สุริยุปราคาครั้งนี้เกิดในช่วงสายของวันพุธที่ 22 กรกฎาคม ตามเวลาประเทศไทย เส้นทางสุริยุปราคาเต็มดวงเริ่มต้นที่อินเดีย ผ่านประเทศจีน เกาะเล็ก ๆ ทางใต้ของญี่ปุ่น และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานกว่า 6 นาที ณ กึ่งกลางคราส (เปรียบเทียบกับสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยเมื่อปี 2538 ที่นานประมาณ 2 นาที) นับว่ายาวนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นสุริยุปราคาชุดซารอสเดียวกันกับสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2498 ซึ่งเห็นได้ในกรุงเทพฯ และสุริยุปราคาที่พาดผ่านเกาะฮาวายเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2534
เงามืดของดวงจันทร์เริ่มแตะผิวโลกตรงบริเวณชายฝั่งด้านทิศตะวันตกของประเทศอินเดียเมื่อเวลาประมาณ 7.53 น. ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นเคลื่อนไปทางตะวันออกอย่างรวดเร็ว ผ่านพื้นที่บางส่วนของเนปาล บังกลาเทศ ภูฏาน และตอนเหนือสุดของพม่า เข้าสู่ประเทศจีน ผ่านเฉิงตูในมณฑลเสฉวน และเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้
เงามืดลงสู่ทะเลจีนตะวันออก ผ่านเกาะเล็ก ๆ หลายเกาะทางตอนเหนือของหมู่เกาะริวกิวซึ่งอยู่ทางใต้ของญี่ปุ่น แล้วเริ่มบ่ายหน้าลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเกาะอิโวะจิมะ จุดที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดอยู่ในทะเลทางด้านตะวันออกของเกาะอิโวะจิมะด้วยระยะเวลานาน 6 นาที 39 วินาที โดยเกิดขึ้นในเวลา 9.29 น. ใกล้หมู่เกาะโอกะซะวะระ (หมู่เกาะโบนิน) ช่วงท้ายของปรากฏการณ์ เงามืดผ่านเกาะเล็ก ๆ หลายเกาะในหมู่เกาะมาร์แชล ก่อนจะสิ้นสุดเส้นทางคราสในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเวลา 11.18 น. บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย มหาสมุทรแปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นทางใต้ของอินโดนีเซีย ประเทศไทยเห็นสุริยุปราคาครั้งนี้เป็นชนิดบางส่วนในเวลาประมาณ 7.00 - 9.00 น. ภาคเหนือและตอนบนของภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งเว้ามากที่สุด
ขอบคุณ บ้านมหาดอทคอม