สำหรับนิตยสาร Astronomy ซึ่งเป็นนิตยสารทางด้านดาราศาสตร์ระดับหัวแถวฉบับหนึ่ง ได้คัดเลือก เหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ออกมา 10 เหตุการณ์ด้วยกัน ได้แก่
อันดับ 10 อุกกาบาตถล่มทังกัสกา
อุกกาบาตที่ระเบิด ณ ทังกัสกาเมื่อปี พ.ศ. 2451 สร้างความหวาดเสียวไม่ใช่น้อย เสียงดังจากการระเบิดได้ยินไปทั่วทวีปยุโรปทีเดียว การระเบิดครั้ง ดังกล่าวรุนแรงขนาดทำให้ป่าทั้งป่า ราบเรียบไปแต่ก็ไม่ทิ้งร่องรอยของหลุมอุกกาบาตไว้แต่อย่างใด เหตุการณ์ครั้งนี้คาดว่าเกิดจากการที่มีดาวหาง ขนาดเล็ก หรืออาจเป็นชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อย ที่แตกออกมาพุ่งฝ่าบรรยากาศโลก และเกิดการระเบิดขึ้นก่อนจะตกถึงพื้นโลก
ในช่วงศตวรรษนี้ เราสังเกตเห็นลูกไฟต่างๆ ได้หลายลูก ลูกหนึ่งที่เราเห็นในเวลากลางวัน คือเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ซึ่งมันเคลื่อนที่เข้า มาในบรรยากาศของโลกเหนือหุบเขา แกรนด์ เททัน และมีผู้ถ่ายภาพไว้ได้หลายคน นอกจากนี้ก็ยังมีลูกไฟ พีคสกิล ที่พุ่งผ่านเหนือรัฐเพนซิลวาเนีย และรัฐนิวยอร์ก แล้วพุ่งเข้าใส่รถยนต์คันหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ในศตวรรษหน้า จะมีการระเบิดหรือการชนครั้งมโหฬารเกิดขึ้น หรือไม่ ?
อันดับ 9 ออโรราปลายศตวรรษ
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 ท้องฟ้าของโลก มีมหกรรมแสดงแสงออโรราหรือแสงเหนือแสงใต้ ซึ่งเป็นครั้งที่มี ความงดงาม อย่างมาก แสงออโรราดังกล่าวเป็นผลจากการ ปลดปล่อยมวลสาร จากดวงอาทิตย์ซึ่ง ได้นำเอาอนุภาคพลังงานสูงมาทำปฏิกิริยากับบรรยากาศ ชั้นแมกเนโทสเฟียร์ของโลก แล้วทำให้เกิดเป็นแสงสีต่างๆ ณ บริเวณขั้วโลก การปลดปล่อยมวลสารจากดวงอาทิตย์นี้สามารถ รบกวนกระแสไฟฟ้าที่ บริเวณผิวโลกได้จนทำให้เกิดเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ ที่แคว้นควิเบกของ แคนาดาในปี พ.ศ. 2532 ส่งผลให้คนถึง 6 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นเวลา ถึง 6 ชั่วโมง
อันดับ 8 มหาจุดดับปี 2490
ดวงอาทิตย์เกิดจุดดับขนาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2490 ระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 12 เมษายน พื้นที่รวมของจุดดับดังกล่าวมีขนาด 6 พันล้านตารางไมล์ (15,000 ล้านตารางกิโลเมตร) คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของ พื้นที่ดวงอาทิตย์ที่เรามองเห็น หรือเทียบเท่ากับขนาดของโลกมากกว่า 100 ใบ จุดดับนี้เริ่มเกิดขึ้นจากกลุ่มจุดดับเล็กๆ ที่เริ่มสังเกตได้ในวันที่ 5กุมภาพันธ์ พอถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ กลุ่มจุดดับเหล่านั้นก็ใหญ่พอให้มองเห็นได้ด้วย ตาเปล่า เมื่อดวงอาทิตย์หมุนไปได้อีก 1 รอบตัวเอง กลุ่มจุดดับเหล่านั้น ก็ขยายใหญ่ขึ้นและคล้ายกับเป็นจุดเดียวกัน พอถึงวันที่ 30 มีนาคม กลุ่ม ดังกล่าวก็ยิ่งมีสภาพเหมือนจุด ๆ เดียวยิ่งขึ้นรวมทั้งแผ่ขยายขนาด กินพื้นที่อย่างมากมาย นั่นเป็นจุดดับที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น จนถึงวันนี้ก็ยัง ไม่มีจุดดับที่ใหญ่ขนาดนั้นอีกเลย
