นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ผู้ที่สามารถมีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่ทำอยู่ได้จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ นับเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งในด้านการเรียน การทำงาน โดยทั่วไป
ในสภาพสังคมปัจจุบันเราพบว่า เด็กจำนวนมากที่มีปัญหาความบกพร่องในเรื่องของสมาธิอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นผลที่เกิดจากปัญหาทางพฤติกรรมการเลี้ยงดูของครอบครัวหรืออาจเกิดจากความผิดปกติของในการทำงานของสมองบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองที่ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนในสังคมเต็มไปด้วยความเร่งรีบ พ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูก การให้ทีวีช่วยเลี้ยงลูก มลพิษทางอากาศ อาหารที่เจือปนด้วยวัตถุกันเสีย สารกันบูด ที่มีงานวิจัยรองรับออกมาแล้วว่าอาจเป็นสาเหตุสำคัญของโรคสมาธิสั้นในเด็กและเยาวชนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
พ่อแม่จำนวนมากคงเคยมีความรู้สึก หงุดหงิด หัวเสีย เกี่ยวกับพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของลูกหลายประการ ที่เล็งถึงความไม่มีสมาธิ ไม่จดจ่อ ในการทำสิ่งต่าง ๆ อาทิ ไม่เคยที่จะทำการบ้านเสร็จลุล่วงไปด้วยดีสักครั้งหากพ่อแม่ไม่คุมเข้ม ไม่เข้าห้องน้ำก็ขอไปเดินเล่น เปิดตู้เย็นทานขนม หรือแอบไปเล่นของเล่น ซุกซนมากไม่ยอมอยู่เฉย ไม่ยอมฟังคำสั่ง ใจร้อนขาดความอดทนในการทำสิ่งต่าง ๆ หลงลืมไม่ใส่ใจในบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบ จนพ่อแม่รู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงหมดกำลังใจไปกับการดูแลลูก ๆ ของตน
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ไม่ควรวิตกกังวลเกินกว่าเหตุว่าหากลูกมีอาการดังกล่าวแล้วจะต้องเป็น “โรคสมาธิสั้น” ที่ต้องรับการรักษาหรือจำเป็นต้องกินยาควบคุมเสมอไป เนื่องจากอาการที่พ่อแม่คิดว่า “ขาดสมาธิ” ของลูกนั้นอาจเป็นไปตามพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยที่พบว่าในวัยเด็กเล็กจะมีสมาธิหรือใจที่จดจ่อในการทำสิ่งต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่สั้นกว่าเด็กโต หรืออาการสมาธิสั้นดังกล่าวอาจเกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูบางประการที่ไม่ถูกต้องของพ่อแม่ก็เป็นได้
ดังนั้น พ่อแม่จึงควรแยกแยะในการตรวจสอบอาการและพิจารณาอย่างรอบคอบว่าอาการสมาธิสั้นที่เกิดขึ้นกับลูกของเรานั้นเป็นเนื่องมาจากสาเหตุใด โดยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยว่าอาการดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มของ “โรคสมาธิสั้น” (Attention Deficit / Hyperactivity Disorder - ADHD) หรือไม่ เพื่อที่จะรับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วต่อไป หรือหากพ่อแม่พบว่าอาการสมาธิสั้นของลูกดังกล่าวนั้นสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูไม่ถูกต้องบางประการของพ่อแม่เองแล้ว พ่อแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการเลี้ยงดูลูกใหม่เพื่อฝึกฝนการสร้างสมาธิให้กับลูกของตนแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กเพื่อเป็นการลงรากฐานแห่งความสำเร็จในชีวิตให้กับลูกต่อไปในอนาคต
โดยการปรับพฤติกรรมการอบรมสั่งสอนเพื่อการสร้างลูกให้เป็นเด็กที่มีสมาธิที่ดี มีใจจดจ่อในการคิดหรือการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีนั้น มีหลักสำคัญที่พ่อแม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูก ดังนี้
หลักแห่งการสร้างแรงดึงดูด
