Advertisement
ไม้เด็ดเคล็ดลับครูดี
.....
การจะเป็นครูที่ดีและมีวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นพรสวรรค์ติดตัวมาสำหรับทุกคน หากแต่ต้องอาศัยการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ทดลองแสวงหาวิธีการใหม่ๆ มาสอนเพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซากจำเจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนอยู่เสมอ ทั้งนี้และทั้งนั้นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนดี และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขนั่นเอง "ชีพจรการศึกษาโลก" ฉบับนี้ขอเสนอเคล็ดลับการสอนและการเป็นครูดีในหลายๆ ประเทศมาเล่าสู่กันฟัง
เทคนิคการสอนเขียนและอ่านจากละคร
ครูประถมจาก 60 โรงเรียนทั่วมณฑลดูวาล (Duval County) ในสหรัฐเข้ารับการอบรมเทคนิคการสอนวิชาการอ่านและการเขียนที่ Schultz Center for Teaching & Leadership การอบรมนี้จะฝึกเทคนิคในการช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ให้กับบรรดาผู้บริหาร ครูใหญ่ และครูน้อย ซึ่งใช้เวลาถึง 90 ชั่วโมงในการฝึกทั้งวิธีการและสื่อการสอนใหม่ๆ โดยผู้ที่ผ่านการอบรมในครั้งนี้จะไปถ่ายทอดเทคนิควิธีการสอนต่างๆ ให้แก่ครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนที่ไม่ได้เข้ารับการอบรมด้วย มีการตั้งเป้าเอาไว้ว่าในแต่ละโรงเรียนจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งห้องเรียนที่สามารถเป็นต้นแบบ สามารถให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ครูทั้งโรงเรียนได้
ตัวอย่างของเทคนิคการสอนที่ผู้เข้าอบรมได้ทดลองฝึกสอนกันเอง ได้แก่การให้นักเรียนดูละคร เขียนคำบรรยายความรู้สึกของตัวละคร แล้วจับคู่กับประโยคจากแบบฝึกที่มีข้อความบรรยายความรู้สึก เช่น รู้สึกโดดเดี่ยว ควรคู่กับ "ไม่มีใครเล่นกับฉัน" เป็นต้น นอกจากนี้ ในการฝึกอบรมยังเปิดโอกาสให้ครูคนอื่นๆ วิจารณ์กิจกรรมในลักษณะนี้ และให้คำแนะนำจุดที่ยังบกพร่อง การอบรมนี้จะช่วยส่งเสริมให้ครูมีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งในอีกไม่ช้าคาดว่าจะมีการอบรมหมดทั้งโรงเรียน
ฝึกคิดด้วยวิธีการทางปรัชญา
ในช่วงเช้าของสัปดาห์ๆ ละสามวัน นักเรียนในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา จะมาโรงเรียนกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า เพื่อมาถกประเด็นเกี่ยวกับความคิดของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น เพลโต อริสโตเติล กับครูของพวกเขา โดยใช้วิธีการทางปรัชญา ซึ่งเป็นการโต้ตอบกันด้วยตรรกะและถามเป็นเหตุเป็นผลเชิงนามธรรม ที่เด็กนักเรียนเหล่านี้จะต้องอ่านหนังสือมาล่วงหน้าและต้องเขียนรายงานแสดงความเห็นส่งด้วย แต่กิจกรรมนี้ไม่มีการนับหน่วยกิตแต่อย่างใด
เฮเลน่า โนเบิลส์-โจนส์ ครูใหญ่ผู้ริเริ่มกิจกรรมนี้ขึ้นมากล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนเกิดความตื่นตัวทางความคิดและพร้อมที่จะเรียนรู้ในแต่ละวัน ทั้งนี้ เธอเห็นว่าการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์และวิจารณ์เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการให้การศึกษา
"สิ่งที่มีค่าที่สุดของตรรกวิธีเชิงปรัชญา คือ การทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะคิด" เฮเลน่า กล่าว
หลายคนพอเอ่ยชื่อวิชาปรัชญาแล้วอาจเมินหน้าหนี แต่แท้จริงแล้วการเรียนปรัชญาไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อเลย สิ่งที่น่าเบื่อมากกว่าคือวิธีการสอนของครู ในหลายปีที่ผ่านมา บางโรงเรียนพยายามเปลี่ยนวิธีการสอนปรัชญาในรูปแบบใหม่
"การเรียนปรัชญาจะช่วยให้นักเรียนรู้จักคิดไตร่ตรองมากขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับความเครียด ความเหงา และความสับสน ในขณะที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านและมีเวลาเพียงน้อยนิดที่จะอยู่กับลูก ทำให้เด็กวัยรุ่นเรียนรู้ค่านิยมผิดๆ มากมาย" เฮเลน่า กล่าว
นักเรียนที่เข้าร่วมห้องถกปรัชญานี้แสดงความเห็นว่า เขามีมุมมองใหม่เกี่ยวกับวิธีที่คนคิด และแสดงออก แทนที่จะด่วนสรุปเกี่ยวกับคุณค่าของบุคคล
"วิธีการเชิงปรัชญาช่วยทำให้คนเรามีจิตใจกว้างขึ้น" นักเรียนรายหนึ่งกล่าว
กระดานมหัศจรรย์ช่วยสอน