อันดับ 7 โนวาเพอร์ไซ
ศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษทองของโนวาก็ว่าได้ ในปี พ.ศ. 2461 มี โนวาอควิเล ซึ่งมีค่าความสว่าง -1.1 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 มีโนวา พัปพิส (ค่าความสว่าง 0.3) และในปี พ.ศ. 2518 เกิดโนวาซิกไน ซึ่งน่าจะเป็นโนวาที่อยู่ในความทรงจำมากที่สุด ถึงแม้ว่าโนวาเหล่านี้ จะน่าประทับใจ มากแต่ก็ยังไม่ใช่โนวาที่น่าพิศวง เท่ากับโนวาเพอร์ไซ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2444 ทอมัส แอนเดอร์สัน นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวสก็อต เป็นคนแรก ที่สังเกตเห็นโนวาเพอร์ไซ โดยเริ่มต้นที่ค่าความสว่าง 2 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2 วันถัดมาค่าความสว่างก็เปลี่ยนเป็น 0.2 (จัดเป็นโนวาที่สว่างที่สุดอันดับ 2 ในรอบ 100 ปี) แล้วก็จางหายไป อย่างรวดเร็วก่อนจะเปล่งสว่างขึ้นมาอีก โนวานี้จางแล้วสว่างสลับกันอยู่เช่นนี้ หลายสัปดาห์ แต่ความมหัศจรรย์ของมันก็ยังไม่จบ
ในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2444 นักดาราศาสตร์ต่างสนใจกับเนบิวลา รอบๆ โนวากันมากเป็นพิเศษ นักดาราศาสตร์สังเกตเห็นเหตุการณ์แปลกๆ ของ การขยายตัวของเนบิวลาด้วยความเร็วของแสง ต่อมาปรากฏการณ์นี้ ก็ได้รับการอธิบายว่าเกิดจาก แสงวาบที่โนวาเปล่งออกมาแล้วไปกระทบกับ ฝุ่นมืดของเนบิวลาจนสังเกตเห็นได้ ทุกวันนี้เราก็ยังเฝ้าสังเกตโนวาเพอร์ไซ อยู่ และเรารู้แล้วว่าโนวานี้เป็นดาวแปรแสงที่ชื่อ จีเค เพอร์ไซ
อันดับ 6 ตำแหน่งของดาวอังคารในปี พ.ศ. 2452
ในปี พ.ศ. 2452 ดาวอังคารโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง) อีกครั้งหนึ่ง และทำให้ปริศนาลึกลับเกี่ยวกับ คลองบนดาวอังคารได้รับการเปิดเผยออกมา ย้อนไปในปี พ.ศ. 2420 ถึงปี 2421 ซึ่งเป็นปีที่ดาวอังคารมาอยู่ในตำแหน่ง ตรงข้ามดวงอาทิตย์เช่นกันนั้น จีโอวานนี ชีอาพาเรลลี นักดาราศาสตร์ ชาวอิตาลี ได้เห็นเส้นพาดยาวๆ บนดาวอังคาร เขาเรียกมันในภาษาอิตาลีว่า canali ซึ่งเพี้ยนไปเป็น canals ในภาษาอังกฤษ (คำนี้หมายถึงคลอง) การค้นพบของเขากลายเป็นเรื่องราวอัศจรรย์พันลึก ประการหนึ่งของ การศึกษาดาวเคราะห์
ต่อมา เพอร์ซิวัล โลเวลล์ และผู้ร่วมงานของเขาซึ่งประกอบด้วย วิลเลียม เฮนรี พิคเคอร์ริง และแอนดรูซ์ เอลลิคอตต์ ดักลาส ก็ทำให้เกิดหัวข้อ ถก เถียงอันยิ่งใหญ่ เมื่อเขาพบเส้นเหล่านี้จำนวนมาก ไขว้กันเป็นตาข่าย ปี พ.ศ. 2449 โลเวลล์ก็ประกาศว่า เส้นที่เห็นนี้เป็นสิ่งก่อสร้างของชาวดาว อังคาร เพื่อใช้ในการลำเลียงน้ำจากบริเวณขั้วดาวมายังพื้นที่ใช้สอย สิ่งที่ตามมาก็คือ การถกเถียงในหมู่นักวิทยาศาสตร์ เช่น จอร์จ เอลเลอรี เฮล บอกว่า ไม่มีชิ้นส่วน รูปทรงเรขาคณิตมาเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายแต่อย่างใด เส้นที่เห็นเป็นเพียง จุดดำหลายๆ จุดที่อยู่ใกล้กันจนมองเห็นเป็นเส้น เราจะเห็นจุดนี้ได้ก็ด้วย กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่
