Advertisement
มีบุตรยาก คืออะไร
ภาวะมีลูกยาก (INFERTILITY)
พ.ต.ท. น.พ.เสรี ธีรพงษ์
ภาวะมีลูกยากไม่ใช่โรคแต่คู่สมรสที่มีลูกยาก มักจะมีความรู้สึกลึกๆ ว่า ตนเองบกพร่องหน้าที่ในการดำรงสายพันธุ์แห่งวงศ์ตระกูล และสืบสาน ถ่ายทอดวัฒนธรรม เอกลักษณ์ จิตวิญญาณ และมรดกของบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป
คู่รักที่แต่งงานและอยู่กินกว่า 1 ปี แล้วยังไม่มีลูก เรียกว่าเป็น "คนมีลูกยาก" เพราะจากการสำรวจวิจัย คู่สมรส 100 คู่ ที่อยู่กันครบ 1 ปี มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ จะมีลูกหรือกำลังตั้งครรภ์ถึง 90 คู่หรือ 90% เหลือเพียง 10% เท่านั้น ที่ยังไม่มีลูกคนเหล่านี้ถือว่าเป็น "คนมีลูกยาก" ประเภทเริ่มแรก (Primary infertile)
แต่ยังมีบางคนที่เคยมีลูกมาแล้ว เช่น พวกลูกโต ลูกตายหรือเป็นหม้าย แต่งงานใหม่วันดีคืนดีนึกอยากจะมีลูกและได้พยายามดูอยู่นานเกินกว่า 1 ปี ก็ยังไม่สำเร็จ คนพวกนี้ถือว่ามีลูกยากเช่นกัน แต่เป็น "คนมีลูกยากประเภทที่สอง" (Secondary infertile) เรียกง่ายๆ ว่า "ประเภทกลับใจ"
ไม่ว่าจะเป็น คนมีลูกยากตั้งแต่เริ่มแรก (Primary infertile) หรือกลับใจอยากจะมีอีกสักครั้ง (Secondary infertile) ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องหาสาเหตุให้ได้และแก้ไขรักษา ตามหลักวิชา ซึ่งปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลมาก
การที่คนเราจะมีลูกได้นั้น สามีต้องมีเชื้ออสุจิที่แข็งแรง ภรรยาต้องมีไข่ซึ่งเกิดจากรังไข่ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ทั้งก่อนและหลังไข่ตก "เชื้ออสุจิ" ต้องพบกับ "ไข่" ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งโดยปกติสถานที่นัดพบครั้งแรกจะเป็น "ท่อนำไข่" ดังนั้น "ท่อนำไข่" ต้องสะดวกในการเดินทางและมีบรรยากาศที่ไม่เป็นพิษ เมื่อพบกันอสุจิต้องผสมกับไข่ ให้ได้ เพราะทั้งสองมีอายุการใช้งานที่สั้นเพียง 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น การผสม (Fertilization) ต้องพอเหมาะพอดี เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปจะได้ "ตัวอ่อน" ที่ไม่ดี
ตัวอ่อนที่ได้จากการผสมจะเดินทางในท่อนำไข่เข้าหาโพรงมดลูกซึ่งในระหว่างทางจะแบ่งตัวและเติบโตแต่ห้ามมีอะไรมาขัดขวาง มิฉะนั้น "ตัวอ่อน" จะตายหรือหยุดลงฝังตัวตรงนั้น "ตัวอ่อน" เดินทางในท่อนำไข่ 5-7 วัน ก็ถึงโพรงมดลูกสักระยะหนึ่ง และฝังตัวในราววันที่ 7-9 นับแต่วันที่ปฏิสนธิ มดลูกของสตรีจึงมีคุณค่าในการรักษาชีวิต "ตัวอ่อน" ต่อแต่นี้ไป หากมดลูกไม่ดี เช่นมีเนื้องอกหรือเยื่อโพรงมดลูกบางเกินไป "ตัวอ่อน" อาจฝังตัวไม่ได้ และตายไปสตรีผู้นั้นก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า คนเราจะเกิดมาได้ ต้องมีองค์ประกอบสมบูรณ์ดี อย่างน้อย 5 ประการ
-
ฝ่ายชายต้องมี "เชื้ออสุจิ" จำนวนมากพอสมควร แข็งแรงและเคลื่อนไหวได้ดี
-
ฝ่ายหญิงต้องมี "ไข่" ที่สมบูรณ์ดีและมีการตกไข่ที่สม่ำเสมอ
-
