เทศนาคำไทยให้เป็นทาน |
โดยตำนานศุภอรรถสวัสดี |
สำหรับคนเจือจิตจริตเขลา |
ด้วยมัวเมาโมห์มากในซากผี |
ต้องหาม้ามโนมัยใหญ่ยาวรี |
สำหรับขี่เป็นม้าอาชาไนย |
ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า
|
น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย |
เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ |
รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ |
ผู้ใดดีดีต่ออย่าก่อกิจ |
ผู้ใดผิดผ่อนพักอย่าหักหาญ |
สิบดีก็ไม่ถึงกับกึ่งพาล |
เป็นชายชาญอย่าเพ่อคาดประมาทชาย |
รักสั้นนั้นอย่าให้รู้อยู่เพียงสั้น
|
รักยาวนั้นอย่าให้เยิ่นเกินกฎหมาย |
มิใช่ตายแต่เขาเราก็ตาย |
แหงนดูฟ้าอย่าให้อายแก่เทวดา |
อย่าดูถูกบุญกรรมว่าทำน้อย
|
น้ำตาลย้อยมากเมื่อไรได้หนักหนา |
อย่านอนเปล่าเอากระจกยกออกมา |
ส่องดูหน้าเสียทีหนึ่งแล้วจึงนอน |
เห็นตอหลักปักขวางหนทางอยู่
|
พิเคราะห์ดูควรทึ้งแล้วจึงถอน |
เห็นเต็มตาแล้วอย่าอยากทำปากบอน |
ตรองเสียก่อนจึงค่อยทำกรรมทั้งมวล |
ค่อยดำเนินตามไต่ผู้ไปหน้า
|
ใจความว่าผู้มีคุณอย่าหุนหวน |
เอาหลังตากแดดเป็นนิจคิดคำนวณ |
รู้ถี่ถ้วนจึงสบายเมื่อปลายมือ |
เพชรอย่างดีมีค่าราคายิ่ง
|
ส่งให้ลิงจะรู้ค่าราคาหรือ |
ต่อผู้ดีมีปัญญาจึงหารือ |
ให้เขาลือเสียว่าชายนี้ขายเพชร |
ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า
|
ใครเลยเล่าจะไม่งามตามเสด็จ |
จำไว้ทุกสิ่งจริงหรือเท็จ |
พริกไทยเม็ดนิดเดียวเคี้ยวยังร้อน |
เกิดเป็นคนเชิงดูให้รู้เท่า
|
ใจของเราไม่สอนใจใครจะสอน |
อยากใช้เขาเราต้องก้มประนมกร |
ใครเลยห่อนจะว่าตัวเป็นวัวมอ |
เป็นบ้าจี้นิยมชมว่าเอก
|
คนโหยกเหยกรักษายากลำบากหนอ |
อันยศศักดิ์มิใช่เหล้าเมาแต่พอ |
ถ้าเขายอเหมือนอย่างเกาให้เราคัน |
บ้างโลดเล่นเต้นรำทำเป็นเจ้า
|
เป็นไรเขาไม่จับผิดคิดดูขัน |
ผีมันหลอกช่างผีตามทีมัน |
คนเหมือนกันหลอกกันเองกลัวเกรงนัก |
สูงอย่าให้สูงกว่าฐานนานไปล้ม
|
จะเรียนคมเรียนเถิดอย่าเปิดฝัก |
คนสามขามีปัญญาหาไว้ทัก |
ที่ไหนหลักแหลมคำจงจำเอา |
เดินตามรอยผู้ใหญ่หมาไม่กัด
|
ไปพูดขัดเขาทำไมขัดใจเขา |
ใครทำตึงแล้วหย่อนผ่อนลงเอา |
นักเลงเก่าเขาไม่หาญราญนักเลง |
เป็นผู้หญิงแม่ม่ายที่ไร้ผัว
|
ชายมักยั่วทำเลียบเทียบข่มเหง |
ไฟไหม้ยังไม่เหมือนคนที่จนเอง |
ทำอวดเก่งกับขื่อคาว่ากระไร |
อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก |
ไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว |
จงฟังหูไว้หูคอยดูไป |
เชื่อน้ำใจดีกว่าอย่าเชื่อยุ |
หญิงเรียกแม่ชายเรียกพ่อยอไว้ใช้
|
มันชอบใจข้างปลอบไม่ชอบดุ |
ที่ห่างปิดที่ชิดไชให้ทะลุ |
คนจักษุเหล่หลิ่วไพล่พลิ้วพลิก |
เอาปลาหมอเป็นครูดูปลาหมอ
|
บนบกหนออุตส่าห์เสือกกระเดือกกระดิก |
เขาย่อมว่าฆ่าควายเสียดายพริก |
รักหยอกหยิกยั บทั้งตัวอย่ากลัวเล็บ |
มิใช่เนื้อเอาเป็นเนื้อก็เหลือปล้ำ
|
แต่หนามตำเข้าสักนิดกรีดยังเจ็บ |
อันโลภลาภบาปหนาตัณหาเย็บ |
เมียรู้เก็บผัวรู้ทำพาจำเริญ |
ถึงรู้จริงนิ่งไว้อย่าไขรู้
|
เต็มที่ครู่เดียวเท่านั้นเขาสรรเสริญ |
ไม่ควรกล้ำเกินหน้าก็อย่าเกิน |
อย่าเพลิดเพลินคนชังนักคนรักน้อย |
วาสนาไม่คู่เคียงเถียงเขายาก
|
ถึงมีปากเสียเปล่าเหมือนเต่าหอย |
ผีเรือนตัวไม่ดีผีป่าพลอย |
พูดพล่อยพล่อยไม่ดีปากขี้ริ้ว |
แต่ไม้ไผ่อันหนึ่งตันอันหนึ่งแขวะ
|
สีแหยะแหยะตอกตะบันเป็นควันฉิว |
ช้างถีบอย่าว่าเล่นกระเด็นปลิว |
แรงหรือหิวชั่งใจดูจะสู้ช้าง |
ล้องูเห่าเล่นก็ได้ใจกล้ากล้า
|
แต่ว่าอย่ายักเยื้องเข้าเบื้องหาง |
ต้องว่องไวในทำนองคล่องท่าทาง |
ตบหัวผางเดียวม้วนจึงควรล้อ |
ถึงเพื่อนฝูงที่ชอบพอขอกันได้
|
ถ้าแม้ให้เสียทุกคนกลัวคนขอ |
พ่อแม่เลี้ยงปิดปกเป็นกกกอ |
จบแล้วหนอเหมือนเปรตเหตุด้วยจน |
ถึงบุญมีไม่ประกอบชอบไม่ได้
|
ต้องอาศัยคิดดีจึงมีผล |
บุญหาไม่แล้วอย่าหลงทะนงตน |
ปุถุชนรักกับชังไม่ยั่งยืน |