ปฏิรูปการศึกษายาก!หากท้อง"เด็กไทย"ยังหิวโหย
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เกียรติสัมภาษณ์พิเศษฉบับปฐมฤกษ์ "คม ชัด ลึก" เพิ่มหน้าการศึกษาฯ เป็น 2 หน้า ถึงภารกิจงานด้านการศึกษาที่ต้องรวมพลัง 5 เสือ ศธ. เพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษารอบ 2 สานต่อ โครงการเด็กดีมีที่เรียน เพิ่มโอกาสทางการศึกษา วาดฝันเอ็ดดูเคชั่นฮับชายแดนต้องเกิด
กว่าจะฝ่าด่าน 14 องค์ชาย เพื่อก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 5 เสือ ศธ. ในกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ง่ายนัก หากไม่มีทั้ง "อำนาจ" และ "บารมี" ทว่า ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คนนี้ มีดีกว่าที่คิดในฐานะ "ลูกหม้อ" สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ยึด "เด็ก" เป็นหลักในการทำงานมาตลอด
"5 องค์กรหลักมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อตัวนักเรียน สถานภาพของพวกเรามีความสำคัญน้อยกว่าสถานภาพของเด็ก พวกเราจึงทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น อย่าง ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รับเป็นประธานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และดิฉันเองเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ทำให้เราทั้งสองมีโอกาสเห็นงานของอีกส่วน รวมถึงอีก 4 องค์กร ก็ประชุมร่วมกันทุกเช้าวันจันทร์"
โครงการเด็กดีมีที่เรียน เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ในสังกัด สพฐ. กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ให้คุณค่าของ "ความดีงาม กิจกรรมจิตอาสา" มากกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นใบเบิกทางเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ และในปีนี้มหาวิทยาลัย 40-50 แห่ง รับเด็กกลุ่มนี้เข้าเรียน 3,000-4,000 คน
สพฐ.จับมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) เพื่อรองรับเด็กที่ออกกลางคัน นับวันจำนวนมีมากขึ้น เด็กเหล่านี้บางทีก็ท้อง เรียนอ่อน มีปัญหาทางพฤติกรรม ย้ายถิ่น ถ้าให้เขากลับมาเรียนในโรงเรียนแบบปกติ บางครั้งก็ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอกับวิถีชีวิตของเขาเพราะต้องเลี้ยงลูก ต้องทำงาน แต่การจัดการเรียนการสอนของ กศน.จึงเป็นโรงเรียนทางเลือก เช่น ที่ จ.เชียงราย เรียกว่า "ฮงเฮียนจาวบ้าน"
เอ็ดดูเคชั่น ฮับ (Education Hub) หรือศูนย์กลางการศึกษา ตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ เป็นอีกหนึ่งความฝันที่ "คุณหญิงกษมา" วาดหวังเอาไว้ว่า สพฐ.ก็มีเอ็ดดูเคชั่น ฮับแบบ สพฐ.ได้ ด้วยการเปิดโรงเรียนชายแดนศึกษา รองรับลูกคนใหญ่คนโตฝั่งลาว พม่า เวียดนาม ที่ข้ามมาเรียน จะทำให้ไทยมีความสัมพันธ์ในระดับที่สูงขึ้น เพราะขณะนี้มีนักเรียนข้ามชายแดนมาเรียนแล้ว
"ดิฉันขอมีเอ็ดดูเคชั่น ฮับ ของ สพฐ.บ้าง เช่น จะพัฒนา ร.ร.ปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย ให้เด็กฝั่งลาวข้ามมาเรียน หรือโรงเรียนสรรพวิทยา ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จะพัฒนาโรงเรียนเหล่านี้ให้สอนอีพีภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เพื่อให้ลูกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือลูกคหบดีผู้ใหญ่ที่อยู่ฝั่งพม่าสามารถข้ามมาเรียนในไทย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม ขณะนี้ก็เปิดสอนภาษาเวียดนามแล้ว เราก็พยายามเอาไอเดียของ สกอ.มาปรับให้เข้ากับของเรา"