มูกปากมดลูก ต้องมีคุณภาพดีปริมาณพอเหมาะ และเป็นมิตรคอยช่วยเหลือการเดินทางของ "อสุจิ" จนถึงจุดหมายปลายทาง
-
เส้นทาง ตั้งแต่ปากมดลูก, โพรงมดลูกและท่อนำไข่ ต้องดี สะดวกไม่มีอุปสรรคขัดขวางทั้งขาไปและขากลับ
-
มดลูกต้องดี ไม่มีเนื้องอก เยื่อบุโพรงมดลูกต้องหนาพอที่จะรองรับการฝังตัวและเจริญเติบโตของ "ตัวอ่อน" อย่างไม่มีปัญหา จนถึงกำหนดคลอดออกมา
การตรวจหาสาเหตุ ไม่ใช่เป็นเรื่องสลับซับซ้อน แต่ที่เป็นปัญหาค่อนข้างมาก คือ สามีไม่ค่อยให้ความร่วมมือ และบางทียังต่อต้านด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองแทบจะไม่ต้องเจ็บตัวเลย ซึ่งต่างจากภรรยาที่จะกระตือรือร้นดั้นด้นเดินทางมารักษา อดทนต่อความเจ็บปวดต่างๆ นานา เพื่อให้ครอบครัวได้ "สิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด" อันจะนำมาซึ่ง "ความสุขในครอบครัว" อย่างสมบูรณ์
สาเหตุจากฝ่ายชายเท่าที่มีรายงานจะพบประมาณ 20-30% ฝ่ายหญิงพบประมาณ 40-50 ในกลุ่มที่มีสาเหตุจากทั้งสองฝ่าย และกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ พบพอๆ กัน คือประมาณ 10-20% สมัยก่อน เมื่อพบว่า สาเหตุมาจากฝ่ายชาย หมอผู้รักษาจะปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะไม่ว่าจะใช้วิธีการใดผลสำเร็จจะน้อยมาก ไม่คุ้มค่ากับเวลาและภาษาบ่น จากคนไข้
แต่หลังจากปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) เป็นต้นมา หมอผู้รักษาสามารถคุยโตโอ้อวดได้ว่า ปัญหาจากฝ่ายชาย แก้ได้เกือบทุกกรณี แม้แต่ไม่มี "ตัวอสุจิ" ในน้ำเชื้อ และผลสำเร็จค่อนข้างสูงด้วย เนื่องจากมีการค้นพบเทคโนโลยีที่เรียกว่า "อิ๊กซี่" (เจาะ "ไข่" ใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไปหนึ่งตัว)
การประเมินสภาพของ "คนมีลูกยาก" (Infertility evaluation)
เราลองมาสำรวจกันทีละฝ่ายเลยนะครับ เริ่มจากฝ่ายว่าที่คุณพ่อก่อน
ปัจจัยจากฝ่ายชาย (Malefactors)
ทราบได้ง่าย โดยการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา หรืออาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจหา กรณีที่ผลออกมาผิดปกติ กรรมวิธีการรักษาจะข้ามขั้นตอนไปทำ "อิ๊กซี่" หรือ "เด็กหลอดแก้ว" เลย จึงไม่เป็นปัญหาอีกแล้ว
กรณีที่ผลออกมาปกติต่างหากที่อาจต้องทดสอบต่อไป ถ้าอยากรู้สาเหตุว่า ทำไมไม่ท้องเสียที วิธีการทดสอบคุณสมบัติของ "ตัวอสุจิ" ที่ทำกันได้แก่
1. การทดสอบหลังมีเพศสัมพันธ์ (Postcoital test) เป็นการตรวจดูความสามารถของ "ตัวอสุจิ" ในสิ่งแวดล้อมใหม่ (มูกปากมดลูก) ว่าจะอยู่รอดและเคลื่อนไหวได้หรือไม่ ปกติ มูกปากมดลูก จะทำหน้าที่เป็นมิตรคอยปกป้อง"ตัวอสุจิ" จากสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายภายในช่องคลอด และเป็นสะพานช่วยให้ "อสุจิ" เคลื่อนไหวไปยังท่อนำไข่ได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นตะแกรงคอยกรอง "ตัวอสุจิ" ที่ผิดปกติอีกด้วย
แต่ในบางกรณี มูกปากมดลูก ทำหน้าที่เป็นศัตรูของ "อสุจิ" เสียเอง ทำให้ "อสุจิ" ที่สัมผัสถูก เคลื่อนไหวไม่ได้หรือตายหมด การทดสอบนี้พอจะบอกได้ว่า ปัญหาอยู่ที่ปากมดลูก (Cervical factor)
