|
สุริยุปราคาบางส่วน (เครดิตภาพ : สดร.) |
|
|
สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse)
เกิดจากตำแหน่งของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ไม่ได้อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันขณะเกิดสุริยุปราคา ทำให้มองเห็นเฉพาะเงามัวของดวงจันทร์ทอดผ่านพื้นโลก ณ บริเวณนั้น และภายในเงามัวนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังไปเพียงบางส่วนเท่านั้น เราจึงมองเห็นดวงอาทิตย์มีลักษณะเว้าแหว่ง ปรากฎการณ์นี้ยังสามารถเห็นได้ตลอดตามเส้นทางที่เกิดสุริยุปราคาวงแหวน หรือสุริยุปราคาเต็มดวง
* ข้อมูลจากคู่มือสุริยุปราคาในประเทศไทย ปี 2552-2553 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000080630
เตรียมพร้อมต้อนรับ "สุริยุปราคา" แห่งศตวรรษ
แม้ว่าใต้ฟ้าเมืองไทย เราจะไม่ได้เห็น "สุริยุปราคาเต็มดวง" แต่ปรากฏการณ์สุริยคราสที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.ค.นี้ นับเป็นปรากฏการณ์แห่งศตวรรษ ที่เงามืดจะบดบังดวงอาทิตย์ยาวนานที่สุดในช่วง 100 ปี ดังนั้นการได้เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ แม้เป็นเพียงการชม "สุริยุปราคาบางส่วน" จึงนับว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ
ในวันที่ 22 ก.ค.52 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาบางส่วน" เหนือฟ้าเมืองไทย โดยเริ่มต้นในช่วงเช้าประมาณ 07.00 น. แล้วสิ้นสุดปรากฏการณ์ในช่วงประมาณ 09.00 น.
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสุริยุปราคาเต็มดวงในชุดซารอส (Saros) ที่ 136 ซึ่งเป็นชุดซารอสที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงยาวนานที่สุด โดยแนวคราสเต็มดวงจะพาดผ่านประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และบริเวณที่คราสเกิดยาวนานที่สุดคือบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เป็นเวลา 6 นาที 39 วินาที นับว่าครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ ชุดซารอสหมายถึงชุดของการเกิดคราสทุกๆ 18 ปี ซึ่งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งเดิมทุกๆ 18 ปี ดังนั้นคราสที่เกิดขึ้นทุกๆ 18 ปีจะมีลักษณะใกล้เคียงกันทั้งเวลาที่เกิด รูปแบบและระยะเวลาของการเกิดคราส ส่วนสุริยุปราคายาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 20 เห็นได้ในเมืองไทยเมื่อปี 2498 โดยเห็นคราสเต็มดวงยาวนานถึงราว 7 นาที ซึ่งตามทฤษฎีเกิดคราสเต็มดวงยาวนานที่สุดได้ 7.31 นาที
เนื่องจากการมองดวงอาทิตย์โดยตรงทำร้ายดวงตาจนถึงขั้นตาบอดได้ ดังนั้นทีมข่าววิทยาศาสตร์จึงรวบรวมวิธีชมสุริยุปราคาที่เหมาะสมมานำเสนอ
- แผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar filter)
แผ่นกรองแสงหรือแว่นตาที่สร้างขึ้นมาสำหรับดูดวงอาทิตย์ ช่วยกรองแสงอาทิตย์จนสามารถส่องดูได้อย่างปลอดภัย โดยประกบอุปกรณ์ที่ดวงตาก่อนจะเงยหน้าชมดวงอาทิตย์
- หน้ากากเชื่อมเหล็ก
ถ้าบ้านใกล้เรือนเคียงทำกิจการเชื่อมเหล็ก ก็สามารถขอหยิบยืมใช้ส่องดวงอาทิตย์ได้ เพราะหน้ากากเชื่อมเหล็กสามารถป้องกันอันตรายจากแสงอาทิตย์ ได้เช่นเดียวกับแว่นตาดูดวงอาทิตย์
หันซีดีด้านนี้เข้าหาดวงอาทิตย์ แล้วมองปรากฎการณ์ผ่านบริเวณที่ไม่มีตัวหนังสือ
- แผ่นซีดี
ของง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวอย่างแผ่นซีดีหรือดีวีดีก็ใช้ดูดวงอาทิตย์ได้ดี เพียงหันด้านบันทึกข้อมูลเข้าหาตัว แล้วมองดวงอาทิตย์ผ่านบริเวณที่ไม่มีตัวหนังสือ หรือมองผ่านบริเวณไม่มีลวดลาย ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รับรองว่าปลอดภัย เนื่องจากแผ่นซีดีสามารถป้องกันรังสีอินฟราเรดที่เป็นอันตรายต่อดวงตาได้
แต่ระวัง! อย่ามองดวงอาทิตย์ผ่านช่องตรงกลางซีดี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยมากขึ้น แนะนำว่าให้หาวัสดุดำทึบมาปิดช่องตรงกลางไว้
- กล้องรูเข็มดูสุริยุปราคาทางอ้อม
เราประดิษฐ์กล้องรูเข็มได้ง่ายๆ โดยเจาะรูเล็กๆ ที่แผ่นกระดาษแล้วใช้รับแสงอาทิตย์ พร้อมใช้ฉากรับแสงที่ส่งผ่าน โดยเราจะเห็นเป็นภาพหัวกลับ เมื่อเกิดสุริยุปราคาเงาของคราสที่บังดวงอาทิตย์จะปรากฏบนฉาก ซึ่งถ้าฉากรับภาพอยู่ใกล้รูเข็มจะได้ภาพขนาดเล็กสว่างมากและมีขอบคมชัด แต่ถ้าฉากรับภาพอยู่ไกลออกไปจากรูเข็มจะเห็นภาพดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ขึ้น แต่ขอบภาพจะมัวและสว่างน้อยลง
- ฝ่ามือประสานกัน
