ไอเดียกระฉูดของผู้บริหารบางส่วนงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เปรย ๆ ถึงการเปลี่ยนชื่อเรียกสัตว์ที่คนไทยเรียก สั้น ๆ ว่า “เหี้ย” ให้สอดคล้องกับเสียงทับศัพท์สกุลทางวิทยาศาสตร์ในภาษาอังกฤษของสัตว์ชนิดนี้ ที่สะกดด้วยอักษร “วี-เอ-อาร์-เอ-เอ็น-ยู-เอส (Varanus)” นัยว่าเพื่อให้คนเลิกรังเกียจ โดยเปลี่ยนเป็น “วรนุช” นั้น ต่อให้เป็น “วรนัส” หรือ “วรานัส” และต่อให้แค่เปรย ๆ ยังไงก็ย่อมเรียกเสียงวิพากษ์เซ็งแซ่ และก็ย่อมไม่พ้นถูกวิจารณ์ขรม !!
นาทีนี้ต่อให้ไม่เปลี่ยนอย่างเป็นทางการ...คนก็รู้ทั่วแล้ว
ใครที่ชื่อตรงหรือชื่อพ้องกับชื่อที่มีการเปรย...ย่อมมึนตึ้บ
และคนชื่ออื่น ๆ ถ้าถูกเรียก “วรนุช-วรนัส”...คงจะโกรธ !!
ทั้งนี้ กับเรื่องชื่อของ “เหี้ย” ต่อไปนี้จะมีชื่อใหม่หรือไม่ ? นั่นก็เรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กับประเด็นที่ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง พร้อม ๆ กับเรื่องชื่อใหม่ คือการส่งเสริมให้เป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” จากที่อยู่ในบัญชี 2 สัตว์คุ้มครอง ก็ถือเป็นเรื่องน่าติดตาม แม้ว่าประเด็นนี้จะมิใช่ประเด็นใหม่ เพราะเคยมีการพูดถึงมานานแล้ว
“เหี้ย” สัตว์ที่คนไทยร้อยทั้งร้อยไม่ยินดีหากมีใครใช้ชื่อมันมาเรียกตนเอง ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถูกกำหนดเข้าบัญชีเป็นสัตว์คุ้มครองมาตั้งแต่ปี 2535 นั้น จริง ๆ แล้วยังมีชื่อเรียกชื่ออื่นอีกอย่างที่ทราบ ๆ กัน เช่น ตัวเงินตัวทอง, ฮังเล, แลน และยังมีสัตว์ที่อยู่ในจำพวกเดียวกัน คล้ายกัน แต่ตัวจะเล็กกว่า คือ ตะกวด
ส่วนกับการนำชื่อ “เหี้ย” มาเปรียบเป็น “คนไม่ดี” นั้น ผู้รู้บางรายบอกว่า... กระแสหนึ่ง “อาจเกิดจากดาวร้ายหนังไทยสมัยก่อน” ที่นอกจากเล่นบทร้ายแล้ว ยังมีท่าเดินในหนังแบบส่ายไปส่ายมา คล้ายท่าเดินของตัวเหี้ย ทำไปทำมาจึงมีคนเปรียบเทียบยึดโยง โดยเรียกคนที่ทำอะไรไม่ดี ทำอะไรร้าย ๆ ว่า “คนเหี้ย”
สัตว์ที่เรียกว่า “เหี้ย” นี้ ที่จริงมีคนไทยบางส่วน-บางพื้นที่นำมากินนานแล้ว ทั้ง “ไข่” “เนื้อ” รวมถึง “หนัง” ก็มีการนำมาใช้ประโยชน์บ้างแต่ยังไม่มาก และที่ผ่านมาก็เคยมีสวนสัตว์เอกชนบางแห่งที่มี การเลี้ยง “จระเข้” ด้วย ประกาศรับซื้อจากชาวบ้าน ซึ่งจะซื้อไปเลี้ยงโชว์เฉย ๆ หรือเอาไปทำอะไร ?? ก็ไม่ทราบได้ ??
ที่แน่ ๆ คือยุคหลัง ๆ “เหี้ย” ถูกเสนอเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ”
เป็นการเสนอที่มีการดำเนินการเรื่องความเป็นไปได้ด้วย !?!