คุณหญิงกษมายังชื่นชอบแนวคิดปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ต้องแบบฉบับของ ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ที่ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกในพื้นที่ เช่น เขตพื้นที่การศึกษา และเปิดโอกาสให้เขตพื้นที่การศึกษาได้นำนโยบายใหญ่ๆ ไปสู่การปฏิบัติเองมากกว่าที่จะไปกำหนดอะไรที่ละเอียดจนคนอื่นไม่ได้ทำ
ปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เพื่อคุณภาพเกิดยากหากไม่แก้ที่มิติครอบครัว จะต้องยกระดับความรู้ความเข้าใจของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูก ต้องแก้สภาพสิ่งแวดล้อม เด็กมีสถานที่ไปหาความรู้เพิ่มเติม พักผ่อนหย่อนใจ
"ดิฉันชอบของอังกฤษได้ปฏิรูปการศึกษาและทุ่มลงไปที่โรงเรียนและครูเยอะมาก แต่เขาพบว่ามีเด็ก 25% ซึ่งไม่ว่าจะทุ่มเท่าไหร่พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ขยับเลย เขาก็ไปดูว่าเด็ก 25% คือใคร ก็พบว่าเด็ก 25% มาจากครอบครัวที่ยากไร้ ที่ไม่มีอาหารเช้ากิน กลับไปบ้านก็ไม่มีใครอยู่บ้าน ดังนั้นปฏิรูปการศึกษารอบ 2 นอกจากลงทุนที่ครู เขาลงทุนกับคนที่ทำงานกับเด็กทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ปฐมวัย เจ้าหน้าที่อนามัย เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่แนะแนวจะต้องอาศัยทุกมือจึงจะขยับคุณภาพการศึกษาได้ เด็กยากจนต้องยกระดับคุณภาพชีวิตก่อน"
การแก้ปัญหาจะต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ก่อน ซึ่งเป็นพระราโชบายของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสว่า "เวลาเข้าไปในโรงเรียนที่ยากลำบากก่อนที่จะทำเรื่องการศึกษาต้องดูเรื่องโภชนาการ สุขภาพอนามัยก่อน เพราะถ้าเด็กกลุ่มนี้ท้องยังหิวอยู่ สุขภาพไม่ดี จะไปทำเรื่องการศึกษาก็ยากมาก เพราะฉะนั้นต้องดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตเด็กให้ดี และคุณภาพการศึกษาจะตามมา"
ขณะเดียวกันเรื่องที่สอนเด็กทั้งหมดจะต้องเชื่อมโยงไปสู่สุขภาพ อนามัย ซึ่งการที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำโครงการพืชผักสวนครัว แปลงเกษตรก็เป็นการเรียนรู้และแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยของเด็กด้วย
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเด็ก คุณหญิงกษมา บอกว่า สพฐ.กำลังทำความตกลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เขาก็เสนอว่าตรงไหนถ้าเป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่ต้องการการสนับสนุนอย่างเต็มที่ อปท.ก็ยินดีที่จะเข้ามาร่วมมือและลงนามทำโครงการร่วมกันที่จะยกระดับคุณภาพทั้งเด็กและโรงเรียนให้มีความพร้อมมากขึ้น
"การพัฒนาโรงเรียนจะเน้นโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะเด็กเดือดร้อนมากที่สุดเพราะถ้าเขาไปไหนได้ เขาก็ไปแล้ว แต่เมื่อไปไหนไม่ได้ก็ไปโรงเรียนเล็กๆ ใกล้บ้านทั้งที่เป็นโรงเรียนที่อ่อนแอในทุกๆ ด้าน ปีนี้เน้นโรงเรียนที่ไม่ผ่านมาตรฐานทั้งหมดและโรงเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ปรับปรุงทั้งหมดกว่า 500 โรงเรียน โรงเรียนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเมื่อประเมินรอบ 2 ก็ผ่านไปได้ด้วยดี"
ไม่เพียงเท่านั้น ปีที่แล้วตอนที่คุณหญิงกษมาเน้นแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กว่า 1 แสนคน ที่อยู่ชั้น ป.2 แล้วยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็เน้นให้โรงเรียนทุ่มไปที่เด็กกลุ่มนี้ เมื่อขึ้นชั้น ป.3 ก็กลับไปประเมินอีกครั้ง ก็พบว่าลดลงจาก 12% ก็เหลือประมาณ 4-5% ซึ่งก็ดีมากขึ้น แต่ต้องทำแบบนี้ทุกรุ่นทุกคนและทำเป็นเรื่องปกติ ในที่สุดเราจะเห็นนวัตกรรมเยอะแยะที่เกิดจากการคิดค้นของครูในการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็ก
http://www.komchadluek.net/
0 กมลทิพย์ ใบเงิน 0