พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินในคดีมโนสาเร่ พ.ศ.2546
สืบเนื่องจากมีทนายความหลายท่านได้ขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับจำนวนทุนทรัพย์ในคดีมโนสาเร่ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ และเพิ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไป ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแตกต่างจากเดิมมาก จึงต้องการทราบถึงอัตราค่าขึ้นศาลว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะขณะที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขเลย จึงขอนำเรื่องคดีมโนสาเร่นี้มาชี้แจงให้ทราบเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยทั่วไป จะได้รับรู้กฎหมายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้วเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง
คำว่า “มโนสาเร่” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายถึง เรื่องเบ็ดเตล็ดหยุมหยิม หรือใช้เรียกคดีเล็กน้อยว่า คดีมโนสาเร่ แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 189 เดิม ก่อนมีการแก้ไขคดีมาโนสาเร่ คือ
(1)คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
(2)คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ซึ่งในคดีมโนสาเร่ การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจะแตกต่างจากคดีแพ่งสามัญ เพราะถือว่าคดีมโนสาเร่เป็นคดีเล็กน้อย ดังนั้น ในการฟ้องคดีมโนสาเร่ โจทก์อาจยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือหรือมาแถลงด้วยวาจาต่อศาลก็ได้ โดยหากโจทก์แถลงข้อหาด้วยวาจาต่อศาล ศาลจะบันทึกรายการแห่งข้อหาไว้ อ่านให้โจทก์ฟังแล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญก็เป็นคำฟ้องแล้ว
นอกจากนั้น คดีมโนสาเร่ กฎหมายบัญญัติให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็วและออกหมายเรียกไปยังจำเลย และยังกำหนดให้ในหมายนั้นให้จดแจ้งประเด็นแห่งคดี และจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่เรียกร้องและข้อความว่า ให้จำเลยมาศาลเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกัน และให้ศาลสั่งให้โจทก์มาศาลในวันนัดพิจารณาด้วย และในวันนัดพิจารณาเมื่อโจทก์และจำเลยมาพร้อมกันแล้ว ให้ศาลไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในข้อพิพาทนั้นก่อน หากตกลงกันไม่ได้และจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำให้การ ให้ศาลสอบถามคำให้การของจำเลย โดยจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือ หรือจะให้การด้วยวาจาก็ได้ หากจำเลยจะให้การด้วยวาจาให้ศาลบันทึกคำให้การรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นไว้ อ่านให้จำเลยฟัง แล้วให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
แต่หากจำเลยไม่ให้การ ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ และดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป โดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
สำหรับฝ่ายโจทก์ เมื่อได้รับทราบคำสั่งให้มาศาลในวันกำหนดนัดพิจารณาแล้วไม่มาในวันนัดพิจารณาโดยไม่ได้ร้องขอเลื่อนคดี หรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ เช่นเดียวกับจำเลยหากได้รับหมายเรียกให้มาศาลแล้วไม่มาในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและดำเนินการชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
เนื่องจากคดีมโนสาเร่ถือเป็นคดีเล็กน้อย ดังนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 190 จัตวา จึงบัญญัติค่าขึ้นศาลไว้ว่า “ในคดีมโนสาเร่ ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเท่ากับจำนวนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้”
ซึ่งตามตารางค่าขึ้นศาลท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดให้ “คดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ถ้าเป็นคดีทั่วไปรวมทั้งคดีไม่มีข้อพิพาท ให้เรียกเรื่องละสองร้อยบาท” ดังนั้น คดีมโนสาเร่ จึงเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเพียงเรื่องละสองร้อยบาทเท่านั้น ดังนั้น ในคดีมโนสาเร่ก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2546 ซึ่งเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 40,000 บาท แทนที่จะเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 ซึ่งจะต้องเสียถึง 1,000 บาท ก็จะเสียค่าขึ้นศาลเพียงเรื่องละ 200 บาทเท่านั้น
แต่ในปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินในคดีมโนสาเร่ พ.ศ.2546 ออกมาใช้บังคับ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2546 เล่มที่ 120 ตอนที่ 107 ก. ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นคือ พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไป ซึ่งได้กำหนดจำนวนเงินในคดีมโนสาเร่ใหม่ ดังนี้
“มาตรา 3 ให้กำหนดจำนวนเงินในคดีมโนสาเร่ตามมาตรา 189 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2534 ดังนี้
(1)คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสนบาท
(2)คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสามหมื่นบาท
มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกานี้ไม่ให้ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”
จากพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินในคดีมโนสาเร่ พ.ศ.2546 ดังกล่าว ทำให้คดีมโนสาเร่ซึ่งถือเป็นคดีเล็กน้อย มีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 40,000 บาท และคดีฟ้องขับไล่ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง และคดีฟ้องขับไล่เป็นอัตราค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท เป็นการขยายจำนวนทุนทรัพย์ออกไปจากเดิมมาก แต่ในเรื่องค่าขึ้นศาลไม่ได้มีการแก้ไข ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับเป็นต้นไป การฟ้องคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท หรือที่เราเรียกกันว่า คดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งเป็นคดีมโนสาเร่ หากจะเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2546 จะต้องเสียค่าขึ้นศาลถึง 7,500 บาท แต่นับจากวันที่ 29 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไป จะเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเพียงเรื่องละ 200 บาทเท่านั้น รวมทั้งคดีฟ้องขับไล่ก็เช่นกัน หากขณะฟ้องให้เช่าหรืออาจให้เช่าได้เดือนละไม่เกิน 30,000 บาท ก็เสียค่าขึ้นศาลเพียงเรื่องละ 200 บาท และการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีก็เป็นการพิจารณาคดีมโนสาเร่ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น.
กฎหมายใหม่ที่ควรรู้
อ.เสงี่ยม บุญจันทร์
ฯน