ดี ทั้งคำสอนก็ดี พระโสดาบันมีความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย
ความเป็นพระโสดาบันนี้มีความสำคัญอยู่ที่ศีล ถ้าหากว่าทุกท่านมีศีลบริสุทธิ์ ก็ไม่ต้องกล่าวย้อนไปถึงการเคารพในพระรัตนตรัย ทั้งนี้เพราะว่าศีลมาจากพระรัตนตรัยทั้ง 3 ประการ การที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ก็แสดงว่าเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยอยู่แล้ว ฉะนั้น ศีลของท่านทั้งหลายจึงบริสุทธิ์ ศึลจะบริสุทธิ์ได้ต้องอาศัยเมตตากับกรุณาเป็นสำคัญ และยังมีเพื่อนอีกสองเป็นฝ่ายสนับสนุน นั่นก็คือ มุทิตากับอุเบกขา
ท่านที่เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน หรือกำลังจะเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน จะต้องทรงพรหมวิหาร 4 ตามปกติ เมื่อทรงพรหมวิหาร 4 แล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ศีลบริสุทธิ์ ด้วยทรงพรหมวิหาร 4 เป็นปัจจัยระงับโทสะและพยาบาท ทำให้โทสะและพยาบาทคลายตัว แล้วก็พรหมวิหาร 4 เป็นปัจจัยให้คนใจดี พอใจในการให้ทาน แล้วก็ทานตัวนี้เป็นปัจจัยตัดโลภะคือความโลภ ให้จิตใจของท่านที่เป็นพระโสดาบัน มีอารมณ์บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีความโลภคือปรารถนาในการยื้อแย่งเขา พอใจในการหาได้ด้วยสัมมาอาชีวะ ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย จงปรับกำลังใจของท่านให้ดีตามนี้ การเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบันจะเป็นของไม่ยาก ไม่มีอะไรลำบากที่บรรดาท่านพุทธบริษัทจะต้องหนักใจ
ความรักที่มันเกิด เราเข้าใจว่ามันดี เข้าใจว่ามันสวย เข้าใจว่ามันสะอาด อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของตัณหา ดึงไปอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น นี่พระทุกองค์ เณรทุกองค์ ฆราวาสทุกท่าน จงดูตัวไว้เสมอว่า เรามีจุดบกพร่องขนาดไหน อย่าปล่อยให้กิเลสมันล้นจากใจ ถ้าจะเลวให้เลวอยู่แค่ในใจ อย่าให้มันไหลมาทางตา อย่าให้มันไหลมาทางปาก อย่าให้มันไหลมาทางกาย
จิตของเราที่ยุ่ง วาจาของเราที่เสีย กายของเราที่ไม่สำรวม ก็เพราะอาศัยจิตไม่ดี ไม่ใช้ปัญญา ไม่ใช้สัญญา สัญญาจำไว้แค่นี้ ทำจิตให้เป็นสมาธิ ปัญญามันก็เกิด ปัญญาก็พิจารณา เห็นคนเมื่อไร เห็นสัตว์เมื่อไร มีความรู้สึกทันทีว่า ร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหมดเต็มไปด้วยความสกปรก ความผูกพันกระสันอยากได้ ปรารถนาจะสัมผัสไม่มีในจิต ให้จิตมันทรงสภาพเช่นนี้ เห็นคนเหมือนกับเห็นซากศพ เห็นคนเหมือนกับเห็นของเน่าเปื่อย เห็นคนเหมือนกับว่าเห็นสิ่งที่เขาบรรจุอุจจาระปัสสาวะไว้เต็ม เท่านี้จิตก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ผูกพันในรูปกายใด ๆ ทั้งหมด
