จัดสวนสวยช่วยประหยัดพลังงาน
มนุษย์กับธรรมชาติอยู่คู่กันมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนที่โลกจะวิวัฒนาการ จากป่าดงดิบมาสู่ป่าคอนกรีต ปัจจุบันมนุษย์เริ่มร่ำร้องขวนขวายหาธรรมชาติ หาป่าเขาลำเนาไพรให้เข้ามาอยู่ใกล้ตัวให้มากที่สุด จากสภาพเศรษฐกิจ และสังคม เราทำได้เพียงเสี้ยวน้อยนิด ในการดึงธรรมชาติเข้ามาอยู่ใกล้ๆ สวนเป็นเสมือนตัวแทนของธรรมชาติที่เราสามารถสร้างสรรค์ ได้ในที่พักอาศัย ไม่ว่าที่พักอาศัยนั้นจะกว้างใหญ่ไพศาล หรือคับแคบเพียงไม่กี่ตารางเมตร “สวน” อาจประกอบด้วยพรรณไม้หลากหลายพันธุ์ บ่อน้ำ ลำธาร ศาลาพักร้อน หนทางเดินคดเคี้ยว หรือสวนอาจมีแค่ต้นไม้สัก 2-3 ต้น อ่างน้ำเล็กๆ สักใบ เก้าอี้สักหนึ่งตัว เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับพักอิริยาบท พักใจให้คลายเครียด ไม่ว่าคุณจะมีพื้นที่ขนาดเล็กเท่าใด ไม่เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์สวน ให้กับชีวิตของคุณเลย นอกจากนี้ เราอาจจะนึกไม่ถึงว่า สวนที่เราจัดเพื่อความสวยงามเพลิดเพลิน ยังจะทำให้เกิดความร่มรื่น และช่วยประหยัดพลังงานภายในบ้านได้อีกด้วย
ประโยชน์ของการจัดสวนช่วยประหยัดพลังงาน
1.ได้ออกกำลังกาย การดูแลสวนเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง
2. คลายเครียด การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สดชื่นด้วยไม้ดอก ไม้ใบ ทำให้จิตใจ ชุ่มชื่น ผ่อนคลายความเครียดจากการงานได้มากทีเดียว
3.เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัว การที่คนในครอบครัวช่วยกันทำสวน ดูแลสวนร่วมกันทำให้ได้ พบปะสนทนาเป็นการเพิ่มความรักความใกล้ชิดในครอบครัวให้มากยิ่งขึ้น
4.ทำให้บ้านของเราสวยงามน่าอยู่ ไม่จำเป็นต้องออกไปหาความสบายนอกบ้าน ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และประหยัดพลังงาน
5.ประหยัดพลังงาน สวนช่วยให้เกิดความร่มรื่น การปลูกต้นไม้บังบ้านด้านที่รับแดด ผนังก็จะไม่ร้อนส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง ไม่ต้องพึ่งพาพัดลมทำให้ประหยัด พลังงานภายในบ้าน จากงานวิจัยพบว่า ต้นไม้ขนาดใหญ่ 1 ต้น จะช่วยให้อุณหภูมิลดลงประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดความร่มรื่นเย็นสบาย เมื่อเวลาเราเดินในสวนสาธารณะ
6.ต้นไม้สามารถให้ร่มเงาแก่พื้นคอนกรีต ทำให้ความร้อนไม่สะสมอยู่ในพื้น เมื่อลมพัดผ่านก็จะไม่นำความร้อนเข้ามาสู่บ้าน ทำให้บ้านเย็นสบาย
หลักการและแนวคิดในการจัดสวน
สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นความรู้ด้านศิลปะ อาจลังแลในการจัดวางองค์ประกอบในสวน แต่ถ้าศึกษาด้วยตนเองหรือจดจำจากตัวอย่าง ในหนังสือเกี่ยวกับสวน ไม่ช้าก็สามารถเรียนรู้จากการทดลองทำ เริ่มจากสวนในบ้านของตัวเอง เป็นการฝึกจะพบว่า ไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่สำคัญ คือ การเลือกพันธุ์ไม้ที่มีธรรมชาติ หรือความต้องการ ดิน น้ำ แสง เหมือนๆ กัน มาปลูกรวมกัน ต้นไม้ก็จะอยู่รอดอย่างงดงามได้ สิ่งสำคัญอันดับต่อไปคือ การจัดการเรื่องระบบรดน้ำ และระบบระบายน้ำ
จัดให้มีก๊อกน้ำเพียงพอและสะดวกในการรดน้ำ ทำรางระบายน้ำ ป้องกันการเกิดน้ำท่วมขัง การบำรุงรักษาต้องสม่ำเสมอ มีการให้ปุ๋ยทุกๆ เดือน และไม่ควรใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นส่วนมากเพราะจะทำให้ดินไม่แข็งเป็นก้อน
