“ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้ถ้อยคำออกจะฟุ่มเฟือยและไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งการออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เอง เป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเรา ทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอ…ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาซึ่งเป็นอุปกรณ์ และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ…”
พระบรมราโชวาทในวโรกาส วันพระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๐๒
ที่มา ประมวลสาระชุดวิชา ๑๒๓๐๕ ศิลปะกับสังคมไทย (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๔๘) หน่วยที่ ๑๔ ศิลปะของภาษา หน้า ๑๙๐ โดย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บทนำ
พัฒนาการของสังคมไทยปัจจุบันเห็นได้ว่าความเจริญก้าวหน้าเรื่องวัตถุโดยการรับเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาเสพบริโภคเป็นเรื่องที่ไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน ไร้ซึ่งการกลั่นกรอง ไปเสียแล้ว ผู้คนต่างตกอยู่ในวังวนของการมุ่งหาสิ่งเสพบริโภคเหล่านั้นจนทำให้ละเลยของดีที่มีให้เห็นมาตั้งแต่เกิด เข้าทำนอง “ใกล้เกลือ กินด่าง” ก็ไม่ผิดเสียเท่าไหร่
จะหาเวลามาไตร่ตรอง ครุ่นคิดถึงรากเหง้า พื้นฐานทางวัฒนธรรม อันเป็นแหล่งกำเนิดของตนเองและเครือญาติช่างเป็นเรื่องที่แม้แต่จะยกหัวข้อมาถกกัน ก็จะได้ยินเสียงเหน็บแนมว่า “เสียเวลาทำมาหากินเปล่าๆ”
เพียงเพราะความไม่พร้อมสรรพทางวัตถุเท่านั้นหรือ จึงไม่อาจยกประเด็นปัญหาเรื่องวัฒนธรรมมาเสวนาเพื่อหาทางแก้ไขได้ คงไม่ใช่ ในเมื่อสำนึกหวงแหนในความงดงาม ของวัฒนธรรมอันเป็นเครื่องดำรงอยู่ของชาตินั้น ไม่เคยถูกปลูก ฝัง และเพาะเลี้ยงให้งอกงามขึ้นภายในใจของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเหล่านั้น เห็นจะใช่
ปัญหาของการยึดติดในรูปธรรมจนทำให้ละเลยนามธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้บริการปัญญาไม่น้อยในการสร้างความรู้สึกให้ฝังลึก ติดตรึง และผลักดันไปสู่ความสมดุลย์ของรูปธรรมและนามธรรม
ประวัติศาสตร์ของความวิบัติ
จากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อัญเชิญมาข้างต้นนั้น เป็นเครื่องบอกเหตุแล้วว่าวิบัติของภาษาไทยเริ่มปรากฏให้เห็นมานานแล้ว
รายงานฉบับนี้เป็นการรวบรวมวิบัติการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้เพื่อแยกแยะประเด็นออกให้เห็นอย่างชัดเจน ก่อนที่จะหาทางแก้ไข และป้องกันการเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นอีก
ด้วยความนิยมของประชาชนที่มีต่อคนดังในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นนักร้องหรือนักแสดง ทำให้การเอาอย่างจึงเกิดขึ้นตามมา สื่อมวลชนหลายแขนงที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นตัวเร่งให้ความวิบัติเกิดเร็วขึ้น โดยการสร้างความเคยชินให้กับผู้เสพ สื่อเหล่านั้นก่อน จากนั้นพฤติกรรมของผู้เสพสื่อก็จะเปลี่ยนไปตามสื่อที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตพวกเขาอย่างง่ายดาย