อย่างเช่น...ต้นปี 2551 กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตาม อนุสัญญาไซเตส ก็ได้มีการดำเนินการหารือในหัวข้อ “การสนับสนุนให้เพาะตัวเงินตัวทอง (เหี้ย) เชิงพาณิชย์” อีกทั้งยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมเพาะเลี้ยง มีการประสานทีมนักวิชาการด้านสัตว์เลื้อยคลานของบางองค์กรให้ลงพื้นที่สำรวจและศึกษาพฤติกรรมสัตว์ชนิดนี้ อย่างละเอียด นัยว่าเพื่ออาจจะใช้เป็นข้อมูลดำเนินการในลำดับต่อ ๆ ไป
“การเพาะเลี้ยงน่าจะทำได้ เพียงแต่ต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวงให้ชัดเจน” ...เป็นเสียงจากผู้บริหารกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ในช่วงต้นปี 2551 ซึ่งในช่วงนั้นยังถึงขั้นมีการขายฝันหาเกาะกลางทะเลหรือเกาะบกแล้วนำตัวเหี้ยไปเลี้ยงไว้มาก ๆ จากนั้นก็ให้ “สัมปทานเก็บไข่เหี้ย” ให้ชาวบ้านเข้าไปเก็บไข่นำไปขายให้กับผู้ที่นิยมบริโภค รวมถึงมีการระบุด้วยว่าจะมีการประสานนักวิทยาศาสตร์ให้ทำการ “ศึกษาการใช้ประโยชน์จากน้ำลายตัวเหี้ย” ว่าทำได้เหมือนกรณีของ “มังกรโคโมโด” หรือไม่ ? เช่น ทำเป็นเซรุ่ม
ทั้งนี้ ย้อนเวลากลับไปไกลมากขึ้นอีก เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน หรือช่วงปลายปี 2542 ตอนนั้นทางสวนสนุก-สวนสยามก็เคยมีโครงการทำ “ฟาร์มเลี้ยงเหี้ย” ขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่ถึง 30 ไร่ กับราคาที่ดินต่อไร่ตอนนั้นตกไร่ละ 12 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญพันธุ์ เพื่อให้สัตว์ชนิดนี้มีอยู่ต่อไป เพราะคนทั่วไปมักไม่นิยมชมชอบ ถือว่าเป็นตัวอัปมงคล มักจะทำลาย ซึ่งตอนนั้น “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็เคยนำเสนอเรื่องนี้
ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานสวนสยาม บอกไว้เมื่อปลายปี 2542 ว่า... “เหี้ย” จัดเป็น “สัตว์ดึกดำบรรพ์” มีกำเนิดชีวิตอยู่ในช่วงประมาณ 286 ล้านปี “มีกำเนิดชีวิตก่อนไดโนเสาร์” เสียอีก เพราะไดโนเสาร์มีกำเนิดชีวิตในช่วงประมาณ 213 ล้านปีเท่านั้น และตัวเหี้ยนับได้ว่าเป็น “สัตว์สาธารณสุขพื้นฐานของโลก” เลยทีเดียว เพราะมันจะกินเศษสิ่งปฏิกูลหรือสัตว์ที่ตายเน่าเหม็นเป็นอาหาร จึงช่วยกำจัดสิ่งสกปรก
ที่มีคนคิดว่ามันเป็น “สัตว์อัปมงคล” นั้น คงเป็นเพราะสมัยก่อนพวกเศรษฐีนายทุนหน้าเลือดเที่ยวกดขี่ชาวบ้าน กว้านฮุบที่ดินเรือกสวนไร่นากันเป็นล่ำเป็นสัน ตัวเหี้ยเองก็หมดแหล่งหากิน ต้องแอบเข้าไปกินปลา-กินเป็ดไก่ที่นายทุนเลี้ยงเอาไว้ ตัวเหี้ยก็เลยกลายเป็นหัวขโมย เป็นตัวร้าย จึงถูกเกลียดชัง ถูกเชื่อว่าเป็นอัปมงคล
“สมัยก่อนเศรษฐีบางคนเจอตัวเหี้ยเข้าบ้านถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นกังวลจนป่วยตายก็ยังมี ตรงกันข้าม ชาวบ้านที่ยากจนเมื่อเจอตัวเหี้ยเข้าบ้านแทนที่จะเกลียดกลัว กลับเรียกว่าเป็นตัวเงินตัวทอง ถือว่าจะมีโชคลาภ บางคนจับมาชำแหละเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัวได้หลายวันเลย” ...ประธานสวนสยามระบุผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ไว้เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ซึ่งแม้ภายหลังโครงการฟาร์มเลี้ยงตัวเหี้ยที่ว่าจะเงียบหายไป แต่ก็อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นอีกจุดเริ่มสำคัญที่ทำให้คนไทยมอง “เหี้ย” ในมุมใหม่
“เหี้ย” สัตว์ชนิดนี้ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจแฝงอยู่ไม่น้อยเลย...