วิธีการ คือ ตรวจมูกบริเวณปากมดลูกในช่วงระยะเวลา 2-12 ชั่วโมง ภายหลังมีเพศสัมพันธ์กลางรอบเดือน (Midcycle) เพื่อตรวจดูจำนวนและการเคลื่อนไหวของ "ตัวอสุจิ"
ผลที่น่าพอใจ คือ มีจำนวน "ตัวอสุจิ" มากกว่า 10 ตัวต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่กำลังขยายสูง (High power field) ที่เคลื่อนไหวไปข้างหน้าได้รวดเร็ว
ผลอันไม่เป็นที่พอใจคือ ไม่เห็น "ตัวอสุจิ" เลย หรือพบจำนวนน้อยมากๆ "อสุจิ" ส่วนใหญ่ไม่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวแบบ "ชักกระตุก"
เมื่อผลที่ปรากฏออกมาว่า "พอใจ" ก็ไม่ต้องทำอะไร กรรมวิธีรักษาธรรมดาน่าจะให้ผลดี แต่ถ้าผลออกมาว่า "ไม่น่าพอใจ" แสดงว่าปัญหาอยู่ที่ มูกปากมดลูก ต้องแก้ไขหรือข้ามขั้นตอนไปใช้วิธีการที่ไม่ต้องอาศัยมูกบริเวณปากมดลูก
2. การทดสอบคุณสมบัติ "ตัวอสุจิ" อื่น ๆ เช่น การตรวจหาภูมิต้านทาน (Sperm antibodies) หรือ ความสามารถในการปฏิสนธิ (Fertilization capacity) ของ "ตัวอสุจิ"ค่อนข้างยุ่งยาก จะไม่นำมากล่าวในที่นี้
แนวทางการรักษาปัญหาจากฝ่ายชาย
การรักษาทางยาหรือผ่าตัดมักไม่ค่อยได้ผล แต่ในสถานที่ที่ไม่มีเครื่องมือเทคโนโลยีก้าวหน้า ก็ต้องรักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้ "เชื้ออ่อน" ไปก่อน เช่น โรคธัยรอยด์ ภาวะฮอร์โมนโปรแลคตินสูงในกระแสเลือด รวมทั้งการผ่าตัดเส้นเลือดขอดบริเวณอัณฑะ หรือตัดต่อท่อนำน้ำเชื้ออสุจิเพื่อแก้หมัน
คุณผู้ชายทั้งหลายก็ลองสำรวจตัวเองดูว่า บกพร่องมาจากพฤติกรรมของตัวคุณหรือเปล่า แต่ถ้าจนแล้วจนรอดก็ยังไม่เสร็จสมอารมณ์หมายมีอุแว้ อุแว้ ไว้เชยชมสักที ก็ต้องปรึกษาแพทย์กันล่ะ จะได้ตรวจวิเคราะห์กันอย่างละเอียดต่อไป
คราวนี้ลองมาดูปัจจัยจากฝ่ายหญิงกันบ้าง
ปัจจัยจากฝ่ายหญิง (Female Factors)
1. ปากมดลูก (Cervical Factors)
การเดินทางของ "ตัวอสุจิ" จากปากมดลูกเพื่อไปปฏิสนธิกับ "ไข่" ที่ปีกมดลูกต้องอาศัยมูกปากมดลูกเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะฉะนั้น ปากมดลูกอาจเป็นปัญหาขัดขวางการเดินทางของเชื้ออสุจิได้ หากมีการติดเชื้อเรื้อรังได้รับการผ่าตัดหรือจี้ทำลายด้วยไฟฟ้าและมูกปากมดลุกมีภูมิต้านทานต่อ "อสุจิ" เป็นต้น
การทดสอบส่วนใหญ่เป็นการตรวจคุณสมบัติของมูกปากมดลูก เช่น ตรวจความเป็นกรด-ด่าง (ปกติ pH = 8) , การทดสอบหลังมีเพศสัมพันธ์ (Postcoital Test), ตรวจการตกผลึกเป็นรูปเฟิร์นและการยืดตัวในช่วงไข่ตก (Crystallization & Spinnbakeit) และการเพราะเชื้อ เป็นต้น
แนวทางการรักษา
-
ให้ฮอร์โมนโตรเจนต่ำ ๆ ทำให้มูกปากมดลูกใสมากขึ้น
-
รับประทานยาฆ่าเชื้อลดการอักเสบบริเวณปากมดลูก
-
ฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก ทำ "กิ๊ฟ" และ "เด็กหลอดแก้ว" เพื่อหลีเลี่ยงไม่ต้องสัมผัส ผ่าน หรืออาศัยมูกปากมดลูก
2. มดลูก (Uterine Factor)
มีหน้าที่รองรับ "ตัวอ่อน" จากปีกมดลูกมาเจริญเติบโตและฝังตัว ขณะเดียวกันยังปกป้องอันตรายจากสิ่งแวดล้อมภายนอกด้วย
