Advertisement
หยุด เหล้าเข้าพรรษา หรือ เลิก เหล้าเข้าพรรษา ดี |
รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะนำเสนอโครงการ เลิกเหล้าเข้าพรรษา แทนที่ หยุดเหล้าเข้าพรรษา
ใช้ศาสนานำทาง ให้คนใช้เข้าพรรษาเป็นที่ยึดจิตใจในการเลิกสุราและของมึนเมา โดยยึดศีลข้อห้ามาเป็นหลัก
หยุด 3 เดือน เมา 9 เดือน คงเป็นแค่การยืดเวลาตายไปอีกช่วงหนึ่ง
เบญจศีล ถือข้อห้า สุราเมระยะมัชชะฯ เป็นข้อสำคัญที่สุด เพราะเป็นการผิดศีลข้อห้า จะทำให้ขาดสติ และทำให้ผิดศีลข้ออื่นๆได้ง่าย เช่น เมาสุราอาละวาด เมาสุราเข้าซ่อง เมาสุราหน้าด้าน เป็นต้น
ดังนั้น เรามารณรงค์ เลิกเหล้าเข้าพรรษา กันเถอะ
ก่อนวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษามีการรณรงค์เรื่องการ "หยุดเหล้า" เข้าพรรษามาอย่างต่อเนื่องวันนี้ก็ยังรณรงค์อยู่ พระนักเทศน์ชื่อดังหลายๆ รูปก็ช่วยพูดย้ำผ่านสื่อทุกประเภท ทุกแขนง อย่างเช่นหลวงพ่อพระพยอม พระ ว.วชิรเมธี พระมหาสมปองธรรมะเดลิเวอรี เป็นต้น แต่ละท่านพูดเน้นถึงโทษของการดื่มเหล้ากันอย่างละเอียดยิบว่าโทษที่จะเกิดเป็นยังไงบ้าง รวมความแล้วเหล้าคืออบายมุขทางนำไปสู่ความเสื่อมความหายนะที่ผมบอกมาตลอดเหมือนกัน เพราะผมก็จำมาจากพระนั่นแหละ
ส่วนผลดีที่เกิดแก่คนไม่ดื่มเหล้าก็ตรงข้ามกับคนดื่ม คือความเจริญงอกงาม ความดีงามที่จะเกิดขึ้น
ย้ำด้วยว่าคำว่าเหล้ารวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดประเภทอย่าได้เลี่ยงบาลีเป็นอันขาด
การรณรงค์การหยุดเหล้าเข้าพรรษา คืออย่างน้อยหยุดกัน 3 เดือนมีการสรุปตัวเลขที่เป็นเงินมหาศาล ถ้าหยุดกันทั้งหมด เงินจะอยู่ในกระเป๋าของคนหยุดดื่มแต่ละคนเป็นหลายพันล้าน หยุดความเสียหายอื่นๆ ครบถ้วนกระบวนความ ว่ากันว่าเป็นมูลค่าถึงแสนล้าน ประเทศชาติประชาชนจะพัฒนาความเป็นอยู่แบบพอมีพอกินอีกมากมาย
มีหลักการใหม่ที่ถือว่าเป็นการรณรงค์เชิงรุกการสร้างสำนึกให้คนดื่มมีสติละเลิกเหล้า นั่นคือ "วันเลิกเหล้าแห่งชาติ" หลวงพ่อพระพยอมท่านเน้นวันนี้อย่างต่อเนื่อง เข้าใจว่าต่อไปท่านไปเทศน์ที่ไหน ท่านจะต้องย้ำแล้วย้ำอีกอย่างแน่นอน ผมเห็นด้วยกับหลวงพ่อ แล้วก็อยากจะฝากพระคุณเจ้าทั้งหลายแหล่ช่วยเน้นด้วยเถอะ
หลวงพ่อหลวงพี่พูดเน้นแล้ว ก็เน้นดูแลภายในวัดด้วย มัคนายกช่วยด้วย ดูแลพระดูแลโยม อย่าให้ไปซื้อขายดื่มในกุฏิในวัดอย่างเด็ดขาด ต้องรณรงค์ให้จริงจัง เป็นต้นแบบสร้างสำนึกร่วมกัน สอดรับกับโฆษณาดื่มเหล้าในวัดแล้วโดนจับลงโทษอย่างหนักที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำออกมาเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เช่น ทีวี เป็นต้น
แล้วก็ให้ช่วยย้ำคำว่า "วันหยุดเหล้าแห่งชาติ" อย่าได้เลี่ยงบาลีตีความหมายแค่วันเข้าพรรษาวันเดียว
ผมเข้าใจคนดื่มเหล้าที่มักมีข้ออ้างต่างๆ นานา และการใช้มาตรการห้ามปราม อาจมองทะลุไปถึงว่าละเมิดสิทธิกัน แต่การรณรงค์ให้เลิกดื่ม ดื่มให้น้อยลงประโยชน์ตกแก่คนเลิก คนดื่มน้อยลงทั้งสิ้น ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว การงาน แล้วสังคมก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย
ผมย้อนนึกถึงการทำความดีงามของสังคมไทยนิดหนึ่ง ไม่รู้ว่าจะยังมีใครจำประวัติศาสตร์ได้มั้ย คือการมีวันโกนวันพระใน 7 วัน ในสังคมชาวพุทธถ้าถึงวันโกนวันพระ คนทั้งประเทศจะพร้อมใจกันหยุดทำความไม่ดีที่เรียกว่า "บาป" คืองดเว้นตามศีลห้า ในศีลห้าหัวใจก็คือเหล้า ที่ทำให้คนเสียสติขาดสติไปทำชั่วอะไรต่างๆ นานา ก็ทำตรงกันข้ามกับศีลอีกสี่ข้อนั่นแหละ “คือการหยุดดื่มเหล้า”
แต่วันนี้ไม่มีวันโกนวันพระ ทำให้ไม่มีวันสร้างสำนึกสร้างสติคนไทยสร้างสำนึกสร้างสติในการเว้นทำชั่ว
เมื่อพูดถึงวันเลิกดื่มเหล้าแห่งชาติอย่าให้เข้าใจว่าปีหนึ่งมีวันเดียวเหมือนวันแห่งชาติอื่นๆ แต่อย่างน้อยมีวันเลิกละดื่มเหล้าแห่งชาติ 2 ใน 7 วัน หรือ 1 ใน 7 วัน ก็ยังดีเอ้า....ส่วนการรณรงค์เลิกเหล้าเข้าพรรษาก็ทำกันต่อไป เพิ่มศักยภาพจำนวนคนไทยให้หลุดพ้นจากชีวิตที่เสื่อมจากความดีงามต่างๆ ที่ต้องประสบกับความหายนะ และช่วยกันทำลายสังคมให้หายนะ
"วันเลิกเหล้าแห่งชาติ" ย้ำไม่ใช่หนึ่งปีมีแค่หนึ่งวัน
ประเพณีดั้งเดิมของการงดเหล้าช่วงเข้าพรรษาของคนไทย นับเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญของไทยมาแต่ดั้งเดิมที่ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกนักดื่มเข้าร่วม กว่าร้อยละ 63
และที่น่ายินดี มีนักดื่มงดเหล้าตลอดทั้งพรรษาถึงร้อยละ 30
การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2549 มีผู้ที่งดเหล้าเข้าพรรษาเข้าร่วม 5 ล้านคน มีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 1,188.97 บาท
เท่ากับว่า... 3 เดือนเข้าพรรษา จะมีเงินเก็บ 6,000 ล้านบาท
ลงพื้นที่สำรวจชุมชนตัวอย่างที่มีการรณรงค์เลิกเหล้าอย่างได้ผล เปลี่ยนเงินค่าเหล้าให้กลายเป็นเงินออม มีเงินออม ปลดหนี้ได้ แถมเลิกเหล้าได้อย่างถาวร
บ้านเลิงเปือย ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นหมู่บ้านเลิกเหล้าตัวอย่าง เก็บเงินสมาชิกวันละ 3 บาท ร่วมกับธนาคารที่เข้ามาเปิดบัญชี... รับฝากเงินทุก 3 เดือน
สรุปยอดบัญชี ชุมชนมีเงินออมจากค่าเหล้าปีละ 1,078,000 บาท
ความเป็นมา...บ้านเลิงเปือย เป็นชุมชนกึ่งเมืองขนาดใหญ่ 730 หลังคาเรือน ประชากร 3,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและเกษตรกรรม ตั้งอยู่ บริเวณสองข้างทางของถนนสายหลักขอนแก่น-กาฬสินธุ์
ก่อนปี 2546 ประชาชนเกือบร้อยละ 80 นิยมดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์...ก่อเหตุทะเลาะวิวาทตามงานเทศกาลต่างๆ และเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยๆ
ต่อมาเครือข่ายหมออนามัยจังหวัดขอนแก่น ได้ริเริ่มชักชวนผู้นำชุมชน อสม. และชาวบ้าน เข้าร่วมโครงการ งดเหล้าเข้าพรรษา ด้วยการลงชื่อ และปฏิญาณตนต่อพระสงฆ์ จำนวน 114 คน
ในจำนวนนี้ มีนักดื่มอย่างหนัก 23 คน สรุปผลที่ออกมาสามารถงดเหล้าตลอดเข้าพรรษา ได้ร้อยละ 20.2
ทว่า...หลังจากเทศกาลเข้าพรรษาแล้ว ชาวบ้านกลับไปดื่มเหล้า เบียร์ เหมือนเดิม ยิ่งเป็นนักดื่มที่เข้าโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ก็ถือโอกาสดื่มฉลองอย่างหนัก...ดื่มมากเป็นพิเศษเพื่อชดเชย
