สำหรับบ้านหลังนี้ให้ความสำคัญกับน้ำ โดยนำเข้ามาใช้ประโยชน์ในสวน ด้วยการขุดบ่อสำหรับเลี้ยงปลา ทำธารน้ำตกลัดเลาะไปตามลักษณะของพื้นที่ ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของสวนป่า ซึ่งออกแบบสร้างสรรค์โดยคุณมณฑล จิโรภาส
"เนื่องจากเจ้าของบ้านชอบท่องเที่ยว เดินป่าชมธรรมชาติ ชอบน้ำตกลำธาร จึงชอบสวนสไตล์ที่ผมจัดซึ่งมีองค์ประกอบเหล่านี้อยู่ เมื่อเขาออกแบบบ้าน ผมจึงได้ร่วมออกแบบจัดสวน โดยวางแผนการทำไปพร้อมๆกัน เริ่มตั้งแต่ทำบ่อให้รับกับตัวบ้าน มีน้ำลอดเข้าไปใต้พื้นระเบียง เพราะลักษณะตัวบ้านต้องการออกแบบให้พื้นระเบียงเลียดไปกับผืนน้ำ ขณะทำจึงต้องวางแผนและเช็คเรื่องระดับพื้นให้ถ้วนถี่ นอกจากบริเวณที่เป็นน้ำแล้ว ส่วนอื่นๆออกแบบให้เป็นสวนป่ารับกับสภาพพื้นที่ มีทางเดินเชื่อมต่อถึงกันทุกบริเวณ ส่วนตัวบ้านเจ้าของออกแบบผนังเป็นกระจกใสเพื่อเปิดรับมุมมองภายนอก จึงใช้ประโยชน์จากสวนอย่างเต็มที่ แม้ขณะนั่งอยู่ภายในบ้าน "
ซึ่งในเรื่องดังกล่าวเจ้าของบ้าน ฝากข้อคิดสำหรับผู้ที่คิดจะสร้างบ้านไว้ด้วยว่า " การออกแบบจัดสวนควรวางแผนร่วมกับการออกแบบบ้านตั้งแต่แรก ไม่ใช่ว่าบ้านเสร็จแล้วค่อยจัด ทำให้ผู้ทำงานทีหลังต้องมาแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น หากเป็นไปได้ควรเรียกเขามาคุยพร้อมกัน หากเราไม่เข้าใจแบบ ก็ควรสอบถามเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เนื่องจากบ้านหลังนี้สามีของดิฉันเป็นผู้ออกแบบเขาเป็นวิศวกรและเป็นเพื่อนกับคุณมณฑล การออกแบบจึงทำง่ายขึ้น มีการวางแผนแก้ปัญหาต่างๆร่วมกันแต่ขั้นตอนแรก งานที่ออกมาจึงค่อนข้างถูกใจผู้อยู่ค่ะ"
การออกแบบได้กำหนดตำแหน่งสำหรับจัดวางองค์ประกอบในสวนน้ำ อย่างน้ำตก ลำธาร และบ่อปลา โดยเลือกมุมมองจากบริเวณที่ใช้งานบ่อยที่สุด เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในสวนน้ำได้อย่างคุ้มค่า
"เมื่อได้โจทย์มา ผมจึงกำหนดตำแหน่งไฮไลท์ คือ บ่อปลาจากมุมที่เจ้าของบ้านชอบนั่งทำงาน จิบกาแฟ และเล่นดนตรีมีระเบียงไม้ยื่นออกไปสำหรับนั่งเล่น ส่วนธารน้ำออกแบบให้มองได้อย่างต่อเนื่อง โดยวางระดับหินน้ำตกให้ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ดังนั้นพื้นสนามจึงต้องออกแบบให้เป็นเนินรับกับระดับของน้ำตกด้วย แม้จะเป็นสวนที่เจ้าของบ้านถูกใจ แต่ก็มีการปรับปรุงแก้ไขและเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา
"ในขั้นตอนการทำน้ำตกนั้น ไม่ได้ทำเสร็จในคราวเดียว ครั้งแรกที่จัดสวนยังไม่มีลำธาร เริ่มจากการทำบ่อก่อน เนื่องจากตอนนั้นเจ้าของบ้านยังไม่มั่นใจเกรงว่าสวนน้ำจะใหญ่เกินความต้องการ แต่พออยู่ไปๆประมาณปีที่ 3 ของการจัด ก็ขอให้ผมทำลำธารเพิ่ม ผมจึงแก้ไขและขยายส่วนต่อของลำธารออกไป ซึ่งในตอนนั้นก็แนะนำว่าควรจะทำต่ออกไปให้สุด แต่เจ้าของบ้านขอแค่ส่วนหนึ่งก่อน พอเข้าสู่ปีที่ 5 จึงขยายต่อออกไปจนสุดพื้นที่จนได้รูปแบบของน้ำตกที่สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งขั้นตอนการแก้ไขนี่แหละที่ยาก ...ยากกว่าการทำครั้งเดียวจบมาก เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้างซึ่งต้องพิถีพิถันดูแลเป็นพิเศษ
"ส่วนการจัดวางต้นไม้ในสวน ควรเลือกชนิดที่มีขนาดใบแตกต่างกัน ใบใหญ่บ้างเล็กบ้างเพื่อให้เกิดเท็กซ์เจอร์ที่ต่าง ไม้ใหญ่บางชนิดก็ให้สีสันจากดอกบ้าง ส่วนบริเวณริมน้ำเลือกพรรณไม้ที่มีรูปทรงอ่อนช้อยอย่าง จิกน้ำ โมก โดยเลือกวางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อความกลมกลืนเป็นธรรมชาติ นอกจากการพิจารณาในแง่ศิลปะแล้ว ควรเลือกปลูกพืชชนิดที่ดูแลง่ายไม่ต้องตัดแต่งบ่อย แต่การเก็บกวาดควรมีบ้างตามธรรมชาติ เพราะหากรักจะจัดสวนลักษณะนี้ต้องขยันหมั่นเก็บกวาดใบไม้ที่ร่วงบ้าง เหมือนผู้หญิงที่คิดจะไว้ผมยาวก็ควรหมั่นสระผมดูแล แต่ก็ไม่ถึงขนาดว่าต้องตัดแต่งต้นไม้ทุกสัปดาห์ อย่างมากก็ 4-5 เดือนต่อครั้ง บางชนิดก็ตัดปีละครั้งเดียวด้วยซ้ำ
"หากให้กล่าวโดยสรุป การจัดสวนหลักๆ ควรพิจารณาเรื่องมุมมองจากบริเวณที่ใช้งานบ่อยสุด โดยดูทิศทางของแดดและลม เพื่อกำหนดตำแหน่งปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา ควรเลือกใช้ไม้ใบใหญ่ผสมใบเล็ก และเลือกใช้ต้นไม้ที่ทน สังเกตว่าต้นไม้ที่ผมใช้บ่อยๆก็มีไม่กี่ชนิด อย่าง ต้นลิ้นกระบือ คล้าม้าลาย เข็มอุณากรรณ ประยงค์ แก้ว เพราะเป็นต้นไม้ที่ดูแลง่าย และราคาไม่แพง หากต้องการต้นที่แปลกตาก็อาจปลูกแทรกลงไปบ้างตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องรูปแบบการจัดวางหากยังไม่มั่นใจอาจลองเปิดดูจากหนังสือหรือนิตยสารเกี่ยวกับการออกแบบสวน แล้วลองจัดตามแนวทางนั้นก่อนก็ได้ จนเมื่อเริ่มมีประสบการณ์จึงค่อยหาแนวทางของตนเองต่อไป"
หลังให้คำแนะนำเรื่องการจัดสวนแล้ว คุณมณฑลได้ยกตัวอย่างถึงสิ่งที่จะขาดไม่ได้อีกอย่างในการจัดสวนบ้านคนอื่นว่า ควรใส่ความรู้สึกเสมือนตนเองเป็นเจ้าของบ้าน จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างสนุก อย่างสวนนี้เมื่อเสร็จเจ้าของบ้านตัวจริงก็พอใจ และได้ใช้ประโยชน์ในสวนอย่างคุ้มค่า "จัดสวนบ้านนี้สนุกไม่ได้คิดว่าเป็นหน้าที่ ได้มาคลุกคลีอยู่ทุกขั้นตอน แม้ว่าการปลูกต้นไม้ใหญ่จะต้องขยับเข้าขยับออกอยู่ประมาณ 3 ครั้งใน 8 ปีก็ตาม "