ชื่อเรื่องงานวิจัย การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การบริหารจิต
สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้วิจัย นางโชติกา ชินินทร
ปีพุทธศักราช 2551
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องการบริหารจิต สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน ที่กำหนด 90/90 เพื่อศึกษาผลการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การบริหารจิต สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อการประเมินผลการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องการบริหารจิต สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัยได้พัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องการบริหารจิต สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีทั้งหมด 85 กรอบ ใช้เวลาศึกษาเฉลี่ย 2 คาบ เมื่อเรียนแล้วนำไปฝึกปฏิบัติสมาธิแบบอานาปานสติ ปฏิบัติแต่ละครั้งแล้วบันทึกลงในใบงานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นนำมาส่งครูเพื่อประเมินผลการปฏิบัติพบว่าผู้เรียนสามารถฝึกปฏิบัติได้อยู่ในระดับดีมาก
ดำเนินงานวิจัยโดยเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ประชากร/กลุ่มเป้าหมาย ประชากร คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนสายปัญญารังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 8 ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งสิ้น 320 คน กลุ่มเป้าหมาย ใช้การสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้เกณฑ์เกรดเฉลี่ยดังนี้ ผลการเรียนต่ำกว่า 2.50 คือ กลุ่มอ่อน ผลการเรียนอยู่ระหว่าง 2.50 - 3.00 คือ กลุ่มปานกลาง และผลการเรียนสูงกว่า 3.00 คือ กลุ่มเก่งกลุ่มเป้าหมายที่ 1 เพื่อทดลองใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การบริหารจิต คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ห้อง 1 โรงเรียนสายปัญญารังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 3 คน กลุ่มเป้าหมายที่ 2 เพื่อทดลองใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การบริหารจิต คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ห้อง 2 โรงเรียนสายปัญญารังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 12 คน กลุ่มเป้าหมายที่ 3 เพื่อการใช้นวัตกรรม คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ห้อง 5 โรงเรียนสายปัญญารังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 50 คน
ผลการวิจัยปรากฏว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่พัฒนาขึ้นเป็นสื่อการเรียนการสอน เรื่อง การบริหารจิต สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รายวิชา ส 33102 พระพุทธศาสนา โดยมีกรอบโครงสร้างของโปรแกรม Adobe Flash Player 9 จำนวน 85 กรอบ ผลการประเมินสื่อการสอนบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การบริหารจิต สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 รายวิชา ส 33102 พระพุทธศาสนา ทั้งด้านเนื้อหา และด้านเทคนิคการผลิตสื่อ มีค่าเฉลี่ยรวมทั้งหมดอยู่ในระดับ ดีมาก คือ มีค่าเฉลี่ย = 4.5 และ4.86 ตามลำดับ อยู่ในเกณฑ์ระดับดีมาก ผู้วิจัยกำหนดให้มีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 3.5 ขึ้นไป ประสิทธิภาพ ของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 90 : 90 โดยผลการทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มทดลองภาคสนาม จำนวน 50 คน ได้ค่าเกณฑ์ประสิทธิภาพของกระบวนการและประสิทธิภาพของผลลัพธ์มีค่าเท่ากับ 90.67 : 95.50 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การบริหารจิต สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รายวิชา ส 33102 พระพุทธศาสนา ผลการวิจัยพบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยคะแนนทดสอบหลังเรียนเฉลี่ย (T2 = 11.46) สูงกว่าคะแนนทดสอบก่อนเรียนเฉลี่ย (T1 = 6.12) ค่าสถิติที (t - test dependent) = 21.64 ผลการวัดเจตคติต่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง การบริหารจิต สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รายวิชา ส 33102 พระพุทธศาสนา เป็นรายการแสดงความคิดเห็นและเมื่อพิจารณาเรียงลำดับเจตคติต่อการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน พบว่า ทางบวก ในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับเห็นด้วยอย่างยิ่งทุกข้อ (X- = 4.72) ทางลบในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับเห็นด้วยน้อยที่สุดเกือบทุกข้อ (X- = 4.58)