"...ขวัญเจ้าไปอยู่นาแกมหญ้า
ขวัญเจ้าไปอยู่ป่าซ่าแกมผี
ขวัญเจ้าไปถืกขื่อลาหนา
ขวัญเจ้าไปลี้ไปถึกคาลำใหญ่ ก็ให้มาสามื้อนี้วันนี้
มาเย้อขวัญเอย..."
คนอีสานจะได้ยินเสียงเรียกขวัญกันอยู่บ่อย ๆ ในยามที่บ้านใดมีลูกหลานไปไทยมา ค้าขึ้น ลูกหลานสอบเข้าไปทำงานได้ หรืออาจจะมีคนอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวป่วยหนัก รักษาที่ไหนก็ไม่หาย ญาติ ๆ ก็จะมีความเชื่อว่าขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หรือมีผีสางนางไม้มาเรียกเอาขวัญไปอยู่ด้วยแล้ว จึงต้องจัดทำพิธีสูดขวนหรือสู่ขวัญขึ้น
คำว่าขวัญหรือขวน คือสิ่งที่เป็นมิ่งมงคลสถิตอยู่กับชีวิตมนุษย์ สัตว์ พืช รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ซึ่งเเป็นความเชื่อมาแต่ดั้งเดิมของสังคมไทย
เราไม่อาจจะปฎิเสธได้ว่าพิธีสูขวัญเป็พิธีสำคัญของุทุกขั้นตอนในชีวิตของคนคนหนึ่ง ทุกคนถ้าเป็นชาวอีสานล้วนแต่เคยเข้าพิธีสำคัญนี้มาแล้วทั้งสิน ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของชีวิต เช่น พิธีทำขวัญอู่ ทำขวัญบวชนาค ทำขวัญแต่งงานฯ
นอกจากนี้ในภาษาพูดเราก็ยังพูดถึงคำว่า..ขวัญ...จำนวนมาก เช่น ปลอบขวัญ เรียกขวัญ บ้านแก้วเรือนขวัญ ลูกแก้วลูกขวัญ ผัวแก้วเมียขวัญ เรือนขวัญ มิ่งขวัญ ของขวัญ รับขวัญ แรกนาขวัญ ขวัญใจ บำรุงขวัญ เป็นขวัญ เป็นต้น อันแสดงถึงพิธีดังกล่าวได้อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน และพิธีดังกล่าวก็คงอยู่ยั่งยืนอยู่กับคนไทยตลอดไป
การสู่ขวัญใช้ในกรณีมีทั้งเหตุดีและเหตุร้ายที่บุคคลได้รับ กล่าวคือ เมื่อได้รับโชคดี เลื่อนยศ สำเร็จการศึกษา หรือกลับมา หรือค้าขายร่ำรวย หรือได้ลูกเกิดใหม่ เป็นต้น
ส่วนเหตุร้ายที่ได้รับและผ่านเหตุร้ายมานั้น ก็มีการสู่ขวัญเช่นกัน เช่นสูขวัญคนป่วยที่หายจากไข้ ไปราชการสงครามมา ผ่านเหตุร้ายถึงเลือดตกยางออกผ่านมาไม่นาน
พิธีสู่ขวัญที่นิยมทำพิธีกันโดยทั่ว ๆ ไปได้แก่ สู่ขวัญแม่ออกจากรรม สู่ขวัญเด็ก สู่ขวัญธรรมดา สู่ขวัญนาค สู่ขวัญน้อย(ก่อนแต่งงาน) สู่ขวัญบ่าวสาว สู่ขวัญคนป่วย สู่ขวัญหลวง และสู่ขวัญอื่น ๆ
ส่วนการทำพิธีสู่ขวัญเครื่องใช้สิ่งของที่นิยมทำพิธีกัน ได้แก่ สู่ขวัญเรือน สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ สู่ขวัญเกวียน สู่ขวัญข้าวขึ้นเล่า สู่ขวัญวัวควาย สู่ขวัญพาข้าว และสู่ขวัญช้าง
ลำดับการจัดพิธีกรรมสู่ขวัญ จะดำเนินการตามลำดับดังนี้
๑.เจ้าภาพจะต้องตระเตรียมกำหนดวัน เวลา และเชื้อเชิญแขกเพื่อนบ้านมาในงาน
๒. เตรียมพาขวัญ จะจัดเป็พาขวัญ ๓,๕,๗, หรือ ๙ ชั้น ก็ได้ ชั้นที่ ๑ ใส่กล้วย ขนม ขนมต้ม หรืออาหารประเภทขนมและผลไม้ ส่วนอื่น ๆ จะใส่ดอกไม้ ธูปเทียน หมาดพลู ยาสูบ พร้อมด้ายผูกแขน เป็นต้น
๓. หมอขวัญ ซึ่งเป็นเจ้าพิธีในการสวดบทสูดขวัญ เจ้าพิธีนี้จะสวดเป็นทำนองคล้าย ๆ ลำของภาคอีสาน ผู้ที่มาร่วมพิธีจะนั่งพนมมือล้อมวงฟังอย่างสงบ ครั้นสวดมาถึงตอนว่า...มาเย้อขวัญ...ผู้ที่มาจะช่วยกันกู่ร้องตอบรับว่า..มาเย้อขวัญเอย..ยิ่งเสียงดังมากเท่าใดยิ่งดี
๔. ผูกข้อมืออวยพร ครั้นหมดขวัญสวดบทสู่ขวัญจบแล้ว ก็ผูกข้อมือเจ้าของขวัญและอวยชัยให้พร โดยญาติจะนำด้ายใพธีมาผูกมือเจ้าของขวัญอาจจะมีเงินมาช่วยปลอบขวัญในครั้งนี้ด้วย หลังจากนั้นก็ร่วมรับประทานอาหารเป็นการเลิมฉลองพิธีสูขวัญ (สารานุกรมไทยว่าด้วยวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หน้า ๔๗๘๒ -๔๗๘๗)
"...นอนหลับให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แปมือมาให้เจ้าได้แก้วมณีโชติ โทษฮ้ายอย่ามาพาน มารฮ้ายอย่ามาเบียด ให้เจ้าหายเคราะห์หายภัย เคราะห็เจ้าอย่าได้เห็น เข็ญเจ้าอย่าได้พ้อ ให้เจ้าหายพยาธิโรคา ให้เจ้ามีศักดานุภาพ ผาบแพ้ข้าเศิกศัตรูก็ข้าเทอญ.." หมอสู่ขวัญจะอำนวยอวยชัยในบทสวดสู่ขวัญบทสุดท้ายแก่เจ้าของขวัญก่อนจบพิธีทุกครั้ง