ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory)
เมื่อกล่าวถึงคำว่า วิวัฒนาการ (Evolution) ด้วยนัยโดยตรง หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตต่างในช่วงเวลาหนึ่ง (Scupin and Decorse, 2004 : 51) หรือหมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงหรือคลี่คลายไปสู่ฐานะที่ดีขึ้นหรือเจริญขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางชีววิทยาจากสิ่งที่ง่ายๆ ไปสู่สิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องเปลี่ยน ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้เวลานาน (http://th.wikipedia.org/wiki/ ค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552) และอาจขยายความต่อไปได้ว่าเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้น แต่ยังคงมีบางส่วนที่เหมือนเดิม
โดยทั่วไป แนวคิดวิวัฒนาการ ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาด้านชีววิทยา (Biology) แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิทยาศาสตร์ รวมถึงสังคมศาสตร์สาขาอื่นที่ต้องการศึกษาวิวัฒนาการในเชิงประวัติศาสตร์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ การศึกษาทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่เกี่ยวกับวัตถุนิยมเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) แนวคิดนี้มีบทบาทอย่างยิ่งในยุคแสวงหาความรู้แจ้ง (Enlightenment Ara) ที่ต้องการสร้างประวัติศาสตร์สากล ซึ่งต้องอาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการมาอธิบาย หรือแม้กระทั่งการศึกษาในมิติของวัฒนธรรม ก็มีความจำเป็นต้องพึ่งพาทฤษฎีวิวัฒนาการด้วยเช่นกัน จนมีคำกล่าวว่า “วัฒนธรรมของมนุษย์ คือ ผลของวิวัฒนาการทางชีววิทยา” (Friedl, 1981 : 114) ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงที่มาของทฤษฎีนี้ ย่อมช่วยให้ผู้ศึกษามองเห็นภาพทางวัฒนธรรมอย่างแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น
บุคคลที่นับว่าเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาด้านวิวัฒนาการนี้ คือ Charles Darwin (1809 - 1882) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ เขาเป็นคนแรกที่ปูพื้นฐานทฤษฎีว่าด้วยวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยมีผลงานตีพิมพ์ชิ้นสำคัญ ในปี ค.ศ. 1859 คือ The Origin of Species หรือ “ต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต” จากผลงานชิ้นนี้เองที่ได้สร้างความสนใจแก่บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการจากแขนงต่างๆ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างมาก
The Origin of Species นับเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของ Darwin ซึ่งใช้เวลาร่วม 5 ปีในการเดินทางไปพร้อมกับเรือบีเกิล (H.M.S. Beagle) ที่มุ่งหน้าสู่เกาะแก่งและภูมิภาคอเมริกาใต้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 เขาได้ทำการเก็บตัวอย่างและศึกษาสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ จากสถานที่ต่างๆ ที่ไปเยือน ภายหลังการเดินทางที่ยาวนาน เขากลับมาที่อังกฤษและได้ร่วมกับ Alfred Wallace (1823 - 1913) ศึกษาและค้นพบกลไกพื้นฐานของวิวัฒนาการ (Basic Mechanism of Evolution) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของสิ่งมีชีวิต นั่นคือ หลักการเลือกสรรของธรรมชาติ (Natural Selection) และความอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด (Survival of the Fittest) (Ember and Ember, 1993 : 15; Scupin and Decorse, 2004 : 54; McGee and Warms, 2004 : 14)
Darwin และ Wallace พบว่า กลไกพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต 2 ประการดังกล่าว เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ จะเกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสิ่งที่มีชีวิต เมื่อสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สิ่งที่มีชีวิตก็จะปรับตัวตามสภาพแวดล้อมนั้นเพื่อการอยู่รอดของตน ดังนั้น สิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะวิวัฒนาการจากการมีอินทรีย์หรือรูปร่างแบบง่ายๆ (Simple Organic) ไปสู่อินทรีย์ที่มีโครงสร้างที่สลับซับซ้อนขึ้น (Complex Organic) และเพื่อให้อัตราการอยู่รอดมีสูงมากยิ่งขึ้น สิ่งมีชีวิตจะทำการถ่ายทอดอุปนิสัย (Traits) ของตนสู่รุ่นต่อไปผ่านกระบวนการสืบทอดเผ่าพันธุ์ (Process of Inheritance) (Friedl, 1981 : 116)
เมื่อพิจารณาถึงจุดกำเนิดของวัฒนธรรม (The Origins of Culture) อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมมีจุดเริ่มพร้อมกับมนุษย์ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณการไว้ว่าโลกได้ถือกำเนิดเมื่อ 5 – 6 พันล้านปีก่อน หรือยุคดึกดำบรรพ์ (Precambrian) ต่อมาในยุค Paleozoic เริ่มมีสิ่งมีชีวิตในราว 3 – 4 พันล้านปีก่อน และวิวัฒนาการมาเป็นปลาและสัตว์เลื้อยคลาน ในราว 300 – 500 ล้านปีก่อน ในยุคต่อมา คือ ยุค Mesozoic อันเป็นยุคแห่งไดโนเสาร์ (Age of Dinosaurs) ได้เริ่มมีไดโนเสาร์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) โดยอยู่ในช่วง 110 – 225 ล้านปีก่อน ก่อนจะเข้าสู่ยุค Cenozoic ที่เริ่มในราว 70 ล้านปีก่อน ภายหลังสิ้นสุดยุคไดโนเสาร์ โดยมีวิวัฒนาการย่อยแบ่งเป็นยุค (Epoch) ตามลำดับ คือ Paleocene (60 – 70 ล้านปีก่อน เริ่มมีนกและสัตว์), Eocene (50 – 60 ล้านปีก่อน เริ่มมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทลิง-คน (Primate)), Oligocene (30 ล้านปีก่อน ลิงเริ่มมีวิวัฒนาการ), Miocene (25 ล้านปีก่อน เป็นยุควานรหางสั้น หรือ Apes), Pliocene (3 – 12 ล้านปีก่อน เป็นยุคสัตว์นักล่า (Hunting Primates)) และยุค Pleistocene (10,000 – 3 ล้านปีก่อน มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นในโลก และเริ่มสร้างวัฒนธรรม) (Friedl, 1981 : 117)
กล่าวได้ว่า ทฤษฎีของ Darwin ช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจว่าทำไมตัวตนของเราจึงมีหน้าตาเช่นนี้ รวมไปถึงทำให้รู้ว่าทำไมวัฒนธรรมจึงมีความเจริญงอกงามและเสื่อมถอยได้ ดังที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการรักษาเผ่าพันธุ์ของตนให้อยู่รอดสืบไป โดยอาศัยกระบวนการในการปรับตัว ผ่านการถ่ายทอดอุปนิสัยและวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น หรือที่เรียกว่า กระบวนการสืบทอดเผ่าพันธุ์ (Process of Inheritance)
ในหัวข้อต่อไปผู้เขียนขอนำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานที่ใช้ในการศึกษาวัฒนธรรม นั่นคือ ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม (Cultural Evolution Theory)
ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม (Cultural Evolution Theory)
จากหัวข้อที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีความเชื่อว่ายุครุ่งเรืองของทฤษฎีวิวัฒนาการอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 1860 - 1890 หลังการตีพิมพ์หนังสือ เรื่อง Origin of Species ของ Darwin ในปี ค.ศ.1859 (Scupin and Decorse, 2004 : 53) อย่างไรก็ตาม ในทฤษฎีวิวัฒนาการวัฒนธรรมกลับมิได้นำแนวคิดเชิงชีววิทยาของ Darwin มาใช้ แต่นักทฤษฎีสายวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมกลับให้น้ำหนักไปสนใจการทำงานภาคสนามในเชิงโบราณคดี และประวัติศาสตร์สากลที่แตกแขนงมาจากความคิดแบบ Darwin โดยทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมนี้ ถูกนำมาใช้ในการอธิบายเกี่ยวกับความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มักให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของตะวันตก (Modern Historical of Western) ส่วนนักคิดวิวัฒนาการในคริสต์ศตวรรษที่ 19 สนใจประวัติศาสตร์ของคนที่อยู่นอกยุโรป หรือเป็นผู้ที่อาศัยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ไม่มีตัวหนังสือ ความแตกต่างดังกล่าวนี้เกิดจากการศึกษาภาคสนามเกี่ยวกับคนพื้นเมือง และการค้นพบหลักฐานโบราณคดีที่แสดงว่ามีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อนำความรู้ทางมานุษยวิทยาและโบราณคดีมารวมกัน ทำให้นักมานุษยวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้สร้างทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ตามที่พบเห็นจากหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเหมือนกับอุปกรณ์ที่ชนพื้นเมืองในปัจจุบันใช้อยู่ ทฤษฎีนี้ทำให้การศึกษาทางมานุษยวิทยาที่อาศัยหลักฐานโบราณคดีกลายเป็นวิธีศึกษาเชิงเปรียบเทียบ ล่วงสู่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักมานุษยวิทยาหลายคนได้วิจารณ์วิธีการศึกษาเชิงเปรียบเทียบว่าเป็นการศึกษาแบบเดาสุ่ม และทำให้ทฤษฎีวิวัฒนาการค่อยเสื่อมลงในแวดวงมานุษยวิทยา กระทั่งในช่วงปลายทศวรรษ 1940 นักมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งก็รื้อฟื้นทฤษฎีวิวัฒนาการขึ้นใหม่
หนึ่งในนักทฤษฎีคนสำคัญในสายทฤษฎีวิวัฒนาการวัฒนธรรม คือ Edward B. Tylor (1832 - 1917) นักคิดชาวอังกฤษ และได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งมานุษยวิทยา โดยเขาใช้เวลาหลายปีไปกับการเดินทางท่องไปในดินแดนอเมริกา คิวบา และเม็กซิโก เพื่อการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดี และในปี ค.ศ. 1861 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของเขา ในชื่อ Anahuac ซึ่งกลั่นมาจากประสบการณ์ในขณะใช้ชีวิตในเม็กซิโก และในอีกสี่ปีต่อมาเขามีผลงาน เรื่อง Researches in the Early History of Mankind อันมีกลิ่นอายของการศึกษาเชิงวิวัฒนาการอย่างชัดเจน ในหนังสือดังกล่าว Tylor ชี้ให้เห็นว่าในยุคดั้งเดิม (Primitive) นั้น มนุษย์จัดอยู่ในประเภทคนป่าเถื่อน (Savage) และเมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์จะมีวิวัฒนาการผ่านกระบวนการทางสังคมจนกลายเป็นสังคมรุ่งเรือง (Civilized Societies) (Friedl, 1981 : 44)
หลังจากนั้น Tylor ได้เขียนหนังสือ เรื่อง Primitive Culture ในปี ค.ศ. 1871 เพื่อตอบคำถามถึงวิวัฒนาการของมนุษย์จากสังคมป่าเถื่อนมาเป็นสังคมรุ่งเรืองมีขั้นตอนอย่างไร และให้คำนิยามของวัฒนธรรมว่า หมายถึง ความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ประเพณี ศีลธรรม พฤติกรรมและความสามารถต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ในการดำรงอยู่เป็นสมาชิกในสังคม
เป็นที่ทราบกันดีว่าความสนใจของ Tylor เป็นเรื่องวิวัฒนาการของสถาบันและความเชื่อทางศาสนาและเวทมนต์ โดยเขาได้โต้แย้งความเชื่ออันงมงายในพระเจ้า โดยอธิบายวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมด้วยระบบเหตุผล
นักวิทยาศาสตร์ทางสังคมในศตวรรษที่ 19 ที่ได้นำแนวคิดของ Darwin มาใช้ในการศึกษาวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ที่สำคัญอีกคนหนึ่ง คือ Lewis Henry Morgan (1818 - 1881) นักมานุษยวิทยาอเมริกัน ซึ่งใช้เวลายาวนานในการศึกษาชนเผ่าอินเดียนแดงในอเมริกา โดยนำเอาหลักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติของ Darwin มาปรับใช้อธิบายวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของสังคมอินเดียเผ่า Iroquois ซึ่งจากการศึกษาของเขาได้พบว่า การแต่งงานเป็นกลุ่ม (Group Marriage) ของชนเผ่า Iroquois นั้นเป็นเรื่องของความอยู่รอด ทั้งนี้หมายความว่าสังคมมนุษย์ปัจจุบันรวมทั้งสังคม Iroquois ได้ผ่านภาวการณ์แต่งงานเป็นกลุ่มมาแล้ว (Friedl, 1981 : 45)
Morgan ทุ่มเทความสนใจไปสู่ระบบเครือญาติและระบบการจัดระเบียบสังคมของอินเดียนแดงเผ่า Iroquois ซึ่งทำให้เขาเขียนหนังสือเล่มแรก เรื่อง League of the Ho-de-no-sau-nee ในปี ค.ศ.1851 หลังจากนั้น Morgan ได้ขยายการศึกษาโดยการเดินทางไปทั่วอเมริกาและแคนาดา ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้กลายเป็นหนังสือ เรื่อง System of Consanguinity and Affinity of the Human Family ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1871 และ Ancient Society ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1877 ตามลำดับ (Friedl, 1981 : 45)
ในหนังสือเรื่อง Ancient Society Morgan ได้ใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม โดยอธิบายลำดับพัฒนาการทางสังคมมนุษย์ (Progress of Human Society) ตั้งแต่ระดับคนป่า (Savagery) ระดับสังคมเพาะปลูก (Barbarism) และสังคมอารยะ (Civilization) หรือพัฒนาการทางสังคม 3 ขั้น คือ ขั้นแรกคือสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ ขั้นที่สอง สังคมเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ และขั้นที่สาม สังคมแบบรัฐ ในแต่ละลำดับขั้นจะถูกแบ่งเป็นชั้น 3 ชั้น คือ ชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง ในส่วนของระบบเครือญาติ Morgan เชื่อว่าระบบเครือญาติมีสองระบบ คือ ระบบจัดกลุ่ม และระบบชี้เฉพาะ โดยเครือญาติแบบจัดกลุ่มจะเกิดขึ้นในสังคมของชนเผ่าหรือสังคมเกษตรกรรม ต่อมาระบบเครือญาติจะค่อยๆ พัฒนาเป็นแบบชี้เฉพาะซึ่งจะเกิดขึ้นในสังคมที่มีความเจริญ
ความคิดที่สำคัญของ Morgan คือ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ไปสู่ยุคอารยะ โดยที่ Morgan ใช้วิธีการแยกแยะจากระบบการเขียน การเกิดขึ้นของเมือง สถาปัตยกรรม และการมีรัฐ Morgan อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ซึ่งต้องใช้ที่ดินมากขึ้น การเกิดขึ้นของทรัพย์สินส่วนตัวทำให้คนบางคนมีสิทธิพิเศษ มีการสืบทอดมรดกทางฝ่ายชาย การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดระบบชนชั้นตามมา และชนชั้นสูงจะมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า เขาเชื่อว่าวัฒนธรรมชนเผ่าในปัจจุบันเป็นร่องรอยของสังคมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
สรุป (Conclusion)
ทฤษฎีวิวัฒนาการ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาสังคมศาสตร์ รวมถึงการศึกษาวัฒนธรรมในเชิงประวัติศาสตร์ ดังคำกล่าวที่ว่า “วัฒนธรรมของมนุษย์ คือ ผลของวิวัฒนาการทางชีววิทยา” ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงที่มาของทฤษฎีนี้ ย่อมช่วยให้ผู้ศึกษามองเห็นภาพทางวัฒนธรรมอย่างแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น โดยทฤษฎีวิวัฒนาการมีนักคิดคนสำคัญ คือ Charles Darwin (1809 - 1882) โดยเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ จะเกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสิ่งที่มีชีวิตเพื่อการอยู่รอดของตน และเพื่อให้อัตราการอยู่รอดมีสูงมากยิ่งขึ้น สิ่งมีชีวิตจะทำการถ่ายทอดอุปนิสัย ของตนสู่รุ่นต่อไปผ่านกระบวนการสืบทอดเผ่าพันธุ์
ด้วยพื้นฐานจากทฤษฎีวิวัฒนาการดังกล่าว ทำให้เราสามารถเข้าใจว่าทำไมตัวตนของเราจึงมีลักษณะเช่นนี้ และทำให้รู้ว่าทำไมวัฒนธรรมจึงมีความเจริญงอกงามและเสื่อมถอย โดยอาศัยทฤษฎีที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง คือ ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม โดยมีนักทฤษฎีคนสำคัญ คือ Edward B. Tylor (1832 - 1917) และ Lewis H. Morgan (1818 - 1881)
Tylor ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งมานุษยวิทยา เจ้าของผลงานที่สำคัญ เรื่อง Anahuac และ Researches in the Early History of Mankind ซึ่งเขาชี้ให้เห็นว่าในยุคดั้งเดิมนั้น มนุษย์จัดอยู่ในประเภทคนป่าเถื่อนแต่เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์จะมีวิวัฒนาการผ่านกระบวนการทางสังคมจนกลายเป็นสังคมรุ่งเรือง
ขณะที่ Morgan ได้ใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม โดยอธิบายลำดับพัฒนาการทางสังคมมนุษย์ ตั้งแต่ระดับคนป่า ระดับสังคมเพาะปลูก และสังคมอารยะ ซึ่งเรียกว่าพัฒนาการทางสังคม 3 ขั้น และได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับครอบครัว การแต่งงาน และการจัดระเบียบทางสังคมและการเมือง
แนวคิดของทั้งสองมีลักษณะคล้ายคลึงกับแนวความคิดของนักมานุษยวิทยาส่วนมากในศตวรรษที่ 19 ที่เชื่อว่ามนุษย์ทั้งหลายนั้นล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล จึงพยายามหาทางปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ ด้วยเหตุที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจึงย่อมพัฒนาไปตามกฎธรรมชาติ กฎเกณฑ์นี้ควบคุมไปทั่วจักรวาลและไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดังนั้น วิวัฒนาการย่อมเริ่มจากง่ายไปสู่ยาก จากความไม่เป็นระเบียบไปสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการนี้ย่อมเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ “ความดีขึ้น” (Betterment) ด้วยเหตุนี้ วิวัฒนาการจึงหมายถึงความเจริญก้าวหน้า การก้าวเดินไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วย
………………………………………………
หนังสืออ้างอิง
Ember, Carol R. and Ember, Melvin. 1993. Anthropology. New Jersey : Pretige-Hall, Inc.
Friedl, John. 1981. The Human Portrait : Introduction to Cultural Anthropology. New Jersey : Pretige-Hall, Inc.
McGee, R. Jon and Warms, Richard L. 2004. Anthropology Theory : An Introductory History. New York : McGraw Hill, Inc.
Scupin, Raymond and Decorse, Christopher R. 2004. Anthropology : A Global Perspective. New Jersey : Pearson Education, Inc.
………………………………………………