นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ว่า สามารถป้องกันได้ 2 วิธีคือ การฉีดวัคซีนและการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งระบบภูมิต้านทานโรคที่ประชาชนมีอยู่ทุกคนอยู่แล้ว แต่อาจมากน้อยแตกต่างกันตามระดับความแข็งแรงและอายุ จึงแนะนำให้ประชาชนไทยที่ไม่เจ็บป่วยใดๆ ใช้วิธีการออกกำลังกายแทนการพึ่งวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งวิธีนี้ทำได้ง่ายและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า จากการทบทวนวิชาการ พบการออกแรงหรือออกกำลังกาย จะช่วยสร้างภูมิต้านทานได้ดี ลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจได้ โดยต้องออกกำลังแบบแอโรบิค ด้วยความแรงระดับปานกลาง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิต้านทานในทางที่ดีขึ้น การออกกำลังแต่ละครั้งก็ช่วยเสริมฤทธิ์ของระบบภูมิต้านทานในการเฝ้าระวังดักจับกินเชื้อโรค ซึ่งในระยะยาวปรากฏว่าช่วยลดโอกาสของการติดเชื้อลงได้
ตรงกันข้ามหากออกกำลังหักโหมหรือรุนแรง หรือออกกำลังเป็นเวลานานกว่า 90 นาที จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเครียดและสารซัยโตคายน์ (Cytokines) ซึ่งมีฤทธิ์กดภูมิต้านทานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายลดลง โดยจะลดลงภายหลังออกกำลังกายอย่างหักโหมประมาณ 3-72 ชั่วโมง ทำให้เกิดช่องว่างที่เชื้อไวรัสและแบคทีเรียรุกเข้าโจมตีร่างกายได้ง่าย
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ป่วยหรือมีไข้ อดนอน กินอาหารไม่ได้ ไม่ควรออกกำลังกาย เนื่องจากกำลังอยู่ในภาวะที่ร่างกายต่อสู้กับโรคภัย หากออกกำลังกายเสริมไปอีก จะเป็นการเพิ่มความเครียดให้ร่างกาย ทำให้หัวใจ ปอดทำงานหนักขึ้น ทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย
ประชาชนทุกเพศทุกวัย สามารถออกกำลังกายได้หลายวิธี ได้แก่ การออกกำลังแบบแอโรบิค อย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบภูมิต้านทานของร่างกายในการต้านทานเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งสามารถทำได้เองหรือรวมเป็นกลุ่มก็ได้ หรือใช้วิธีการเดินในระยะทาง 4,00 เมตร ให้ได้ 6 - 7 รอบภายในเวลา 30 นาที
ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลัง ควรเริ่มเดินประมาณ 5-10 นาที ประมาณ 3 วันต่อสัปดาห์แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาต่อวันในแต่ละสัปดาห์ขึ้นเรื่อย ๆ แล้วจึงค่อย ๆเพิ่มความเร็ว จนท้ายที่สุดสามารถสาวเท้าเดินเร็วได้ 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ การออกกำลังนอกจากช่วยเสริมระบบภูมิต้านทานแล้ว ยังช่วยลดโอกาสการเป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และเต้านม น้ำหนักเกินและอ้วน และยังช่วยให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมีสุขภาพดีขึ้นและควบคุมอาการโรคได้ด้วย
นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่หลากหลายและได้สัดส่วน การลดความเครียด การหลีกเลี่ยงภาวะร่างกายอ่อนล้าเรื้อรัง และการนอนหลับที่พอเพียง เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเสริมระบบภูมิต้านทานด้วย นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำเกินไป และการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้ระบบภูมิต้านทานลดลง จึงควรลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ข้อมูลจาก :: กรุงเทพธุรกิจ