แถมนับวัน รอดื่มเฉลิมฉลองกันอย่างต่อเนื่องในเทศกาลบุญกฐิน ลอยกระทง ยันเทศกาลปีใหม่
ผลพวงจากนักดื่มในหมู่บ้าน ช่วง 3 เดือน ปลายปี 2547 เกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ 4 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ทะเลาะวิวาทจากการเมา ในงานทอดกฐิน 1 ครั้ง...ไม่มีผู้เสียชีวิต งานลอยกระทง 3 ครั้ง...เสียชีวิต 1 ราย เทศกาลปีใหม่ 2 ครั้ง...ไม่มีผู้เสียชีวิต
ผู้นำชุมชนร่วมกับ อสม. กลับมาทบทวนปัญหา โดยมีเครือข่ายหมออนามัยจังหวัดขอนแก่นให้คำปรึกษา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนหลายครั้ง จนกระทั่งมีการรณรงค์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
แม้ว่ากระแสการดื่มเหล้ายังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่ก็ทำให้เพิ่มจำนวนผู้เข้าโครงการงดเหล้าเข้าพรรษามากขึ้นเป็น 327 คน
ผล...งดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือน ร้อยละ 31.4 มีนักดื่มอย่างหนักหยุดเหล้า 13 คน ในจำนวนนี้มี นายเฮีย ทองคำ, นายพล บูญสาร และนายน้อย ขาวหนู กลายเป็นเครือข่ายนักรณรงค์งดเหล้าประจำหมู่บ้าน
นายเฮีย ทองคำ ดื่มหนักและยากจน ไม่มีบัตรประชาชน กลายเป็น ต้นแบบการเลิกเหล้า ประจำหมู่บ้าน
นายพล บูญสาร เลิกเหล้าแล้วพลิกบทบาทตัวเองเป็นยมทูตเตือนใจ นักรณรงค์เตือนสตินักดื่มประจำหมู่บ้าน
นายน้อย ขาวหนู นักดื่มที่ชอบใช้ความรุนแรงในครอบครัว กลายเป็นนักรณรงค์คณะกลองยาวเลิกเหล้าเลิกจนในปัจจุบัน
ปี 2549 เริ่มโครงการ “รณรงค์ออมเงิน วันละ 3 บาท...เลิกเหล้าเลิกจน” ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สำรวจข้อมูลการดื่มในชุมชนเลิงเปือยรอบนี้ พบว่า มีนักดื่มอย่างหนัก จำนวน 113 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะยากจน อาชีพรับจ้างทั่วไปและใช้แรงงานในเขตเมือง
ลักษณะการดื่ม...ดื่มเหล้าขาวเป็นก๊งหรือเป๊ก ค่าใช้จ่ายเป๊กละ 5 บาท วันละ 1-2 ครั้ง เช้าและเย็น...ก่อนและหลังทำงาน
นักดื่มส่วนใหญ่จะดื่มทุกวัน...หรือเกือบทุกวัน บางวันจะดื่มมากหากมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือตั้งวงกันดื่มเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ อาทิ วันหวยออก ได้เงินประจำงวด หรือวันหยุดเทศกาล
แนวคิดแก้ไขปัญหา...เริ่มจาก หากชาวบ้าน 113 คน ดื่มอย่างหนักวันละ 1 เป๊ก ราคาเป๊กละ 5 บาท จะสูญเงินลงขวด 565 บาท
ถ้า 7 วัน สูญเงิน 3,955 บาท...ถ้า 30 วัน สูญเงิน 16,950 บาท... ถ้า 90 วัน สูญเงิน 50,850 บาท
ดังนั้นช่วง 3 เดือน หากเปลี่ยนเงินค่าเหล้าเป็นเงินออม นักดื่มเหล่านี้ จะมีเงินเก็บรวมกันมากถึง 50,000 บาท
หลักคิด 3 ประการที่เป็นที่มาของการเปลี่ยนเงินเหล้าเป็นเงินออม อันดับแรก...เปลี่ยนค่าเหล้าเป็นเงินออม จากที่เคยจ่ายค่าเหล้าครั้งละ 5 บาท ก็นำไปเก็บออม 3 บาท
อันดับที่สอง...ลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย งดการดื่มเหล้าเบียร์และอบายมุขต่างๆ