วิธีง่ายๆ ใกล้ตัวที่สุด ใช้โดยให้มีช่องว่างเล็กน้อยพอให้แสงผ่านได้ เมื่อเกิดสุริยุปราคาจะเกิดเงาคคล้ายคราสบังดวงอาทิตย์เช่นกัน นอกจากนี้เราอาจสังเกตแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านใบไม้ ซึ่งจะเกิดเงาที่คล้ายคราสบังดวงอาทิตย์เช่นเดียวกัน
- กระจกเงาสะท้อนคราส
ทำได้โดยเจาะกระดาษเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ปิดที่กระจก แล้วใช้รับแสงอาทิตย์ โดยให้เงาสะท้อนไปตกกระทบที่ฉากรับภาพ
ตัดกระดาษเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ปิดทับกระจกทั้งบาน
ใช้กระจกเงาซึ่งปิดทับด้วยกระดาษที่ตัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ สะท้อนแสงอาทิตย์ให้ตกลงที่ฉาก
ได้ภาพดวงอาทิตย์ตกกระทบที่ฉาก
ภาพแสดงเส้นทางพาดผ่านของแนวคราสสุริยุปราคาวันที่ 22 ก.ค.นี้ โดยแถบสีน้ำเงินเป็นบริเวณที่เห็นคราสบังเต็มดวง ส่วนบริเวณอื่นรวมทั้งประเทศไทยอยู่ในแนวเส้นสีฟ้าเห็นคราสบางส่วน เส้นสีชมพูเป็นบริเวณจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดปรากฏการณ์
เมื่ออุปกรณ์พร้อมแล้ว เพื่อให้การดูสุริยุปราคาในวันที่ 22 ก.ค.ไม่เงียบเหงาจนเกินไป สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศจัดกิจกรรมในวันที่เกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคา โดยจะมีการตั้งกล้องดูดวงอาทิตย์ แจกแว่นตา นิทรรศการการเกิดสุริยุปราคา ตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้
ภาคกลาง – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเทพศิรินทร์
ภาคเหนือ - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร
ภาคตะวันออก – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปตั้งกล้องที่ จ. ระยอง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ภาคใต้ - มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสมาคมดาราศาสตร์ไทย และ สดร. จัดกิจกรรมวันสุริยุปราคา ณ บริเวณวงเวียน 22 กรกฎาฯ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.
นักเรียนฝึกใช้แว่นตาดูดวงอาทิตย์ก่อนชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเมื่อ 26 ม.ค.52 บริเวณล้านหน้าท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ซึ่งจัดกิจกรรมโดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย
นักเรียนชมสุริยุปราคาบางส่วน เมื่อวันที่ 26 ม.ค.52 ที่ผ่านมา ผ่านกรองที่ปิดแผ่นกรองแสงอาทิตย์แล้ว ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดกิจกรรมโดย ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา)
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) พร้อมด้วยโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนเมื่อวันที่ 26 ม.ค.52 ที่ผ่านมา ตั้งกล้องโทรทรรศน์ซึ่งติดอุปกรณ์กรองแสง สำหรับสังเกตปรากฏการณ์
สะดวกจะดูที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือตามสถานที่จัดงานต่างๆ ใกล้ที่ไหนไปกันได้
แต่ขอย้ำอีกครั้งสุดท้ายว่า ไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาที แม้จะใช้แว่นสำหรับดูโดยเฉพาะก็ตาม และควรพักสายตาสักครู่ ก่อนดูต่อไป.
|
*** ไม่แนะนำ ***
กระจกรมควัน, ฟิล์มเสีย
แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถสังเกตปรากฎการณ์สุริยุปราคาได้ ไม่ว่าจะเป็น กระจกรมควัน, ฟิล์มกรองแสงรถยนต์ และฟิล์มถ่ายรูปที่เสียแล้วนำมาซ้อนกันหลายๆ ชั้น ถ้าเราจัดการได้ไม่ดี อาจมีรอยขีดข่วน หรือรมควันได้ไม่สม่ำเสมอ นั่นจะส่งผลโดยตรงต่อดวงตาของเรา ทำให้ได้รับอันตรายจากรังสีของดวงอาทิตย์ได้
แว่นกันแดด, กล้องสองตา, กล้องถ่ายภาพ, ตาเปล่า
การมองดูดวงอาทิตย์โดยตรงด้วยตาเปล่า รวมทั้งการมองผ่านแว่นตากันแดด และแม้กระทั่งมองผ่านกล้องต่างๆ นั้น ล้วนทำให้ตาบอดได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงเสี้ยวบางๆ ของดวงอาทิตย์
|
ตารางข้อมูลการเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในแต่ละพื้นที่ของไทย
จังหวัด |
เริ่มบัง (น.) |
บังมากที่สุด (น.) |
สิ้นสุดการบัง (น.) |
% การบดบัง |
เชียงราย |
07.02 |
08.04 |
09.14 |
69.0 |
อุบลราชธานี |
07.09 |
08.10 |
09.19 |
45.4 |
กาญจนบุรี |
07.05 |
08.02 |
09.06 |
44.5 |
กรุงเทพฯ |
07.06 |
08.03 |
09.08 |
42.2 |
ภูเก็ต |
07.13 |
08.01 |
08.55 |
23.2 |
นราธิวาส |
07.20 |
08.06 |
08.57 |
16.6 |
* ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
|
|