เทคโนโลยี video conference กำลังช่วยให้นักเรียนยุคใหม่ได้เรียนภาษาต่างประเทศจากเจ้าของภาษาโดยตรง โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางอีกต่อไป โดยโรงเรียนมัธยมยาร์เมาท์ (Yarmouth High School) ในประเทศอังกฤษ ได้เริ่มนำ "กระดานมหัศจรรย์" (interactive whiteboard) มาใช้เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน
ลักษณะของกระดานที่ว่านี้คือ นอกจากจะใช้เขียนได้แล้วยังสามารถเชื่อมติดต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ด้วย ส่วนการเขียนก็เหมือนกับกระดานดำโดยทั่วไป จุดเด่นคือกระดานนี้เปรียบเสมือน "หน้าต่างโลก" สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนกับอินเตอร์เน็ต ข้อดีของเทคโนโลยีใหม่นี้คือ จะเพิ่มความน่าสนใจให้กับการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ เช่น หากสอนเรื่องเกี่ยวกับระบบสุริยะ ก็จะปรากฏภาพสดจากองค์การนาซ่าของสหรัฐอเมริกา หรือในวิชาประวัติศาสตร์ จะมีภาพเกี่ยวกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ในยุคนั้นๆ ประกอบอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร เพราะผู้บริหารของโรงเรียนเองยังยอมรับว่า คุณภาพของการเรียนการสอนนั้นคงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของครูเป็นหลัก เทคโนโลยีเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่เข้ามารองรับเท่านั้น
เทคนิควิธีการจัดการกับเด็กขี้อาย
|
ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนแห่งหนึ่งในประเทศแคนาดาได้เปิดรับปรึกษาปัญหาการเรียนการสอนทางเว็บไซต์ ซึ่งเปิดให้บรรดาครูเข้ามาเขียนคำถามเอาไว้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาตอบให้ "ชีพจรฯ" ขอเลือกหยิบมานำเล่าสู่กันฟังสักตัวอย่างหนึ่ง เป็นคำถามเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเด็กขี้อายในชั้นเรียน ถ้าหากท่านใดสนใจเรื่องอื่นๆ เข้าไปอ่านต่อได้ที่เว็บไซต์ http://www.mcmaster.ca/teaching_tips
ในห้องเรียนหนึ่งๆ มักจะมีนักเรียนทั้งที่กล้าคิดกล้าพูดและนักเรียนที่ขี้อายไม่กล้าแสดงออกปะปนกันไป แต่ครูจะทำอย่างไรเพื่อที่จะสร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนให้กับนักเรียนทุกคน
เคล็ดลับในการที่จะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีชีวิตชีวาในชั้นเรียนนั้น ต้องพยายามสร้างสถานการณ์ที่ทำให้นักเรียนรู้สึกอยากมีส่วนร่วม โดยมีวิธีการดังนี้
ไม่รีบร้อนแก้ข้อบกพร่องหรือแก้คำผิดให้กับนักเรียนเร็วเกินไป เมื่อนักเรียนผิดพลาดในการเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้การเรียนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และนักเรียนไม่เสียความมั่นใจ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ช่วยแก้กันเอง แต่ถ้าไม่มีการแก้ไขกันเองในหมู่นักเรียนครูจะช่วยแก้ไขให้เมื่อจบจากชั่วโมงนั้นแล้ว
เมื่อนักเรียนที่พูดเก่งตอบคำถาม ครูควรจะถามนักเรียนคนอื่นๆ ที่ขี้อายบ้าง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะตอบคำถามหลังจากเพื่อนตอบได้ดีกว่าที่จะตอบกับครูเป็นคนแรก
สร้างการมีส่วนร่วมจากนักเรียนขี้อายที่อาจมีความรู้ดีในเรื่องบางเรื่อง เช่น ถ้าสอนเรื่องภาคเหนือก็อาจจะให้นักเรียนที่มาจากภาคเหนือเล่าประสบการณ์ให้เพื่อนๆ ฟัง เพราะถ้านักเรียนมีพื้นหลังมาก่อนก็จะรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น
พยายามเรียนรู้ที่จะอ่านสัญญาณจากนักเรียนขี้อายเมื่อเขาพร้อมที่จะตอบคำถามของครู เช่น การประสานตา อ่านความรู้สึกจากสีหน้า หรือภาษาท่าทาง ที่เป็นสัญญาณแสดงว่านักเรียนพร้อมจะเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน
วันที่ 10 ก.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,293 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,412 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,151 ครั้ง เปิดอ่าน 7,151 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,148 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 13,480 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,967 ครั้ง |
เปิดอ่าน 17,899 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,989 ครั้ง |
เปิดอ่าน 65,800 ครั้ง |
|
|