แต่กรณี “ชื่อใหม่-สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่” ก็แล้วแต่จะคิด ??.
"ตัวเหี้ย" หรือ "ตัวเงินตัวทอง" หรือชื่อสากลว่า water monitor เป็นสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่ม monitor lizard ด้วยรูปร่างที่แปลกประหลาดและพฤติกรรมส่วนตัวของมัน ทำให้คำว่าตัวเหี้ยกลายเป็นภาษาที่ไม่สุภาพในที่สุด ทั้งที่แท้จริงแล้ว "เหี้ย" คือชื่อที่ถูกต้อง คำว่า "เหี้ย" นั้นมักใช้เป็นคำด่าทอ บางคนจึงเรียก ตัวเงินตัวทอง แทน ในเชิงการใช้คำศัพท์แบบที่ใช้กับคน มักจะใช้กับเพื่อนสนิทมากๆ พูดเป็นคำสร้อยนำหน้าชื่อก็มี
สายพันธุ์เหี้ยในไทย
ในประเทศไทยตัวเหี้ยยังมีอยู่อีก 3 ชนิด ตัวแรกคือ คือ ตะกวด (Varanus bengalensis nebulosus) หรือภาษาอีสานเรียกว่า "แลน" คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเหี้ยเสมอ ตะกวดจะมีสีเรียบออกโทนสีน้ำตาลทั้งตัว ขณะที่ลำตัวของตัวเหี้ยเป็นสีดำมีลายดอกสีเหลืองเรียงอยู่อย่างมีระเบียบ รูปร่างส่วนใหญ่อาจจะดูคล้ายกัน แต่เมื่อสังเกตที่รูจมูกของตะกวด จะเห็นว่าอยู่ห่างจากปลายปากมาก ต่างจากตัวเหี้ยซึ่งรูจมูกอยู่ใกล้ปลายปากมาก ทั้งนี้เพราะกระบวนการวิวัฒนาการของรูปร่างนั่นเอง จมูกที่ใกล้ปลายปากทำให้ตัวเหี้ยสามารถอยู่ในน้ำได้นาน เวลาที่มันดำน้ำมันไม่ต้องเสียเวลาโผล่ขึ้นมาหายใจทั้งหัว เพียงแค่โผล่ส่วนปลายของหัวขึ้นมาก็หายใจได้แล้ว ขณะที่สายตายังคงกวาดหาเหยื่อในน้ำต่อไปได้ ส่วนตะกวดนั้นอาศัยอยู่ตามที่ดอน ห่างจากแหล่งน้ำออกมา ใช้ปากในการขุดคุ้ยอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกแมลงต่างๆ และสัตว์ขนาดเล็กๆ จมูกของมันจึงต้องอยู่ห่างจากปลายปากออกมา สองชนิดนี้เป็นชนิดที่พบได้ง่ายและพบได้ทั่วประเทศไทย
เห่าช้าง เป็นสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่มของเหี้ย และ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Varanus rudicollis โดยชื่อ เห่าช้าง มาจากเสียงขู่ศัตรู ฟังดูคล้ายเสียงขู่ของงูเห่า เชื่อกันว่าน้ำลายมีพิษ หากถูกกัดจะเป็นอันตรายถึงตายได้ ที่จริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิด
ธรรมชาติ และเมื่อลูกออกจากไข่แล้วก็จะหากินเอง
เหี้ยดำ(มังกรดำ)Black Jungle Monitor ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Varanus salvator komaini
ลักษณะทั่วไป
มีขนาดเล็กกว่าเหี้ยมาก เมื่อโตเต็มวัยจากปลายปากถึงโคนหาง 50 เซนติเมตร หางยาว 60 เซนติเมตร มังกรดำ สีดำสนิทด้านทั้งตัว ไม่มีลายและจุดด่างเลย ท้องเทาเข้ม ลิ้นสีเทาม่วงมังกรดำเป็น Monitor ชนิดที่พบใหม่ มีรูปลักษณะคล้ายเหี้ยลักษณะของเกล็ดผิดเพี้ยนกันเพียงเล็กน้อย
