ตาก ฝึกนักเรียน ทำนา
ยึดเศรษฐกิจพอเพียง
นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด เทศบาลเมืองแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ได้มอบหมายให้นายไพรัตน์ น้อยหมอ ผู้อำนวยการกองการศึกษาเทศบาล ดำเนินโครงการการเรียนรู้แบบการดำรงชีวิตจริงของนักเรียนเพื่อให้รู้ถึงชีวิตของเกษตรกรไทยที่แท้จริงตั้งแต่อดีต เพื่อการจัดกระบวนการสู่การเรียนรู้ทางการศึกษาจากความจริง โดยการดำเนินชีวิตแบบไทยๆเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ทางโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว ในสังกัดเทศบาลเมืองแม่สอด จัดทำโครงการการทำนาข้าวอินทรีย์ โดยผู้ปฏิบัติเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ทั้งนี้เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยได้เชิญ นาย เย็น หมวกน้อย อายุ 82 ปี อดีตชาวนาจากชุมชนสองแคว 1 มาเป็นวิทยากรสอนการทำนาปลูกข้าวให้แก่เด็กนักเรียน ซึ่งการเรียนการสอนเริ่มตั้งแต่พิธีการก่อนการดำเนินการดำนา ซึ่งต้องมีพิธีการไหว้บูชาพระแม่โพสพซึ่งถือว่าเป็นเทวดาอารักษ์ที่สิงสถิตย์อยู่ในพื้นที่นาและสามารถดลบันดาลให้ข้าวในนางอกงามได้อย่างอุดมสมบูรณ์ซึ่งนายเย็น ได้บรรยายถึงวิธีการสานตะแหลวซึ่ง สานขึ้นจากตอกไม้ไผ่ 18 ชิ้น ขัดเข้าด้วยกันจนเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมแบน มัดกรวยดอกไม้ขันธ์ห้าเข้า แล้วเอามามัดติดกับหลักปักไว้ในที่นาและการบูชาพระแม่โพสพก่อนที่จะเริ่มการดำนาปลูกข้าว ซึ่งชาวนาถือว่าตะแหลวเป็นเครื่องรางอย่างหนึ่งช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆและช่วยปกป้องคุ้มครองข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามพร้อมที่จะได้รับการเก็บเกี่ยวต่อไป
ทางด้านนายภิรมย์ ทองคุ้ม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว กล่าวว่า ผู้บริหารเทศบาลเมืองแม่สอดมีนโยบายในการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้วิถีชีวิตไทยๆแบบเศรษฐกิจพอเพียง และได้เริ่มโครงการนำนักเรียนทำนาและบรรจุวิชาทำนาเข้าเป็นวิชาหลักสูตรสถานศึกษาสำหรับการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ซึ่งระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรียนเกี่ยวกับการเตรียมดินการดำนาปลูกข้าว ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เกี่ยวกับการป้องกันกำจัดวัชพืชและแมลงในไร่นา ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเก็บเกี่ยวการจัดเก็บ นำการเรียนรู้ด้านการเกษตรสู่กระบวนการเรียนรู้จริงๆของชีวิตที่ดำเนินตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
โดยสืบเนื่องจากการสำรวจข้อมูลในชุมชนหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่เขตบริการของโรงเรียนที่ผ่านมาซึ่งประกอบด้วยชุมชน สองแคว 1 สองแคว 2 ชุมชนประชารักษ์และชุมชนอินทรคีรีพบว่าสมาชิกในชุมชนเหล่านี้เคยประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักมาก่อน ปัจจุบันพบว่าคงเหลือเพียงชุมชนละ 1-2 ครอบครัวที่ยังคงทำนา บางชุมชนไม่มีผู้สืบทอดประกอบอาชีพทำนาเลย ซึ่งบุตรหลานหลังจากได้รับการจัดสรรส่วนแบ่งเป็นส่วนของมรดก ก็นำไปขายต่อให้แก่นายทุน และเดินทางเข้าไปทำงานขายแรงงานในกรุงเทพฯเป็นส่วนมาก ทางโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว จึงได้จัดทำโครงการนำนักเรียนทำนาขึ้นมาโดย บรรจุเป็นแผนการเรียนการสอน และได้รับการอนุเคราะห์จากผู้เป็นเจ้าของที่นาได้บริจาคพื้นที่นาจำนวนประมาณ 5 ไร่ เพื่อเป็นวิทยาทานในการเรียนการสอน ซึ่งคาดว่าจะสามารถสืบทอดภูมิความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรม การทำนาไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป
ขอบคุณhttp://blog.eduzones.com/webter/26691 ขอบคุณ สยามรัฐออนไลน์