จนกระทั้งถึงปี พ.ศ. 2452 ด้วยความละเอียดของเครื่องมือที่ดีขึ้น ประกอบกับความเชี่ยวชาญของ ยูจีน ไมเคิล แอนโทเนียดี ทำให้ปริศนานี้ เป็นอันยุติ เขาได้ใช้กล้องโทรทรรศน์หักเหแสงขนาด 32 นิ้วส่องดูดาวอังคาร สิ่งที่เขาพบก็คือ คลองปริศนานั้นได้หายไปเสียแล้ว การค้นพบนี้ อยู่เกิน ความสามารถของกล้องที่ชิอาพาเรลลีและโลเวลล์ใช้ ซึ่งต่อมาก็ได้รับ การยืนยันจากรูปถ่าย
อันดับ 5 การกลับมาของดาวหางฮัลเลย์ในปี พ.ศ. 2453
การศึกษาดาวหางในแง่วิทยาศาสตร์เพิ่งจะเริ่มต้นจริง ๆ ก็ในศตวรรษที่ 20 นี้เอง ดาวหางฮัลเลย์นั้นอาจจะไม่น่าตื่นเต้นมากมาย อย่างดาวหาง เฮลล์-บอพพ์ ดาวหางเฮียกกุตาเกะ ดาวหางเวสต์ หรือดาวหางสว่างๆ ดวงอื่นๆ แต่ดาวหางฮัลเลย์ก็มีความน่าสนใจในแง่ข้อมูลที่เราได้ จากดาวหาง ดวงนี้ หลังจากการมาเยือนของดาวหางฮัลเลย์ในปี พ.ศ. 2378 แล้ว กระบวนการ ในการศึกษาทางดาราศาสตร์ก็ก้าวหน้าไปเป็นลำดับ มีอุปกรณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เครื่องมือบันทึกภาพ และเครื่องสเปกโทรสโคปที่มีใช้ในปี พ.ศ. 2453 ช่วยให้เราเก็บข้อมูลจากดาวหางฮัลเลย์ได้มากกว่าข้อมูลเดิม ๆ หลายเท่า และข้อมูลมากมายเหล่านี้ก็ทำให้เกิดวิวัฒนาการ ทางแนวคิดเกี่ยวกับ องค์ประกอบของดาวหาง แต่ถึงแม้เราจะได้ข้อมูลสเปกตรัมจาก ดาวหางฮัลเลย์ในปี พ.ศ. 2453 นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีทฤษฎีที่เหมาะสม ในการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น
อันดับ 4 พายุดาวตกเลโอนิดส์ปี พ.ศ. 2509
ทุก ๆ ปี โลกของเราจะเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในกระแส ของเศษชิ้นส่วนของ ดาวหางเทมเพล-ทัตเทิลที่หลงเหลือ อยู่ในอวกาศ ดาวหางดวงนี้โคจร รอบดวงอาทิตย์ 1 รอบในเวลา 33 ปี ดังนั้นใน 1 ศตวรรษ เราจะต้องผ่านเข้าไป ในแนวโคจรของดาวหาง 3 ครั้ง เมื่อตอนเช้าของวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 โลกของเราผ่านเข้าไปในแนวดังกล่าวชั่วเพียงเวลาสั้น ๆ แล้วทำให้ ท้องฟ้าของเราเต็มไปด้วยฝนดาวตกจำนวนมากจนนับจำนวน ได้ ลำบาก มีผู้สังเกตคนหนึ่งรายงานว่า มีดาวตกมากถึง 50,000 ดวงในช่วงเวลา 20 นาที ในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่ซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาวและ มีหิมะปกคลุม ลูกไฟบางลูกจากพายุดาวตกนี้สว่างมากขนาด ที่ทำให้เกิด เงาบนหิมะ เหล่านั้นทีเดียว
อันดับ 3 สุริยคราสเต็มดวงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2462
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ปรากฏการณ์สุริยคราสเต็มดวงที่ยาวนานที่สุด ซึ่งกินเวลา 7 นาที 8 วินาทีนั้น เกิดขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2498 แต่สุริยคราสในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 กลับเป็นสุริยคราสที่เด่นจน ข่มสุริยคราสที่ยาวนาน ในปี พ.