รองลงมาคือ รามคำแหง-เกษตรศาสตร์ ขณะที่หอพักด้านหลัง ม.ราชภัฏจันทรเกษม หัวใสดัดแปลงชั้นล่างหอพักเป็นผับให้นักศึกษา เที่ยว แฉ "เหล้าปั่น" เครื่องดื่มสุดฮิตวัยโจ๋..
1 ก.ค.ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีการแถลงข่าวมาตรการควบคุมการจำหน่ายเหล้าปั่น และร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และศูนย์วิจัยปัญหาสุรา โดยนางภัทรภร พลพนาธรรม กรรมการบริหารโครงการปริญญาโทบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจการกระจายตัวของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์โดย สุ่มสำรวจรอบมหาวิทยาลัย 15 แห่งใน กทม.และปริมณฑล พบว่า มีร้านค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์โดยรอบมหาวิทยาลัยในรัศมี 500 เมตร ของมหาวิทยาลัยทั้ง 15 แห่ง จำนวน 1,712 ร้าน
นางภัทรภร กล่าวต่อว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจำนวนร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์โดยรอบในรัศมี 500 เมตร มากที่สุด 407 ร้าน อันดับ 2 คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 164 ร้าน อันดับ 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 129 ร้าน ทั้งนี้ ร้อยละ 93 ของมหาวิทยาลัยที่ทำการสำรวจจะมีร้านขายเหล้าปั่น และร้อยละ 87 จะมีร้านเหล้าปั่นอยู่ในรัศมี 200 เมตรจากมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีร้านเหล้าปั่นมากที่สุด 16 ร้าน และพบว่า 2 ใน 3 ของสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใน กทม. หรือจำนวน 118 แห่ง มีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์อยู่ใกล้ไม่เกิน 100 เมตร และยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกคือ หอพักโดยรอบของมหาวิทยาลัยทั้ง 15 แห่ง มีหอพักถึง 668 แห่ง ที่จะมีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์อยู่ในรัศมี 100 เมตร และร้อยละ 90 ของหอพัก จะมีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์อยู่ด้านล่างหอพัก โดยพบที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมมากที่สุด คือ 46 แห่ง
นอกจากนี้ นางภัทรภร ยังเผยด้วยว่า ที่ด้านหลังของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มีหอพักที่ชั้นบนใช้ เป็นที่พักของนักศึกษา แต่ด้านล่างกลับมีการเปิดเป็นผับให้นักศึกษาเที่ยวด้วย
ด้าน น.ส.มาลีวรรณ ศุขวัฒน์ นิสิตปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษา "รูปแบบการสื่อสารและปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มเหล้าของวัยรุ่น" พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ดื่มเหล้าปั่นคือ
1. อยากลอง
2. ราคาต่ำ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาก็รวมกลุ่มกันดื่มได้
3. หาซื้อได้ง่าย
4. บรรยากาศของร้านดี
และยังมีการเรียกเหล้าปั่นด้วยว่าเป็นเครื่องดื่มของพวก "หัวเกรียน" คือ พวกนักเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งบางร้านก็เปิดให้นักเรียนมัธยมฯ เข้าร้านโดยไม่ได้ตรวจบัตรประชาชนด้วย
ขณะที่ น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเขตเทศบาลเมือง ช่วงเดือน ก.พ. 51 – ม.ค. 2552 พบว่าช่วง 1 ปี มีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 59% จาก 682 ร้าน เป็น 1,083 ร้าน ในจำนวนนี้มีร้านเหล้าปั่นเพิ่มขึ้นจาก 15 ร้าน เป็น 47 ร้าน และสิ่งที่น่าห่วงคือ มีรูปแบบการดื่มเหล้าที่ง่ายขึ้น ทั้งการใส่ถุงเหมือนเป็นน้ำอัดลมหรือโอเลี้ยง และมีสูตรการดื่มที่หลากหลาย เช่น สูตรเหล้าป๊อก คือ นำน้ำหวานผสมเหล้าใส่แก้วเป๊กบีบมะนาวและโรยเกลือ แล้วต้องเคาะแก้วก่อนที่จะดื่ม หรือจะเป็น “เหล้าถัง” ซึ่งกำลังนิยมมากในเชียงใหม่ คือการดื่มเหล้าผสมเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม แล้วนำมาใส่ลงในถังน้ำขนาดเล็ก ซึ่งสามารถดื่มกันได้หลายคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันเดียวกันที่กระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และคณะทำงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ นำโดย นายคำรณ ชูเดชา ผอ.มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเรียกร้องให้กำหนดมาตรการทางนโยบายป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้ามาเป็นนักดื่มหน้าใหม่ และทำให้สถานศึกษาปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งรณรงค์การบังคับใช้กฎหมายห้ามขายเหล้าในหอพัก และขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดเครื่องแอลกอฮอล์ ผลักดันให้มีการโซนนิ่งโดยรอบสถานศึกษา 500 เมตร เป็นพื้นที่สีขาว