ธรรมชาติของเด็กแล้วมักมีความสนใจหรือมีสมาธิจดจ่ออยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งค่อนข้างน้อยกว่าผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า โดยมีผู้กล่าวถึงสูตรในการหาเวลาที่เด็กสามารถจดจ่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เป็นเวลานานเท่าไรไว้โดยการนำอายุของเด็กคูณด้วยสาม เช่น หากลูกอายุ 5 ปี ระยะเวลาโดยเฉลี่ยที่เด็กมีสมาธิหรือสามารถจดจ่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ดีคือที่ 5 x 3 = 15 นาที อย่างไรก็ตามพ่อแม่ไม่ควรจริงจังกับสูตรหาสมาธิดังกล่าวนี้มากจนเกินไปหรือพยายามกดดันให้ลูกต้องทำให้สำเร็จ หรือต้องทะลุเป้าเวลามาตรฐานนี้ให้ได้เนื่องจากเป็นวิธีการคำนวณหาโดยคร่าวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นวิธีตัดสินว่าลูกเราผิดปกติหรือไม่แต่อย่างเกดีกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก อาทิ บรรยากาศ สภาพแวดล้อมของสถานที่ หรือปัจจัยภายในจากตัวเด็กเองว่ามีความพร้อมหรือไม่ทั้งทางฝ่ายกายภาพ อาทิ อยู่ในภาวะง่วงนอน หิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมหรือสิ่งที่เขาต้องทำหรือต้องจดจ่ออยู่เป็นระยะเวลานานนั้นเขามีความชอบหรือความสนใจมากน้อยเพียงใด
เด็กส่วนใหญ่มักเบื่อง่าย พ่อแม่จึงควรจับจุดนี้ไว้ให้ดีเพื่อค้นหาวิธีการสร้างแรงดึงดูดให้ลูกของเราหันมาคิดหรือทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างใจจดจ่อไม่จับจดหรือเลิกราไปกลางครันโดยง่าย โดยพ่อแม่ต้องคอยสังเกตดูพัฒนาการความก้าวหน้าของลูกอยู่เสมอว่าสิ่งใดที่เขาทำได้คล่องดีแล้ว เล่นจนหลับตาทำได้แล้ว สิ่งนั้นอาจไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดพอให้เขาจดจ่อค้นหากับมันอีก ต้องหาความท้าทายใหม่ ๆ ที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้เขาสนใจที่จะมาค้นหาเป็นลำดับขั้นต่อไป รวมทั้งหมั่นสังเกตว่าลูกของเราชอบหรือสนใจอะไรเป็นพิเศษสิ่งใดที่ทำให้เขาครุ่นคิดอยู่ได้นาน ๆ โดยอาจทำให้ไม่สนใจในเรื่องอื่นเลยก็เป็นได้พร้อมคอยส่งเสริมหากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีพิษมีภัย
โรเบิร์ต ซิลเวสเตอร์ (Robert Sylvester) นักวิชาการด้านการเรียนรู้ ให้คำกล่าวที่น่าสนใจว่า “อารมณ์ทำให้เกิดความสนใจและความสนใจทำให้เกิดการเรียนรู้” หรือ “Emotion drives attention, attention drives learning” ยิ่งมีอารมณ์อยากรู้ กระหายใคร่รู้มาก ยิ่งสร้างแรงดึงดูดให้ใช้เวลาในการพิจารณาจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นมากตามไปด้วยและเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ตามมา โดยอาจใช้วิธีการสร้างบรรยากาศภายนอกการสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นความสนใจ การจดจ่อโดยไม่ถูกสิ่งเร้าต่าง ๆ มารบกวน อาทิ การตกแต่งสถานที่ สิ่งของต่าง ๆ ให้น่าตื่นเต้น สวยงามดึงดูดความสนใจ หรือการจัดสถานที่ที่เงียบสงบ ไม่มีเสียงดัง สับสนวุ่นวาย เหมาะกับการได้ครุ่นคิดกับมัน เป็นต้น
นอกจากนี้การสร้างแรงดึงดูดที่สำคัญในเรื่องที่เราต้องการให้ลูกได้มีสมาธิหรือจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นได้เป็นอย่างดีต่อเนื่องและยาวนานที่สุด นั่นคือพ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะย่อยหรือค้นหาว่าสิ่งนั้นมีความเกี่ยวข้อง ใกล้ตัว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง หรือมีประโยชน์สำคัญอย่างไรจนมากเพียงพอและควรค่าที่ลูกจะเห็นความสำคัญและดึงดูดให้ลูกไปใช้เวลาจดจ่อกับมันในท้ายที่สุดโดยไม่ต้องบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด อันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้อย่างมีสมาธิที่ดีได้ในที่สุด
รวมทั้งการกระตุ้นและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การตั้งคำถามท้าทายกระตุ้นให้เกิดความสนใจและความสงสัยการกระหายใคร่รู้ การพาไปหาผู้รู้หรือค้นหาข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้จดจ่อในเรื่องนั้น ๆ ให้ลึกซึ้งลงไปมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขยายวงกว้างในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วยตัวของเขาเอง
หลักแห่งการวางแผนและทำอย่างต่อเนื่อง
