๘ คุณธรรมพื้นฐาน
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
เผยแพร่ โดย ครูฉัตรชนก ตื้อยศ
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนห้างฉัตรวิทยา
...........................................................
๑. ขยัน คือ ความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
อดทน ความขยันต้องปฏิบัติควบคู่กับการใช้สติปัญญาแก้ปัญหาจนเกิดผลสำเร็จ
ผู้ที่มีความขยัน คือ ผู้ที่ตั้งใจทำอย่างจริงจังต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร
เป็นคนสู้งาน มีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง
๑. ประหยัด คือ การรู้จักเก็บออมถนอมใช้ทรัพย์สิน สิ่งของแต่พอควร
พอประมาณให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ
ผู้ที่มีความประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รู้จักฐานะการเงินของตน คิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออม ถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า รู้จักทำบัญชีรายรับ รายจ่ายของตนเองอยู่เสมอ
๒. ซื่อสัตย์ คือ ประพฤติตรงไม่เอนเอียง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม มีความจริงใจ ปลอดจาก
ความรู้สึกลำเอียงหรืออคติ
ผู้ที่มีความซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อหน้าที่ ต่อวิชาชีพ
ตรงต่อเวลา ไม่ใช้เล่ห์กล คดโกง ทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเอง
และปฏิบัติอย่างเต็มที่ถูกต้อง
๓. มีวินัย คือ การยึดมั่นในระเบียบแบบแผน ข้อบังคับและข้อปฏิบัติ ซึ่งมีทั้ง
วินัยในตนเองและวินัยต่อสังคม
ผู้ที่มีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถานศึกษา สถาบัน / องค์กร / สังคมและประเทศ โดยที่ตนเองยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจ
๔. สุภาพ คือ เรียบร้อย อ่อนโยน ละมุนละม่อม มีกิริยามารยาทที่ดีงาม มีสัมมาคารวะ
ผู้ที่มีความสุภาพ คือ ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะ ก้าวร้าว รุนแรง วางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจาและท่าทาง แต่ในเวลาเดียวกันยังคงมีความมั่นใจในตนเอง เป็นผู้ที่มีมารยาท วางตนเหมาะสมตามวัฒนธรรมไทย
๕. สะอาด คือ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจ และสภาพแวดล้อม ความผ่องใสเป็นที่เจริญตา ทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น
ผู้ที่มีความสะอาด คือ ผู้รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมถูกต้อง ตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตใจมิให้ขุ่นมัว จึงมีความแจ่มใสอยู่เสมอ
๖. สามัคคี คือ ความพร้อมเพรียงกัน ความกลมเกลียวกัน ความปรองดองกัน ร่วมใจกันปฏิบัติตนให้บรรลุผลตามที่ต้องการ เกิดงานการอย่างสร้างสรรค์ ปราศจากการทะเลาะวิวาท ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นการยอมรับความมีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความหลากหลายในเรื่องเชื้อขาติ ความกลมเกลียวกันในลักษณะเช่นนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความสมานฉันท์
ผู้มีความสามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาท ของตนทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้การงานสำเร็จ ลุล่วง แก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่าง หลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ
๗. มีน้ำใจ คือ ความจริงใจที่ไม่เห็นแก่เพียงตัวเองหรือเรื่องของตัวเอง แต่เห็นอกเห็นใจ เห็นคุณค่าในเพื่อนมนุษย์ มีความเอื้ออาทร เอาใจใส่ ให้ความสนใจในความต้องการ ความจำเป็น ความทุกข์สุขของผู้อื่น
ผู้ที่มีน้ำใจ คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตน เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เข้าใจ เห็นใจ ผู้ที่มีความเดือดร้อน อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกาย สติปัญญา ลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์ สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน
๘ คุณธรรมพื้นฐาน + ๑
ขยัน + ประหยัด + ซื่อสัตย์ + มีวินัย + สุภาพ + สะอาด + สามัคคี + มีน้ำใจ
+ มีความกตัญญู
และ
๘. มีความกตัญญู คือ คุณธรรมของบุคคลผู้สำนึกรู้ในอุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำต่อตน และพยายามหาทางตอบแทนอุปการะนั้น
ผู้มีความกตัญญู คือ บุคคลผู้หาได้ยาก เป็นเครื่องหมายของคนดี บุคคลดำเนินชีวิต มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันและอนาคต ไม่ค่อยมีใครหันกลับไปมองอดีตว่ากว่าที่เราจะเป็นตัวเราในเวลานี้ ดำเนินชีวิตอย่างดีไม่ประมาท การมีชีวิตที่สุขสบายนั้น มีผู้ใดให้การอนุเคราะห์ช่วยเหลือบ้าง ถ้ามองย้อนหลังจะพบบุคคลมากกมายที่คอยช่วยเหลือ ตั้งแต่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง หรือครู อาจารย์ ควรคิดถึงคุณความดีของท่าน ส่งความปรารถนาดีไปยังท่านเหล่านั้น พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า บุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวทีเป็นผู้หาได้ยาก
ความกตัญญูกตเวที เป็นสิ่งที่คนในสังคมยกย่องว่า “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” หมายความว่า ทำคุณกับคนอื่นนั้น เมื่อถึงคราวตกอับก็มีผู้ยินดียื่นมือ
เข้าช่วยเหลือ ส่วนใครเนรคุณ สังคมจะรังเกียจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสถาบันครอบครัว ผู้ใดเนรคุณกับบิดา มารดา ไม่รู้จักตอบแทนคุณท่าน ผู้นั้นจะหาความเจริญมิได้ สังคมก็จะตราหน้า ฉะนั้น ความกตัญญู จึงเป็นค่านิยมที่สำคัญ และสมควรจะปฏิบัติให้เกิดสิริมงคลกับตนเอง