อาการคันเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เมื่อคันแล้วก็ต้องเกา ๆๆ แต่ใครจะรู้บ้างว่า อาการคันนั้นเกิดจากสาเหตุใดบ้าง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า อาการคันเป็นความรู้สึกที่ผิวหนัง ยากที่จะอธิบายให้เข้าใจ บางครั้งคล้ายแมลงไต่ ทำให้รำคาญ หงุดหงิด
อาการคันเกิดที่ผิวหนังทั่วร่างกาย และเยื่อบุตา อาการคันจะมากหรือน้อยจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ผู้ป่วยที่เป็นโรคเดียวกันอาการคันจึงแตกต่างกัน แต่ละส่วนของร่างกายก็ไวต่ออาการคันต่างกัน ที่รุนแรงพบบริเวณรอบทวารหนัก รอบอวัยวะเพศ ช่องหู เปลือกตาและช่องจมูก ในแต่ละส่วนของร่างกายมีความไวต่ออาการคันต่างกัน ดังนั้นโรคเดียวกันผื่นอยู่คนละแห่งก็จะคันต่างกัน
ความรุน แรงของอาการคันในแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันขึ้นกับหลาย ปัจจัย เช่น สภาพจิต บุคคลซึ่งเคร่งเครียด วิตกกังวล อารมณ์อ่อนไหว ขี้กลัว โกรธง่าย จะมีอาการคันมากกว่าบุคคลซึ่งมีสภาพจิตปกติ
เวลาและอุณหภูมิ ก็มีส่วน โดย กลางคืนจะคันมากกว่าเวลากลางวัน เพราะการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติในเวลากลางคืนเพิ่มขึ้น เป็นผลให้หลอดเลือดขยายตัวเป็นปัจจัยตัวกระตุ้นให้คัน และความอบอุ่นในเวลากลางคืน ยังทำให้สมองส่วนกลางซึ่งควบคุมความรู้สึกคันไวต่ออุณหภูมิที่ร้อนเพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยซึ่งมีอาการคันในเวลากลางคืนมักเป็นโรคไม่ใช่สาเหตุจากด้านจิตใจ และโรคผิวหนังบางโรคผู้ป่วยจะเกาประมาณร้อยละ 10 ของเวลาหลับ
สาเหตุการเกิดอาการคัน มีดังนี้
1.การเปลี่ยนแปลงชั้นผิวหนัง คันจากการสัมผัส สารระคาย หรือสารภูมิแพ้ สารใยแก้ว หนามและขนของแมลง พืชบางชนิดก็ทำให้คันได้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม อากาศร้อน ลมแรง อากาศหนาว อากาศแห้งก็เป็นปัจจัยทำให้ผิวหนังแห้ง และเกิดอาการคันตามมา
2.คันจากโรคผิวหนัง โรคผิวหนังส่วนใหญ่จะมีอาการคันร่วมด้วย แต่ความรุนแรงจะขึ้นกับสภาพจิตและความไวของแต่ละบุคคล ผื่นคันเฉพาะที่พบบ่อย คือ ผื่นแพ้สัมผัส ผื่นแพ้ผิวหนัง กลาก ผื่นคันทั่วตัว เช่น ลมพิษ โรคหิด และ ผื่นคันไม่ทราบสาเหตุเฉพาะที่ เช่น ผื่นบริเวณอวัยวะเพศ และรอบทวารหนัก
3.โรคแฝงในอวัยวะอื่นอาจพบรอยผื่นเกาทั่วตัวไม่พบลักษณะจำเพาะเจาะจงของโรคผิวหนัง อาการคันเป็นอาการที่นำมาพบแพทย์ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคตับ โรคไต โรคโลหิตและมะเร็งต่าง ๆ ภาวะหมดประจำเดือน และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
4.คันจากความผิดปกติของระบบปลายประสาท เช่น ปลายประสาทอักเสบจากโรคงูสวัด และเริมใน
5.สาเหตุอื่น ๆ อาการคันอาจเกิดจากสารสื่อในสมองปรวนแปร และอาจเกิดจากปัญหาทางจิตใจ
การรักษาผื่นคันในระยะเฉียบพลันอาจทุเลาด้วยความเย็น เช่น การอาบน้ำเย็น ประคบด้วยน้ำเย็น ยาทาคาลาไมด์ ควรทำด้วยความนุ่มนวล เพราะการขัดถูแรง ๆ ทำให้ผื่นเห่อได้ ในผู้ป่วยลมพิษถ้ามีอาการหายใจไม่สะดวกควรพบแพทย์
ส่วนผื่นคันเรื้อรังต้องพบแพทย์ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยโรค เช่น ผื่นคันทั่วตัวเรื้อรังชนิดคันมากที่สุด คือ โรคหิด มีลักษณะผื่นเฉพาะ เป็นตุ่มและรอยเกา ในบริเวณซอกนิ้ว รักแร้ หน้าผาก หน้าขา อัณฑะ และองคชาต คันมากในเวลากลางคืน และเป็นโรคติดต่อในผู้ใกล้ชิด ส่วนโรคผิวหนังอื่นที่มีผื่นทั่วตัวต้องวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การรักษาต่อไป ในรายมีโรคภายในแฝง การตรวจร่างกายและทดสอบทางห้องปฏิบัติการก็จะวินิจฉัยโรคได้ และเมื่อรักษาโรคแฝงอาการคันจะทุเลาได้
เมื่อเกิดผื่นคันอย่าตื่นตกใจ ผื่นผิวหนังร้อยละ 80 จะหายได้เอง ควรตั้งสติพิจารณาว่าเกิดจากสาเหตุใด และเมื่อหลีกเลี่ยงก็ยังไม่ทุเลาควรพบแพทย์ ส่วนการรักษาในเบื้องต้นเพื่อระงับอาการ คือ ประคบด้วยความเย็น รับประทานยาแก้แพ้คลอเฟนิรามีน ควรงดการใช้สบู่บริเวณคันเพราะระคายและทำให้ผิวแห้ง หลายท่านชอบใช้ยาหม่อง เมนโทลาทัม อาการคันลดลงได้แต่อาจเกิดปัญหาการระคายเคืองตามมา ส่วนการใช้ยาผงโรยอาจรู้สึกหาย คันเพราะแป้งทำให้เย็น แต่ด้วยยาฆ่าเชื้อในผงอาจทำให้แพ้ตามมาจึงไม่ควรใช้
ถ้าคันแล้วยังไม่มีเวลาไปพบแพทย์จะทำอย่างไร ? หลายท่านอาจแนะนำว่าอย่าเกาซึ่งไม่ใช่ทางออก เพราะคันก็ต้องเกาจึงจะหายคัน แต่ควรเกาแบบมีสติ คือ เกาเบา ๆ ไม่ใช่เกาแบบรุนแรง ก็จะช่วยทุเลาอาการได้.
นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน
ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์