โดย กาญจน์ ศรีปริญญาศิลป์
ลายมือโย้เย้เหล่านี้ ถูกเขียนเป็นอันดับท้ายสุด หลังจากที่หน้ากระดาษสีขาว ถูกแต่งแต้มด้วยลายเส้นง่ายๆ บรรจงสร้างสรรค์เป็นรูปภาพห้องเรียน คุณครู กระดานดำ สมุด ปากกา ที่ผู้วาดระบายสีสันให้ภาพของเขางดงามด้วยสีเทียน ระบายกระโปรงนักเรียนด้วยสีน้ำเงิน วาดชุดให้คุณครูเป็นสีชมพูสดใสสมจริง ตามทฤษฎีศิลปะที่คุณครูเคยสอนวาดรูปในห้องเรียน
หากแต่ว่าภาพวาดในครั้งนี้ แตกต่างไปจากครั้งอื่นๆ ไม่มีครูศิลปะกำกับว่าพวกเขาต้องวาดอะไร ไม่มีครูภาษาไทยคอยบอกว่า ต้องเขียนประโยคอะไรบ้าง และไม่ใช่การประกวด แต่นี่คือสิ่งที่เด็กๆ ของโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ ตั้งใจวาดขึ้นมาด้วยโจทย์เพียงข้อเดียวก็คือ “โรงเรียนปลอดรุนแรงในความคิดของฉัน” นั้นเป็นอย่างไร
ภาพเขียนจำนวนกว่า 40 ภาพ ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดของเด็กในวัยประถมศึกษา สะท้อนมุมมองโลกและสังคมของเขา ที่ห้อมล้อมไปด้วยเพื่อน ทั้งหญิง ทั้งชาย คุณครู และบรรยากาศการเล่นในสนามเด็กเล่น นักเรียนบางคนเลือกวาดภาพในลักษณะที่เป็นภาพเสมือนจริง (Realistic) นั่นคือภาพที่พวกเขาพบเห็น ความทรงจำ และเข้าใจว่า “ความรุนแรง” นั้นเป็นอย่างไร ในขณะที่บางคนวาดภาพในศิลปะแบบกึ่งนามธรรม (Semiabstract) ที่มีจินตนาการเกินจริง แต่ภาพเขียนนั้นก็บอกว่า พวกเขาต้องการอะไร
ความรุนแรงที่ฉันพบเจอ
ภาพจำนวนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละวันเด็กๆ พบกับอะไรบ้างที่เป็นความรุนแรงสำหรับพวกเขาในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น การถูกครูตีด้วยไม้เรียว การบังคับให้ยืนหน้าห้องเรียน การถูกเพื่อนแย่งของเล่น การลงโทษที่แรงเกินไป เด็กๆ วาดภาพแล้วก็เติมถ้อยคำลงไปด้วย เป็นต้นว่า “ไม่อยากให้ครูตีนักเรียนแรงเกินไป” “หนูไม่อยากให้มีการทะเลาะกัน” เป็นต้น
ลำดับเรื่องราวความขัดแย้ง
ภาพเขียนบางภาพ ได้เล่าความเป็นมาและแสดงเหตุการณ์ เช่น ภาพของเด็กนักเรียนคนสองฝ่ายที่ต่างกำลังมีเป้าหมายว่าจะต้องตีอีกฝ่ายหนึ่งให้เจ็บตัวด้วยไม้ท่อนใหญ่ ขณะที่นักเรียนอีกคนกำลังวิ่งเข้าไปห้าม ส่วนอีกภาพเขียนหนึ่งเล่าด้วยภาพว่าเขายืนร้องไห้ และมีการบวมปูดที่ศีรษะ เนื่องจากก่อนหน้านั้นถูกเพื่อนเขกหัว ท่ามกลางอากาศที่สดใส มีต้นไม้เขียวขจี แต่พวกเขากำลังเศร้าใจ เด็กน้อยคนนี้จึงเขียนป้ายเล็กๆ ไว้บนภาพด้วยว่า บรรยากาศในภาพนี้ควรจะเป็น “เขตลดความรุนแรง” เสียมากกว่า
การขอร้องผ่านภาพเขียน
นักเรียนคนหนึ่ง เขียนข้อความไว้บนภาพของเขาว่า “ไม่อยากให้คุณครูดุนักเรียน และไม่ตีแรง” จากนั้นเขากากบาททับลงบนภาพคุณครูชุดแดงที่ยืนอยู่หน้าห้องเรียน เช่นเดียวกับอีกภาพที่กากบาทสีแดงทับคุณครูที่กำลังตีเพื่อนของเขาจนร้องไห้จ้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นที่เขาอยากให้ลบทิ้งออกไปจากความรู้สึก หรือ สิ่งที่ไม่อยากเห็นในโรงเรียน
โลกที่อยากให้เป็น
อีกมุมมองหนึ่งที่สะท้อนอยู่บนกระดาษเหล่านั้นคือจินตนาการในฝันและสิ่งที่เด็กๆ อยากให้เกิดขึ้น และเปรียบเทียบให้เห็นโลกที่แตกต่างกัน 2 ด้าน เช่น ภาพที่เพื่อนๆ ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ทำความสกปรกให้โรงเรียน พร้อมเขียนลงไปว่า “ยิ่งทำยิ่งน่าเกลียด” ในขณะที่อีกภาพเป็นการเก็บขยะแล้วบอกว่า “ยิ่งทำยิ่งน่ารัก” หรือภาพของรุ่นพี่ที่พูดจาไพเราะกับน้องๆ และยังแบ่งปันของเล่นด้วยรอยยิ้ม อีกภาพเป็นโลกแห่งการให้อภัยเมื่อเผลอทำร้ายกัน ก็ได้ยกมือไหว้ขอโทษ เมื่อมีคนให้ของ ก็ตอบแทนด้วยคำว่า “ขอบคุณครับพี่” พร้อมเกิดรูปหัวใจสีชมพูขึ้นทั้งสองฝ่าย เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความรักซึ่งกันและกัน
………
ยังมีภาพเขียนอีกหลายชุดที่เขียนขึ้นจากจินตนาการ หัวใจ และความรู้สึกนึกคิดของเด็กน้อยในวัยอันไร้เดียงสา ผ่านรูปเขียนที่สละสลวย งดงาม หรือบางภาพเขียนที่มีรอยขีดฆ่า ลบใหม่ เสริมเติมแต่งถ้อยคำ ประโยค ที่บางครั้งอาจจะสะกดผิดไปนิด หรือเขียนตัวเล็กไปหน่อย
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้วัดผลที่ความงามด้านศิลปะหรือฝีมือการวาดภาพแต่อย่างใด แต่กำลังเป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่า ความรุนแรงอยู่ใกล้ชิดกับโลกของการศึกษามากน้อยแค่ไหน ความทรงจำของเด็กๆ ในวันนี้มีภาพของความรุนแรงที่พวกเขาไม่อยากพบอย่างไร
และบางที แนวทางของการสร้างโลกที่สวยงามในอนาคตของพวกเขา อาจได้มาจากสิ่งสะท้อนจากภาพเขียนเล็กๆ เหล่านี้ก็เป็นได้.
ครูติ๋ว