ประเมินสภาพของมดลูก โดยการฉีดเข้าโพรงมดลูก (Hysterosalpingography), การส่องกล้องเข้าไปดูภายในโพรงมดลูก (Hysteroscope), การเจาะท้องส่องกล้องดูพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน (Laparoscope) และการขูดมดลูก เพื่อตรวจสอบการตกไข่และการทำงานของรังไข่ เป็นต้น
แนวทางการรักษา
ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัด ซึ่งจะทำในกรณีมีเนื้องอก (Myomectomy) มดลูกมีรูปร่างผิดปกติมาแต่กำเนิด (Metroplasty) หรือมีพังผืดในโพรงมดลูก (Removal of Intrauterine Synechiae)
ส่วนการรักษาทางยา มักใช้กรณีติดเชื้อภายในโพรงมดลูก (Endometritis) หรือให้ในรูปฮอร์โมนเพื่อฟื้นฟูเยื่อบุโพรงมดลูก หลังจากกำจัดพังผืดภายในมดลูกออกไปแล้ว
3. ปีกมดลูก หรือท่อน้ำไข่ (Tubal Factor)
ทำหน้าที่เป็นทางเดินของเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่ และอสุจิ) เป็นจุดกำเนิดแห่งแรกของมนุษย์และฟูมฟัก "ตัวอ่อน" ก่อนล่องลอยเข้าสู่โพรงมดลูก เพราะฉะนั้นปีกมดลูกจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกตลอดสาย ระหว่างปลายทางทั้งสองข้าง (Fimbria and Ostia)
การตรวจสอบสภาพของปีกมดลูกส่วนใหญ่วิธีการทดสอบจะเน้นว่า มีการอุดตันหรือไม่ (Obstruction or Patency) แต่อาจบอกได้ถึงเนื้องอกในโพรงมดลูก (Polyp or Submucous Myoma), ตำแหน่งการวางตัว (Location) และหน้าที่การทำงาน (Function) ของปีกมดลูกอีกด้วย
วิธีการตรวจสอบปีกมดลูก ประกอบด้วย
การฉีดสีเข้าโพรงมดลูกและเอกซเรย์ (Hysterosalpingography), การเจาะท้องส่องกล้อง (Laparoscope) ร่วมกับการฉีดสี Methylene Blue เข้าทางปากมดลูก, การฉีดลมผ่านเข้าโพรงมดลูกและให้ผ่านออกทางปีกมดลูก (Tubal Insufflation) และการฉีดของเหลวทางปากมดลูกพร้อมกับตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด ดูการผ่านของของเหลวในปีกมดลูกเข้าไปสะสมที่อุ้งเชิงกรานส่วนต่ำสุด (Hysterosalpingo-Contrast-Sonography)
แนวทางการรักษา
ผ่าตัด ตกแต่งต่อท่อนำไข่ กรณีตีบตันหรือแก้หมันเลาะพังผืดรอบๆ ท่อนำไข่และทำ "เด็กหลอดแก้ว" หยอดทางปากมดลูกกรณีท่อนำไข่อุดตันทั้งสองข้าง
4. รังไข่ (Ovarian Factor)
มีหน้าที่ผลิต "ไข่" และสร้างฮอร์โมนซึ่งมีอิทธิพลต่อโครงสร้างและการทำงานของวัยวะสืบพันธุ์สตรี
การประเมินสภาพของ "รังไข่" โดยการเจาะเลือดตรวจฮอร์โมน (FSH, LH, Estradiol, Progesterone) และติดตามดูอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดเป็นระยะๆ เพื่อให้ทราบว่า มีการตกไข่ (Ovulation) หรือไม่ การทำงานของรังไข่ก่อนและหลังไข่ตกเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีการตรวจโดยอ้อมอื่นๆ อีก เช่น การวัดอุณหภูมิกายพื้นฐาน (Basal Body Temperature), การขูดเอาเยื่อบุโพรงมดลูกมาตรวจ เพื่อดูการทำงานของรังไข่ภายหลังไข่ตก (Endometrial Biopsy) เป็นต้น
แนวทางการรักษา