ถิ่นอาศัย, อาหาร
มังกรดำพบได้เฉพาะบริเวณชายทะเลและเกาะเล็ก ๆ ทางฝั่งตะวันตกภาคใต้ของประเทศไทย
Water Monitor
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Varanus salvator
ลักษณะทั่วไป
ตัวสีดำ ลิ้นสีม่วงปลายแฉกมีลายดอกสีขาวหรือเหลืองเป็นแถวพาดขวางตัว หางเป็นปล้องสีดำสลับกับเหลืองอ่อน หนังหยาบเป็นเกล็ด ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าสัตว์อื่นในจำพวกเดียวกัน แต่เล็กกว่ามังกรโคโมโด
ถิ่นอาศัย, อาหาร
พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอินเดียและศรีลังกาในประเทศไทยพบได้ทุกภาค เหี้ยไม่เลือกอาหาร กินทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ สัตว์ปีก เช่น ไก่ นก ปลา กบ เขียด หนู กินได้ทั้งของสดและของเน่า
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
ดุ ใช้หางเป็นอาวุธฟาดศัตรูแล้วใช้ปากกัด ชอบอยู่ใกล้น้ำว่ายน้ำ ดำน้ำเก่ง และขึ้นต้นไม้เก่งด้วย เหี้ยวางไข่ครั้งละ 15-30 ฟอง ขุดหลุมหรือทำโพรงเป็นที่วางไข่ ไม่ฟักไข่ คือพ่อแม่ไม่ต้องกกไข่ ลูกฟักตัวออกมาเองจากไข่โดยธรรมชาติ เมื่อลูกออกมาจากไข่แล้วก็หากินเอง เปลือกไข่นิ่มแต่เหนียว
Red-headed Monitor(Harlequin Monitor)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Varanus dumerilii
ลักษณะทั่วไป
ลำตัวยาว 50-125 เซนติเมตร เมื่อเล็กตั้งแต่ปลายปากถึงคอสีส้มถึงแดงเข้ม เมื่อโตสีจะจางลง มีขีดสีดำตั้งแต่ขอบตาถึงคอ ลำตัวมีขวั้นสีเหลืองตั้งแต่คอถึงปลายหาง ตุ๊ดตู่เป็นสัตว์ที่เล็กที่สุดในกลุ่มสัตว์จำพวกเหี้ย-ตะกวดที่พบได้ในประเทศไทย และเป็นสัตว์ไม่มีพิษ
ถิ่นอาศัย, อาหาร
พบอาศัยในป่าดิบชื้นภาคใต้ของประเทศไทยและพบในมาเลเซีย สุมาตรา บอร์เนียว สิงคโปร์ ตุ๊ดตู่กินเนื้อสัตว์และแมลงต่าง ๆ
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
เป็นสัตว์เชื่องช้า ไม่ค่อยออกไปหากินไกลจากที่หลับนอน ชอบนอนตามโพรงไม้ หรือซอกหิน เมื่อหิวจึงจะออกหากิน แล้วก็กลับเข้าหลับนอนตามเดิม ตุ๊ดตู่วางไข่ครั้งละ 23 ฟอง ระยะฟักไข่ 203 - 230 วัน
(V. flavescens)
เคยมีรายงานในไทย แต่ไม่มีใครพบนานมากแล้ว แต่มีมากทางอินเดีย ติดบัญชีไซเตส 1ลักษณะคล้ายแลน แต่ไม่ค่อยอยู่ใกล้น้ำ คืออยู่ที่ดอน (คือ ตะกวด.....คนภาคใต้เรียก) แลนดอนพบภาคตะวันตกกับใต้
ข้อมูลจาก
-www.zoothailand.org
-วิกิพีเดีย
-http://www.tei.or.th
-วิกิพีเดีย
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต