“เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี บริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มีหลักการสำคัญคือ การระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมดูแล ปกป้อง คุ้มครองเด็กโดยอาศัยการดำเนินงานแบบสหวิชาชีพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก กฎหมายฉบับนี้ได้วางระบบการ สงเคราะห์คุ้มครอง สวัสดิภาพและการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาและส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา และส่งเสริมหน้าที่ความรับผิดชอบของครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ในการร่วมมือกันคุ้มครองเด็ก โดยไม่พึ่งทรัพยากรจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว
หัวใจของกฎหมายนี้อยู่ที่มาตรา 23 กล่าวคือ “ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสม
ควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและ วัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตก อยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546ไม่ใช่กฎหมายเพื่อลงโทษผู้ปกครอง แต่มีเจตนาสนับสนุนให้ผู้ปกครองเลี้ยงดูบุตร ได้โดยไม่ขัดต่อประเพณีปฏิบัติอันดีงามโดยรัฐพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ แก่ครอบครัวเมื่อจำเป็น กฎหมายนี้จึง
เป็นเสมือนคู่มือสะท้อนให้ผู้ปกครองตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และสิ่งอันควรปฏิบัติเพื่อสามารถเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างเต็ม ศักยภาพและปลอดภัย
เลี้ยงลูกผูกพัน ปฏิบัติถูกต้อง ได้อย่างไร
การเลี้ยงดูเด็กตามกฎหมายคุ้มครองเด็กไม่ใช่เรื่องยุ่งยากแต่อย่างใด ผู้ปกครองที่เลี้ยงดูเด็กได้ดี อยู่แล้วจึงไม่ควรกังวลว่าวิธีปฏิบัติของตนจะไม่สอดคล้องกับกฎหมาย โดยพื้นฐานที่สุด
วิธีการเลี้ยงดูเด็กซึ่งไม่ขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติ ศีลธรรมอันดีงามและเป็นที่ยอมรับในสังคม ย่อมไม่ขัดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้จะมีมาตรฐานการเลี้ยงดูเด็กขั้นต่ำออกมา โดยมีหลักการดังนี้
ด้านกฎหมาย
เด็กต้องได้รับการจดทะเบียนเกิด มีผู้ปกครองตามกฎหมาย ต้องได้เรียนหนังสือภาคบังคับ
ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม
เด็กต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนและสังคมนั้น
ด้านสภาวะของเด็ก
เด็กต้องได้รับการเลี้ยงดูให้มีสุขภาพที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงได้เรียนรู้ด้านจริยธรรม
ด้านผู้ดูแลเด็ก
ต้องเป็นผู้มีศักยภาพในการดูแลสุขภาพของเด็ก ป้องกันโรค กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ฝึกวินัย ฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง รู้จักขอบเขตระหว่างตนเองและผู้อื่น
ข้อห้ามปฏิบัติของผู้ปกครอง
1. ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถานพยาบาลหรือไว้กับบุคคลที่รับจ้างเลี้ยงเด็กหรือที่สาธารณะ หรือสถานที่ใดโดยเจตนาที่จะไม่รับเด็กกลับคืน
2. ละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใด ๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกัน ดูแลสวัสดิภาพหรือให้การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม
3. จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือสุขภาพอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
4. ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก
5. ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ
6. กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
7. จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือการรักษาพยาบาลแก่เด็ก
8. บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูงส่งเสริมหรือยินยอมให้เดกประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดหรือใช้เด็กเป็น เครื่องมือในการขอทานหรือแสวงหาประโยชน์จากเด็กโดยมิชอบ หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนัน แสดงหรือกระทำอันมีลักษณะลามกอนาจารหรือจำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก
เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์
การสงเคราะห์
จะเน้นการให้บริการแก่เด็กและครอบครัวโดยร่วมมือกับผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูตามมาตรฐานขั้นต่ำ เป็นการช่วยเติมสิ่งที่ขาดให้แก่ครอบครัวเพื่อให้ พ่อ แม่ ลูก อาศัยอยู่ด้วยกันตามปกติ หรืออาจจะมีการแยกตัวเด็กออกจากครอบครัวเป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยให้พ่อแม่สามารถปรับตัวในการอุปการะเลี้ยงดูลูกได้ตามที่ควรจะเป็น
วิธีการสงเคราะห์มีหลายประการ เช่น
-ให้ความช่วยเหลือใด ๆ ที่ทำให้ผู้ปกครองสามารถอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ตามมาตรา 23 รวมทั้งการให้คำแนะนำปรึกษา การบำบัดฟื้นฟู
-การฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการอุปการะเลี้ยงดูเด็ก
-มอบเด็กให้ผู้เหมาะสมอุปการะเลี้ยงดูแทนไม่เกิน 1 เดือน
-กรณีเด็กกำพร้า ดำเนินการเพื่อให้เด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
-ส่งเด็กเข้ารับการอุปการะในครอบครัวอุปถัมภ์ สถานแรกรับ สถานสงคราะห์ สถานบำบัดฟื้นฟูสมรรภาพ ฝึกหัดอาชีพ เป็นต้น
การคุ้มครองสวัสดิภาพ คือ
กระบวนการจัดความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับบุคคลในครอบครัวใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อเด็กและเพื่อไม่ให้เดกกระทำผิดหรือ
เสี่ยงต่อการกระทำผิด เด็กที่ควรได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพได้แก่
- เด็กที่ถูกทารุณกรรม
- เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด
- เด็กที่อยู่ในสภาพที่จำต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การคุ้มครองสวัสดิภาพรัฐอาจมีความจำเป็นต้องแยกตัวเด็กออกจากครอบครัว เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ปกครองและการปฏิบัติใด ๆ จะกระทำอย่างรอบคอบโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง
ทำอย่างไรเมื่อพบเด็กที่ควรได้รับการช่วยเหลือ
1. ช่วยเหลือเบื้องต้นในสิ่งที่ทำได้
2. แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็ว
3. โทรแจ้ง 1507 (ศูนย์ช่วยเหลือเร่งด่วน 24 ชั่วโมง)
ข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมและพิทักษ์เด็ก (สทด.) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.)
618/1 ถนนนิคมมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. 02255 5850-7 ต่อ 225-227 email – child@opp.go.th
เลี้ยงลูกให้ดี ไม่ให้มีปัญหา ปรึกษาผู้รู้ โทร.1507 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
|