เราจะปักใจไว้โดยอย่างเดียว คือว่าขันธ์ 5 มันไม่เที่ยง แล้วก็จงทำจิตของเราให้เที่ยง คือเที่ยงอยู่ในอำนาจของพรหมวิหาร 4 เพียงเท่านี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท จิตใจของท่านทั้งหลายก็จะเต็มไปด้วยความชื่นบาน มีแต่ความหรรษา เมื่อจิตเป็นเอกัคคตารมณ์แบบนี้ เราก็เห็นว่าสภาวะร่างกายนี้มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา โลกียวิสัยเป็นปัจจัยของความทุกข์ โลกุตรวิสัยเป็นปัจจัยของความสุข เราต้องการความสุขคือพระนิพพาน ถ้าพิจารณาอย่างนี้บ่อย ๆ อารมณ์ใจของบรรดาพุทธบริษัททุกท่านก็สามารถจะตัดกามฉันทะคือความรักในเพศเสียได้อย่างเด็ดขาด ความรู้สึกในเพศจะไม่มี และอีกประการหนึ่ง โทสะความพยาบาลหรือความกระทบกระทั่ง จิตที่คิดประทุษร้ายจะไม่ปรากฎแก่เรา ทั้งนี้เพราะความดีที่เราปฏิบัติตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อารมณ์ใจของท่านก็จะพ้นจากความทุกข์ ด้วยอำนาจของความรักและความสงสาร อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโปรดเรียกว่า พระอนาคามีผล
การที่คิดว่าเราเสมอกับเขา มันเป็นตัวทะเยอทะยาน การที่คิดว่าเราดีกว่าเขาเป็นการข่มขู่ คิดทะนงตนว่าตนเป็นใหญ่ ถ้าคิดว่าเราเสมอเขา มันก็เสียอีก เพราะบางคนเขามีจริยาเลว เราคิดว่าเรากับเขาเสมอกัน ก็ต้องพยายามเลวตามเขา ความเลวมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ไม่ใช่ปัจจัยของความสุข ถ้าหากเขาดีกว่าเรา เราดีไม่เท่าเขา แต่เราคิดว่าเราดีเท่าเขา ก็เกิดความประมาท คิดว่าเราดีแล้วก็เป็นการทำลายความดีที่เราจะพึงแสวงหาต่อไป ถ้าเราคิดว่าเลวกว่าเขา ตอนนี้เป็นการทำลายความดีของตนเอง จิตใจมันก็มีความสุขไม่ได้ เป็นอันว่าการถือตัวถือตนว่าเราเสมอเขาก็ดี เราดีกว่าเขาก็ดี เราเลวกว่าเขาก็ดี เป็นปัจจัยของความทุกข์
อย่ามองคนด้วยฐานะ อย่ามองคนด้วยศักดิ์ศรี อย่ามองคนด้วยความรู้ความสามารถ มองคนแต่เพียงว่าสภาพของเขาเป็นวัตถุเหมือนสภาพของเรา จิตใจของเราพร้อมในการเมตตาปรานีไม่ถือตน เขาจะมาในฐานะเช่นใดก็ช่าง ถือว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันหมด การกำหนดอารมณ์อย่างนี้ เราก็สามารถจะกำจัดตัวมานะ การถือตัวถือตนเสียได้
จงวางอารมณ์เสีย ใครเขาจะยังไงก็ช่าง เขาจะดี เขาจะชั่ว เขาจะเลว เขาจะยังไงก็ตามเถอะ ไม่สนใจ เห็นหน้าคน เราคิดไว้เสมอว่า เป็นคนที่เราควรแก่การปรานี เห็นหน้าสัตว์ก็คิดว่าเป็นสัตว์ควรแก่การปรานี พยายามไม่ถือตน คนและสัตว์ก็ตาม ถือว่ามีธาตุ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เสมอกัน มีอาการ 32 เหมือนกัน มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน สร้างอารมณ์ให้เป็นสังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณอย่างนี้ การระงับการถือตัวถือตนย่อมเป็นของไม่ยาก
