เข้าใจความเครียดก่อนขจัดให้อยู่หมัด
แต่ละคนมีปัญหาที่ทำให้หนักใจแตกต่างกัน และทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้าเพื่อเอาชนะหรือฟันฝ่าไปให้ได้ เราจะรู้สึกต่อต้าน กดดันหรือกระอักกระอ่วนใจที่มาจากความไม่สัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ประเด็นปัญหาและวิธีลงมือแก้ไข และกลายเป็นความเครียดนั่นเอง ทั้งนี้ความเครียดน้อยๆ ทำให้ชีวิตมีสีสันเกิดแรงใจเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ความเครียดรบกวนจิตใจและสะสมเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ดังนั้นเพื่อให้ชีวิตคุณกลับมากระปรี้กระเปร่า เรามาทำความรู้จักถึงสาเหตุและหาวิธีขจัดความเครียดให้อยู่หมัดกันเลยค่ะ
สาเหตุของความเครียด
ความเครียดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ภาวะเครียดฉับพลัน ส่งผลรบกวนจิตใจเป็นเวลาสั้นๆ และคลี่คลายได้เมื่อปัญหาสิ้นสุดลง เช่น สภาพการจราจรที่คับคั่ง ค้นหาสิ่งของไม่เจอ เป็นต้น และภาวะเครียดสะสม ส่วนใหญ่เป็นความคิดที่ว่าไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ หรือแม้แต่ตัวเองก็ไม่สามารถควบคุมหรือแก้ไขปัญหาเช่นกัน เป็นความคาดหวังและยึดมั่นถือมั่นเกินพอดี หรือเป็นความกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญในกิจวัตรประจำวัน เช่น หน้าที่การทำงาน ชีวิตครอบครัว การเลี้ยงดูแลเด็กหรือดูแลผู้สูงอายุ ภาวะเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้อาจเป็นผลข้างเคียงมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ เช่น อาการก่อนการมีประจำเดือน (PMS) ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร โรคข้อเสื่อม ฯลฯ
สัญญาณบ่งบอกว่าเครียด
ความเครียดสามารถส่งสัญญาณเตือนทางร่างกายและจิตใจได้หลายรูปแบบ เช่น
* ปวดศีรษะ
* ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก หรือท้องเสีย
* อ่อนเพลีย
* หัวใจเต้นเร็ว
* อารมณ์ฉุนเฉียว ร้องไห้บ่อย
* นอนไม่หลับหรือนอนมากไป
* เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป เป็นต้น
วิธีจัดการความเครียดให้อยู่หมัด
คุณต้องยอมรับความจริงว่าทุกคนต่างก็มีปัญหาหนักใจกันทั้งนั้น ไม่มีใครที่สามารถควบคุมหรือจัดการให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นดั่งใจ และเพื่อขจัดความเครียดไม่ให้รบกวนกายใจไปมากกว่านี้ เรามีเทคนิคง่ายๆ ที่คุณก็ทำได้ คือ
* การเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นปัญหา หามุมสงบให้ตัวเองและใช้ความคิดพิจารณาว่าปัญหานี้มีสาเหตุจากอะไร ผลกระทบที่ได้คืออะไร และปัญหานี้เกินความสามารถของคุณในการจัดการหรือไม่ ซึ่งบางครั้งการปฏิเสธก็เป็นทางออกที่ดี หรือหากคิดจะเดินหน้าทำแล้วก็ค่อยๆ คิดและแก้ไขทีละส่วน อย่าบีบคั้นหรือสร้างความกดดันให้ตนเอง
* เล่าสู่กันฟังบรรเทาปัญหา หรือที่เรียกว่า “เปิดใจ” หากคุณรู้สึกว่าปัญหาเกินความสามารถของตนเองที่จะควบคุมหรือแก้ไข คุณควรหาผู้รู้เป็นที่ปรึกษา เช่น หัวหน้างาน สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนที่ยินดีรับฟังและอาจให้คำแนะนำดีๆ กลับมา
* ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้ดีขึ้น เช่น การจัดเก็บเอกสารให้เป็นระเบียบและทำความสะอาดโต๊ะทำงานให้น่านั่ง หาภาพวิวทิวทัศน์สวยๆ หรือหาดอกไม้ตั้งโต๊ะใส่แจกัน เพื่อผ่อนคลายสายตาและอารมณ์ ปรับตำแหน่งเก้าอี้หรือโต๊ะทำงานให้ได้ระดับปรับเปลี่ยนตารางการทำงานใหม่คือ ไม่ทำงานสายและไม่อยู่ทำงานจนดึกดื่น
* หาเวลาพักผ่อนบ้าง เพื่อเป็นการเติมพลังกายและใจในการต่อสู้กับปัญหาในอนาคต รวมถึงการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ชื่นชอบ การทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาส การทำงานอดิเรกร่วมกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ
* กินอาหารที่ต้านเครียด เพิ่มอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีกากใยสูงอย่างข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวเหนียว กรอย มัน ข้าวโพด ที่มีวิตามินบีและเซโรโตนินสูง และเพิ่มผักใบเขียวหรือผลไม้สีสดๆ ที่ให้วิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระและมีกากใยสูง แต่ลดปริมาณไขมัน เกลือ น้ำตาลลง งดดื่มชา กาแฟและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
* เข้าร่วมกิจกรรม ที่ต้องการกำลังใจจากคุณเพื่อต่อสู่กับปัญหาต่างๆ พวกเขาไม่ท้อแท้แล้ว คุณเองก็ได้รับกำลังใจเช่นกัน เพราะหากเทียบกันแล้วปัญหาของคุณอีกหลายเท่า ทำให้คุณรู้สึกว่าปัญหาที่ประสบอยู่เล็กน้อยไปเลย
* ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต หรือพบจิตแพทย์
ปัญหาทุกอย่างพร้อมที่จะวิ่งตามติดให้คุณแก้อย่างไม่จบสิ้น ดังนั้นอย่าเพิ่งเครียดจนทำร้ายร่างกายและจิตใจตนเองเลย ค่อยๆ คิดแก้ไขไปทีละเปราะย่อมดีที่สุดค่ะ
ขอบคุณที่มา : healthtoday.com / variety.mcot.net