"ขมิ้นชัน” ...เป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างหลากหลาย เป็นทั้งเครื่องเทศ สมุนไพร หรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันตลาดทั้งภายในและต่างประเทศมีความต้องการขมิ้นชันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการใช้สรรพคุณทางยาและเครื่องสำอาง ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกขมิ้นชัน เพื่อการค้าแพร่หลายมากขึ้น โดยมีพื้นที่ปลูก 5,000-6,000 ไร่ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้ผลผลิตประมาณ 10,000-12,000 ตัน ขณะที่ราคาก็อยู่ในเกณฑ์สูง โดยหัวสดซื้อขายที่ราคากิโลกรัม ละ 10-50 บาท หัวแห้ง (ทั้งหัว) 30-150 บาท/กิโลกรัม หัวหั่นเป็นแว่นแห้ง 60-150 บาท/กิโลกรัม และผงขมิ้นชันแห้ง 80-150 บาท/กิโลกรัม
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรม วิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการที่นัก วิจัยของศูนย์วิจัยพืชสวนตรังได้ศึกษาวิจัย พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ขมิ้นชันมาตั้งแต่ปี 2541 เพื่อให้ได้พันธุ์ขมิ้นชันที่เหมาะสมในการบริโภค ให้ผลผลิตสูง และมีสารสำคัญคือ เคอร์คูมินอยด์ ไม่ ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด คือ 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังมุ่งให้มีน้ำมันหอมระเหยไม่ต่ำกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเป็นการค้าป้อนตลาด ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวได้
ขณะนี้การปรับปรุงพันธุ์ขมิ้นชันพันธุ์ใหม่ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่ง คณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ได้พิจารณา เห็นชอบให้เป็นพันธุ์แนะนำชื่อ “ขมิ้นชันพันธุ์ตรัง 2” โดยขมิ้นชันพันธุ์นี้มีความสูงของต้นประมาณ 0.8-1.1 เมตร หลังปลูก 9 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยว ผลผลิตจำหน่ายได้ ให้ผลผลิตหัวสดในภาคใต้ประมาณ 2.59 ตัน/ไร่ นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นที่มีสารสำคัญเคอร์คูมินอยด์เฉลี่ย 11.04 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานยาสมุนไพรไทย 120.80 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำมันหอมระเหยเฉลี่ย 7.78 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่ามาตรฐานยาสมุนไพรไทย 29.67 เปอร์เซ็นต์ เนื้อในหัวมีสีส้มแกมแดง
ขมิ้นชันพันธุ์ตรัง 2 นี้ สามารถปลูกได้ในเขตภาคใต้และปลูกได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีดินร่วนปนทราย หรือดินที่มีการระบายน้ำดี อุณหภูมิเฉลี่ย 27-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 70-80 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,500-2,000 มิลลิลิตร/ปี อย่างไรก็ตาม เกษตรกร ไม่ควรใช้ส่วนขยายพันธุ์ (หัวและแง่ง) ที่มาจากแหล่งที่เป็นโรคเหี่ยวและโรคโคนเน่า เพราะจะทำให้ขมิ้นชันที่ปลูกอยู่เดิมติดโรคโคนเน่าหรือโรคเหี่ยวได้ง่าย และเกิดการสะสมโรคในแหล่งปลูกด้วย
ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชสวนตรังได้เร่งเพาะขยายพันธุ์ขมิ้นชันตรัง 2 เพื่อเพิ่มปริมาณมากขึ้น ขณะเดียวกันยังได้ส่งหัวและแง่งขมิ้นชันตรัง 2 ให้กับสถาบันวิจัยพืชสวนและศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เพื่อขยายพันธุ์โดยใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมรองรับความต้องการเกษตรกรที่จะนำขมิ้นชันพันธุ์นี้ไปปลูกเชิงการค้าในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับ “ขมิ้นชันพันธุ์ตรัง 2” สามารถสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง จังหวัดตรัง โทร. 0-7521-1133 หรือ 0-7520-3248 ทุกวัน ในเวลาราชการ.