ปราศจากความรับผู้ชอบของผู้มีส่วนร่วมในการผลิตสื่อทั้งหลายเหล่านั้น ความวิบัติของภาษาไทยจึงกลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนทั่วไปไม่เห็นว่านั่นคือปัญหาเชิงวัฒนธรรม จนกระทั่งเป็นการยากที่จะเยียวยาปัญหาเหล่านั้น เพราะมันได้ฝังรากลึกลงไปในวิถีชีวิตผู้คนไปเสียแล้ว
ลักษณะของปัญหา
การออกเสียงพยัญชนะ
ก ข ค ฆ |
ออกเสียงหนักเกินพอดี ทั้งอักษรนำและตัวสะกด เหมือนอักษร K |
จ |
มีเสียงลมออกมาตามไรฟัน เหมือนอักษร J |
ฉ ช ฌ |
ออกเสียงลมก่อนออกเสียงพยัญชนะ เหมือนอักษร ch, sh |
ถ ท ธ |
ออกเสียงลมมากเกินไป เหมือนอักษร T |
ผ ฝ พ ภ |
ออกเสียงหนักเกินพอดี เหมือนอักษร P |
ฟ |
มีเสียงลมออกมาตามไรฟันมากเกินไป |
ร ล |
ไม่มีออกเสียงคำควบกล้ำ หรือควบกล้ำผิดๆ เช่น
- ไม่กระดกลิ้นเวลาพูด ร เรือ และ ล ลิง
- รัวลิ้นมากเกินไปเมื่ออกเสียง ร เรือ
- รัวลิ้นจาก ล ลิง กลายเป็น ร เรือ
- พูดห่อลิ้น เหมือนอักษร R
|
ซ ศ ษ ส |
มีเสียงลมออกมาตามไรฟันมากเกินไป เหมือนอักษร S |
การออกเสียงวรรณยุกต์
- ออกเสียงวรรณยุกต์เพี้ยนไปจากที่เป็น
การออกเสียงอื่นๆ
- ใช้ฐานการออกเสียงไม่ตรง
- พูดห่อปาก
- บีบเสียงให้เล็กแหลมหรือใหญ่ อยู่ในลำคอ
- พูดไม่เต็มเสียง
- พูดลิ้นจุกปากหรือลิ้นแข็ง
- พูดเร็วจนฟังไม่รู้เรื่อง
- พูดเป็นสำเนียงภาษาเทศไปหมดโดยเน้นให้เห็นว่าสามารถพูดภาษาเทศได้ชัดกว่าภาษาไทย
เหตุแห่งปัญหา
ความสวยงามถูกต้องในการพูดภาษาไทยดำรงต่อเนื่องมาได้ช้านานเพราะผู้หลัก ผู้ใหญ่เมตตาอบรมสั่งสอน และผู้น้อยก็ยอมรับว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีจึงน้อมนำมาปฏิบัติสืบต่อกันมา
ปัจจุบัน ในยุคที่ผู้ใหญ่ก็ปล่อยปะละเลย ผู้น้อยก็ถือตนว่ามีความคิดเสรี การ อบรมสั่งสอนจึงถดถอย ความสำนึกในคุณค่าเพื่อน้อมนำมาปฏิบัตินั้นหาได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร อีกทั้งการยอมรับในปัญหายังไม่เกิด ความวิบัติจึงยังต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นทุกวัน
ปัจจัยแห่งปัญหา
๑. นักการเมือง รัฐมนตรี พูดไม่ชัดในการอภิปรายในสภา
๒. ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ พูดไม่ชัดในการแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์
๓. นักร้อง นักแสดง เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อผู้ชม
๔. ผู้ดำเนินรายการ พิธีกร พูดไม่ชัด
๕. ผู้ประกาศข่าว ผู้เล่าข่าว นักข่าวภาคสนาม พูดไม่ชัด
๖. ผู้ดูแลการผลิตรายการทั้งหลาย ไม่ใส่ใจ ไม่เน้นย้ำผู้ดำเนินรายการของตน
๗. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ไม่เห็นว่าเป็นปัญหา จึงไม่อบรมสั่งสอน
ด้วยปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงนั้น พฤติกรรมที่ผิดๆ จะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้ฟังวิทยุ และผู้ชมโทรทัศน์ จนในที่สุดพฤติกรรมจะเปลี่ยนไปเพราะความเคยชิน และเพราะไม่รู้สึกว่านั่นคือปัญหาอีกต่อไป
แนวทางการแก้ไขปัญหา
ปัญหาในเชิงคุณภาพของสังคม ต้องแก้ไขจากบริบทของสังคม นั่นคือการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทั้งหลายรอบตัวของผู้คนในสังคมให้ถูกต้องเสียก่อน จากนั้นผู้คนในสังคมจะซึมซับความถูกต้องเหล่านั้นกลับเข้าไปสู่วิถีชีวิตของตัวเองอีกครั้ง
การแก้ปัญหาในระยะสั้น