อันดับสุดท้าย...ทำความดีเพื่อในหลวง พระรัตนตรัย : พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำความดีทั้ง กาย วาจา ใจ ทำความดีด้วยการฝาก เงินอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือน คือ ออกพรรษา ปีใหม่ สงกรานต์ และเข้าพรรษา
เพื่อเป็นหลักฐานการออม...การรณรงค์ออมเงิน 3 บาท เลิกเหล้าเลิกจน ได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาขอนแก่น ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีครัวเรือน จัดหน่วยเคลื่อนที่เพื่อเปิดบัญชีใหม่ทุก 3 เดือน
เมื่อสมาชิกเครือข่ายงดเหล้าชุมชน มีความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีครัวเรือน ก็สามารถวางแผนลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน ฝึกเก็บออมเงิน ดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียง
ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ นับตั้งแต่ปี 2546 ที่มีการรณรงค์งดเหล้าทำให้เกิดการทำให้นักดื่มประจำหมู่บ้าน อายุ 25 ปีขึ้นไป ลดการบริโภคเหล้าเบียร์ลง 1 ใน 3 จากร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 32.5
สถิตินักดื่มที่งดเหล้าเข้าพรรษาครบ 3 เดือนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในปี 2546-2550 จากร้อยละ 20.2 เป็นร้อยละ 31.4 ...ร้อยละ 47.2 ...ร้อยละ 57.4 และร้อยละ 62.4 ตามลำดับ
สถานการณ์นี้ เป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้าน ลดปัญหาการทะเลาะวิวาท โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนไม่พบการทะเลาะวิวาทตามงานต่างๆ ตั้งแต่ปี 2548
ลดการเกิดอุบัติเหตุ... ไม่พบการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ตั้งแต่ปี 2549
เกิดเครือข่ายนักรณรงค์งดเหล้าประจำหมู่บ้านที่ชัดเจน อาทิ ยมทูตเตือนใจ และเปลี่ยนวิธีคิดดำเนินวิถีชีวิตแบบพอเพียง งดเหล้าออมเงิน มีเงินฝาก 420,000 บาท
การเลิกเหล้าออมเงิน คือนวัตกรรมทางความคิดสำหรับแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในระดับหมู่บ้าน...ชุมชน เป็นกระบวนการรณรงค์สุขภาพแบบองค์รวม สอดคล้องกับวิถีชีวิตในหมู่บ้าน
คนส่วนใหญ่ดื่มกันมาก อาจถึงขั้นนำไปสู่ความหายนะของครอบครัว ส่วนหนึ่งก่อให้เกิดเป็นค่านิยม และแบบแผนการดื่มภายในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย ดื่มจนมีหนี้สิน สุขภาพเสื่อมโทรม
หากทุกชุมชนแก้ไขปัญหานักดื่มได้อย่างตรงจุด นอกจากแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังได้เงินค่าเหล้ามหาศาลเป็นกองทุน หมุนเวียนใช้จ่ายในชุมชน.
|
วันที่ 5 ก.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,176 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,150 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,151 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 24,549 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,763 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,338 ครั้ง |
เปิดอ่าน 3,656 ครั้ง |
เปิดอ่าน 22,162 ครั้ง |
|
|