เราตั้งใจไว้เฉพาะว่า เราต้องการพระนิพพานในชาตินี้ มานั่งใคร่ครวญว่ามนุษย์โลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี เป็นดินแดนที่ไม่พ้นความทุกข์ ความทุกข์มันมีกับเราได้ทุกขณะจิต เราเป็นมนุษย์เต็มไปด้วยความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย ความปวด ความเมื่อย ป่วยไข้ มีความไม่สบาย มีความตายไปในที่สุด มีการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ของชาวโลก เรื่องโลกมนุษย์ไม่ดี เทวโลกกับพรหมโลกก็พักความดีอยู่ชั่วคราว ไม่มีความหมาย ใจเราต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน
อวิชชา ท่านกล่าวไว้ในขันธวรรคในพระไตรปิฏกว่า ได้แก่ความมีฉันทะกับราคะ ฉันทะ มีความพอใจในความเป็นมนุษย์ แล้วก็มีความพอใจในรูปฌาน อรูปฌาน พอใจในการถือตัวถือตน พอใจในอารมณ์ฟุ้งในด้านกุศล ราคะ มีความยินดี เห็นว่ารูปฌานดี อรูปฌานดี การถือตัวถือตนบ้าง เบ่งทับคนนั้นบ้าง เบ่งทับคนนี้บ้างเป็นของดี แล้วก็อารมณ์ฟุ้ง คิดว่าเราเป็นแค่อนาคามีก็พอใจ ยังไง ๆ เราเป็นเทวดาหรือว่าพรหม เราก็มีความสุขแล้ว เรานิพพานบนนั้น ฉันทะกับราคะทั้งสองประการนี้เป็นอารมณ์ของอวิชชา ยังถือว่าเป็นความโง่ ยังไม่เห็นทุกข์ละเอียด ความจริงอารมณ์ตอนนี้ก็เข้มแข็งพอ คนที่เป็นอนาคามีแล้วนี่ จะมานั่งสอนกันละเอียดละออมันไม่เกิดประโยชน์ เพราะว่าเป็นคนรู้ มีจิตสะอาด มีอารมณ์ขุ่นมัวไปบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น เป็นอันว่าเลิกแล้วกันไปเลยว่า อารมณ์ใจที่มันยังเนื่องอยู่ในอวิชชา จะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันยังไม่เข้าถึงสุขที่สุดที่เรียกว่า เอกันตบรมสุข ก็รวบรวมกำลังใจใช้บารมีสิบประการ ให้เข้าถึงจุดเกณฑ์ประหัตประหารเสียทันที
นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เธอจงถือกำลังใจสังขารุเปกขาญาณเป็นอารมณ์ อะไรจะเกิดขึ้นแก่ร่างกายก็ถือว่าเฉยไว้ เขาจะชมก็เฉย เขาจะด่าก็เฉย แล้วร่างกายจะเจ็บไข็ไม่สบายก็ทำใจสบาย เฉย ๆ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ธรรมดามันเป็นยังไง คิดว่าร่างกายของเราเราต้องเป็นอย่างนั้น อย่าใช้อารมณ์ฝืนกฎของธรรมดา เท่านี้อารมณ์จิตของเธอจะเป็นสุข
พระอรหันต์ย่อมไม่ปรากฎเห็นว่าอะไรในโลกนี้เป็นเรา เป็นของเรา ไม่เห็นว่าอะไรในโลกนี้เป็นของดี และก็ไม่เห็นว่าอะไรในโลกนี้เป็นของเลว ทั้งนี้เพราะพระอรหันต์ยอมรับนับถือกฎแห่งความเป็นจริงว่า ธรรมดาของโลกนี้เป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นกฎธรรมดาไปหมด ไม่มีอะไรเป็นเครื่องสะเทือนใจ พระอรหันต์เขาด่าก็ไม่สะเทือนใจ เขาชมก็ไม่สะเทือนใจ อะไร ๆ เกิดขึ้นมาทั้งทีก็เป็นเรื่องธรรมดา
(คัดลอกมาจาก หนังสือรวมคำสอนธรรมปฏิบัติ ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโรมหาเถระ) เล่ม 2)
(จากหนังสือรวมคำสอนพระสุปฏิปันโน เล่ม 1)
|