๑. แจ้งปัญหาทั้งหมดให้ผู้ดูแลการผลิตรายการทั้งวิทยุและโทรทัศน์ทุกราย เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สำนึกถึงปัญหา และเริ่มการแก้ไขปัญหาในการผลิตรายการของตนในทันที
๒. ออกมติคณะรัฐมนตรีโดยยกปัญหาเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหา
๓. ให้คณะรัฐมนตรี นักการเมือง ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงครู อาจารย์ที่ยังพูดไม่ชัด ปรับปรุงการพูดภาษาไทยของตัวเอง เพื่อเป็นแบบอย่างให้คนในสังคมเห็นว่าปัญหาเรื่องนี้แก้ไขได้
๔. ครู อาจารย์ในสถานศึกษาทุกระดับร่วมกันอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ของตนให้พัฒนาตัวเอง
๕. ผู้ผลิตรายการทั้งหลายคัดเลือกเฉพาะคนที่พูดภาษาไทยชัดมาดำเนินรายการ มาร่วมรายการในฐานะต่างๆ และต้องรับผิดชอบหากปล่อยให้มีภาษาวิบัติออกอากาศ
การแก้ปัญหาในระยะยาว
๑. ยกเลิกใบอนุญาตผู้ประกาศของผู้ที่พบว่าพูดไม่ชัดทุกคน เพื่อเป็นการคัดกรองให้เหลือเฉพาะผู้ประกาศ พิธีกร ที่มีคุณภาพจริงๆ เท่านั้น เป็นการยกระดับวิชาชีพ
๒. ไม่ยอมให้การเลือกตั้ง แต่งตั้ง เลื่อนขั้น เกิดขึ้นกับผู้ที่จะต้องมีส่วนในการสื่อสารกับผู้คนทุกระดับชั้น หากยังไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้พูดภาษาไทยอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะครู อาจารย์
๓. สร้างหน่วยงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ต้องรายงานตัวชี้วัดเรื่องความวิบัติของภาษาไทยทุกรูปแบบออกสู่สาธารณะชนอย่างต่อเนื่อง สื่อสารมวลชนทุกแขนงต้องร่วมกันนำเสนอรายงานนั้น เพื่อสกัดไม่ให้ใครคิดอุตริใช้ภาษาวิบัติอีก เพียงเพราะเห็นว่านั้นเป็นสิ่งโก้เก๋
๔. ออกกฏหมายลักษณะภาษาไทย การใช้ภาษาไทย การดำเนินการเอาผิดกับผู้ใช้ภาษาไทยอย่างไม่ถูกต้องอย่างเฉียบขาด หากการขอความร่วมมือให้แก้ปัญหาไม่เป็นผล
๕. หากจำเป็น ก็ควรบัญญัติให้ “ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย
ทางราชบัณฑิตยสถานกำลังพยายามแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่นการจัดสัมมนาผู้จัดรายการ จัดทำพจนานุกรมเพื่อชำระคำที่ไม่ถูกต้อง และบันทึกคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น แต่พฤติกรรมที่ปรากฏของผู้ดำเนินรายการทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหลาย ยังไม่มีแนวโน้นว่าได้รับรู้ถึงปัญหา และริเริ่มที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง
เหตุนี้เองที่สมควรอย่างยิ่งที่คณะรัฐมนตรีจักต้องเห็นความรุนแรงของปัญหาว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องให้การสนับสนุนการแก้ปัญหานี้โดยด่วน
ขณะที่ปัญหานี้ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวมาเป็นเวลานาน การแก้ไขปัญหาก็คงไม่สามารถทำได้ในเร็ววัน แต่การสร้างให้เกิดกระแสสำนึกในปัญหาผ่านทางสื่อสารมวลชนทุกรูปแบบจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในทันทีเป็นลำดับแรก จากนั้นการปรับตัวของคนในสังคมจะค่อยๆ ตามมา อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างได้ผล ตามด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาษาไทยจึงจะครบวงจรแห่งเหตุปัจจัย
ขอบคุณที่มาข้อมูลwww.9digits.com
|