ศ. 2458 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คิดทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปได้สำเร็จ ทฤษฎีนี้ช่วยอธิบายว่า วัตถุที่มีมวลมากๆ จะมีผลอย่างไรกับการบิดเบี้ยว ของอาณาบริเวณรอบ ๆ ตัวมัน ไอน์สไตน์ทำนายไว้ว่า ทางเดินของแสง ที่เคลื่อนผ่านเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์ของเรา จะเกิดการบิดเบี้ยวเนื่องจาก สนามโน้มถ่วงบริเวณนั้น และทำให้ระยะทางปรากฏเชิงมุมระหว่าง ดวงอาทิตย์กับดาวฤกษ์ในแนวนั้นเพิ่มขึ้น 1 พิลิปดา และเนื่องจาก ปรากฏการณ์ สุริยคราสเต็มดวงเป็นโอกาสที่ดีใน การบันทึกภาพดวงดาว ที่อยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ ไอน์สไตน์จึงกระตุ้น ให้นักดาราศาสตร์ ทำการทดลอง พิสูจน์ทฤษฎีของเขา
อันดับ 2 ซูเปอร์โนวา 1987 A
ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 เกิดซูเปอร์โนวาที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เป็นครั้งแรกในรอบ 383 ปี ซูเปอร์โนวาดังกล่าวมีชื่อว่า ซูเปอร์โนวา 1987 A เป็นซูเปอร์โนวาที่เกิดจากการระเบิดของดาวยักษ์น้ำเงิน แซนดูลีค -69o202 ที่มีมวลขนาด 20 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ซึ่ง เอียน เชลทัน สามารถบันทึกภาพไว้ได้ โดยใช้กล้องจากหอดูดาวลาส แคมพา-นาส ในชิลี และเราก็ยังเก็บหลักฐานการเกิดซูเปอร์โนวานี้ได้อีกนาน
หลังจากนั้นโดยอาศัยเครื่องตรวจจับอนุภาค นิวตริโนใต้ดิน ทั้งในสหรัฐอเมริกา และในญี่ปุ่น (นับเป็นครั้งแรกด้วยที่ สามารถตรวจหาร่องรอยการหด ตัวของแกนกลางดาวฤกษ์ได้) หลังจากนั้น กล้องดูดาวในอวกาศก็สามารถตรวจพบรังสีแกมมาที่เกิด จากธาตุกัมมันตรังสี ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการ หดตัวของแกนกลาง ดาวฤกษ์ ข้อมูลเหล่านี้เป็น เครื่องยืนยันทฤษฎีที่ว่า ซูเปอร์โนวาเป็นตัวผลิตธาตุหนักมากมายที่เราพบบนโลก
อันดับ 1 ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 ชนดาวพฤหัสบดี
ในระหว่างวันที่ 16-22 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ชิ้นส่วน 21 ชิ้น ที่แตกออกมาจากดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 ซึ่งมองเห็นครั้งแรก คล้ายกับสร้อยไข่มุก เมื่อปี พ.ศ. 2536 ก็ได้พุ่งเข้าชนดาวพฤหัสบดี ด้วยความเร็วกว่า 60 กิโลเมตรต่อวินาที ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นพุ่งฝ่า บรรยากาศโจเวียนเร็วยิ่งกว่าลูกกระสุนปืน ความร้อนเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการระเบิดและขยายตัวของก๊าซในบรรยากาศ ของดาวพฤหัสบดีและของดาวหางเอง การระเบิดทำให้เกิดฝุ่น
ดาวหาง ปกคลุมสูงขึ้นมาเหนือเมฆในชั้นบรรยากาศโจเวียนถึง 3,000 กว่ากิโลเมตร เมื่อถึงกลางสัปดาห์นั้น เราก็เห็นจุดดำปรากฏขึ้น ที่ดาวพฤหัสบดี มองดูคล้ายกับดวงตา 2 ดวงมองตรงมาที่โลก การชนที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นจากชิ้นส่วน G ซึ่งมีความรุนแรง เทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 6 ล้านตัน ถ้า โลกของเราโดนชนระดับนี้ก็จะเหลือร่องรอยเป็นหลุมอุกกาบาต ขนาดหน้าตัด 60 กิโลเมตรทีเดียว
http://www.neutron.rmutphysics.com