


ภาพประกอบจาก google

หายาก - ตัวตะกอง สัตว์ดึกดำบรรพ์ประเภทเดียวกับกิ้งก่ายักษ์ หรืออีกัวน่า ถูกพบบริเวณลำห้วยน้ำตกเจ็ดสาวน้อย อ.มวกเหล็ก จนสมาคมการท่องเที่ยวสระบุรีต้องจัดโครงการอนุรักษ์ เพราะถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
|
สระบุรี - นางกุสุมา สารกิจปรีชา นายกสมาคมการท่องเที่ยวสระบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นลำน้ำที่เชื่อมติดต่อกับลำห้วยน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ทางสมาคมได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ว่า ในปีนี้ได้พบตัว "ตะกอง" เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ประเภทเดียวกับกิ้งก่ายักษ์ หรืออีกัวน่า เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายอีกัวน่าที่พบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 90-120 ซ.ม. ส่วนตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าราว 10-30 ซ.ม. สามารถปรับเปลี่ยนสภาพสีลำตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ เพื่ออำพรางตัวให้ปลอดภัยจากศัตรู
นางกุสุมากล่าวว่า ตะกอง ชอบกินแมลง กบ เขียด ผลไม้บางชนิด ชอบนอนผึ่งแดดตามคบไม้ เมื่อมีภัยจะกระโจนลงน้ำได้เป็นเวลานาน ยังสามารถดำน้ำจับปลาเล็กๆ มาเป็นอาหารได้อีกด้วย ตัวเมียชอบขุดหลุมตามดินทราย ไข่ครั้งละประมาณ 10 ฟอง ตะกองชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าค่อนข้างทึบ โดยเฉพาะที่มีลำห้วย มีน้ำไหล
นายกสมาคมการท่องเที่ยวสระบุรีกล่าวว่า ดังนั้น การได้พบตะกองในลำน้ำมวกเหล็กนี้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แถบนี้ยังเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากปัจจุบันจะพบตะกองน้อย เพราะถูกจับไปเป็นอาหารบ้าง จับไปเลี้ยงบ้าง และที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะป่าที่อุดมสมบูรณ์ถูกมนุษย์บุกทำร้าย การท่องเที่ยวจ.สระบุรีได้จัดอบรมเยาวชนผ่านมาแล้วหลายรุ่นเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเห็นความสำคัญของ ป่า ลำน้ำ และสัตว์ และร่วมช่วยกันรณรงค์อนุรักษ์ป่า สัตว์ป่าต่อไป ร่วมทั้งประชาชนทั่วไปด้วย ตะกองถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และยังมีโครงการอื่นๆ ที่สานต่อความสัมพันธ์เชิงอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไปอีก
ข้อมูลข่าวจาก