ควรหลีกเลี่ยงยาฆ่าแมลง หากไม่จำเป็น หรือใช้ยาฆ่าแมลงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น สะเดา สวนที่ดีต้องมีความปลอดภัยทั้งกลางวันและกลางคืน ดังนั้น ควรมีแสงสว่างเพียงพอในยามค่ำคืน เพื่อป้องกันทรัพย์สินและสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ
ทางเดินในสวนควรใช้ วัสดุที่ไม่เรียบจนลื่น ไม่หยาบจนเดินลำบาก “หลักการที่แนะนำนี้ใช้ได้กับสวนทุกประเภท”
หลักการเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับทิศ
การเลือกตำแหน่งปลูกต้นไม้แต่ละชนิด ควรเรียนรู้ให้รู้ชัดว่าต้นไม้แต่ละชนิดต้องการน้ำ และแสงมากน้อยแค่ไหน ตำแหน่งที่ควรปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา คือทิศใต้ และทิศตะวันตก ซึ่งมีแดดจัด แต่หากปลูกต้นไม้จนทึบ ก็จะทำให้ลมไม่เข้าบ้าน เพราะลมพัดมาจากทิศใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ เนื่องจากดวงอาทิตย์จะอ้อมไปทาง ด้านทิศเหนือเพียงปีละ 4 เดือนเท่านั้น ส่วนอีก 8 เดือน ดวงอาทิตย์จะอ้อมทางด้านทิศใต้ดังนั้นการเข้าใจตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะเป็นการทำให้ต้นไม้ ได้รับแสงอาทิตย์อย่างเพียงพอ
ทิศเหนือ
ถ้าหากอาคารมีความสูงมากกว่าหนึ่งชั้น หรือ ประมาณ 6 เมตร เงาของบ้านจะทำให้ต้นไม้ที่ปลูกอยู่ใกล้บ้านได้รับแสงแดดน้อยหรือไม่ได้รับแสงเลย ควรเลือกพันธุ์ไม้ที่ชอบร่มรำไร เช่น จั๋ง สาวน้อยประแป้ง เขียวหมื่นปี พลูชนิดต่างๆ และพันธุ์ไม้ ประเภทไม้ใบอยู่ในที่ร่มได้ สำหรับพันธุ์ไม้คลุมดิน ที่ชอบร่ม ได้แก่ พลูเลื้อยต่างๆ พลูกำมะหยี่ พลูทอง เฟิน สวีดีชไอวี่ ดีปลี ไม้ตระกูลหนวดปลาดุก เปปเปอร์ และลิ้นมังกรชนิดต่างๆ
ทิศใต้
เป็นทิศที่แดดเข้าตลอดวัน และเกือบตลอดปี เพราะประเทศไทยพระอาทิตย์อ้อมใต้เป็นเวลานาน การใช้ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา จึงเป็นทางป้องกันอย่างหนึ่ง ดังนั้นพันธุ์ไม้ที่เลือกปลูกจึงควรมีใบทึบข้างบนและโปร่งด้านล่าง เพื่อให้ลมพัดผ่านเข้าบ้านได้พันธุ์ไม้ที่ให้ร่มเงา และใบไม่ร่วงได้แก่ กระทิง สารภี มะฮอกกานี มะขาม แคแสด สำหรับพันธุ์ไม้ที่ให้ดอกสวยงาม แต่ผลัดใบทั้งต้นในบางฤดูได้แก่ กัลปพฤกษ์ กระพี้จั่น เสลา คูน หางนกยูง เหลืองอินเดีย เป็นต้น พันธุ์ไม้ดอกหอมที่ควรปลูกด้านนี้ ได้แก่ จำปี จำปา บุหงาส่าหรี โมก พิกุล ประยงค์ แก้ว กันเกรา ปีป ตีนเป็ดน้ำ ลำดวน
ทิศตะวันตก
ทิศนี้ได้รับแดดจัดตลอดบ่าย ควรปลูกไม้ที่ให้ร่มเงา อาจเป็นพันธุ์ไม้ที่ให้ดอกตามฤดูกาล เช่น เสลา คูน กัลปพฤกษ์ ประดู่แดงประดู่อินเดีย พันธุ์ไม้ทิศนี้จะทำหน้าที่กันแดดช่วงบ่าย ซึ่งร้อนแรงทำให้ผนังบ้านด้านนี้เย็น และช่วยประหยัดพลังงานในเวลาค่ำคืน ซึ่งถ้าที่บ้านมีพื้นที่ไม่มากพอที่จะปลูกไม้ใหญ่ให้ร่มเงา อาจใช้อโศกอินเดีย หมากเขียว หมากเหลือง กล้วยพัด ก็เหมาะสมดี หากพื้นที่น้อยอาจใช้พันธุ์ไม้ไต่หรือเกาะผนัง เช่น ตีนตุ๊กแก ดีปลี หรือพลูบางชนิดก็ช่วยกันแดดได้ดีขึ้น
ทิศตะวันออก
ทิศนี้จะได้รับแดดครึ่งวัน หลังเที่ยงไปแล้วจะได้รับร่มจากตัวบ้าน ควรปลูกไม้ที่ไม่ต้องการแดดตลอดวัน เช่น ไผ่
(ใบจะร่วงน้อยถ้าได้แดดเช้า) หรือพันธุ์ไม้ที่มีใบละเอียด หรือใบเล็ก จะดูสวยงามมาก เมื่อมองผ่านแดดเช้า ได้แก่ ปีปเลี่ยน โมก พู่ชมพู มะขามป้อม หลิวจีน ชิงชัน ไผ่เลี้ยง อรพิม เป็นต้น ไม้พุ่มได้แก่ ฤษีผสม ซัลเวีย ปีโกเนีย พรมญี่ปุ่น เฟินไผ่แคระ ไม้ตระกูลใบเงิน ใบทอง ใบนาก และหมากผู้หมากเมีย