กรณีไข่ไม่ตก (Anvulation) ต้องหาสาเหตุให้ได้ เช่น เป็นโรคต่อมธัยรอยด์, โรคพี.ซี.โอ.ดี. (PCOD), เครียดจัด เป็นต้น แก้ไขสาเหตุดังกล่าวแล้วจึงมาทำการกระตุ้นไข่ (Ovulation Induction) ร่วมกับการฉีดเชื้อ (IUI), ทำ "กิ๊ฟ" (GIFT), ทำ "เด็กหลอดแก้ว" (ZIFT) หรือ "อิ๊กซี่" (ICSI) เป็นกรณี ๆ ตามความเหมาะสม
กรณีรังไข่เป็นเนื้องอกหรือถุงน้ำขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดรักษา (Cystectomy & Oophorectomy)
กรณีรังไข่ไม่ทำงาน (Ovarian Failure) หากยังต้องการมีลูก คงต้องใช้วิธี "อุ้มบุญ" เอา "ไข่" ของคนอื่นมาแทน (Ovum Donation)
5. เพศสัมพันธ์ (Coital Factor)
เป็นปัญหาสำคัญที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าเปิดเผยอาจเนื่องด้วยวัฒนธรรม ประเพณี ทัศนคติ ที่ถ่ายทอดต่อๆ กันมา รวมทั้งเวลาที่มีให้กันและกันก็เหลือน้อยลงทุกที
แนวทางแก้ไข
ทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ปรับเปลี่ยนทัศนคติและปรึกษาผู้รู้ในเรื่องเพศศึกษา (Sexual Therapy) บางทีอาจต้องใช้วิธีฉีดนำเชื้อสามีที่คัดแล้วเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรงไปเลย (Intrauterine Insemination)
ภาวะมีลูกยากที่หาสาเหตุไม่พบ (Unexplained Infertility)
หมายความว่า คู่สามีภรรยาที่มีลูกยากนั้น ได้ทดสอบทุกวิธีกระบวนการหาสาเหตุเท่าที่จะทำได้แล้วไม่พบความผิดปกติทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสาเหตุจริงๆ บางทีต่อไปเมื่อมีเครื่องมือทดสอบที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสค้นหาสาเหตุได้ 10 ปีผ่านมา อุบัติการนี้จะพบประมาณ 10-20% ปัจจุบันในบางสถาบันอุบัติการได้ลดลงเหลือเพียง 0-5% เท่านั้น เพราะมีเครื่องมือทันสมัย
เทคโนโลยีการช่วยเหลือและรักษาภาวะมีลูกยากเท่าที่มีในปัจจุบัน
-
การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (Intrauterine Insemination ชื่อย่อ "IUI") มีอัตราการตั้งครรภ์ประมาณ 15-20% ต่อรอบเดือน
-
การทำ "กิ๊ฟ" ("GIFT" ย่อมาจาก Gamete Intrafollopian Transfer) มีอัตราการตั้งครรภ์ประมาณ 30-40%
-
การทำ "เด็กหลอดแก้ว" วิธีมาตรฐานและหยอด "ตัวอ่อน" ทางช่องคลอด ("IVF-ET" In Vitro Fertilization Embryo Transfer) มีอัตราการตั้งครรภ์ประมาณ 20%
-
การทำ "เด็กหลอดแก้ว" แล้วหยอด "ตัวอ่อน" ทางปีกมดลูก ("ZIFT" ย่อมาจาก Zygote Intrafollopian Transfer) มีอัตราการตั้งครรภ์ 30-40%
-
การเจาะ "ไข่" ใส่ "ตัวอสุจิ" เข้าไปหนึ่งตัว (Micromanipulation)
-
PZD (Partial Zona Dissection) ปัจจุบันนี้ไม่นิยมทำอีกต่อไป
-
SUZI (Subzonal Sperm Injection) ปัจจุบันนี้ไม่นิยมทำอีกต่อไปแล้ว
-
"อิ๊กซี่" ("ICSI" ย่อมาจาก Intracytoplasmic Sperm Injection)
6. การแช่แข็ง (Cryopreservation) ปัจจุบันยังทำได้เฉพาะ "ตัวอสุจิ" และ "ตัวอ่อน"
7. การใช้ "ไข่" บริจาค หรือ "อุ้มบุญ" (Ovum Donation)
8. การสกัด "ตัวอสุจิ" ออกมาจากอัณฑะในกรณีไม่มี "ตัวอสุจิ" ในน้ำเชื้อ
-
