การกระทำความผิดทางอาญาตามที่คนทั่วไปเข้าใจกัน จะมีอยู่ ๒ ประเภท คือความผิดต่อแผ่นดิน และความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดที่ยอมความกันได้
ความผิดต่อแผ่นดิน มักจะเป็นความผิดที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ เกิดความกลัว ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่นความผิดฐานปล้นทรัพย์ ลักทรัพญื ชิงทรัพย์ ฆ่าผู้อื่น และอื่น ๆ ซึ่งความผิดดังกล่าว รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย และเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความกันได้
ความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ จะเป็นความผิดที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย เดือดร้อนโดยตรง ไม่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นและสังคม สังคมไม่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำความผิดด้วย จึงเป็นความผิดที่ผู้เสียหายสามารถยอมความหรือ ถอนคำร้องทุกข์ได้ จะทำให้ความผิดนั้นระงับลง และคดีดังกล่าวหากผู้เสียหายไม่ไปร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจที่จะทำการสอบสวนได้
การร้องทุกข์ ในความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ หากผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด ก็เป็นอันขาดอายุความ(มาตรา ๙๖)
การจะยอมความให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับความผิดอันยอมความได้ ลองมาดูคดีนี้เป็นตัวอย่าง คงจะทำให้มีความเข้าใจดียิ่งขึ้น กล่าวคือ
คดีนี้ขึ้นมาสูการพิจารณาของศาลฏีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า... โจทก์กับจำเลยยอมความกันด้วยการทำบันทึกอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาท ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับหรือไม่ ?
ศาลฏีกาเห็นว่า จำเลยทำบันทึกเอกสารมอบไว้ให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง มีข้อความว่า จำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นพนักงานขายสินค้าของโจทก์ร่วมทั้งสอง และมีหน้าที่เก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแต่ละรายมามอบให้โจทก์ เมื่อวันที่ ๑ - ๒๘ กันยายน จำเลยได้เก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าหลายราย และเบียดบังเอาเป็นของตนเองโดยทุจริตเป็นเงินจำนวน ๔,๔๘๓,๔๘๒.บาท จำเลยรับว่าจะจะชดใช้เงินดังล่าวแก่โจทก์ร่วมทั้งสองภายในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน
หากผิดนัดยินยอมให้ฟ้องบังคับให้ชำระเงินทั้งหมดได้ทันที แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ร่วมทั้งสองจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้ทุกเวลาฯลฯ แล้วจำเลยลงชื่อเป็นผู้บันทึกแต่เพียงฝ่ายเดียว
บันทึกดังกล่าวเป็นหนังสือที่แสดงว่าจำเลยได้ยักยอกเงินจากโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด และจำเลยรับจะใช้เงินแก่โจทก์ โดยไม่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองตกลงให้ระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งจำเลยและโจทก์ทั้งสองตกลงระงับข้อพิพาทอันเกิดจากการที่จำเลยยักยอกเงินแต่ประการใด จึงมิใช่การยอมความโดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับ...(คำพิพากษาฏีกาที่ ๑๖๔๗/๒๕๕๐)
สำหรับสัญญาประนีประนอมนั้น ได้แก่สัญญาที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างผ่อนผันให้แก่กัน แต่ตามคดีดังกล่าวฝ่ายโจทก์ไม่ได้ตกลงด้วยแต่อย่างใด การยอมความดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฎหมาย