Advertisement
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดคู่บ้านคู่เมืองไทย
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง เขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก ติดท้องสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2325 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2327 ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ ของพระบรมมหาราชวัง เพื่อใช้เป็นที่ประกอบ พระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ และให้เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นพระพุทธรูป ศักดิ์สิทธิ์ปางสมาธิ ที่พระองค์ทรงอัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา ภายในบริเวณวัดพระแก้ว ประกอบด้วยสิ่งที่น่าสนใจ อาทิ พระอุโบสถ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วยังมีพระมณฑป, พระศรีรัตนเจดีย์, ปราสาทพระเทพบิดร, หอพระมนเทียรธรรม, วิหารยอด, หอพระนาก, พระอัษฎามหาเจดีย์ ซึ่งเป็นพระปรางค์ 8 องค์, หอพระคันธารราษฎร์ มณฑปยอดปรางค์, หอระฆัง, ศาลาราย, เจดีย์ทอง 2 องค์, นครวัดจำลอง และยักษ์ทวารบาล ซึ่งเป็นรูปยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ |
|
วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอกทางทิศตะวันออก มีระเบียงล้อมรอบ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวงและประชุมข้าทูลละอองพระบาท ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้ ภายหลังจากการสถาปนาแล้วก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาล เพราะเป็นวัดที่สำคัญ จึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทั่วพระอารามทุก 50 ปี คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในโอกาสที่จะมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2525 ปัจจุบันวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วเป็นสถานที่ ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ให้เข้ามาเยี่ยมชมและสักการะบูชาเป็นจำนวนมาก
|
แผนที่วัดพระศรีัรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว
|
|
1.พระอุโบสถ
|
พระอุโบสถ ตั้งอยู่ส่วนกลางของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมาทั้ง 4 มุมและตอนกลางของกำแพงอีก 4 ซุ้ม รวม 8 ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2326 เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) ที่พระองค์ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2322 ในการสร้างพระอุโบสถหลังนี้ใช้เวลา 3 ปี สำเร็จเรียบร้อยลงใน พ.ศ.2328 หลักฐานการก่อสร้างและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ของพระอุโบสถในรัชสมัยนี้ไม่ชัดเจนนัก มีการบูรณะและปฏิสังขรณ์พระอุโบสถในรัชกาลที่ 3,4,5,6 และสมัยรัชกาลปัจจุบัน เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่หมด แต่มิได้เปลี่ยนแปลงในหลักการและรายละเอียดใดๆ |
|
|
2.หอระฆัง
|
หอระฆัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นให้ครบบริบูรณ์ ตามระเบียบของการสร้างวัดคือ มีพระอุโบสถ, พระวิหาร, พระเจดีย์, พระมณฑปประดิษฐาน,พระไตรปิฎก และหอระฆัง ระฆังที่นำมาประดิษฐานนี้สันนิษฐานได้เป็น 2 นัย นัยหนึ่งกล่าวว่าเป็นระฆังซึ่งพบในการขุดสระ เพื่อสร้างหอไตร ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และทรงผาติกรรมมาจากวัดนั้น เนื่องด้วยเป็นระฆังที่มีเสียงกังวาลมาก แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่าเป็นระฆังที่โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้น เพื่อประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยเฉพาะ หอระฆังที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีรูปร่างอย่างไร
|
|
3.หอพระคันธาราษฎร์
|
หอพระคันธาราษฎร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระคันธารราษฎร์ ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นพระปฏิมาสำคัญในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญและพิรุณศาสตร์ และยังโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ของสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งทรงอัญเชิญมาจากเมืองเหนือ ที่หน้าหอพระคันธารราษฎร์ |
|
4.ศาลาราย
|
ศาลาราย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นมีเป็นศาลาโถงไม่มีฝา จำนวน 12 หลัง ตั้งอยู่รายรอบพระอุโบสถ ด้านทิศเหนือ และทิศใต้มีจำนวนด้านละ 4 หลัง ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกมีจำนวนด้านละ 2 หลัง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีรูปร่างลักษณะแบบใด ใช้เป็นที่อ่านหนังสือศาสนาให้ราษฎรที่ไม่รู้หนังสือฟังเวลามีงานหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ด้วย มีลักษณะเหมือนกันทั้งรูปร่าง ขนาดและความสูง ลักษณะเป็นศาลาโถงขนาด 2 ห้อง หลังคาทรงไทย มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี โดยมีพื้นสีน้ำเงินขอบสีส้ม หน้าบันเป็นรูปเทพนม บนพื้นกระจกสีขาว มีลาย กระหนกประกอบโดยรอบบนกระจกพื้นสีน้ำเงิน ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และนาคสะดุ้งทำด้วยไม้ มีคันทวยไม้จำหลักลายเป็นรูปพญานาครองรับชายคาโดยรอบ เพดานฉลุฉายปิดทองบนพื้นชาด เสาเป็นเสาสี่เหลี่ยมฉาบปูนย่อเหลี่ยม ระหว่างเสาทำเป็นคูหาโค้งตอนมุม พื้นซึ่งทำเป็น 2 ระดับปูด้วยหินอ่อน
|
|
5.พระเจดีย์ทอง 2 องค์
|
พระเจดีย์ทองสององค์ ตั้งอยู่บนฐานไพทีทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทพระเทพบิดร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นอุทิศถวายสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระราชบิดา) และพระราชมารดา เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะเหมือนกันทั้งขนาดรูปร่างและความสูง เป็นพระเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมไม้สิบสอง หุ้มด้วยแผ่นทองแดงหรือที่เรียกว่า "ทองจังโก" แล้วลงรักปิดทองทับอีกชั้นหนึ่ง ลักษณะของพระเจดีย์ย่อมุมแบบนี้เป็นแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานของพระเจดีย์เป็นรูปแปดเหลี่ยมบุด้วยหินอ่อนจำหลักลายเป็นรูปกากบาท เหนือฐานแปดเหลี่ยมตั้งประติมากรรมรูปมารแบกและกระบี่แบกด้านละ 3 ตน และทุกย่อมุมอีกมุมละ 2 ตน รวมทั้งหมด 20 ตน เฉพาะตัวกลางทั้ง 4 ด้านเป็นขุนกระบี่ นอกจากนั้นเป็นพระยากุมภัณฑ์ทั้งหมด แต่ละตนมีใบหน้าเครื่องแต่งตัวและสีของกายเป็นไปตามลักษณะในเรื่องรามเกียรติ์
|
|
6.ปราสาทพระเทพบิดร
|
ปราสาทพระเทพบิดร แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า "พระพุทธปรางค์ปราสาท" เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เนื่องด้วยพระอุโบสถนั้นมีฐานเตี้ยกว่าพระมณฑปซึ่งประดิษฐานพระธรรม ครั้นสร้างสำเร็จพบว่า มีขนาดเล็กไม่เพียงพอต่อการประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เกิดเพลิงไหม้ชำรุดเสียหาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์ แต่ยังไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะต่อจนแล้วเสร็จ พระราชทานนามใหม่ว่า "ปราสาทพระเทพบิดร" พร้อมโปรดให้อัญเชิญพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 5 พระองค์ มาประดิษฐานภายในพระปราสาทนี้ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ยังคงใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1-8 สืบเนื่องต่อมา |
|
7.พระมณฑป
|
พระมณฑป เดิมคือ หอมณเฑียรธรรม ซึ่งตั้งอยู่กลาง สระ ที่ถูกไฟไหม้ แต่ยกเอาตู้ประดับมุก ทรงมณฑปพร้อมทั้งพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ ซึ่งได้ทำการสังคายนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกใหม่โดยถมสระเดิมสร้าง ฐานพทีให้สูงเป็นที่ประดิษฐานพระมณฑป |
|
8.พระศรีรัตนเจดีย์
|
พระศรีรัตนเจดีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2398 ตามแบบพระมหาเจดีย์ ในวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยา เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ทรงได้มาจากลังกา แต่การก่อสร้างพระศรีรัตนเจดีย์ยังไม่แล้วเสร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพอกแก้รูปทรงพระศรีรัตนเจดีย์ ประดับกระเบื้องทองภายนอกและเขียนผนังภายในทำบานประตูและปูพื้นหินอ่อนภายใน ในรัชกาลที่ 7 ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ภายนอกองค์พระศรีรัตนเจดีย์ และในรัชกาลปัจจุบันได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระศรีรัตนเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง พระศรีรัตนเจดีย์เป็นพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา รูปแบบเดียวกับพระเจดีย์ 3 องค์ ที่วัดพระศรีสรรเพชญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องโมเสกทองทั้งองค์ ภายในกลวงเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์องค์เล็กบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
9.นครวัดจำลอง
|
นครวัดจำลอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้พระยาสามภพพ่ายออกไปถ่ายแบบปราสาทนครวัด เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา แล้วมาจำลองไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อให้ประชาชนชม โดยถือว่าเป็นสิ่งแปลก กล่าวกันว่า ฝีมือจำลองนั้นเฉียบขาดนัก ได้ทั้งรูปทรง สัดส่วน และลวดลายภายนอกที่ต้องตรงกับของจริง แต่การสร้างทิ้งค้างไว้จนถึงรัชกาลที่ 5 จึงโปรดฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จให้สร้างขึ้นใหม่ด้วยปูน เพื่อฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี
|
|
10.หอมณเฑียรธรรม
|
หอมณเฑียรธรรม สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นไว้กลางสระน้ำทางทิศเหนือของพระอุโบสถใน พ.ศ.2326 เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาขึ้น แต่หอพระมณเฑียรธรรมหลังนี้ ได้ถูกเพลิงไหม้หมด ในวันสมโภชพระไตรปิฎกใน พ.ศ.2331 จึงไม่มีหลักฐานทางสถาปัตยกรรมใดๆ เหลือ นอกจากวิเคราะห์จากลักษณะที่ตั้ง และประโยชน์ใช้สอยว่าสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทอง และยังใช้เป็นที่บอกหนังสือแก่พระภิกษุสามเณร และยังเป็นที่พักราชบัณฑิตอีกด้วย จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อให้เพียงพอกับระโยชน์ใช้สอย อีกประการหนึ่งอาคารนี้สร้างในสระน้ำ จึงสันนิษฐานว่าคงจะเป็นอาคารโครงสร้างไม้ยกพื้นสูงเหนือระดับน้ำ มีระเบียงรอบตามแบบหอพระไตรปิฎกซึ่งสร้างในสระน้ำทั่วๆ ไป อีกทั้งการก่อสร้างในสมัยนั้น ถึงแม้จะมีความสามารถในการใช้โครงสร้างแบบก่ออิฐถือปูน แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการก่อสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนในน้ำมาก่อน
|
|
11.พระวิหารยอด
|
พระวิหารยอด รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในระยะที่ 2 ของการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระเทพบิดร ซึ่งแต่เดิมเป็นเทวรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) พระปฐมกษัตริย์ผู้ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้ในพระวิหารเรียกกันว่า "หอพระเชษฐบิดร" รูปร่างของหอพระหลังนี้จะเป็นอย่างไรไม่ปรากฏ แต่เรียกว่า "วิหารขาว" ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะฝาผนังโปกปูนขาว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงสร้างขึ้นใหม่เป็นวิหารยอด ตามที่กรมหลวงนรินทรเทวีได้ทรงบรรยายไว้ว่า "ทรงสร้างสรรพิหารยอดประดับพื้นผนังขาวแพรวพราวเลื่อนศรีเพรา เชิญพระศิลา 3 พระองค์ ทรงประดิษฐานไว้เป็นพระประธานเฒ่าฝาผนังเขียนเรื่องอิเหนา ลายระบายเส้นทองคำ ประดับพื้นทำล้วนศิลาลาดสะอาดเลื่อมบรรจงสรร" พร้อมทั้ง โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระเทพบิดรและพระนากซึ่งย้ายมาจากหอพระนาก และพระพุทธรูปศิลา และมีการปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน |
|
12.หอพระนาก
|
หอพระนาก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของพระอุโบสถ ใกล้กับพระวิหารยอดตรงกันข้ามกับ หอพระมณเฑียรธรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในระยะที่ 2 ของการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อขยายเขตพระระเบียงออกไปทางด้านทิศเหนือ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อและแผลงด้วยนาก ซึ่งอัญเชิญมาจากพระนครศรีอยุธยา และถือพระนากเป็นพระประธานในการ "เปตพลี" ( การอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ปัจจุบันใช้เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของเจ้านายในพระบรมราชจักรีวงศ์ |
|
13.พระระเบียง
|
พระระเบียง เป็นอาคารที่สร้างขึ้นโอบล้อม อาคารทุกหลัง ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้แยกจากเขตพระราชฐาน ของพระบรมมหาราชวัง ยกเว้นแต่พระปรางค์ 6 องค์ด้านทิศตะวันออกเท่านั้น สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระระเบียงขึ้นพร้อมๆ กับพระอุโบสถและหอพระมณเฑียรธรรมองค์เดิม แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในปีใด พร้อมทั้ง โปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นจบ และเสาระเบียงจะมีโคลงอธิบายภาพจารึกบนแผ่นศิลาติดอยู่ |
|
14.พระอัษฎามหาเจดีย์
|
พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือ พระปรางค์ 8 องค์ ตั้งเรียงกันอยู่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายนอกพระระเบียง พระมหาเจดีย์ทั้ง 8 องค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่นอน ภายนอกพระระเบียง 6 องค์ ภายในพระระเบียง 2 องค์ พระอัษฎามหาเจดีย์เป็นชื่อที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อฉลองพระนครครบ 200 ปี มีมติให้เรียกชื่อรวมเป็นทางการตามชื่อที่ปรากฎในการบูรณะปฏิสังขรณ์สมัยรัชกาลที่ 3 ของพระศรีภูริปรีชาวัตถุประสงค์ในการสร้างพระมหาเจดีย์เหล่านี้ก็เพื่ออุทิศเป็นพระพุทธเจดีย์องค์หนึ่ง, พระธรรมเจดีย์องค์หนึ่ง, พระปัจเจกเจดีย์องค์หนึ่ง, พระสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง, พระภิกขุนีสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง, พระชาฎกโพธิสัตว์องค์หนึ่ง, พระสงฆเจดีย์องค์หนึ่ง และพระยาจักรเจดีย์องค์หนึ่ง ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ประดับกระเบื้องเคลือบสีที่พระมหาเจดีย์ทั้ง 8 องค์ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลปัจจุบันเป็นการซ่อมส่วนที่ชำรุดเสียหายแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างแต่ประการ |
|
ข้อมูลจาก https://www.myfirstbrain.com/AroundTheCity_View.aspx?Id=50065
วันที่ 2 ก.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,149 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,160 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,243 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,164 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,147 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 94,124 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,452 ครั้ง |
เปิดอ่าน 29,498 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,076 ครั้ง |
เปิดอ่าน 269,033 ครั้ง |
|
|