"มีซ่า" ("MESA" ย่อมาจาก Microscopic Epididymal Sperm Aspiration) สกัดจากท่อนำน้ำเชื้อส่วน Epididymis
-
"เทเซ่" ("TESE" ย่อมาจาก Testicular Sperm Extraction) สกัดจากเนื้อัณฑะโดยตรง
ความสำเร็จของการรักษาภาวะนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของหมอ มาตรฐานของสถาบันและตัวคนไข้เอง
จากการวิจัยถึงผลการรักษาภาวะมีลูกยาก เมื่อครบกำหนดเวลา 1 ปี จะมีโอกาสตั้งครรภ์แตกต่างกันตามเหตุปัจจัย ดังนี้
-
กรณีที่มีสาเหตุมาจาก "ไข่" ไม่ตกหรือตกไม่สม่ำเสมอ (Anovulation) มีโอกาสตั้งครรภ์สูงมากคือ ประมาณ 80-90%
-
กรณีที่หาสาเหตุไม่พบ (Unexplained Infertile) มีโอกาสตั้งครรภ์สูงพอสมควรประมาณ 70%
-
กรณี "เชื้ออสุจิ" ที่มีจำนวนปกติแต่คุณสมบัติบางอย่างบกพร่อง (Sperm Disorders with Normal Counts) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 30-40%
-
กรณีที่ "ท่อนำไข่" มีปัญหา (Tubal Damage) มีโอกาสสำเร็จ 20%
-
อีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาและประสบความสำเร็จร้อยมาแต่เดิมคือ "เชื้ออสุจิ" มีจำนวนน้อยมากกว่าปกติ (Sperm Disorders with Low Counts) จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 10% เท่านั้น
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลการดำเนินงานในสถาบันที่ไม่มีการทำ "อิ๊กซี่" แต่หลังจากปี ค.ศ. 1992 ( พ.ศ. 2535) ที่มีการค้นพบเทคโนโลยี "อิ๊กซี่" แล้วทำให้ปัญหาเรื่องมีลูกยากอันเนื่องมาจาก "เชื้ออสุจิ" ผิดปกติหมดไป โดยมีอัตราการตั้งครรภ์สำเร็จในกรณี "เชื้ออ่อน" สูงถึง 30-40% เพิ่มจากเดิม 3-4 เท่า
ภาวะมีลูกยากไม่ใช่โรคจึงควรให้ "เวลา" กับหมอผู้รักษาเพื่อค้นหาสาเหตุ จะได้แก้ไขถูกจุด กรณีที่ไม่พบสาเหตุ (Unexplained) ก็ไม่ใช่ว่าจะรักษาไม่ได้ ผลสำเร็จอาจจะดีกว่าบางสาเหตุที่หาพบเสียอีก
สิ่งสำคัญสำหรับคู่สมรสมีลูกยากก็คือ ควรรักษาแต่ในสถาบันที่มีมาตรฐาน มีเครื่องมือเทคโนโลยีและวิทยาการก้าวหน้าทันสมัย สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ตัวคนไข้เองต้องให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและต้องมีสภาพร่างกาย อันหมายถึงเซลล์สืบพันธุ์ในขอบข่ายที่การแพทย์สมัยใหม่ช่วยเหลือได้
ลูก คือ สิ่งที่มีค่าสูงสุดสำหรับทุกครอบครัว อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปในขณะที่ยังมีความหวัง จงขวนขวายไขว่คว้าหาสิ่งมีค่านี้มาให้ได้นะครับ เพราะไม่มีใครรู้ว่าเราจะจากโลกนี้ไปเมื่อไร และใครจะมาเป็นผู้สืบสานถ่ายทอดความคิด และความดีของเราให้คงอยู่ต่อไปได้ถ้าไม่ใช่ลูกของเราจริงมั้ยครับ
|
วันที่ 9 ก.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,151 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,191 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 696 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,160 ครั้ง |
เปิดอ่าน 26,155 ครั้ง |
เปิดอ่าน 20,859 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,737 ครั้ง |
|
|