การใช้ชีวิตอย่างอิสระ ทำสิ่งใดก็ได้ตามใจตนเองหรือตามอารมณ์ความรู้สึกจะพาไปอย่างไร้ซึ่งระเบียบวินัยหรือการบริหารเวลาในชีวิตประจำวัน นับเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดปัญหาสมาธิสั้นในเด็กและส่งผลตามมาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นอุปสรรคขัดขวางกระบวนการเรียนรู้รวมทั้งเป็นการสร้างลักษณะนิสัยที่จับจดไม่สามารถทำสิ่งใดให้สามารถประสบผลสำเร็จได้
เด็กที่ถูกฝึกในเรื่องการวางแผนและบริหารเวลามาเป็นอย่างดี จะเป็นเด็กที่มีวินัยสูงมีความรับผิดชอบ ไม่เป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง ไม่จับจด รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น เวลาไหนควรอ่านหนังสือ เวลาใดควรเป็นเวลาในการพักผ่อน ฯลฯ เด็กในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กที่มีสมาธิดีกว่าเด็กในกลุ่มที่ไม่รู้จักบริหารเวลาหรือควบคุมตนเองอย่างมีนัยสำคัญ
การวางแผนชีวิตหรือกการทำตารางเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการฝึกสมาธิความจดจ่อในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้แก่เด็ก เนื่องจากเป็นการฝึกให้เด็กเรียนรู้การวางแผนก่อนการกระทำหรือการฝึกให้คิดก่อนทำนั่นเอง เพื่อที่จะรู้ว่าเมื่อทำสิ่งนี้สำเร็จแล้วหรือจบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วจะต้องทำในสิ่งใดต่อไป
โดยมีการวิจัยพบว่าเด็กส่วนใหญ่จะชอบอะไรที่เป็นกิจวัตรและสามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากเด็กจะรู้สึกมีความมั่นคงและสบายใจในสิ่งที่เขาสามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าในแต่ละวันเขาจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น กิจวัตรประจำวันทั้งในยามปกติหรือในช่วงเวลาปิดเทอม วันหยุดต่าง ๆ
นอกจากนี้ไม่เพียงแต่การวางแผนและการจัดตารางเวลาในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่พ่อแม่ต้องเป็นผู้ช่วยคอยควบคุม ฝึกวินัย จูงใจ ให้ลูกไปถึงเป้าหมายและสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้อย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีในแต่ละวัน
เนื่องจากการที่ลูกลิ้มรสความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างแรงดึงดูดให้ลูกเกิดความสนใจและปรารถนาจะทำในแผนที่วางไว้ในเรื่องอื่น ๆ ต่อไปให้ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน
โดยในการวางแผนพ่อแม่สามารถสอดแทรกกิจกรรมเสริมที่มีประโยชน์ในการฝึกสมาธิลงไปด้วย อาทิ การอ่านหนังสือ เขียนไดอารี่ การฝึกฟังเทปความรู้เทปนิทานต่าง ๆ แล้วนำมาสรุปหรือเล่าให้ฟัง งานศิลปะ ดนตรี กีฬา การกำหนดเวลาแห่งการพูดคุยสรุปเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่ลูกพบมาในชีวิตประจำวันหรือเมื่อตอนไปโรงเรียน ฯลฯ ตามความชอบถนัดของเด็กและของตัวพ่อแม่เองได้ โดยพยายามลดกิจกรรมที่อาจส่งผลในการรบกวนสมาธิออกไป อาทิ การดูทีวี เล่นเกม ให้เหลือน้อยที่สุด เป็นต้น
การมีสมาธิที่ตั้งมั่นมีจิตใจที่จดจ่อไม่จับจดนับเป็นคุณลักษณะพื้นฐานที่สำคัญของกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ รวมทั้งนำไปสู่ลักษณะชีวิตชีวิตของการอดทน พากเพียร พยายาม ทำจนสำเร็จ ไม่เสร็จไม่เลิกรา อันเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตาม
เด็กคนใดจะมีสมาธิ การจดจ่อในเรื่องต่าง ๆ มากหรือน้อยนั้นไม่ได้ขึ้นกับพันธุกรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้การที่เด็กจะมีสมาธิที่ดีได้นั้นขึ้นกับพฤติกรรมการเลี้ยงดู การดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่เป็นสำคัญ โดยจากหลักแห่งการสร้างแรงดึงดูด ความสนใจ และหลักการวางแผนบริหารเวลาอย่างต่อเนื่องที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น หากพ่อแม่นำไปฝึกปฏิบัติต่อลูกอย่างเป็นประจำ พ่อแม่จะพบว่าลูกของท่านจะมีสมาธิในการคิดการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นในระดับการพัฒนาที่น่าพึงพอใจอย่างแน่นอนครับ